เลือกตั้ง 66: ภาคประชาสังคมย้ำ นโยบายพรรคการเมืองต้องรับรองสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย รวมถึงสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ  เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย  

4 เมษายน 2566

Amnesty International

แถลงการณ์

กรุงเทพฯ, 4 เมษายน 2566 - ภาคประชาสังคมจัดงานแถลงข่าว เลือกตั้ง 2566 : ฟังเสียงนโยบายภาคประชาสังคม (Civil Society's Agenda for the 2023 Thailand Election)” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายประเด็นครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ต่อตัวแทนพรรคการเมืองและสาธารณชน

338181828_518771706902715_1411904467356855695_n.jpg

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2566 ซึ่งให้วันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาการยุบสภาส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุด 45-60 วันนับตั้งแต่วันยุบสภาซึ่งต่อมา กกต. มีมติให้วันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมต่างได้จัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครพรรคการเมืองเพื่อกระตุ้นให้การจัดทำนโยบายต่างๆของพรรคการเมืองควรมาจากการฟังเสียงของประชาชนและให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น 

 

 

สฤณี อาชวานันทกุล  กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้บริษัทป่าสาละจำกัดกล่าวว่าในฐานะที่ทำวิจัยประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาหลายปีเห็นว่าการละเมิดสิทธิที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในหลายประเด็นโดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนหรือรับซื้อผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านที่กลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอ่อนแอหรือไม่มีเลยในยุคที่การเคารพสิทธิมนุษยชนกำลังกลายเป็น "จรรยาบรรณสากล" ในการประกอบธุรกิจ 

“จึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆเสนอนโยบายกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่วางอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนเพื่อยกระดับความรับผิดชอบของธุรกิจเพิ่มความโปร่งใสซึ่งก็จะเพิ่มพลังของผู้บริโภคในการติดตามตรวจสอบธุรกิจสร้างความเท่าเทียมในสนามแข่งขันอีกทัั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้บริษัทไทยสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะใส่ข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามากขึ้นเช่นเราควรออกกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติและออกกฎหมายบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตามหลักการชี้แนะ UNGP ตลอดห่วงโซ่อุปทานถ้าเรามีกฎหมายนี้บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องตรวจสอบว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับการเผาแปลงปลูกไม่ว่าจะในที่ราบหรือบนดอยในห่วงโซ่อุปทานของตนซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 ในประเทศและชี้แจงว่าบริษัทมีมาตรการลดแรงจูงใจในการเผาของเกษตรกรอย่างไรเป็นต้น" 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ไม่ว่า นโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่างๆหรือไม่อย่างไรแต่หากไร้ซึ่งการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนนโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ถูกใช้เป็นกลไกในการฟอกเขียวขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นและสร้างความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

“กรีนพีซเชื่อว่าการเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิดและเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย”

 

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องของทุกคนไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ก็ตามตราบใดที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทยพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของก้าวต่อไปของประเทศไทยทั้งสิ้นนอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับรองพันธกิจสำคัญที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศทั้งการเคารพปกป้องคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิต่างๆรวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

"การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหมุดหมายของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหรือการทำงานของรัฐสภาเท่านั้นแต่ยังเป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้แทนของประชาชนจะใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากที่สุดโดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งถูกจำกัดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่ให้คุณค่าประชาชนคือพรรคที่พัฒนานโยบายเพื่อสังคมโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนแม้ว่าพวกคุณจะได้เป็นรัฐบาลฝ่ายค้านหรือไม่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้เลยก็ตาม” 

 

 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เผยว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในประเทศแห่งนี้ถูกกล่อมเกลาจากชนชั้นนำระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ให้เชื่องเชื่อจนมันกลายเป็นสิ่งปกติคนจน 4.4 ล้านคนรายได้ต่ำกว่า 2,803 บาทต่อเดือนในขณะที่คนรวย 40 ตระกูลมีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านดอลลาร์คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP ที่ดินอยู่ในมือคนมั่งมีกว่า 6 แสนไร่เท่ากับจังหวัดสมุทรปราการแต่มีคนไร้ที่ดินคนไร้บ้านจำนวนมากเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.2 ล้านคนเด็กครอบครัวยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียง 11% ผู้สูงอายุและคนพิการได้รับเบี้ยยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า

“การเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้จึงมีเดิมพันระหว่างสังคมไทยที่มีความหวังกับความสิ้นหวังประชาธิปไตยกับเผด็จการขวาจัดรัฐเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนกับอาวุธยุทธภัณฑ์เพื่อความมั่นคงกองทัพโอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมกับธุรกิจการศึกษาที่สร้างหนี้สินการเข้าถึงสิทธิเสมอกันถ้วนหน้ากับระบบสงเคราะห์ตีตราคนจนแบ่งแยกเลือกปฏิบัติรวมทั้งการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับการคงอยู่ของระบบอำนาจนิยม”

 

 

อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิกมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่าหน่วยเลือกตั้งควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถอำนวยให้คนพิการสามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนได้จริง เช่นบางหน่วยสถานที่ไม่อำนวยในการช่วยเหลือตัวเองได้มากนักควรเน้นการออกแบบให้รองรับคนทุกรูปแบบ

“คนพิการต่างตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศและต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆมีนโยบายด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต้องมีกลไกสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการโดยนโยบายต่างๆต้องไม่มาจากทัศนคติด้านการสงเคราะห์ควรเพิ่มค่าจ้างคนพิการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกิดผู้ช่วยคนพิการมากขึ้นด้านกลไกผู้ดูแลคนพิการไม่ควรขึ้นอยู่กับอสม. เพียงอย่างเดียวและต้องพัฒนากองทุนคนพิการให้ใช้งานตอบโจทย์คนพิการอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สำคัญการเลือกตั้งต้องเคารพสิทธิและเสียงของคนพิการ”

 

 

นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่เผยว่า ในตอนนี้สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมที่เยาวชนไร้ความหวังเด็กเเละเยาวชนหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษาสถิติการเกิดขึ้นของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กเเละเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆมิหนำซ้ำเด็กเเละเยาวชนในประเทศนี้ยังรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิไม่มีเสียงเเละการเเสดงออกทางการเมืองมักลงเอยด้วยการตอบโต้ที่ใช้ความรุนเเรงเเละการถูกดำเนินคดี

“ตอนนี้ความหวังของพวกเรานั้นริบหรี่การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงเเค่การเลือกตั้งทั่วไปเเต่ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้หากเราชนะเเละข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมสัมฤทธิ์ผลนี่จะเป็นตัวจุดชนวนความหวังเเละเป็นเชื้อไฟให้กับเด็กเเละเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เติบโตในสังคมไทยหากผู้นำประเทศคาดหวังที่จะให้เราเติบโตที่นี่ต้องสร้างสภาพเเวดล้อมเเละสังคมที่ดีสำหรับการเติบโตของพวกเราด้วย”

ทั้งนี้ภาคประชาสังคมย้ำว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและขอให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองทุกพรรคยึดมั่นในการพัฒนาสถานการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย

 

 

Screen Shot 2566-04-04 at 12.08.12.png


 

 

หมายเหตุ

 

[1]ข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซประเทศไทยต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566