สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 21 - 27 มกราคม 2566

30 มกราคม 2566

Amnesty International Thailand

 
เอกวาดอร์ : การปฎิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อใช้กำลังทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อยอาจเป็นอันตรายต่อสิทธิมนุษยชน
20 มกราคม 2566
 
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า The National Assembly of Ecuador’s Occasional Commission for the Treatment of Constitutional Amendments and Reform Projects (สมัชชาแห่งชาติของคณะกรรมาธิการชั่วคราวเอกวาดอร์เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขและปฏิรูปรัฐธรรมนูญ) จะมีการหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญบางส่วน ที่เสนอโดยประธานาธิบดี กิเยร์โม ลัสโซ ซึ่งจะรับรองการใช้กองทัพอย่างถาวรในงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งข้อความไปถึงเหล่าสมาชิกของคณะกรรมาธิการ เพื่อแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการร่างการปฏิรูป ซึ่งมองว่าขัดแย้งกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของเอกวาดอร์
ในกรณีนี้ เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผยว่า
“ศาลสิทธิมนุษยชนทวีปอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการใช้กองทัพในงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องเป็นกรณีพิเศษและมีการควบคุมโดยพลเรือนอย่างเพียงพอ และมีกลไกความรับผิดชอบที่ชัดเจนในกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นการใช้กำลังทหารจะทำให้สิทธิมนุษยชนของประชากรตกอยู่ในความเสี่ยง”
อ่านต่อ: https://bit.ly/3DeCTeD
 
.....
 
 
 
เอสวาตินี : พยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อประกันความยุติธรรมสำหรับการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อทูลานี่ มาเซโกะ
23 มกราคม 2566
 
ทางการเอสวาตีนีต้องรับรองว่าการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อทูลานี่ มาเซโกะ จะได้รับการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ถี่ถ้วน เป็นกลาง และโปร่งใสในทันที และเป็นอิสระจากรัฐบาลโดยสิ้นเชิง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา
การสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อทูลานี่ มาเซโกะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทนายความได้เน้นย้ำถึงการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นในเอสวาตีนี
มาเซโกะ ถูกยิงโดยมือปืนนิรนามที่บ้านของเขาใน ลูเย็งโก้ อัมบาบาเน เมื่อวันที่ 21 มกราคม แม้ว่าแรงจูงใจเบื้องหลังในการสังหารนั้นยังไม่ชัดเจน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าการที่เขาถูกโจมตีนั้นมีความเกี่ยวข้องกับงานของเขาในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยก่อนหน้านี้ มาเซโกะนั้นก็เคยตกเป็นเป้าของรัฐจากการเรียกร้องความยุติธรรมและวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3kPqY0g
 
.....
 
 
 
แคเมอรูน : การเสียชีวิตของมาร์ติเนซ โซโก ต้องไม่มีการลอยนวลพ้นผิด
23 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากการลักพาตัวและการเสียชีวิตของ มาร์ติเนซ โซโก นักข่าวชาวแคเมอรูน โดยศพถูกพบอยู่ที่ชานเมืองยาอุนเด เมื่อวันที่ 22 มกราคม
สมีรา ดาวน์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางกล่าวว่า
“มาร์ติเนซ โซโก เป็นนักข่าวที่ได้รับความเคารพในประเทศและเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของสถานีวิทยุเอกชน Amplitude FM ที่มักจะประณามการยักยอกเงินจากบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นประจำโดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ ซึ่งการเสียชีวิตที่น่าจะเป็นการฆาตกรรมของเขาจะถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อผู้คนจำนวนมากมายที่ถูกสังหาร ข่มขืน ตัดสินโทษ หรือถูกข่มขู่ในแคเมอรูนเนื่องจากการพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งเหล่านี้กลับลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิง”
“นอกจากนั้นทางการควรระลึกถึงความสำคัญของเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกตามที่กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองไว้ต่อสาธารณชนและมุ่งมั่นที่จะปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่รวมถึงผู้ที่ได้เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3kQkpdR
 
.....
 
เลบานอน : ทางการต้องอนุญาตให้มีการการสอบสวนเหตุระเบิดที่ร้ายแรงในกรุงเบรุตต่อไป
23 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ว่าทางการเลบานอนได้ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ผู้พิพากษาทาเร็ก บิทาร์ ดำเนินการสอบสวนในประเทศสำหรับเหตุระเบิดที่ร้ายแรงในกรุงเบรุตต่อไป แม้หลังจากที่เขาได้นำเสนอการวิเคราะห์ทางกฎหมายโดยละเอียดที่จะอนุญาตให้เขาดำเนินการต่อ
อายา เมซซูป รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือกล่าวว่า
“ทางการเลบานอนได้ขัดขวางการแสวงหาความยุติธรรมอย่างไร้ยางอายและเป็นระบบในคดีระเบิดที่กรุงเบรุตด้วยการปกป้องเหล่านักการเมืองแทนที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้รอดชีวิต ครอบครัวเหยื่อ และชาวเมืองเบรุตทุกคน”
“การวิเคราะห์ทางกฎหมายของผู้พิพากษาบิทาร์ได้นำเสนอแนวทางที่ชัดเจนในการแสวงหาความยุติธรรม แต่ทางการกลับจงใจที่จะเพิกเฉยและใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อหลบเลี่ยงความรับผิดชอบและขัดขวางการสอบสวน โดยได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องเหล่าเจ้าหน้าที่ที่ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งคอยคุกคามและจับกุมญาติของเหยื่อที่ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างกล้าหาญ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/40agGrO
 
.....
 
คีร์กีซสถาน : การเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการปิดสถานีวิทยุนับเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกครั้งล่าสุด
25 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ทางการในคีร์กีซสถานได้ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อสั่งปิดช่องรายการวิทยุ Radio Azattyk ซึ่งเป็นบริการระดับชาติของ Radio Free Europe/Radio Liberty สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งสหรัฐอเมริกา
มารี สตรัทเธอร์ส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางกล่าวว่า
“การปิดตัวลงของช่องรายการวิทยุ Radio Azattyk นับเป็นการโจมตีที่ลึกและรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในคีร์กีซสถาน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อเหล่านักข่าวและเสียงจากช่องทางอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการ ประชาคมโลกไม่สามารถเพิกเฉยต่อการคุกคามสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏในคีร์กีซสถานและต้องเรียกร้องให้รัฐบาลในบิชเคกปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งหมด โดยต้องเพิกถอนคำร้องขอในการปิดช่องรายการวิทยุ Radio Azattyk ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์ และนักข่าวและเหล่าพนักงานที่ทำงานด้านสื่ออื่นๆ ในคีร์กีซสถานควรที่จะสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Ressh2