สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 3 กันยายน - 9 กันยายน 2565

10 กันยายน 2565

Amnesty International

 
แอลจีเรีย: ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสมาชิกที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา
5 กันยายน 2565
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อสมาชิกกลุ่ม The Ahmadi Religion of Peace and Light ทั้ง 18 คนทันทีและปล่อยตัวสมาชิก 3 คนที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งเดิมการพิจารณาคดีจะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายนสำหรับข้อหา “มีส่วนร่วมกับกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุญาต” และ “ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม” แต่ได้มีการเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 13 กันยายนแทน
แอมนา กูเอลลาลี รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขาเหล่านี้ถูกคุมขังหรือถูกดำเนินคดีเพียงเพราะความเชื่อทางศาสนาของตัวเอง
“พวกเขาควรได้รับการอนุญาตให้ปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างสงบ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกข่มขู่หรือตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้งสามยังคงถูกคุมขังต่อไปแม้ว่าทนายของพวกเขาจะร้องขอให้ปล่อยตัวพวกเขาถึงสามครั้ง แต่ศาลกลับปฏิเสธคำร้องขอของทนายโดยอ้างว่าการสอบสวนยังคงดำเนินอยู่
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3QuT2jG
 
 
 
เบลารุส: การลงโทษที่รุนแรงต่อรับโคว่าและจำเลยร่วม แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของประชาสังคม
6 กันยายน 2565
 
จากข่าวว่าศาลของเบลารุสได้ตัดสินลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาร์ฟา รับโคว่า อังเดร ชัพยุกค์ และ จำเลยร่วมทั้งแปดคน ให้ได้รับโทษจําคุกเป็นระยะเวลานาน
มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการของแอมเนสตี้ประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง กล่าวว่า
“การลงโทษที่รุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่าง มาร์ฟา รับโคว่า และจำเลยร่วมนั้นน่าละอายพอๆ กับการจับกุมและรายงานจำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นก่อนการตัดสินเมื่อวันที่ 6 กันยายน การพิจารณาคดีในครั้งนี้ได้ตั้งข้อกล่าวหาที่สมมติขึ้นมาอย่าง "การจลาจลครั้งใหญ่" นั้น ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าการเยาะเย้ยความยุติธรรมที่เป็นตัวแทนการพังทลายของภาคประชาสังคมเบลารุสในวงกว้างเลย”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3D83lHp
 
 
 
ยูเครน: การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสี่ยงต่อความปลอดภัยในภูมิภาค
6 กันยายน 2565
 
จากการค้นพบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ที่พบว่ารัสเซียมีกองกำลังประจำการอยู่ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (ZNPP) ซึ่งได้ยืนยันข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับเมื่อเดือนสิงหาคม
เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางกล่าวว่า
“จากการยึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย กองกำลังของรัสเซียไม่เพียงแต่ทำอันตรายต่อโรงงานและบริเวณโดยรอบเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ทั่วทั้งภูมิภาคอีกด้วย”
ในเดือนสิงหาคม แอมเนสตี้ได้รับแจ้งจากคนในท้องถิ่นและสมาชิกเจ้าหน้าที่ของ ZNPP ว่าเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซียที่โรงงานได้จำกัดการเคลื่อนย้ายของพนักงานและกำหนดให้พวกเขาต้องได้รับการตรวจค้นที่ล่วงล้ำ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถตรวจสอบข้อกล่าวหาที่น่ากังวลเหล่านี้ได้จากแหล่งอื่น อย่างไรก็ตาม การค้นพบของ IAEA ยืนยันว่ามีกองทหารรัสเซียอยู่ในโรงงานและมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของพนักงานจริง
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3RwNcji
 
 
รัสเซีย: อดีตนักข่าวถูกตัดสินจำคุก 22 ปีในข้อหากบฏ
5 กันยายน 2565
 
จากข่าวที่ศาลมอสโกตัดสินลงโทษนาย อีวาน ซาโฟร์นอฟ อดีตนักข่าวและที่ปรึกษาหัวหน้าหน่วยงานอวกาศของรัสเซีย ให้ได้รับโทษจำคุก 22 ปีในข้อหากบฏ
นาตาเลีย พริรุสกี นักวิจัยรัสเซียของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า
“การลงโทษที่รุนแรงอย่างไร้เหตุผลต่ออีวาน ซาโฟร์นอฟ แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่น่ากลัวที่เหล่านักข่าวรัสเซียต่างต้องเผชิญกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมรัสเซีย และการยกเว้นโทษให้กับหน่วยงานของรัฐ ที่มักจะสร้างคดีโดยมีหลักฐานสนับสนุนเพียงเล็กน้อยหรือไม่ก็ไม่มีเลย”
“นอกจากนั้นอีวาน ถูกดำเนินคดีเพราะงานนักข่าวของเขาเพียงอย่างเดียว 'อาชญากรรม' อย่างเดียวที่เขาทำ คือการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวเปิด และเป็นเพื่อนกับชาวต่างชาติ ซึ่งทางการรัสเซียจะต้องยกเลิกการลงโทษและคำตัดสินอย่างเร่งด่วน”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3QtbXeH
 
 
 
ฮ่องกง: การลงโทษสำนักพิมพ์หนังสือเด็กเป็นตัวอย่างที่ไร้สาระของการปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้ง
7 กันยายน 2565
 
เกวน ลี เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“ฮ่องกงทุกวันนี้ คุณสามารถติดคุกได้เพียงเพราะการพิมพ์หนังสือเด็กที่มีภาพวาดของหมาป่าและแกะ ซึ่งการลงโทษเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการล่มสลายของสิทธิมนุษยชนในเมือง”
“การเขียนหนังสือสำหรับเด็กไม่ใช่การก่ออาชญากรรม และการพยายามให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ล่าสุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกงนั้นไม่ถือว่าเป็นความพยายามที่จะยุยงให้เกิดการกบฏ นอกจากนั้นการนำข้อหายุยงปลุกปั่นจากยุคอาณานิคมกลับมาเป็นการปราบปรามที่โหดเหี้ยม ซึ่งไม่มีใครถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นเลยตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งรัฐบาลฮ่องกงเริ่มใช้ข้อหานี้เป็นอาวุธในการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลฮ่องกงจะต้องยกเลิกกฎหมายการยุยงปลุกปั่นที่ล้าสมัยซึ่งใช้กับประชาชนเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเหล่านักบำบัดเรื่องการพูดทั้งห้าคนนี้จะต้องได้รับการปล่อยตัวในทันที”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3QtT0J8
 
 
 
อียิปต์ : ทางการจะต้องยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับนักข่าวอิสระของมาดา มาสร์ 4 คนในทันที
8 กันยายน 2565
 
จากการเปิดการสอบสวนคดีอาญาต่อหัวหน้าบรรณาธิการและนักข่าวสามคนของ มาดา มาสร์ (Mada Masr) หนึ่งในหนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในอียิปต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทความที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาการทุจริตของพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล
ฟิลิป ลูเธอร์ ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยและนโยบายประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า
“การโจมตีล่าสุดของนักข่าวที่กล้าเบี่ยงเบนประเด็นไปจากเรื่องที่วางไว้จากรัฐบาลอียิปต์ เผยให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความมุ่งมั่นที่ประกาศโดยทางการอียิปต์เองในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึง 'เสรีภาพในการพูด' และความเป็นจริงที่น่ากลัว”
“ทางการจะต้องยกเลิกข้อกล่าวหาปลอมๆ ทั้งหมดในทันที และยุติการสอบสวนที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อเหล่านักข่าวของMada Masr และต้องปล่อยตัวนักข่าวทุกคนที่ถูกคุมขังเพียงแค่เพราะพวกเขาดำเนินงานด้านสื่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการเซ็นเซอร์ การคุกคาม และการข่มขู่นักข่าวทุกรูปแบบ และยกเลิกกฎหมายสื่อที่เข้มงวดซึ่งบ่อนทำลายความเป็นอิสระของสื่อ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3QAAmit