สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 6 - 12 สิงหาคม 2565

14 สิงหาคม 2565

Amnesty International

 

เมียนมา : แนวทางของอาเซียนต้องเริ่มใหม่อีกครั้งเพื่อยุติอาชญากรรมอันน่ากลัวโดยกองทัพเมียนมา

วันที่ 8 สิงหาคม 2565

 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้งภูมิภาคอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้รับทราบถึงความล้มเหลวของแผน 5 ข้อที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2564 เพื่อยุติความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา

“ อาเซียนจะต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ใช่องค์กรที่ไร้เขี้ยวเล็บแต่เป็นองค์กรที่ดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดในการนำกองทัพเมียนมามาชี้แจงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันโหดร้าย มือของกองทัพได้เปื้อนเลือดมานับทศวรรษและยังคงย่ำยีชีวิตและสิทธิของผู้คนนับล้านในเมียนมา อีกทั้งกองทัพไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เผชิญหน้ากับผลลัพธ์อันเกิดจากการก่ออาชญากรรมของตัวเอง” หมิง ยู ฮาห์ (Ming Yu Hah) รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“ในการเผชิญกับความโหดร้ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและการทรมานโดยกองทัพเมียนมา อาเซียนจะต้องใช้แนวทางปฏิบัติที่แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้ผู้นำทหารยุติการปราบปรามอันรุนแรงที่เพิ่มขึ้นที่เริ่มมาตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564” หมิงกล่าวเพิ่มเติม

เพื่อเป็นการตอกย้ำข้อความนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ฉายภาพด้วยข้อความคำว่า  “ อาเซียนต้องลงมือทำทันที” ไปยังสำนักงานใหญ่ของอาเซียนในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา กองทัพเมียนมาได้ปราบปรามผู้ชุมนุมนับหมื่นคนที่ประท้วงอย่างสันติทั่วประเทศอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการบังคับให้ผู้คนกว่า 700,000 คนต้องออกจากบ้านของพวกเขา สังหารประชาชนกว่า 2,000 ราย รวมทั้งจับกุมประชาชนอีก 15,000 ราย 

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่าเพื่อให้อาเซียนสามารถรักษาความน่าเชื่อถือของตัวเองไว้ ทางองค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางของตัวเองเพื่อช่วยยุติการนองเลือดทั่วประเทศในเมียนมา อาเซียนในฐานะที่รวมกันเป็นกลุ่มและเป็นประเทศสมาชิก แต่ละประเทศจะต้องผลักดันให้เกิดความยุติธรรมและความรับผิดชอบในเมียนมา ทั้งนี้มีความจำเป็นที่อาเซียนต้องมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์มากกว่าบทบาทผู้ขัดขวางและควรสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกของประชาคมโลกเพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพเมียนมา 

“เราขอให้อาเซียนร้องเรียกต่อกองทัพเมียนมาให้ดำเนินการทันที รวมทั้งปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับความต้องการเร่งด่วนด้านอื่นๆ อีกด้วย รวมถึงคำมั่นสัญญาที่จะไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทางหรือใครก็ตามที่หลบหนีความรุนแรงมาจากเมียนมา อาเซียนจะต้องอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีความจำเป็นและเพิ่มเสียงเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการค้าอาวุธทั่วโลก”

สำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศอินโดนีเซียได้ร่วมกับภาคประชาสังคมอินโดนีเซียหลายแห่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในการฉายภาพด้วยข้อความไปยังสำนักงานใหญ่ของอาเซียนในกรุงจาการ์ตา

ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2564 ที่กรุงจาการ์ตา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เตือนให้อินโดนีเซียทราบถึงภาระหน้าที่ของตัวเองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการสอบสวนนายพล มิน อ่อง หล่ายและนายทหารกองทัพเมียนมาคนอื่นๆ ในข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในเมียนมา

“กองทัพเมียนมาได้ดูหมิ่นต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่จะลดความรุนแรงหลังการรัฐประหารของประเทศในปี 2564” 

กองทัพเมียนมาแทนที่จะดำเนินการตามข้อตกลง แต่กลับละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อประชากร 54 ล้านคนอย่างต่อเนื่อง

ในกรณีล่าสุดของการปฏิบัติอันไม่เหมาะสมต่อชาวเมียนมา กองทัพได้ประหารชีวิตชาย 4 รายในเดือนกรกฎาคมภายหลังกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถือว่าเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และยังมีผู้รอประหารชีวิตอีกกว่า 70 รายหลังรัฐประหาร

ในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกการปราบปรามของรัฐที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา รวมถึงการยิงและการทุบตีผู้ประท้วงอย่างสันติหลายราย ประจักษ์พยานหลายรายชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ปลอมตัวเป็นคนขายผลไม้และคนขับรถสามล้อถีบเพื่อสอดแนมใครก็ตามที่แสดงความไม่เห็นด้วยและตอบโต้นักเคลื่อนไหว ทหารได้บุกเข้าไปในบ้านพักและจับกุมสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา 

นอกจากนี้ในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมได้ระบุว่ากองทัพเมียนมาได้ก่ออาชญากรรมสงครามโดยการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ขนาดใหญ่และรอบๆ หมู่บ้านในรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยา

ขณะที่รายงานเพิ่มเติมที่ตีพิมพ์โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมได้บันทึกถึงวิธีการทรมานในการคุมขังโดยกองทัพเมียนมา รวมถึงการก่อความรุนแรงทางเพศและทรมานทางจิตใจ การสืบสวนของแอมเนสตี้พบว่า กองทัพเมียนมาได้ดำเนินการบังคับให้สูญหายและนำผู้ถูกกักขังไปทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในศูนย์คุมขัง

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3bBs3Vi



 

ไทย : แอมเนสตี้ยื่นเกือบ 5,000 รายชื่อต่อ รมว.ยุติธรรม เรียกร้องปล่อยตัวและคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรม

วันที่ 10 สิงหาคม 65 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรม นำ 4,701 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบให้กับนายสมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยนายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นตัวแทนรับรายชื่อแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหา และคืนสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมที่กำลังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี และขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตามที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด ซึ่งการรณรงค์นี้มีถึงวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

  • ปล่อยตัวและ/หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม
  • ในระหว่างรอการปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม  
  • แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3vZyXdZ

 

 

ยูเอ็น : คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของรัสเซียในยูเครน

วันที่ 11 สิงหาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะมีขึ้นในวันนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการปกป้องพลเรือนและความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่ก่อขึ้นโดยกองทัพรัสเซีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานรัสเซีย 

ขณะที่รัสเซียได้ร้องขอที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อให้ความสำคัญเกี่ยวกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นในการวางกองกำลังทหารในพื้นที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองซาปอริฌเฌีย (Zaporizhzhia) ทางตอนใต้ของยูเครน โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้เตือนว่า  ความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อื่นๆ อาจส่งผลให้เกิด “หายนะ” ในบริเวณใกล้เคียงและไกลออกไป

“ข้อกล่าวหาที่เราได้รับโดยตรงจากเอเนอร์โฮดาห์ (Enerhodar) ซึ่งเป็นเมืองที่ติดอยู่กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้อ้างถึงผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือนจากกองกำลังทหารของรัสเซียในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์และพื้นที่โดยรอบ ขณะเดียวกันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กำลังสืบสวนรายงานที่น่ากังวลเหล่านี้และขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน” แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

แอมเนสกล่าวต่อว่า คณะมนตรียังต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดอันร้ายแรงของรัสเซียในความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้อันตรายที่ใกล้จะเกิดขึ้นจากการวางกองกำลังทหารในโรงไฟฟ้าในเมืองซาปอริฌเฌียเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคณะมนตรีความมั่นคง ดูเหมือนว่าการวางกองกำลังทหารในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โดยกองกำลังรัสเซียเพื่อข่มขู่พลเรือนและทำให้ผู้คนนับล้านตกอยู่ในความเสี่ยง เราควรให้ความสนใจกับการกระทำอันน่ารังเกียจของรัสเซียและความจริงในช่วงหกเดือนของการรุกรานยูเครนที่กองกำลังของรัสเซียได้คุกคามและสังหารพลเรือนจำนวนมาก เราไม่ควรปล่อยให้ทางการรัสเซียหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบนี้

นับตั้งแต่การรุกราน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดหลายครั้งโดยกองกำลังรัสเซีย รวมทั้งการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมาย การใช้อาวุธต้องห้าม และการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม หลายกรณีเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องประณามและปูทางให้ผู้รับผิดชอบถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“การจัดลำความสำคัญที่ชัดเจนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่เพียงเฉพาะเมืองซาปอริฌเฌียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความขัดแย้งทั้งหมดด้วยซึ่งจะต้องให้แน่ใจว่าพลเรือนจะได้รับการคุ้มครอง” แอกเนสกล่าว

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3Ad85tv



แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล : แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มีต่อรายงานข่าวเกี่ยวกับยูเครน

วันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

จากกรณีเมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 ศูนย์ยุทธศาสตร์การสื่อสารและข้อมูลด้านความมั่นคง ( Centre for Strategic Communications and Information Security) ได้กล่าวหาด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงโดยอ้างถึงการใช้หลักฐานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในรายงานข่าวเกี่ยวกับยูเครนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ซึ่งไม่มีข้อมูลพื้นฐานและเป็นเท็จทั้งหมด ทั้งนี้ไม่มีผู้ที่ให้สัมภาษณ์ข้อมูลเพิ่มเติมแก่นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ได้พบหลักฐานโดยตรงด้วยตัวเองรายใดเลยที่อยู่ในเรือนจำรัสเซียหรือค่ายคัดกรองหรือในดินแดนที่ควบคุมโดยรัสเซีย ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถเข้าถึงได้ นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์พยานทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยยูเครน ซึ่งพวกเขาได้ให้ข้อมูลแก่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วยความสมัครใจและอยู่ในความปลอดภัย

การสืบสวนสอบสวนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นคนเดียวกันที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การเริ่มต้นรุกรานของรัสเซียและได้ดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของรัสเซีย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำเอกสารและรายงานการละเมิดจำนวนมากโดยกองกำลังของรัสเซีย รวมถึงการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ( indiscriminate attacks) การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องห้ามและการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม (extrajudicial executions) นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบว่า การละเมิดจำนวนมากนำไปสู่อาชญากรรมสงคราม โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงเรียกร้องให้นำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอประณามการบุกรุกของรัสเซียเป็นการกระทำของการรุกรานและอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3dnPMZK

 

 

ปากีสถาน : การชุมนุมของครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายต้องเผชิญกับการข่มขู่และความรุนแรง 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการปากีสถานให้ยุติการปราบปรามอันรุนแรงต่อการชุมนุมโดยสงบของครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่เรียกร้องความยุติธรรมสำหรับบุคคลอันเป็นที่รัก

ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุไว้ในบทสรุปเอกสารฉบับใหม่ “พายุแห่งความกล้าหาญ : การบังคับให้สูญหายและสิทธิในการชุมนุม (Braving the Storm : Enforced Disappearances and the Right to Protest)” โดยเอกสารฉบับนี้ได้รวบรวมการละเมิด การคุกคามและความรุนแรงโดยรัฐที่ใช้เพื่อปราบปรามการประท้วงโดยสงบของครอบครัวขผู้ถูกบังคับให้สูญหาย 

ทั้งนี้หลายๆ ครอบครัวได้เข้าสู่การประท้วงเพื่อกดดันให้ทางการปล่อยตัวสมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเขาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของพวกเขาด้วยวิธีการที่ผ่านระบบยุติธรรม 

ดินูชิกา ดิสสานายาเค ( Dinushika Dissanayake) รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เผยว่า ครอบครัวของผู้ที่สูญหายไปนั้นล้วนผิดหวังเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากขาดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการไต่สวนเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหาย และความล้มเหลวของสถาบันรัฐที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบหรือให้คำตอบใดๆ

“ความอยุติธรรมนั้นประกอบไปด้วยการปฏิบัติด้วยความโหดร้ายและการเพิกเฉยต่อครอบครัวที่ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การปราบปรามสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบต้องยุติโดยทันที” ดินูชิกา ดิสสานายาเคกล่าวย้ำ

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำนักงานสันติบาลของปากีสถานได้ใช้การบังคับให้สูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษา และนักข่าว ขณะเดียวกันเหยื่ออีกนับร้อยชีวิตก็ยังไม่ทราบชะตากรรม

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3JOwyIE

 

 

กินี : การโจมตีต่อเสรีภาพการแสดงออกและการรวมกลุ่มเพิ่มเติม

วันที่ 10 กรกฎาคม 2565

 

จากกรณีการยุบตัวของแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ( National Front for the Defence of the Constitution ) และการเรียกตัวนักข่าวไปสอบสวนในค่ายทหาร ฮาบิบาโต โกโลโก ( Habibatou Gologo ) รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางกล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางการกินีได้ตัดสินใจยุบแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญซึ่งถูกนิยามว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเชิงพฤตินัยและถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งทำให้เกิดความเสื่อมโทรมและการทำลายทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรู้สึกประหลาดใจกับข้อกล่าวหานี้ เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงของแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสันติ อย่างไรก็ตามยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้กองกำลังและการปราบปรามที่มากเกินไปในระหว่างการประท้วง 

“การยุบแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญนี้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการรวมกลุ่มและรวมตัวโดยสันติซึ่งรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของกินี แนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและทำให้สิทธิมนุษยชนในกินีมีความก้าวหน้า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการกินีให้คืนสิทธิแก่แนวร่วมแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและรับประกันในเสรีภาพของการแสดงออกและการรวมกลุ่มซึ่งเป็นสิทธิที่อยู่สนธิสัญญาและอนุสัญญาที่กินีได้รับรองเช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล” รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางกล่าว

“การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โมฮัมเหม็ด บานกูรา ( Mohamed Bangoura ) บรรณาธิการเวบไซต์ข่าว “Mosaïque” ถูกเรียกตัวเข้าไปสอบสวนในพื้นที่คณะกรรมการหน่วยข่าวกรองทหารของศูนย์บัญชาการกองทัพบกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากการตีพิมพ์บทความที่กล่าวหากองทัพบกในการหายไปของรถบรรทุกที่บรรทุกยาแก้ปวดภายในค่าย ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่ง มาโมโด บูเลเร ดิอาโล (Mamoudou Boulère Diallo) จาก Escape TV ก็ถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การกระทำเช่นนี้นับเป็นการถอยหลังของเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออก 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลกีนียุติการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการรวมกลุ่มนี้ รวมทั้งเคารพสิทธิของประชาชนชาวกินีและภาคประชาสังคมในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระผ่านสื่อมวลชน”

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3SOZQLI

 

 

อัฟกานิสถาน : ตาลีบันต้องเพิ่มมาตรการคุ้มครองชุมชนฮาซาราชีอะต์

วันที่ 8 สิงหาคม 2565

 

จากกรณีที่มีการโจมตีจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 120 รายในพื้นที่ที่มีชุมชนฮาซาราชีอะต์ (Hazara Shiite) อาศัยอยู่ทางด้านตะวันตกของกรุงคาบูลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซามาน สุลตานิ ( Zaman Sultani) นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า การโจมตีอย่างเป็นระบบในพื้นที่ที่มีชุมชนชนกลุ่มน้อยฮาซาราซีอะต์ในอัฟกานิสถานอาจนำไปสู่อาชญากรรมที่มีต่อมนุษยชาติและควรถูกประณามอย่างชัดเจน

“ในปีที่ผ่านมา มีการโจมตีหลายครั้งในชุมชนชนกลุ่มน้อยโดยแทบไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มตาลีบันในฐานะเจ้าหน้าที่โดยพฤตินัยจะต้องทำการสอบสวนการโจมตีโดยทันทีด้วยความเป็นกลางและละเอียดถี่ถ้วน โดยดำเนินการตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิดทางอาญาที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนควรได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมต่อหน้าศาลพลเรือนทั่วไปและไม่ต้องโทษประหารชีวิต” ซามานกล่าว

“กลุ่มตาลีบันต้องรับผิดชอบในการใช้มาตรการเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองพลเรือนในอัฟกานิสถานและต้องเพิ่มมาตรการในทันทีเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองพลเรือนทั้งหมดในประเทศ” ซามานกล่าวย้ำ 

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3BR1lTn