นิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายจากงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2564

25 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International Thailand

คนอยู่กับป่า? การจากลาและคืนถิ่นของกะเหรี่ยงบางกลอย

 

สถานการณ์ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กลับมาร้อนแรงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 หลังจากชาวบ้านบางกลอยตัดสินใจเดินเท้าเข้าป่าลึกเพื่อกลับไปยังบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน สถานที่เคยอยู่อาศัยและทำกินด้วยวิถีไร่หมุนเวียน ทำให้เกิด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำตัวชาวบ้านทุกคนออกมาจากพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ยืนยันตามกฎหมายว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในถิ่นป่าต้นน้ำ ผืนป่าแก่งกระจานกลายเป็นพื้นที่ใจกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับ “คน” ใน “ป่า” ขณะเดียวกันปัญหานี้ก็เป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของปัญหาการรุกไล่ที่ บังคับอพยพ ตลอดจนเบียดขับกลุ่มคนท้องถิ่นในผืนป่าทั่วเมืองไทย 

 

สามัญชนบน ‘สมรภูมิดินแดง’ แค้น คลั่ง ทะลุแก๊ซ

 

นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา ปรากฎการณ์ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นพิเศษและถูกตั้งคำถามเป็นพิเศษคือ การรวมตัวกันสร้างความปั่นป่วนต่อเจ้าหน้าที่รัฐของกลุ่มวัยรุ่นบริเวณแยกดินแดง หลายคน หลายความเห็นจากฝั่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยต่างพากันตั้งคำถามถึงวิธีการและจุดมุ่งหมายของพวกเขา ทว่าการตั้งคำถามจำนวนหนึ่งเป็นการกดทับ รวมถึงขับไล่ไสส่งพวกเขาออกจากขบวนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ แต่เอาเข้าจริงแล้วกลุ่มวัยรุ่นที่เลือกแสดงออกด้วยวิธีการเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่เผชิญหน้ากับปัญหาอันเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลก่อนใคร

 

ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ คลิตี้หลังคำพิพากษา สายน้ำยังคงติดเชื้อ

 

‘หมู่บ้านคลิตี้’ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตต่อสาธารณชนในปี 2541 เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นรวมตัวร้องเรียนต่อกรมควบคุมมลพิษให้ตรวจสอบการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วย เมื่อสัตว์เลี้ยงทยอยล้มตายอย่างปริศนา น้ำในห้วยเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ชาวบ้านล้มป่วยอย่างไร้สาเหตุ ทั้งปวดศีรษะ ประสาทตาถูกทำลาย ทารกแรกเกิดเติบโตพร้อมกับความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง มันคือความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืน

 

‘พวกเราไม่มีทางรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร:’ 

โควิด-19 ทำให้ผู้ลี้ภัยนับพันคนในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก

 

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ลี้ภัยในเขตเมืองอย่างมาก จากเดิมที่ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ กลับยิ่งลำบากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการย้ายถิ่นฐานที่อาจกินเวลายาวนานต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด การถูกจำกัดไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่เว้นแต่จะมีใบอนุญาตซ้ำยังถูกเลิกจ้างจนเกิดปัญหาทางการเงินตามมา พวกเขาจึงยิ่งเสี่ยงต่อการส่งตัวกลับประเทศต้นทางและการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้ลี้ภัยจึงได้แต่รอคอยอยู่ในที่ซ่อนตัวในกรุงเทพไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง โดยไม่มีทางรู้ได้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

 

อยากกลับบ้าน เพราะบ้านหลังเดียวของชาวบางกลอยคือใจแผ่นดิน

 

ตลอดกว่า 25 ปีที่ผ่านมา ชาวบางกลอยไม่ได้ต้องการอะไรมาก พวกเขาเพียงอยากมีอาหารอร่อยกินทุกมื้อ ซึ่งสำหรับพวกเขามันคือข้าวและน้ำพริกเท่านั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก เพียงอยากอาศัยอยู่ในที่ที่รู้สึกสบายและอากาศถ่ายเท และไม่ได้ต้องการอะไรเลย นอกเสียจากกลับขึ้นไปอาศัยอยู่ในแผ่นดินของบรรบุรุษ กลับคืนสู่อ้อมกอดของ ‘ใจแผ่นดิน’ ล้อมวงทานข้าวให้อิ่มท้องในหุบเขาและใต้ดวงดาวเท่านั้นเอง กว่า 25 ปีที่ชาวบางกลอย ย้ายจาก ‘ใจแผ่นดิน’ มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก ตามคำเชิญชวนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พบว่าชีวิตประสบความยากลำบาก และที่ดินที่รัฐจัดให้ก็ไม่อุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกอะไรแทบไม่ได้

 

“เด็ก โดน คดี สิทธิเด็กเป็นอย่างไร ใต้การดำเนินคดีการเมือง”

 

ตั้งแต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2563 เป็นต้นมา เกิดการตั้งข้อหาเด็กและเยาวชนเป็นวงกว้างในคดีเสรีภาพทางการแสดงออก ตั้งแต่ความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุยงปลุกปั่น และหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งควรจะดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและรับรองสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและรับรองความปลอดภัย หลังถูกตั้งข้อหา เยาวชน 2 รายซึ่งเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเผชิญกับการละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวในการสอบถามข้อมูลเรื่องเพศ การต้องเผชิญกับประสบการณ์การถูกนำตัวเข้าห้องขัง ตลอดจนกระบวนการ “สำนึกผิด” ที่แม้จะออกแบบเพื่อรองรับให้เยาวชนไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กลับลดทอนเสียงเรียกร้องทางการเมืองของเยาวชนนักปกป้องสิทธิ

 

1 ปี ‘วันเฉลิม’ หาย: สืบสวนไม่คืบหน้า ไม่รู้ชะตากรรม แต่พบร่องรอยชีวิตในกัมพูชาเพิ่ม

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มิ.ย. 2563 ‘ซก เฮง’ หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางกว่าในชื่อ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งขณะนั้นอายุ 37 ปี ได้หายตัวไปขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ครอบครัว เพื่อนฝูง องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) อ้างว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายในช่วงเย็นวันดังกล่าวขณะซื้ออาหารอยู่ด้านนอกอาคาร ‘แม่โขงการ์เด้น’ ที่อยู่อาศัยของเขา ใบหน้าและแว่นตาคู่นั้นของเขาปรากฏอยู่บนแผ่นป้ายรณรงค์ตามที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้มีการตามหาตัวและชะตากรรมของเขา

 

หัวอกลูก หัวใจแม่: 112 กับความล่มสลายของครอบครัว

 

เรื่องราวของหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ผ่านมุมมองของศิวาพรและต๊อก แม่ลูกที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสอันเป็นผลจากการใช้มาตราดังกล่าว ครอบครัวของพวกเขาล่มสลายอันเป็นผลมาจากการใช้มาตรา 112 จนชวนให้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นธรรม’ หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารราวหนึ่งอาทิตย์ ภายใต้กฎหมายพิเศษของคณะรัฐประหาร คสช. ศิวาพร ปัญญา ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความเกี่ยวพันใน ‘คดีบรรพต’ ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่รับสารภาพจึงลดเหลือ 5 ปี เธอใช้เวลาอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 4 ปี 3 เดือน จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ปัจจุบันได้รับอิสรภาพแล้ว สำหรับศิวาพร การออกมาจากเรือนจำแล้วหลายสิ่งในชีวิตสูญหายไม่ได้ทำให้เธอสิ้นหวัง ปัจจุบันเธอกำลังหาลู่ทางเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว โดยหวังว่าสักวันจะมีทุนพอไปช่วยคนอื่นที่ลำบากเพราะคดีการเมือง

 

ลุงดร เกตุเผือก: สื่อ - ชาวบ้าน - ประชาธิปไตย I เมื่อชีวิตอุทิศเป็นสื่อประชาชน

 

ลุงดร - ภราดร เกตุเผือก คนธรรมดาที่พลิกวงการสื่อประชาธิปไตย แต่ละวันลุงดรจะเดินทางไปไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊กในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล สำนักงานอัยการ หรือในพื้นที่ชุมนุม โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังขาดแคลนสื่อมวลชน เพราะหากไม่มีสื่อไปยังจุดนั้น การสื่อสารเรื่องราวไปยังผู้คนก็จะขาดหายไป เมื่อไม่ต้องทำตามคำสั่งใคร การไลฟ์สดของลุงดร เปรียบเสมือนความหวังเล็กๆ ของคนดูที่ต้องการเสพสื่อและตัดสินเหตุการณ์นั้นจากมุมมองของตนจริงๆ ไม่ใช่จากการบิดเบือนของสื่อ “สื่อไฟล์สดจะเป็นสิ่งที่ดีก็เพราะเขามีจิตใจยุติธรรม ที่เขาต้องการให้ประชาชนรับรู้ถึงความเป็นจริง”

 

3 แม่แกนนำราษฎร ร่วมเดินขบวน เดินทะลุฟ้า เรียกร้องยกเลิกม.112

 

สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ วัย 51 ปี ผู้เป็นแม่ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิ้น” , ยุพิณ มณีวง์ แม่ของภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และ พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งชายหนุ่มทั้ง 3 เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะอยู่คอยสนับสนุนลูกชายอยู่เบื้องหลังมาตลอด แต่สุรีย์รัตย์ ยุพิณ และพริ้มแทบไม่เคย “เปิดตัว” ต่อสาธารณะ ด้วยข้อจำกัดด้านหน้าที่การงานและครอบครัว แต่เมื่อลูกชายของพวกเธอต้องเผชิญกับคดีอาญามากขึ้นเรื่อย ๆ แม่ ๆ ทั้ง 3 คน จึงตัดสินใจออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม “ราษฎร” ที่ลูกชายของเธอเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง

 

บาดแผลสีแดง | Red's scar

 

สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ คือหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเผาศาลากลางจังหวัดอุบล เมื่อปี 2553 หลังจากเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เขายืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ถูกใส่ความ เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตก่อนได้ลดโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน และได้รับการปล่อยตัวหลังจำคุกได้ 7 ปีกว่า

 

ผลงานเรื่อง “ซอกหลืบเยาวราช” รายการ “คนจนเมือง” สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

 

ยามค่ำคืน เยาวราชจะแปรสภาพจากถนนเศรษฐกิจของชุมชนคนจีน ศูนย์รวมการเงิน ร้านทอง ภัตตาคาร เป็น “ถนนแห่งอาหาร” (Street Food) ที่มีความยาวที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เบื้องหลังความเจริญและมั่งคั่งของถนนสายนี้ ยังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในเพิงที่ห่างไกลจากมาตรฐานคำว่า “บ้าน” ของคนทั่วไป เขาหล่านี้เป็นฟันเฟืองหมุนเมืองให้เจริญเติบโตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ‘ตาไหม’ คือภาพสะท้อนของแรงงานอพยพ คนไร้บ้าน ไร้หลักประกันในฐานะพลเมืองไทย พวกเขาดิ้นรนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่คนในซอกหลืบของย่านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ กลับไร้ “ตัวตน” มองไม่เห็นหนทางที่จะหลุดพ้นความเป็น “คนจนเมือง” จากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เคยใยดีพวกเขา

 

ผลงานเรื่อง “มานิ – จาไฮ” ชีวิตบนเส้นด้าย รายการ เปิดปม สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

 

แม้กระทรวงมหาดไทยรับรองแล้วว่า มานิ-จาไฮ อยู่ในแผ่นดินนี้ก่อนเกิดรัฐชาติ มีสิทธิได้รับการรับรองในสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด แต่ยังมีบางส่วนตกหล่นจากการได้รับรองสิทธินี้ และยังเผชิญความท้าทายหลายด้านในการรักษาวิถีชนเผ่าดั้งเดิมไว้ ประชากรของทั้งสองชนเผ่าถูกตัดขาดจากสวัสดิการและความช่วยเหลือของรัฐ ทั้งที่เป็นสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ซึ่งต้องมาพร้อมกับเลขประชาชน 13 หลัก

 

เปิดปม “คนหนีตาย” รายการ เปิดปม สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

 

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก กระจายอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้น ผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมือง และภายใต้บริบทนี้ ผู้ลี้ภัยอาจถูกจับกุม กักกัน และผลักดันออกนอกประเทศได้ ในปี 2562 ไทยประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562 แต่จนถึงวันนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะยังไม่มีการร่างขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ 

 

ผลงานเรื่อง “สวัสดิการเด็กไม่ถ้วนหน้า" รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36

 

ปัญหาความลำบากของครอบครัวยากจนที่มีเด็กเล็ก และปัญหาของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดือนละ 600 บาทต่อคนต่อปี ทว่าไม่ได้อุดหนุนเด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า เมื่อมีเกณฑ์จึงมีกระบวนการคัดกรองผู้รับเงินอุดหนุน ยิ่งการคัดกรองยากและเยอะเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เด็กที่เข้าเกณฑ์ที่รัฐต้องการความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงสิทธิ์ 

 

ผลงานเรื่อง “ความสำคัญที่ต้องตามเกาะติด ‘พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’" หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

กว่า 10 ปีของการเรียกร้อง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบุคคลสูญหาย พ.ศ... นางอังคณา นีละไพจิตร ได้แสดงความคิดเห็นว่าประเทศไทยไม่มีกฏหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน มีเพียงแค่กฏหมายในฐานความผิดที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการทรมาน ที่รวมไปถึงการกดดันให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ ในส่วนการบังคับบุคคลให้สูญหายก็ยังไม่มีระบุในกฏหมาย มีเพียงความผิดฐานฆาตกรรม หรือการกักขังหน่วงเหนี่ยว ฉะนั้น เมื่อไม่มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผู้ที่กระทำโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะไม่มีความผิด และส่งผลไปถึงสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อได้หายไปด้วย

 

ผลงานชุด “วัคซีนเสริมภูมิพลเมือง” สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์

 

เมื่อคนรุ่นใหม่และสังคมทั่วไปให้ความสนใจกับการยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายมากขึ้น มีการขับเคลื่อนจากกลุ่มประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนในรัฐสภามีความชัดเจนมากที่สุด โดยนำเสนอ 4 ประเด็นหลักผ่านสกู๊ปสารคดีข่าวทั้ง 4 ตอน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจหลักการสำคัญจากร่าง พ.ร.บ. และตระหนักถึงความจำเป็นในการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิพลเมือง

 

ผลงานชุด “ผลกระทบกะเหรี่ยงอพยพหนีภัยการสู้รบ ชายแดนจ.แม่ฮ่องสอน ไทย-เมียนมา” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36

 

การเข้าถึงสิทธิ์ การได้รับความช่วยเหลือของชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงหลายชีวิตที่ต้องหนีตายจากการสู้รบในประเทศเมียนมา มายังบ้านท่าตาฝั่ง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน หลายคนเดินเท้ามาจากชายแดนเมียนมามายังริมแม่น้ำสาละวิน หลังกองทัพเมียนมาเข้าโจมตีทางอากาศบริเวณฐานที่มั่นเดปูโหน่ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งผู้อพยพ กว่า 2,000 คนเข้าไม่ถึงยา อาหาร และ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ จากข้อมูลพบว่ารัฐไทยในฐานะเป็นพื้นที่ที่ชาวกระเหรี่ยงหนีภัยสงครามเข้ามา ไม่มีรูปแบบการจัดการและดูแลผู้อพยพเหล่านี้อย่างเป็นระบบ

 

ผลงานโดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน

 

"ยายของหนูกำลังทำอะไรอยู่"

“เด็กสาวผู้ไร้เดียงสา ต้องมาพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้า โดยภาครัฐฯ จัดตรวจโควิดแบบ RT-PCR ใต้สะพานพระราม 8 เพื่อสุ่มหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากมีข่าวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในกลุ่มชุมชน และผู้สูงอายุ"

 

ผลงานโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

 

หญิงสูงวัยรายหนึ่งยื่นโทรศัพท์มือถือให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบข้อมูล ขณะที่มาเข้ารับการตรวจโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33, 39 และ 40  ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

 

ผลงานโดย ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช

 

ประชาชนมานอนรอข้ามคืน เพื่อจะรับบัตรคิว เพื่อตรวจ หาเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนจำกัดวันละ 1,000 คน ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

 

ผลงานโดย ปฏิภัทร จันทร์ทอง

 

"หายใจก่อนนะ อยู่ด้วยกันก่อน"

อาสาสมัครกลุ่ม ‘เส้นด้าย’ สวมชุด PPE กุมมือพูดคุยให้กำลังใจขณะเข้าช่วยเหลือ ‘ลุงต๋อย’ คนไร้บ้านริมคลองหลอด ราชดำเนิน ที่นอนไร้เรี่ยวแรงอยู่บนเก้าอี้ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก่อนนำส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดส่งผลให้มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นกว่า 30% ขณะที่การเข้าถึงการตรวจรักษา และการรับวัคซีนเป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

ผลงานโดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

 

เหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 คนในกรุงเทพจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานในการรักษา ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านตามมีตามเกิด จนมีผู้เสียชีวิตคาบ้านหลายพันคน  ทีมงานพระไม่ทิ้งโยม จากวัดสุทธิวราราม พระอาจาารย์กำลังนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากบ้าน เพื่อไปทำการฌาปนกิจที่วัด

 

ผลงานโดย ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ

 

“ปืนฉีดน้ำ โควิค-19”

 

ผลงานโดย  ศวิตา พูลเสถียร

 

นอนรอคิวตรวจโควิดข้ามคืนที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน

ประชาชนนอนปักหลักรอคิวตรวจหาเชื้อโควิดฟรีของสำนักงานเขตบางบอน อยู่ที่บริเวณริมกำแพงวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารตั้งแต่ช่วงกลางคืน เพื่อสามารถรับคิวเข้าตรวจในเช้าวันถัดไป ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. ในแต่ละวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5-11 กรกฎาคม 2564 ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จำกัดการตรวจที่วันละ 900 ราย เริ่มเปิดรับบัตรคิวเวลา 06.00 น. ด้วยจำนวนการตรวจที่จำกัด สำหรับคิวแรกมารอตั้งแต่ 18.00 น.

 

ผลงานโดย  ศวิตา พูลเสถียร

 

ซักหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำ ชีวิตในแคมป์คนงานล็อคดาว์นต้องใช้ชีวิตร่วมกับแรงงานติดเชื้อโควิดที่ยังรอเตียง

พื้นที่แคมป์ก่อสร้างซอยวัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย กรุงเทพมหานคร แรงงานภายในแคมป์หลายคนซักหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง นำมาตากไว้บริเวณราวตากผ้าหน้าห้องพัก เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งภายในแคมป์มีคนงานหลายคนที่ติดโควิดและยังคงรอเตียงในการรักษาอยู่ โดยคนงานภายในแคมป์ พักอาศัยภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ทำจากแผ่นสังกะสีแคบๆ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยหลังรัฐบาลออกคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน ห้ามเข้าออก ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงักลง

 

ผลงานโดย สุไลมาน ตันหยงอุตง

 

ทุกคนพร้อมใจกันมาฉีดกันเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้หายจากสังคมไทย

 

ผลงานโดย สุภัสสรา หาดทราย

 

ภาพวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของผู้คนทั้งผู้ขายและผู้บริโภค โดยผู้ขายเริ่มมีการกั้นม่านพลาสติก สวมหน้ากากในการซื้อขาย ผู้บริโภคเว้นระยะห่างกันยืนรอคิวอาหาร

 

ผลงานโดย ตรัย สิทธิเสนา

 

วัยเรียนคือวัยที่สนุกในชีวิต เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากมาย กลับบ้านมาก็มีข้าวกิน มีเงินไปโรงเรียน ไปโรงเรียนเพื่อไปเจอเพื่อนๆ เครียดที่สุดตอนนั้นคงเป็น การท่องอาขยานหน้าชั้นเรียนให้เพื่อนๆ ฟังในคาบภาษาไทย แต่ตอนนี้นั้นกลับโดนปิดกั้นทุกอย่างด้วย ระยะห่าง และ แผ่นผ้าที่ใบหน้า ที่ห้ามพูด ห้ามกินน้ำแก้วเดียวกัน ห้ามเล่นน้ำลายใส่กัน หรือเรียกอีกอย่างว่า social distancing