สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน กระบอกเสีย(ง)ที่ถูกเมิน

22 มกราคม 2565

Amnesty International 

สภาเด็กและเยาวชน (สดย.) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2551 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แก้ไขปัญหา และร่วมกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้มีการปรับโครงสร้าง ให้สดย. มีการจัดตั้ง 5 ระดับ ได้แก่ ระดับตำบล ระดับเทศบาล ระดับอำเภอ ระดับเขต ระดับจังหวัด สดย. กรุงเทพมหานคร และระดับชาติ รวมทั้งสิ้น 8,780 แห่ง นอกจากสภาเด็กและเยาวชนแล้ว ในแต่ละโรงเรียนยังมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่นักเรียนอย่างสภานักเรียน  

 

แต่จากสถานการณ์การเมืองและสังคมที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนด้วยการประท้วง ชุมนุม รวมไปถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสะท้อนปัญหาในบ้านเมือง โดยไม่ผ่านกระบวนการของสดย. คำถามที่น่าขบคิดคือ เหตุใดเด็กและเยาวชนถึงไม่เลือกยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสดย.หรือสภานักเรียน ทั้งที่สาขาของสดย.ก็มีจำนวนมาก กระจายตัวทั่วประเทศ แพร่หลายทุกท้องถิ่น สภานักเรียนก็มีอยู่แทบทุกโรงเรียน 

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสภานักเรียนนั้น โดยทั่วไปจะได้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจกระบวนการประชาธิปไตย ส่วนสภาเด็กและเยาวชน มีการกำหนดว่าเด็กและเยาวชน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 25 ปีบริบูรณ์ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านถือเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน โดยสดย.จะมีคณะกรรมการบริหารซึ่งได้มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสดย.ในแต่ละพื้นที่ โดยการคัดเลือกนี้ตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นการเลือกตั้ง 

 

เรามาวิเคราะห์ถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานในฐานะกรรมการสภานักเรียนและสดย.กัน สภานักเรียนตามระเบียบทั่วไปควรมาจากการเลือกตั้งของนักเรียนในโรงเรียน แต่มีการเล่าประสบการณ์โดยนักเรียนหลายคนว่า การคัดสรรกรรมการสภานักเรียนนั้น แม้ตามระเบียบจะระบุว่าเป็นการเลือกตั้ง แต่ก็มีกรณีที่พรรคของนักเรียนที่แพ้การเลือกตั้งกลับได้รับตำแหน่งในสภานักเรียน บางโรงเรียนครูและผู้บริหารได้กำหนดกลุ่มนักเรียนที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นต้องการไว้อยู่แล้ว แม้มีการเลือกตั้ง พรรคที่เป็นที่นิยมของนักเรียนก็ไม่สามารถเป็นผู้แทนในสภานักเรียนได้  

 

ในส่วนของสภาเด็กและเยาวชน แม้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติจะระบุว่าเด็กและเยาวชนทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นสมาชิกของสดย. แต่เด็กและเยาวชนที่ทราบถึงสถานะสมาชิกของตนมีน้อยมาก หลายคนยังไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำว่าสภาเด็กและเยาวชนคืออะไร และมีหน้าที่อะไร การคัดเลือกกรรมการบริหารของสภาเด็กและเยาวชนด้วยการเลือกตั้งในหลายพื้นที่จึงเป็นเรื่องยาก ยิ่งไปกว่านั้นบางพื้นที่ก็ไม่มีผู้สมัครรับตำแหน่งกรรมการสดย. ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ดูแลสดย.ก็จะคัดสรรตามที่ตนเองเห็นสมควร เช่น การนำชื่อเด็กและเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมกับภาครัฐไปบรรจุเป็นกรรมการสดย. การส่งจดหมายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้ช่วยคัดสรรเด็กและเยาวชนมาเป็นกรรมการ บางโรงเรียนให้นักเรียนเลือกตั้ง บางโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจเข้ามาเสนอชื่อเอง บางโรงเรียนก็เสนอนักเรียนที่ครูมองว่าเป็นที่ถูกใจ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของโรงเรียนได้ หรือเป็นนักเรียนที่มีความโดดเด่นตามค่านิยมของครูหรือผู้บริหาร บางพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเลือกคัดสรรกรรมการจากโรงเรียนที่เป็นที่นิยม และยังมีวิธีอื่นในการคัดสรรกรรมการ ทั้งนี้เป็นเพราะช่องว่างของข้อกำหนดตามกฎหมายที่กล่าวเพียงให้แต่ละพื้นที่ไปคัดสรรตามความเหมาะสม  

เมื่อการเข้ามาบริหารของทั้งกรรมการนักเรียนและกรรมการสดย.มีกระบวนการบางอย่างที่เอื้อต่ออำนาจของผู้ใหญ่ ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน และเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่แปลกเลยที่การทำงานของสภาเหล่านี้จะไม่ใช่เสียงสะท้อนที่บริสุทธิ์จากเด็กและเยาวชน ในแง่กระบวนการทำงานของทั้งสภานักเรียนและสภาเด็กและเยาวชน มีเด็กและเยาวชนคาดหวังว่าจะได้ทำการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือแก้ปัญหาที่สังคมประสบ แต่เมื่อทำงานจริงกลับถูกผู้ใหญ่จากหลายฝ่าย ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าแทรกแซง จำกัดสิทธิ์ และตีกรอบการทำงาน ทำให้สิ่งที่พวกเขาวาดฝันว่าจะทำก่อนเข้ารับตำแหน่งไม่สามารถทำได้ หรือหากทำได้ก็ทำได้ไม่เต็มที่ หลายรายก็ยอมโอนอ่อนต่อคำสั่งจากผู้ใหญ่ไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีอำนาจนิยมอยู่ เด็กและเยาวชนในหลายภาคส่วนก็ถูกกดทับด้วยอำนาจนี้ด้วยเช่นกัน บางครั้งต้องเกรงใจเพราะผู้ใหญ่อายุมากกว่า หรือบางทีก็ถูกกดทับด้วยสถานะ หากผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจเป็นครู ในฐานะนักเรียนก็ย่อมกังวลใจเป็นธรรมดาว่าการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อครู จะกระทบต่อผลการเรียนหรือไม่ ในมุมมองกลับกันผู้ใหญ่หลายคน ก็มองเด็กด้วยทัศนะที่ว่า เด็กเหล่านี้เกิดมาหลังเรา เขายังมีประสบการณ์น้อย ทั้งในแง่วัยวุฒิ คุณวุฒิ วุฒิการศึกษา รวมไปถึงวุฒิอื่น ๆ เมื่อผู้ใหญ่พิจารณาเด็กอย่างด้อยค่า ไม่ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะพิสูจน์ตนเองมากเท่าไร มีศักยภาพมากแค่ไหน ก็ยังถูกมองเป็นผู้น้อยอยู่ดี การที่ผู้ใหญ่มีมุมมองต่อเด็กและเยาวชนเช่นนี้ นำไปสู่การจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น พื้นที่ในการแสดงออก จากคำบอกเล่าของสมาชิกสภานักเรียนกล่าวว่า หลายครั้งพวกเขาถูกใช้งานเพื่อเป็นเครื่องประดับให้โรงเรียนเวลาแขกมาเยี่ยมชมโรงเรียน บางครั้งก็ถูกใช้เป็นกรรมกร ใช้แรงงาน แต่พอพวกเขาเสนอความคิดแสะท้อนปัญหา และพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา ความคิดเห็นและแนวทางเหล่านั้นกลับถูกด้อยค่า ถูกมองจากผู้ใหญ่ว่าเป็นไปไม่ได้ แม้มีครูท่านอื่นพยายามช่วยสนับสนุนความคิดนักเรียน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกดทับด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ แนวคิดอนุรักษ์นิยมหลอมรวมในสังคมอย่างหนัก การที่มีครูหรือผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนนักเรียน ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ทำลายการถูกกดทับทางความคิดลงได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสัดส่วนเด็กและเยาวชน กับจำนวนผู้ใหญ่ที่เข้าประชุมระดับชาติ เพื่อสะท้อนปัญหาของเด็กและเยาวชน มีตัวแทนจากสดย. เพียง 2 คน นอกนั้นอีกประมาณ 30 คนเป็นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น 

 

ปัญหาของสภานักเรียนและสดย. มีปัญหาตั้งแต่การคัดสรรบุคคลเข้าไปทำงาน ไปจนถึงกระบวนการทำงานที่ถูกตีกรอบ จำกัดสิทธิ์จนผู้แทนเด็กและเยาวชนไม่สามารถทำตามความตั้งใจที่จะพัฒนาหรือแก้ปัญหาได้ น่าแปลกที่ประเทศไทยตรากฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน แต่ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพและแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชนได้ หากเปรียบเทียบกับประเทศที่เคารพสิทธิเด็กระดับต้นของโลก อย่างไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ จะพบว่า ประเทศเหล่านั้นให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ประเทศเหล่านี้ตั้งกฎหมาย และนโยบายประเทศที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติกาสากลที่เคารพในความเป็นมนุษย์อื่น ๆ มีการให้สวัสดิการที่เป็นแรงผลักดันต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ตีกรอบความต้องการของเด็ก เปิดรับและสนับสนุนแนวทางชีวิต การศึกษา วิชาชีพตามที่เด็กสนใจ มีการตรวจตราประเมินระบบการดูแลคุณภาพเด็กและเยาวชนในระดับชาติ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น แต่เมื่อกลับมาวิเคราะห์นโยบายและมาตรการดูแลสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของประเทศไทย พบว่าความเข้มงวดในการตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนยังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ ยังขาดความเข้มงวด ผู้ใหญ่ยังมองเด็กเป็นเครื่องมือหรือเครื่องประดับ มากกว่าการมองเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ 

 

เด็กและเยาวชนไม่ว่าอายุเท่าไร เขาคือกำลังสำคัญของสังคมและประเทศ การที่เขาเกิดมาทีหลัง ไม่ได้หมายความว่าความรู้ ความสามารถของเขาจะด้อยกว่าผู้ใหญ่เสมอไป หากพิจารณาด้วยตรรกะ ปราศจากอคติ จะพบว่าเด็กและเยาวชนมีศักยภาพและแนวคิดมากพอที่จะผลักดันสังคมได้ ด้วยยุคโลกาภิวัตน์ ที่องค์ความรู้ต่าง ๆ สามารถหาได้ง่ายและเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังรู้จักการคัดกรองข้อมูล มีการตั้งคำถามว่า ข้อมูลที่ได้มา มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ทำให้ทักษะด้านต่าง ๆ ของเยาวชนในปัจจุบันก้าวกระโดดอย่างมีประสิทธิภาพ บางคนสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนทำงานตามความชอบและความถนัด สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมและการเมืองหลายคน เข้าใจโครงสร้างสังคมในมิติต่าง ๆ จนพวกเขาสามารถวิเคราะห์ได้ว่า  ปัญหาของสังคมในประเด็นที่เขาจะพูดคืออะไร ต้นตอมาจากไหน แนวคิดของหลายคนถูกนำเสนอในวงเสวนาระดับนานาชาติ ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องตีกรอบ หรือยัดเยียดแนวคิดใส่ลงไปในเด็ก ขอเพียงให้พื้นที่ ให้พวกเขาได้พูด นำเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคม หากมีมุมมองหรือองค์ความรู้ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็มาแชร์กัน อย่าไปปิดกันด้วยแนวคิดว่า “เด็กอย่างเธอจะไปรู้อะไร” “เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่” ถ้าผู้มีอำนาจยังมองเด็กว่าเป็นเครื่องมือ บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างผิดวิธี Put the man on the wrong job เช่นนี้ แล้วเมื่อไหร่สังคมจะพัฒนาได้เสียที วันหนึ่งเด็กก็ต้องโตขึ้น หากผู้ใหญ่ยังกีดกันการมีส่วนร่วม จำกัดสิทธิ์ของพวกเขา ไม่สื่อสาร ให้การศึกษา เมื่อเขาโตขึ้นจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ ผู้ใหญ่ที่อ้างว่าตนอาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์ร้าย ๆ ในวัยเยาว์มาไม่ต่าง หรือบางครั้งหนักกว่า เหตุใดจึงไม่เข้าใจ ไม่เปิดใจรับฟังปัญหาของเด็ก ๆ แม้จะพบปัญหาแบบเดียวกัน แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน บริบทสังคมเปลี่ยน บริบทของปัญหาย่อมเปลี่ยนตาม มุมมองของคนที่อยู่ในปัญหาย่อมแตกต่างจากคนที่อยู่ภายนอกแล้วมองเข้ามา หากเด็กที่อยู่ในปัญหา และผู้ใหญ่ที่อยู่นอกปัญหาหรือผู้ที่มองปัญหาแบบภาพรวมมาร่วมมือกัน การบูรณา การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เด็กและเยาวชนพยายามสื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างมาก พยายามมากจนบางคนถูกดำเนินคดี หรือถูกคุกคามเสียด้วยซ้ำ แล้วผู้ใหญ่พร้อมเปิดใจเข้าหา พูดคุยกับพวกเขาหรือยัง 

 

หนึ่งคำถาม อาจไม่ได้มีเพียง 1 คำตอบ และบางคำตอบก็ใช้ได้กับบางสถานการณ์ ลองวางสถานะความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ลง แล้วแลกเปลี่ยน พูดคุยกันด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ต่างคนมี วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม แล้วเรียงลำดับความสำคัญ หาจุดร่วมว่าในคณะทำงานมีวัตถุประสงค์อะไร ต้องการเดินไปในทิศทางไหน เคารพในศักยภาพของแต่ละฝ่าย แล้วนำศักยภาพเหล่านั้นมาสร้างความก้าวหน้าร่วมกัน ยอมรับในความผิดพลาด แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยละทิ้งอคติส่วนตัว ผู้ใหญ่ต้องยอมรับว่า แม้ตนเคยอยู่ในปัญหา แต่ปัจจุบันคนที่อยู่ในปัญหาคือเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ต้องให้พื้นที่กับพวกเขา ในการวาดผังวางแผนว่าอยากให้ปัญหาถูกแก้มาแบบไหน จะทำอย่างไรให้เดินไปถึงความสำเร็จนั้น หากทำได้เช่นนี้ ความหวังที่สภานักเรียน และสภาเด็กและเยาวชนที่เป็นกระบอกเสียงที่มีประสิทธิภาพ เป็นตัวแทนในการแก้ปัญหาและพัฒนา เป็นที่ไว้ใจของเด็กและเยาวชน จะไม่ใช่วิมานในอากาศ ด็กและเยาวชนจะไม่ใช่แค่อนาคตของชาติ แต่จะเป็นปัจจุบันที่มีคุณภาพ เด็กและเยาวชนจะไม่ใช่แค่ไม้ประดับหรือเครื่องมือให้ผู้ใหญ่ได้เลื่อนขั้น แต่จะเป็นฟันเฟืองสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างแท้จริง 

 


 

ข้อความจากเก็ท เจ้าของบทความ 

 

ตอนนี้ผมกำลังผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการที่จำเป็นในสังคม ซึ่งสิทธิด้านการแสดงความคิดเห็นก็เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน และจำเป็นในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ซึ่งภาครัฐเองก็พยายามสร้างช่องทางการแสดงความเห็นให้กับเด็กและเยาวชนผ่านการจัดสภาเด็กและเยาวชน แต่จากสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า สภาเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ช่องทางที่เด็กและเยาวชนใช้ในการสื่อสารกับภาครัฐหรือผู้อำนาจมากนัก ด้วยเหตุนี้จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้น โดยหวังว่าบทความนี้จะเป็นการกระทุ้งถาม กระตุ้นให้สภาเด็กและเยาวชนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกระบอกเสียงของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง 

 

 

 

ข้อความจากยูรา จ้าของภาพ 

 

เราเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นสิทธินักศึกษาและสวัสดิการในมหาวิทยาลัย เพราะมองว่าเป็นสิทธิในการแสดงออกหรือมีพื้นที่ในการแสดงออกที่เราควรมีเมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย นอกจากการศึกษาเรียนรู้ มหาวิทยาลัยต้องรับพิจารณาการแสดงออกหรือการมีจุดยืนในอุดมการณ์ที่เราขับเคลื่อนเช่นกัน อย่างการดำเนินการจัดกิจกรรม ต้องเป็นนักศึกษาเองที่เป็นผู้ออกแบบและกำหนดทิศทางของกิจกรรม เมื่อใดที่เราถูกให้ทำตามระเบียบโดยที่เราไม่ยินยอมใจหรือไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ นั่นแสดงว่ามหาลัยกำลังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษยชนพึงมี