ประเทศไทย : ดินแดนสวรรค์ (หลอกๆ) ที่คนข้ามเพศถูกผลักออกได้ทุกวินาที

8 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์เลี้ยง และสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติตามรัฐมนตรีกำหนด แม้ปัจจุบันข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มีการฉายภาพความจริงที่ว่า การทำร้ายสัตว์น้อยใหญ่ยัง ‘ปรากฏ’ ให้เห็นอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งคนเลวหลายเคสที่ทำร้ายสัตว์ของตัวเอง สัตว์ของผู้อื่น หรือสัตว์ที่จับมาฆ่าเพื่อประโยชน์ ก็ถูกจับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนได้รับบทลงโทษ

ขณะที่ฉันอ่านข่าวการจับกุมมนุษย์ที่ใจร้ายกับสัตว์ หลายความรู้สึกตีตื้นขึ้นมาในหัว อย่างแรกเลยคือสงสารสัตว์ และมนุษย์พวกนั้นต้องได้รับการลงโทษน่ะถูกแล้ว เพราะการทำร้าย ‘สิ่งมีชีวิต’ ไม่ใช่เรื่องที่คนมีศีลธรรมเขาทำกัน แต่อีกความรู้สึกที่คิดแล้วจุกอกเหมือนถูกมีดนับพันทิ่มแทง คือทำไม ‘คน’ อย่างฉันถึงไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

 

คนอย่างฉัน?

จำความได้ - 18 ปี

ฉันคือเด็กหญิงที่โตมากับชื่อและคำนำหน้าที่ไม่ได้เลือกเอง

ฉันคือเด็กหญิงที่เกลียดชื่อตัวเองตั้งแต่จำความได้

ฉันคือเด็กหญิงที่มองร่างกายตัวเองแล้วร้องไห้แทบทุกวัน

ฉันคือเด็กหญิงที่ถูกบังคับให้แต่งกายและไว้ทรงผมแบบเด็กชายจนไม่อยากออกจากบ้าน

ฉันคือเด็กหญิงที่โดนเพื่อนร่วมชั้นและครูในโรงเรียนล่วงละเมิดทางเพศ (พอแสดงออกว่าไม่พอใจหน่อย เขาก็หัวเราะเยาะ หาว่าคิดมากเกินไป)

 

เนิ่นนานมาถึงปัจจุบัน ฉันกลายเป็นหญิงสาวที่มีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อจริง ฉันเป็นหญิงสาวที่มองร่างกายท่อนบนที่เปลี่ยนไปอย่างร่าเริง ฉันเป็นหญิงสาวที่มองร่างกายท่อนล่างแล้วรู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์ 

และฉันเป็นหญิงสาวที่กำลังเขียนให้ผู้อ่านได้ทราบว่า ถึงตอนนี้ฉันจะมีความสุขที่ได้รับการผ่าตัดจนมีร่างกายเป็นของตัวเอง แต่ความสุขที่มีกลับมีไม่สุด 

มันเหมือนจะเป็นสวรรค์ใช่ไหมล่ะ ที่ฉันได้มีร่างกายเป็นของตัวเอง แต่มันไม่ได้ครึ่งหนึ่งของสวรรค์หรอกนะ มากสุดคงเป็นแค่พื้นดินธรรมดาที่ทำให้ฉันอยากมีชีวิตอยู่ต่อในร่างกายที่ฉันเลือก เพราะคำถามที่ตามมากลับยาวเป็นหางว่าว เริ่มตั้งแต่ ทำไมฉันต้องเสียเงินทุกสตางค์เอง ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นสวัสดิการทางสุขภาพที่รัฐมอบให้เหมือนประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ คนอื่นๆ ล่ะ ถ้าไม่มีเงิน ก็ถูกโยนใส่กรงและถูกแปะป้ายว่าห้ามเป็นตัวเองอย่างนั้นเหรอ

มากไปกว่านั้น…

บางวันฉันยังร้องไห้ บางคราฉันยังอึดอัดเมื่อถูกบังคับให้กรอกคำนำหน้าลงบนเอกสาร ทรมานทุกครั้งที่หน้าบัตรประชาชนยังเป็นคำนำหน้าเดิม และยังมีคนรอบตัวหลายคนทั้ง Cisgender (บุคคลที่เพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด) และ LGBTQ+ ที่ยังไม่เข้าใจว่าการไม่ยอมรับฉันเป็นผู้หญิง และไม่ยอมรับนิยามที่ฉันเรียกตัวเองว่า ‘ผู้หญิง’ ใช้ถ้อยคำ “อ้าว นึกว่าเป็นผู้หญิง” “สวยเหมือนผู้หญิง” “อยากยกมดลูกให้” เหล่านี้ล้วนเป็นการ Misgender หรือการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของคนข้ามเพศ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเครียดสะสม หรือลามไปสู่การไม่กล้าเผชิญสังคมใหม่ๆ 

การ Misgender แฝงแนวคิด Transphobia หรือ การปิดกั้นคนข้ามเพศและไม่ยอมรับคนข้ามเพศเป็นชายและหญิงทั่วไป ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสะท้อนภาพใหญ่ถึงตัวบทกฎหมายในประเทศไทยได้อย่างดี มีผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ถูกล่วงละเมิด และถูกทำร้ายโดยที่คนกระทำผิดยังลอยนวล ที่สาเหตุหลักก็เริ่มมาจากอคติทางเพศที่กล่าวมาก่อนหน้าทั้งนั้น

ร้ายแรงและน่าอัปยศที่สุดสำหรับกฎหมายไทย คือหากผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่านการผ่าตัดมาแล้วถูกข่มขืน จะไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติคุ้มครอง 

แน่นอน ถ้าฉันกำลังเดินขึ้นบันไดแห่งสวรรค์ ภาพจำลองชีวิตตอนนี้คงเป็นภาพผู้มีอำนาจในสังคมและกลุ่มคนเหยียดเพศกำลังรุมถีบฉัน ลงไปทีละขั้น ทีละขั้น ทีละขั้น ทุกครั้งที่มีโอกาส

 

ตุ้บ

 

สุดท้ายฉันก็ยังไม่บรรลุความสุขในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้อยู่ในสังคมดีๆ อย่างเต็มตัวสักที



ในเมื่อเลือกเกิดให้ ‘ถูกประเทศ’ ไม่ได้ สิ่งที่ฉันและทุกคนต้องทำคือเรียกร้อง และตะโกนดังๆ ออกมาว่า “นี่คือสิทธิที่กูควรได้รับโว๊ย!”

อาร์เจนตินามีกฎหมายรับรองให้ผู้ที่อายุเกิน 18 ปีสามารถเลือกอัตลักษณ์ทางเพศใหม่และแก้ไขเอกสารอย่างเป็นทางการโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากศาลหรือทางการแพทย์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถดำเนินการโดยได้รับความยินยอมจากตัวแทนทางกฎหมายของพวกเขาและนำเรื่องให้ผู้พิพากษาตัดสินได้

โคลอมเบีย เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ มอลตา และอินเดีย สามารถเปลี่ยนเพศในเอกสารได้โดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมาก่อน

ฝรั่งเศสอนุญาตให้คนข้ามเพศเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขทางการแพทย์ และได้รับการคุ้มครอง ‘ฟรี’ เช่นเดียวกับมอลตาที่คนข้ามเพศทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รับฮอร์โมนและผ่าตัดฟรี

ประเทศไทยที่เคลมตัวเองว่าเป็นสวรรค์ (ที่ใช้หลอกเด็ก) ของ LGBTQ+ ล่ะ

มีอะไร

คำตอบ คือ ไม่มี 

แต่สิ่งที่ฉันมี

คือ เสียง และพลังที่จะไม่หยุดเรียกร้องสิทธิที่ฉันและเพื่อนร่วมโลกควรได้รับตั้งแต่แรก

ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส สงสัยจะเป็นเรื่องจริง

ซึ่งฉันคนหนึ่งแหละ ที่จะไม่ยอมตกเป็นทาส

 

#TransRightsAreHumanRights #TransWomenAreWomen #TransMenAreMen