โควิด-19 กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

27 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2564 ทว่ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนี้ กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและไม่ได้รับสิทธิที่พวกเขาพึงได้ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติเป็นหนึ่งในกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากสังคมในปัจจุบัน

กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ต้องเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิทธิในถิ่นที่เกิดและที่ทำกิน รวมถึงปัญหาด้านการเข้าถึงสวัสดิการและการพัฒนาในนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งส่งผลที่ตามมา คือ กำแพงทางภาษาและการประกอบอาชีพ อาทิ กรณีที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติป่าไม้ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อประกอบอาชีพ และกรณีการจับกุมและดำเนินคดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่พยายามกลับสู่ถิ่นที่อยู่เดิมของตน การดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นำไปสู่ปัญหาความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ปัญหาความอดอยากและปัญหาสุขภาพในที่สุด  อีกปัญหาหนึ่งที่ฝังรากลึกลงไป ซึ่งประจักษ์ให้เห็นได้ผ่านแนวทางการปฏิบัติของรัฐต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง คือ อคติทางชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติกว่า 5 แสนคนบริเวณชายแดนไทยถูกเลือกปฏิบัติและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนด้อยโอกาส เกิดปัญหาด้านสิทธิและคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้

ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติต้องเผชิญในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากชนพื้นเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้มีความยากลำบากในการติดต่อขอความช่วยเหลือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด มาตรการการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อและการเข้าถึงการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ผู้หญิงที่ออกไปรับบริการด้านสุขภาพทางเพศหรืออนามัยเจริญพันธุ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติ

ตัวแทนจากสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระบุว่าเมื่อปี 2563 ปัญหาที่น่ากังวลสำหรับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองนั้นเป็นเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ในปีนี้ ปัญหาหลักคือประเด็นของการเข้าถึงวัคซีน เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ

การติดตามของสำนักเฝ้าระวังฯ ยังพบว่า กำแพงทางภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบกับมาตรการการควบคุมโรค และการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับโรคระบาด นำไปสู่ความตระหนกและหวาดกลัว

ผู้ประสานงานกลุ่มมานิระบุว่า ชาวมานิไม่กล้าลงมาซื้ออาหารนอกพื้นที่ ถึงแม้อาหารของพวกเขาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตก็ตาม รวมถึงชาวมานิที่ออกมาเรียนหนังสือนอกพื้นที่ก็ไม่สามาถเดินทางกลับเข้าไปในชุมชนได้ เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น แม้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพหลายประการ แต่กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากมาตรการของรัฐ อาทิ กรณีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบว่ามีชาวเลชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ติดเชื้อและกำลังรักษาตัวอยู่ 220 คน อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 44 คน และอยู่ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ 165 คน (ข้อมูลวันที่ 7 กันยายน 2564) รวมถึงคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขไม่ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อแบบเชิงรุก ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและผู้ป่วยไม่แสดงอาการแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีชาวเลเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย และมีชาวเลจำนวนมากได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น หัวหน้าครอบครัวต้องเข้ารับการรักษาหรือกักตัว ส่งผลให้ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ หรือหากหาปลาได้ ก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากผู้ซื้อกลัวติดเชื้อ เป็นต้น สร้างความลำบากแก่ชุมชนชาวเลอย่างมาก

ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมากที่สุด คือ ปัญหาการว่างงานและการขาดรายได้ ทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจของมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าชนเผ่ามอแกนได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สูงถึงร้อยละร้อย ในขณะที่ชาวเล ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการหาปลา ก็ไม่สามารถรับจ้างและหาเลี้ยงชีพได้เช่นกัน สำหรับชนพื้นเมืองที่ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ผลกระทบที่ได้รับ คือ ผลผลิตราคาตกต่ำและไม่มีตลาดในการส่งขาย ในบางชุมชนที่ไม่สามารถนำผลผลิตไปส่งขายได้ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสียไป

ข้อมูลจากอุปนายกการศึกษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ระบุว่าแรงงานไทใหญ่ในภาคการเกษตรถูกลดค่าแรง บางคนถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับการเยียวยา การเยียวยาและดูแลจากภาครัฐเป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ทว่าการสำรวจจากมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 1003 คน กลับพบว่ามีเพียง 341 คนเท่านั้นที่ได้รับการเยียวยา โครงการเราไม่ทิ้งกันมีผู้ที่ได้รับสิทธิ์เพียง 99 คน ด้านโครงการเยียวยาเกษตรกร ได้รับการเยียวยาเพียง 74 คน เนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองไม่ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โครงการเยียวยาชาวประมง ไม่มีผู้ใดได้รับการเยียวยา การเยียวยากลุ่มเปราะบาง ได้รับสิทธิ์เพียง 39 คน และโครงการเยียวยาแรงงานประกันสังคม ได้รับสิทธิ์เพียง 2 คน

สาเหตุหลักที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติไม่ได้รับการเยียวยานั้น มักมาจากการเข้าไม่ถึงการเยียวยาตั้งแต่แรก เนื่องด้วยกลุ่มชาติพันธุ์กว่าร้อยละ 87 ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ อันเนื่องจากการเข้าไม่ถึงรับการศึกษา ในขณะที่การลงทะเบียนรับการเยียวยาจำเป็นต้องทำผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งแม้จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเยียวยาแต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี ตัวแทนจากชาวเลอันดามันให้ข้อมูลว่า ชาวเลหลายคนที่ถูกไล่ออกและตกงาน ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของประกันสังคมได้ และแม้จะมีการเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่รับการเยียวยาที่ยั่งยืน เช่น แม้จะมีอาสาสมัครเข้ามาสอนทำการเกษตรโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ชาวเลบางกลุ่มก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ ด้านการรักษาพยาบาล หน่วยงานอาสาสมัครชุมชน หรือที่เรียกกันว่า อสม. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่ได้มีในทุกชุมชน หรือบางกรณีหัวหน้าชุมชนก็ไม่อนุญาตให้อสม.เข้ามาดูแล ทำให้ประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตของแต่ละชุมชนแตกต่างกันออกไป ปัญหาเหล่านี้เกิดจากมาตรการของรัฐที่ดำเนินการในรูปแบบ one size fits all กล่าวคือ แนวทางการเยียวยาออกมาในรูปแบบเดียวแต่บังคับใช้กับทุกกลุ่ม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาหรือได้รับสวัสดิการแห่งรัฐอย่างที่ควรเป็น

หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “รัฐภาคีมีหน้าที่ในการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด และที่สำคัญ ภาครัฐต้องดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติ” ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ยังระบุว่า “รัฐจำเป็นต้องหารือและร่วมมือโดยสุจริตกับชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านสถานบันตัวแทนของพวกเขาในการแสวงหาความยินยอมก่อนที่จะดำเนินการทางกฎหมายหรือปกครองซึ่งอาจส่งผลต่อพวกเขา” รวมถึงระบุว่าชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีสิทธิในการมีส่วนร่วม พัฒนา กำหนด และบริหารจัดการโครงการเกี่ยวกับสุขอนามัยที่ส่งผลกระทบกับพวกเขา

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า แนวทางการปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากขาดกลไกในการให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ประเมินนโยบาย และรับมือโรคระบาด นอกจากนี้ ประเด็นการเข้าถึงข้อมูลการบริการทางสุขภาพ ซึ่งไม่ปรากฏข้อมูลในภาษาท้องถิ่น ยังไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชนและชนเผ่าพื้นเมืองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่บงกับโรคระบาด การป้องกันตัวเองจากโรคระบาด รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ประเด็นสิทธิในถิ่นที่อยู่ ที่ดินทำกิน และทรัพยากรธรรมชาติ การที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองถูกปฏิเสธในที่ดินของตนเอง ส่งผลต่อการเข้าถึงการผลิต การเข้าถึงแหล่งอาหาร ความสามารถในการเลี้ยงชีพ รวมถึงทำลายความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาอาศัยของพวกเขากับทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นที่อยู่ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แม้จะมีการหยิบยกประเด็นสิทธิในที่ดินบรรพบุรุษตามเนื้อหาในพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับการคุ้มครอง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้กฎหมายพิเศษภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระงับการเดินทางหรือห้ามการชุมนุม ยังส่งผลให้นักปกป้องสิทธิที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองกลายเป็นอาชญากร ทำให้นักปกป้องสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น และทำให้การช่วยเหลือเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองกระทำได้ลำบากยิ่งขึ้น

และจากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จากการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่มในประเด็นเรื่องผลกระทบของโรคโรคโควิด-19 ต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทางองค์กรจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว ดังนี้

  1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดเก็บข้อมูลเฉพาะเจาะจง เช่น อัตราการติดเชื้อของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง อัตราการเสียชีวิต ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และความรุนแรงที่มีพื้นฐานจากเรื่องเพศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กและผู้หญิง
  2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำข้อมูลและนำเสนอข้อมูลอย่างทันที เข้าถึงได้และถูกต้องแม่นยำให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันโรคและการรักษาพยาบาล โดยข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นภาษาที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแต่ละกลุ่มสามารถเข้าใจได้ ทั้งในรูปแบบการเขียน การพูดและรูปแบบที่เด็กสามารถเข้าใจได้ด้วยเช่นกัน
  3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรอำนวยความสะดวกให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับได้ในเชิงวัฒนธรรมของกลุ่มต่างๆและเข้ากับเพศและวัยของผู้เข้ารับบริการโดยไม่เลือกปฏิบัติ บริการดังกล่าวควรรวมไปถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ด้วย
  4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดสรรให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองจากโรคระบาด อุปกรณ์ตรวจโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับกรณีฉุกเฉิน และควรให้หมอตำแยประจำชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 
  5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทางอาหารแก่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
  6. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรอำนวยความสะดวกให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงโครงการเยียวยาช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติเพียงเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติและชาติพันธุ์
  7. กรมอุทยานแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องหลีกเลี่ยงและยุติการไล่รื้อที่หรือบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองออกจากพื้นที่ของตนเองในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคและลดการใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองสำหรับกิจกรรมทางทหาร 
  8. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ต้องจัดทำนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น
  9. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องหยุดโจมตีนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในที่ดินและสิ่งแวดล้อม และนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นผู้หญิง รวมถึงต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและมีการเยียวยาผู้เสียหายด้วย
  10. หน่วยงานภาครัฐต้องรับรองว่าจะไม่ใช้อำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดปากหัวหน้าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
  11. มาตการที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ควรผ่านการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชน
  12. หน่วยงานภาครัฐควรยกเลิกการสนับสนุนโครงการต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และควรส่งเสริมการทำอาชีพอย่างมั่นคงให้แก่ชุมชน
  13. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงแห่งมนุษย์และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์กรกครองส่วนท้องถิ่น ควรเปิดให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่น กลุ่มชาวเล และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและชาติพันธุ์

Mani-08.png