ทำไมสัญลักษณ์ LGBTQ จึงเป็นสีรุ้ง?

23 มิถุนายน 2564

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

หากกล่าวถึงสีรุ้งอันสดใส หลายๆ คนคนคงตีความว่าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนตัวตนของกลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่พวกเราเรียกกันอย่างติดปากว่า LGBTQ สีรุ้งได้ถูกนำมาใช้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับคนเหล่านี้อย่างแพร่หลาย อันเห็นได้จากการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ ในหลายประเทศทั่วโลกมักประดับประดาเครื่องแต่งกายด้วยสีรุ้ง หรือเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนอันเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนต่างเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บัญชีโซเชียลของตนให้มีสีรุ้งแทรกอยู่ 

แต่ถึงแม้จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็ยังคงมีน้อยคนนักที่เข้าใจถึงความหมายอันแท้จริง ว่าเหตุใดสีรุ้งจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสีรุ่งและ LGBTQ ให้มากขึ้นผ่านความจริงด้านล่างนี้

 

LGBTQ คืออะไร?

LGBTQ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะมีเพียงแค่สองเพศหากจำแนกตามสรีระ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์มีเพศมากกว่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่เพศชาย หรือเพศหญิง ในอดีตกลุ่มคนเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดของสังคม และไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และในรายที่รุนแรงอาจถูกครอบครัวของตนเองกีดกัน และบังคับให้ปฏิบัติตัวตามแบบแผนที่เคยทำมาตั้งแต่โบราณ อาทิการต้องฝืนใจแต่งงานกับผู้หญิงหรือผู้ชายที่ทางครอบครัวเลือกให้ เพื่อเป็นการสืบทอดวงศ์ตระกูล และเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติของครอบครัว แต่ในปัจจุบันกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเริ่มได้รับการยอมรับมากกว่าในอดีต มีการใช้คำเรียกที่มีความหลากหลายมากขึ้น

  • L Lesbian คือผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง

  • G Gay คือผู้ชายที่มีรสนิยมชมผู้ชาย

  • B Bisexaul คือคนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

  • T Transgender คือบุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง

  • Q Queer เป็นคำเรียกกว้างๆ ของกลุ่มคนที่มีเพศลื่นไหล ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน

ซึ่งไม่เพียงแต่ LGBTQ เท่านั้น ยังคงมีตัวอักษรระบุเพศอีกมากมาย อย่าง I Intersex คือบุคคลที่มีเพศสองเพศ หรือ A Asexual คือคนที่ไม่ได้มีความฝักใฝ่ทางเพศ

 

ทำไมต้องเป็นสีรุ้ง

อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า LGBTQ นั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย และสีรุ้งเองก็เป็นการรวมตัวกันของหลายสีมาเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างสีสัน โดยสีรุ้งที่มาเป็นสัญลักษณ์ของคนกลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบธงสีรุ้งของ Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 โดยในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่

  • Hot pink ที่มีความหมายสื่อถึงเรื่องเพศ

  • สีแดง หมายถึงชีวิต

  • สีส้ม หมายถึงการเยียวยา

  • สีเหลือง หมายถึงแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง

  • สีเขียวหมายถึงธรรมชาติ

  • สีฟ้า Turquoise หมายถึงเวทมนต์

  • สีน้ำเงินม่วง หมายถึงความสามัคคี

  • สีม่วง หมายถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่

ภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ Hot pink และสีฟ้า Turquoise เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่างๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเคย

 

รู้หรือไม่ LGBT ก็มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

เพราะคนทุกเพศมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 2 ไม่แบ่งแยก ระบุไว้ว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด ก็ทำให้เห็นได้ว่าไม่ควรมีใครถูกแบ่งแยกเพียงเพราะความแตกต่าง

และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศ จึงมีการกำหนดให้เดือนมิถุนายนเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการจัดขึ้นทั่วโลก และมีการนำธงสีรุ้งมาประดับประดาสถานที่ต่างๆ และมีการเดือนขบวนพาเหรดในหลากหลายประเทศทั่ว อย่างขบวนพาเหรดขนาดใหญ่ที่จัดขึ้น ณ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมืองมาดริด ประเทศสเปน หรือในทวีปเอเชียเองก็มีเช่นเดียวกัน อย่างขบวนพาเหรดของเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน หรือในบ้านเราก็มีจัดขึ้น ณ พัทยา

อ้างอิง : https://www.gqthailand.com/culture/article/history-of-rainbow-flag

https://today.line.me/th/v2/article/wwPpVR