Cyberbullying: การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่คุ้นเคยแต่ไม่ควรคุ้นชิน

16 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมไร้พรมแดนทั้งในแง่ของพื้นที่และเวลาที่อาศัยเทคโนโลยีผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละมุมโลกได้อย่างง่ายดาย แต่ความง่ายดายเหล่านี้ได้นำมาซึ่งปัญหาที่เรียกกันทั่วไปว่า Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป 

 

Cyberbullying: การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ คืออะไร?

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ เกิดการละเมิดสิทธิต่างๆ จนทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว ตกใจ รู้สึกแย่ ไร้ค่าและกลายเป็นตัวตลกของสังคม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในยุคปัจจุบันที่ทุกคนมีโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง สิ่งนี้เปรียบเสมือนอาวุธที่คอยทิ่มแทงใจคนที่ตกเป็นเป้าหมายของสังคม ตัวอย่างเช่น การรุมด่าทอ การใช้คำพูดที่สร้าง Hate Speech (ทำร้ายด้วยวาจา) ซึ่งการเหล่านี้ผู้กระทำอาจจะไม่ได้คิด แต่ผู้ที่ถูกกระทำอาจจะนำปคิดจนวิตกกังวล กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันการกระทำกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์จนบางครั้งก็อาจเป็นการกระทำที่เลยเถิดไปถึงขั้นผิดต่อกฎหมาย และจริยธรรม

บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ Comparitech ได้ทำการรวบรวมสถิติการกลั่นแกล้งบนอินเตอร์เน็ตในช่วงระหว่างปี 2561-2564 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก พบว่ามีสถิติการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ WEF Global press release ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกมีสาระสำคัญว่า เด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากพื้นที่ออนไลน์ถึง (60%) ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ (56%) เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ (73%) อินโดนีเซีย (71%) เวียดนาม (68%) และสิงคโปร์ (54%)

 

รูปแบบการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่มักพบบ่อย

1. ทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำ

โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการแกล้งที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความอับอาย และความเสียหายต่อบุคคลอื่นโดยเจตนา ใช้ถ้อยคำในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ด่าทอ ล้อเลียน ใส่ร้าย ขู่ทำร้าย  พูดจาส่อเสียด เหยียดเพศสภาพและความเป็นชาติพันธุ์ ผ่านช่องทางการสนทนา หรือบางทีโพสต์อย่างโจ่งแจ้งประจานบนโซเชียลมีเดีย ให้ผู้ถูกกระทำได้รับความอับอาย ใช้ถ้อยคำโจมตีให้เกิดความเสียหาย 

2. การประจาน

ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่ผู้ถูกกระทำโดนถูกรุมทำร้าย รุมแกล้ง แล้วนำคลิปไปโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่เสียหายต่อผู้ถูกกระทำ 

3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

ข้อนี้พึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง การที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ถึงรหัสผ่านแอปพลิเคชันหลักที่ใช้ประจำ ในการทำธุรกรรมในพื้นที่ออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ถือเป็นดาบสองคมเลยทีเดียว มีหลายกรณีที่หลุดเผยรหัสผ่านให้ผู้อื่นล่วงรู้โดยไม่เจตนา เช่น การให้เพื่อนหรือคนไม่สนิท เป็นผู้สมัครแอปพลิเคชันให้ อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ไลน์ ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้เฟซบุ๊กของตัวเอง โพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปอนาจาร คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่รู้ตัว

4. การแบล็กเมล์

ผู้ไม่หวังดีมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้เสียหาย นำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี เช่น ตัดต่อรูปภาพที่เกินจริงไปในทางที่ไม่เหมาะสม หรือการแอบถ่ายภาพหลุดและแชร์ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ บางครั้งยังส่อไปในทางคุกคามทางเพศด้วยภาพเปลือยหรือภาพอนาจาร หรือบางรายได้รับการส่งภาพหรือคลิปวิดีโอลามกมาให้ โดยที่ผู้รับไม่ต้องการ

5. การหลอกลวง

เป็นข่าวที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ที่ผู้มีชื่อเสียงหลายคนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ หลอกลวงให้ผู้คนหลงเชื่อ โดยสวมรอยเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวาง เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่างๆ  หรือการทำให้บุคคลเป้าหมายชื่นชมในภาพลักษณ์จนมีการนัดเจอเพื่อทำมิดีมิร้าย หลอกให้มีเพศสัมพันธ์ หรือ ทำอนาจาร

6.การสร้างข่าวปลอม 

เป็นการกระทำที่พบเห็นบ่อยครั้งซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกระทำเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งและมักจะทำในรูปแบบโจมตีฝ่ายตรงข้าม


ความเลวร้ายจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

 

“การกระทำที่คึกคะนอง  ที่ถูกมองว่าตลก นำไปสู่จุดจบที่ไม่เคยเป็นผลดีต่อใคร”

ความคึกคะนองด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของใครบางคน อาจจะทำให้อีกคนสูญเสียเสรีภาพในการดำรงชีวิติ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างความรุนแรงในระยะยาว ยิ่งมีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์บ่อยครั้ง ยิ่งทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือถูกรังแกมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งความวิตกกังวลซึมเศร้า และความผิดปกติอื่น ๆ บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติ (NCHS) ซึ่งได้เผยแพร่สถิติการเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปี 2020 พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปี แม้จะไม่ได้มีการระบุโดยตรงว่า การฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์แต่ก็พบว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของสมการนี้ จากงานวิจัยเรื่องการถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในเยาวชนของสมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทยพบว่า กลุ่มตัวอย่างคนที่ถูกรังแกบนโลกออนไลน์ทั้งหมด ร้อยละ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับถึงขั้นรุนแรง

 

หลักสิทธิมนุษยชนสากลกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ 

 

“การกระทำใดๆก็แล้วแต่ที่ปราศจากการเคารพสิทธิมนุษยชน การกระทำนั้นย่อมไม่เคยเป็นมิตรต่อใคร”

การกลั่นแกล้งมีอยู่เสมอ เรามักติดมาจาก "นิสัย" ในวัยเด็ก เราหยอกล้อและเล่นกันเหมือนเด็กไร้เดียงสา แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นสู่วัยที่เราเริ่มมีความรู้มากขึ้น การกระทำต่างๆ ก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่การสื่อสารแบบไร้พรมแดนผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์กลายเป็น สังคมขนาดใหญ่ จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน หลายคนยังอยากจะทำ เพราะคิดว่าสนุกและคุ้นชินกับมันแล้ว

แต่ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ที่นานาประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเสรี เท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี เราจะสังเกตได้ว่าการกระทำที่เรียกว่า Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในหลายข้อจากทั้งหมด 30 ข้อ ถึงแม้ว่าปฏิญญาดังกล่าวจะประกันสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์แต่ในข้อ 29 ตามปฏิญญาสากลฯ ได้กำหนดไว้ให้มีการเคารพสิทธิผู้อื่น 

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 29 (Article 29 of Universal Declaration of Human Rights:UDHR)

 

อ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับเต็ม  https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/

 

ทุกคนล้วนมีสิทธิและเสรีภาพ ทว่าการใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ พฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังส่งผลให้คนที่โดนละเมิดสิทธิดังกล่าว ต้องเผชิญกับความรู้สึกเหมือนถูกโจมตีอยู่ในทุกที่ทุกเวลา แม้กระทั่งในบ้านของพวกเขาเอง ทำให้รู้สึกว่าไม่มีทางหนีจากการกลั่นแกล้งนั้นได้เลย มันจึงส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ถูกกระทำในระยะยาวในหลายทิศทาง ทั้งทางด้านจิตใจ ทางอารมณ์ ทางกายภาพ ความรู้สึกของการถูกคนอื่นหัวเราะเยาะหรือดูถูกเหล่านี้ อาจส่งผลให้ผู้คนไม่กล้าพูดถึงปัญหาหรือพยายามหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งในกรณีที่ถึงขั้นรุนแรงอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

แม้พฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) สามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หากคิดใจเขา ใจเรา ทุกคนมีความรู้สึกและไม่มีใครอยากโดนทำร้าย แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้ายความรู้สึกหรือชื่อเสียง ดังนั้น ความเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกันในสังคมทั้งบนโซเชียลและชีวิตจริง ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป และก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป ลองคิดถึงใจของอีกฝ่ายว่าถ้าเราไปเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร อย่าคิดแทนคนอื่น และอย่าตัดสินคนอื่น เพียงเพราะสิ่งที่เราเห็นคิดก่อนโพสต์ เพียงความสนุกสนานในการโพสต์ข้อความแง่ลบต่อคนอื่นในโลกออนไลน์เพียงครั้งเดียว อาจทำให้ใครบางคนรู้สึกเจ็บปวดจากการ Cyberbullying ได้ตลอดไป

ดังนั้นการร่วมกันรณรงค์ให้หยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying) ไม่ใช่เพียงแค่การป้องกันภัยคุกคามให้แก่ตนเอง แต่ยังเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของมนุษยชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย



อ้างอิง 

www.resourcecenter.thaihealth.or.th

www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27737

www.comparitech.com/internet-providers/cyberbullying-statistics/

www.he02.tci-thaijo.org/index.php/JPNMH/article/view/241401