เล่าเรื่องราวสิทธิมนุษยชนผ่านภาพยนตร์ 3 เรื่องที่อยากให้ดู

2 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิทธิมนุษยชนมีอยู่ในทุกพื้นที่ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีติดตัวกันมาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งหมดลมหายใจไปจากโลกใบนี้ หลายคนอาจจะคุ้นชินและรู้จักกับคำนี้เป็นอย่างดี แต่ในบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วความหมายของคำนี้คืออะไรกันแน่ วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จะพาไปรู้จักกับสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ผ่านภาพยนตร์ 3 เรื่องที่เราอยากให้ทุกท่านได้ดู

ภาพยนตร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกเรื่องราว หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ทีมผู้ผลิตก็หยิบเอาเหตุการณ์สำคัญของโลกมาเล่าไว้ในตัวของภาพยนตร์ เพื่อตีแผ่ถึงมุมมองต่างๆ ให้สังคมได้เห็น มากกว่าแค่ที่เป็นคำบอกเล่าหรือตัวหนังสือ เฉกเช่นกับภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องที่เราหยิบยกขึ้นมาแนะนำ

 

12 Years A Slave ปลดแอก คนย่ำคน

หนึ่งในภาพยนตร์จากปี 2014 ที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง โดยเป็นการเล่าถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมของนักไวโอลีนชายผิวสีชาวนิวยอร์กผู้มีชื่อว่า โซโลมอน บนเส้นทางอันแสนเลวร้ายและลำบากตรากตรำ เนื่องจากเขาถูกลักพาตัวเพื่อไปขายเป็นทาสให้กับคนผิวขาวเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี โซโลมอนต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รักมาเดินบนเส้นทางที่เปรียบดั่งนรก เพราะทั้งถูกกดขี่ เหยียดหยาม และถูกใช้แรงงานอย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์จากเจ้านาย ผู้ซึ่งเป็นคนผิวขาว

แต่ถึงกระนั้นโซโลมอนเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่อโชคชะตาอันโหดร้ายที่เขาต้องเจอ ในทุกคืนวันเขายังคงหวังว่าตนเองจะเป็นอิสระ และได้ออกไปจากขุมนรกนี้ โซโลมอนยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและความมีชีวิตรอด จนในที่สุดเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากชายผิวขาวผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน คือไม่ต้องการเห็นคนผิวสีถูกเหยียดหยามและถูกปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คน และชีวิตของโซโลมอนก็ไปพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อที่ 1ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม

มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ

ข้อที่ 4 ไม่ตกเป็นทาส

บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาสหรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ห้ามความเป็นทาสและการค้าทาสทุกรูปแบบ

ข้อที่ 5 ไม่ถูกทรมาน

บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้

 

Philadelphia ฟิลาเดลเฟีย

เมื่อการเป็นโรคเอดส์มักจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นที่น่ารังเกียจ และยิ่งไปกว่านั้น เกย์ที่เป็นโรคเอดส์จะถูกสังคมกีดกันออกไป Philadelphia เป็นอีกหนึ่งในภาพยนตร์ที่อาจเป็นที่รู้จักของใครหลายๆ คน ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของโจนาธาน เดมม์ ผ่านการเล่าเรื่องราวมรสุมชีวิตของ แอนดรูว์ แบคเก็ท ทนายความผู้มีความสามารถในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก และต้องปกปิดว่าตนเองเป็นเกย์  แต่อยู่มาวันหนึ่งชีวิตของเขากลับต้องพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อแอนดรูว์พบว่าตนเองกำลังเป็นโรคเอดส์จาก  และรอยแผลบนในหน้าก็กำลังจะทำให้ชีวิตของเขาลำบาก

เพื่อของแอนดรูว์ล่วงรู้ถึงความลับที่เขาพยายามปิดมาโดยตลอด แต่ความจริงก็ต้องถูกเปิดเผยเมื่อแผลบนใบหน้าของแอนดรูว์เริ่มชัดขึ้น และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกไล่ออกจากการเป็นทนายความ แต่เนื่องด้วยความไม่ชอบมาพากลหลายๆ อย่าง จึงทำให้แอนดรูว์คิดว่านี่เป็นการกลั่นแกล้ง เขาจึงลุกขึ้นมาต่อสูโดยการฟ้องร้องบริษัทในข้อหาเลือกปฏิบัติ แต่ด้วยความเป็นเกย์จึงถูกปฏิเสธความช่วยเหลือจากทนายความคนอื่นๆ กระทั่งได้มาพบกับ โจ มิลเลอร์ ทนายความผู้ซึ่งมีความรังเกียจคนรักร่วมเพศในช่วงแรก แต่ด้วยความสงสารโจจึงตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยแอนดรูว์

การต่อสู้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องบริษัทจึงเริ่มตนขึ้น แต่ก็ใช่ว่าหนทางสู่ชัยชนะจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขาทั้งสองต้องฝ่าฝันอุปสรรคมากมาย จนในสุดท้ายวันที่แอนดรูว์จะได้พบกับแสงส่างก็มาถึง และทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ตนเองพยายามเรียกร้องมาเป็นเวลานาน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อที่ 2 ไม่แบ่งแยก

ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด

 

The Lady อองซาน ซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ

หนทางสู่การได้ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ The Lady อองซาน ซูจี ผู้หญิงท้าอำนาจ ภาพยนตร์แนวชีวประวัติที่เล่าเรื่องราวของ อองซาน ซูจี หญิงแกร่งชาวเมียนมาที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และเรียกร้องประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยการลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ทว่าหนทางที่เธอเลือกเดินกลับต้องเจอแต่ความเจ็บปวด เพราะแน่นอนว่าการลงเล่นเกมส์การเมืองก็ย่อมต้องมีคู่แข่ง ซูจีถูกขัดขวางต่างๆ นานา เธอถูกบีบบังคับให้ล้มเลิกการลงแข่งเลือกตั้ง แต่ถึงกระนั้นซูจีก็ยังยืนหยัดต่อสู้ แม้จะต้องแลกมาด้วยการพลัดพรากจากสามีอันเป็นที่รักและลูกชายอีกสองคน และเธอก็ต้องต่อสู้เพียงตัวคนเดียว ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศกำลังร้อนระอุ

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อที่ 12 สิทธิความเป็นส่วนตัว

บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัยหรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองของกฎหมายจากการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น

ข้อที่ 19 เสรีภาพในการแสดงออก

ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

 

จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราเลย การเกิดมาเป็นคนบนโลกใบนี้ย่อมต้องได้รับความเท่าเทียม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีผิวสีอะไร สัญชาติไหน หรือแม้แต่เพศอะไรก็ตาม การที่ภาพยนตร์ได้หยิบประเด็นเหล่านี้ออกมาตีแผ่ให้คนในสังคมได้รับรู้ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจ และเห็นภาพได้ชัดเจนถึงสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น

แต่ถ้าหากเรายังคงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ภาพยนตร์เหล่านี้ต้องการจะสื่อสารออกมา อาจจะกลายเป็นสิ่งที่สูญเปล่า หากเราต้องการเห็นสังคมมีความเท่าเทียมกัน การตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาหลักปฏญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amnesty.or.th/latest/blog/850/

เพราะทุกคนควรได้รับสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน