แนวทางการปฏิบัติที่ดีของเจ้าหน้าที่ ที่ควรใช้ในการชุมนุม

6 สิงหาคม 2563

Amnesty International

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความรับผิดชอบในการสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ โดยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายพึงกระทำดังต่อไปนี้

 

ข้อปฏิบัติที่พึงกระทำโดยผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อการควบคุมฝูงชน

 

อำนวยความสะดวกในการชุมนุมโดยสงบ

  • ประชาชนทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ การชุมนุมโดยสงบจึงไม่ควรถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรู” หรือ “ฝ่ายตรงข้าม”
  • ผู้มีอำนาจสั่งการควรออกคำสั่งให้ชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยว่าหน้าที่ของพวกเขาคือการอำนวยความสะดวกและไม่ขัดขวางการชุมนุมโดยสงบ และคำสั่งนี้ควรเป็นที่เข้าใจในทุกลำดับชั้นสั่งการของผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการการชุมนุม

 

ปกป้องการชุมนุมโดยสงบ

  • การละเมิดกฎหมายลหุโทษ เช่น การติดป้ายประกาศ ทิ้งขยะไม่ถูกที่ หรือความเสียหายอื่นๆ อันเนื่องมาจากการรวมตัวของคนหมู่มาก ควรได้รับการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความผิดลหุโทษไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุม
  • เมื่อมีคนกลุ่มน้อยในการชุมนุมพยายามที่จะปลุกปั่นให้การชุมนุมโดยสงบเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ควรเข้ามาปกป้องผู้ที่ชุมนุมโดยสันติ และไม่ใช้ความวุ่นวายของคนกลุ่มน้อยมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันหรือสลายการชุมนุมของคนส่วนใหญ่

 

ยุติความบานปลายของสถานการณ์ตึงเครียดหรือความรุนแรง

  • การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุมควรเป็นไปเพื่อสร้างความเข้าใจและหลีกเลี่ยงจากความรุนแรง
  • หากเหตุการณ์มีความตึงเครียดสูงจนอาจเกิดความรุนแรงทุกเมื่อ เช่น การรวมตัวในวันครบรอบที่เสี่ยงต่อการปะทะ หรือการประท้วงต่อมาตรการของรัฐ การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดความตึงเครียดและไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง
  • เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและผู้จัดการชุมนุมควรหารือร่วมกันเพื่อหาวิธีลดทอนความรุนแรงหรือยุติเหตุการณ์ทันทีหากมีการปะทะกันเกิดขึ้น

 

คำสั่งสลายการชุมนุม ต้องใช้กำลังอย่างชอบธรรมเท่านั้น

  • การตัดสินใจสั่งสลายการชุมนุมควรคำนึงถึงความจำเป็นและความร้ายแรงของสถานการณ์เป็นหลัก โดยการตัดสินใจนี้ควรเกิดขึ้นเมื่อไม่มีหนทางอื่นใดแล้วในการป้องกันสาธารณชนจากความรุนแรงในการประท้วง
  • เมื่อการตัดสินใจอย่างชอบด้วยกฎหมายออกมาแล้ว คำสั่งปฏิบัติการควรมีความชัดเจนและเป็นที่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกลำดับ เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติสถานการณ์ความรุนแรงลง
  • เจ้าหน้าที่ควรให้เวลาอย่างเหมาะสมเพื่อให้ผู้ชุมนุมแยกย้าย

 

ใช้กำลังอย่างชอบธรรมเท่านั้น

  • เจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้กำลังเพื่อลงโทษการไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง หรือเพื่อลงโทษผู้ประท้วงเพราะออกมาชุมนุม
  • การจับกุมและกักขังควรเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ไม่ใช่นำมาใช้เป็นวิธีขัดขวางการชุมนุมหรือเพื่อลงโทษผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุม

 

จำกัดการใช้ความรุนแรงให้สร้างความเสียหายน้อยที่สุด

  • อาวุธปืนไม่ควรถูกใช้ในการสลายการชุมนุมไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น
  • ไม่ควรใช้กระบองหรืออุปกรณ์ทุบตีอื่นๆ กับผู้ชุมนุมที่ไม่ต่อสู้
  • หากไม่สามารถหลักเลี่ยงการทุบตีได้ เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงการโจมตีเข้าจุดสำคัญที่ทำให้บาดเจ็บถึงแก่ชีวิต
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการสลายการชุมนุมควรเลือกใช้อย่างระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ และถูกต้องตามกฎหมาย เพราะอุปกรณ์สลายการชุมนุมหลายชนิดที่ถือว่าอันตรายน้อยกว่า เช่น กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และระเบิดแสง ความจริงแล้วสามารถสร้างความเสียหายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสิ้น
  • สารเคมีสร้างความระคายเคืองเช่นแก๊สน้ำตา ไม่ควรใช้ในพื้นที่ปิด หรือใช้ในวิธีที่สามารถสร้างความเสียหายระยะยาวได้ เช่นในระยะประชิดหรือยิงใส่หน้า
  • เจ้าหน้าที่ทุกควรได้รับคำสั่งที่ชัดเจนว่าผู้บาดเจ็บทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่โดนกีดกัน

 

ปฏิบัติการต้องตรวจสอบได้โดยตุลาการและสาธารณชน

  • การใช้กำลังไม่ว่าด้วยสาเหตุใดในการชุมนุมต้องได้รับการตรวจสอบ และโดนดำเนินคดีได้หากเป็นการใช้กำลังโดยไม่ชอบธรรม
  • เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการทุกคน ต้องสามารถระบุตัวตนได้