ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป?: ย้อนรอยดูการกวาดล้างผู้เห็นต่างอันนองเลือดในหน้าประวัติศาสตร์อินโดนีเซียกับ The Act of Killing (2012)

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย ปิ่นสุดา โสรัสสะ

ภาพ The Act of Killing

Movie Trigger Warning: State Violence, Mass killing, Reenactment of torture and murder, Description of rape

 

จากเหตุการณ์การถูกอุ้มหายของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เราเริ่มเกิดความสนใจเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น ยิ่งเมื่อได้เข้าไปอ่านบทความที่เล่าเกี่ยวกับผู้สูญหายในไทย ยิ่งทำให้ทราบว่ากรณี “อุ้มหาย” ที่เกิดขึ้นกับผู้เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐในประเทศไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน จวบจนปัจจุบันมีจำนวนผู้สูญหายที่ได้มีการรายงายอย่างเป็นทางการกับคณะการทำงานขององค์กรสหประชาชาตืมีทั้งสิ้น 86 คน สำหรับปี 2557 เป็นต้นมานี้ มีจำนวนบุคคลสูญหายทั้งสิ้น 10 คน (ไม่นับคุณวันเฉลิม) 6 ใน 10 นี้ยังไม่ทราบชะตากรรม และอีก 3 คนเสียชีวิตแล้ว[1] ตัวอย่างของชื่อที่เราอาจจะคุ้นเคยกันใน 10 คนนี้ก็เช่น คุณบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์บ้านกลอยบนที่ทำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน คุณบิลลี่หายตัวไป 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่งมีการพบศพเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 เมื่อมีการพบโครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะถูกเผาอยู่ในถังน้ำมันสีแดง ถูกทิ้งบริเวณสะพานแขวน ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี[2]

 

การเสียชีวิตของคุณบิลลี่ทำให้เราฉุกคิดถึงประโยคที่ว่า “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไทยใช้จัดการกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น กล่าวกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการณ์ดดยเจ้าหน้าที่รัฐนี้กว่า 3,000 คน นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นก็มีการก่อตั้งขบวนการชาวนาเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ผู้นำชาวนาและนักศึกษาที่เข้าร่วมบางส่วนก็ถูกอุ้มหายเช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ความพยายามในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์นั้นเรียกได้ว่าเป็นภารกิจร่วมอย่างหนึ่งของหลายๆชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาที่ใช้นโยบายกวาดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้มีการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารต่างๆในภูมิภาคในการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง แต่ประเทศไทยยังก็คงไม่มีสื่อหรือภาพยนตร์ที่เลือกจับประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเลือกที่จะหยิบภาพยนตร์สารคดี The Act of Killing ขึ้นมารีวิว

 

The Act of Killing เป็นหนังสารคดีความยาว 2 ชั่วโมง 40 นาที (Director’s Cut) กำกับโดย Joshua Oppenheimr, Christine Cynn และชาวอินโดนีเซียที่ไม่เปิดเผยชื่อ 1 คน โดยพวกเขาถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบันของ Anwar Congo และ Adi Zulkadry สองคนนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเลง (“Preman”) บนเกาะสุมาตราเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจาก Suharto ผู้นำทหารของอินโดนีเซียให้กวาดล้างคอมมิวนิสต์ในประเทศ หลังจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ปฏิวัติจากรัฐบาลไม่สำเร็จ นำไปสู่การสังหารหมู่กวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียปี 1965-1966 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน และปัจจุบันเหตุการณ์นี้ก็ยังคงไม่เป็นที่พูดถึงในอินโดนีเซียทั้งในหมู่ประชาชนและรัฐบาล

 

เรื่องราวของสารคดีเริ่มจากการสัมภาษณ์ประสบการณ์ของ Anwar Congo และ Adi Zulkadry รวมถึงเพื่อนๆและคนรู้จักของพวกเขาที่มีบทบาทในช่วงเวลานั้น สังคมอินโดนีเซียสมัยนั้นนักเลงหรือแก๊งในแต่ละท้องถิ่นมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก พวกเขาได้รับอำนาจจากรัฐบาลทหารให้สามารถสอบปากคำ ทรมานและฆ่าบุคคลที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้โดยไม่มีความผิดรวมถึงประชาชนที่มีเชื้อสายจีนในประเทศด้วย ปัจจุบันนักเลงอย่าง Anwar และพวกเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มยุวชนปัญจศิลา (Pancasila Youth “Pemuda Pancasila”) ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารชาตินิยมขวาจัดที่มีอำนาจมาก มีสมาชิกเป็นผู้มีอิทธิพลต่างๆในประเทศรวมถึงนักการเมือง รัฐมนตรีที่

 

สารคดีดำเนินเรื่องราวโดยการเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มของ Anwar เกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตของพวกเขา เราได้เห็นถึงความภาคภูมิใจของพวกเขาในฐานะที่เป็นคนที่ได้ร่วมกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในเวลานั้นพร้อมทั้งการเล่าถึงวิธีการสร้างสรรค์ต่างๆที่พวกเขาใช้ทรมานเพื่อสอบปากคำและฆ่าคนที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาพาทีมงานถ่ายทำสารคดีเดินไปตามที่ต่าง ๆ ที่ใช้กวาดล้างในอดีต ทั้งแม่น้ำที่โยนศพทิ้งลงไป ตึกที่พวกเขาใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการณ์ สำนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมกันกับรัฐบาลออกข่าวใส่ร้ายพวกคอมมิวนิสต์ว่าเป็นปีศาจร้ายไร้ศีลธรรมและทรยศชาติ พวกเขามีความคิดที่จะทำภาพยนตร์เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตนั้นเพื่อเป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์ชาติ ให้เยาวชนรุ่นหลังทราบถึงวีรกรรมของพวกเขาและเกิดความภาคภูมิใจ โครงการทำหนังของ Anwar และพวกได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิกระดับสูงของรัฐบาล หัวหน้าของกลุ่มยุวชนปัญจศิลา และผู้มีอิทธิพลอื่นๆ

 

ตลอดเรื่องของสารคดี เราจะได้ยินคำว่า “เราคือนักเลง (Preman)” ถูกเอ่ยออกมาอย่างภาคภูมิใจทั้งจากกลุ่ม Anwar และสมาชิก Pancasila Youth พวกเขาบอกว่า Preman มาจากภาษาอังกฤษคือคำว่า “Free Man” แปลว่าพวกเขามีอิสระในการทำอะไรก็ได้และกำหนดชีวิตของตัวเอง เราเห็นความยึดโยงกับวัฒนธรรมอเมริกันและแนวคิดบริโภคนิยมอย่างมากในเรื่อง ทั้งความชอบในหนังสไตล์ Western Cowboy, Elvis, น้ำหอมราคาแพง, นาฬิกา Rolex ของกลุ่มของ Anwar ไปจนถึงคอลเลคชั่นสัตว์สตาฟจำนวนมากเป็นพิพิธภัณฑ์ และของสะสมพวกแก้วคริสตัลประดับราคาแพงจากต่างประเทศของสมาชิกรัฐบาลและ Pancasila Youth ระดับสูง

 

แต่แม้ว่า Anwar และพวกจะเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นในการทำภาพยนตร์ในตอนแรก เมื่อพวกเขาเริ่มถ่ายทำไปเรื่อยๆ ไปเข้าไปมีบทบาทในอดีตของตัวเองอีกครั้งด้วยการแสดงเอง รับบทเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำสลับกัน รวมถึงได้เห็นฟิลม์ที่ถ่ายออกมา ได้มองตนเองจากมุมมองของบุคคลที่ 3 และได้มองย้อนไปถึงอดีต สมาชิกกลุ่มบางคนก็เริ่มสงสัยกับการกระทำของตนเองว่าสิ่งที่ทำไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนั้นถูกต้องหรือไม่ บางคนก็เลือกที่จะมองข้ามมันไปและบอกตัวเองว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ

 

ฉากที่ติดอยู่ในใจเราจากหนังเรื่องนี้มี 2 ฉากคือ ในตอนที่กลุ่มของ Anwar กำลังถ่ายทำฉากเผาหมู่บ้านของพวกชาวนาคอมมิวนิสต์ในหนังของพวกเขานั้น ได้มีการให้ชาวบ้านและเด็กๆในหมู่บ้านเข้ามาร่วมแสดงด้วย ลูกสาวของ Erman ที่เป็นสมาชิกกลุ่มของ Anwar เองก็อยู่ในนั้นด้วย เด็กหญิงกลัวมากตอนเข้าฉากและแม้ว่าจะถ่ายทำเสร็จแล้วก็ยังร้องไห้ไม่หยุด เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆในฉาก ในฉากนี้ก็มีสมาชิก Pancasila Youth คนหนึ่งเล่าประสบการณ์ของตนเองด้วยว่า ตอนที่บุกทำลายและเผาหมู่บ้านพวกชาวนาคอมมิวนิสต์ เขาจะเลือกข่มขืนผู้หญิงในหมู่บ้านด้วยและชอบข่มขืนเด็กผู้หญิงอายุสักประมาณ 14 มาก

 

อีกฉากหนึ่งคือฉากที่ Anwar เล่าว่า 50 กว่าปีก่อน เขาไม่เคยรู้สึกผิดว่าตนเองทำอะไรไปบ้าง ไม่เคยนอนไม่หลับ จะมีก็แต่ขยะแขยงกับเลือดหรือรำคาญเสียงโวยวายร่ำไห้ แต่หลังจากโปรเจคทำหนังของเขาในปัจจุบัน เขากลับรู้สึกหดหู่และเศร้าใจขึ้นมา เขากลับไปที่ดาดฟ้าที่เขาโชว์ในตอนต้นสารคดีว่าเป็นที่ๆที่ใช้ฆ่าคน แล้วอาเจียนลงตรงนั้น

 

รัฐบาลอินโดนีเซียถือว่าการสังหารหมู่ปี 1965-1966 เป็นหนึ่งในชัยชนะต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ และไม่มีใครถูกดำเนินคดีจากการกระทำในเหตุการณ์ครั้งนั้น