“The Death and Life of Marsha P. Johnson” (2017) dir. David France - The price you pay is high

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย ญาดา สัตบุษ

ภาพ The Death and Life of Marsha P. Johnson

สารคดีความยาวเกือบ 2 ชั่วโมงนี้กำลังส่งสารถึงผู้รับชมว่า “ความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่รัฐนั้นปรับใช้กับคนในสังคมอย่างต่างระดับ” ราคาของความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์การใช้ชีวิต การเป็นตัวเองแม้กระทั่งการตายนั้นต้องจ่ายสูงกว่าคนปกติมากนักของกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ Transgender หรือคนข้ามเพศ ไม่ว่าที่แห่งใดในโลกดูเหมือน LGBTQ มักจะต้องต่อสู้ไม่มีวันสิ้นสุดในสนามรบที่ชื่อว่า“อคติ” และ “ความเกลียดชัง” เนื่องจากเพศสภาพและเพศวิถีของพวกเขาไม่ได้เป็นไปตามมาตรวัดของสังคม  การทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงการมีอยู่และสิทธิต่าง ๆ ของ LGBTQ นั้นไม่ได้มาจากการอ้อนวอนฟ้าดิน หากแต่มาจากการชุมนุมประท้วง การต่อสู้ทางกฎหมายอย่างไม่ลดละเพื่อทำให้ความยุติธรรมที่หยุดทำงานนั้นกลับมา

 

“The Death and Life of Marsha P. Johnson” เล่าเรื่องการสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตของนักกิจกรรม Transgender ชาวอเมริกาคนหนึ่งผู้ทำกิจกรรมเรื่อง Gay rights รณรงค์เรื่องโรคเอดส์ร่วมกับโครงการ “ACT UP[1] ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้สิทธิต่างๆ ให้ครอบคลุมถึง Transgender ที่มักจะอยู่ชายขอบในการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ อีกทั้งยัง Johnson ยังเป็นแนวหน้าต่อสู้กับตำรวจในเหตุการณ์ “Stonewall Riot” หากแต่การเสียชีวิตของผู้ควรจะเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์นั้นกลับถูกตำรวจตัดสินว่าการเจอศพของเธอในแม่น้ำฮัดสันนั้นเป็นการฆ่าตัวตายและเรื่องราวต่อจากนั้นก็หยุดลง ไม่มีการสืบหาเพิ่มเติมจากหน่วยงานของรัฐ หรือแม้กระทั่งอนุญาตให้ญาติดูผลชันสูตรศพ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมชื่อเรื่องถึงขึ้นต้นด้วย “Death” ที่กลายเป็นประเด็นหลักของภาพยนตร์สารคดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับความตายของมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรมระดับ “ตัวแม่” ของนิวยอร์กถึงโดนเพิกเฉยมาตั้งแต่ปี 1992 และสุดท้ายความตายนั้นจะนำไปสู่การเปิดเผยเรื่อง “Life”ของ Transgender และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในฐานะความเป็นมนุษย์เชื้อชาติ สีผิว และอคติทางเพศของที่มีทั้งเรื่องเศร้าและชัยชนะที่ได้มาอย่างยากลำบากของการต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมของนักกิจกรรม Transgender อย่าง “Marsha P. Johnson”เป็นไปตามเพลงที่จอห์นสันร้องในต้นเรื่องว่า “The price you pay is high”

 

ความยากลำบากถูกเล่าตั้งแต่เริ่มเรื่อง Victoria Cruz เจ้าหน้าที่ “โครงการต่อต้านความรุนแรง” ที่พยายามหาคำตอบด้วยตนเองว่า Marsha P. Johnson เสียชีวิตเพราะสาเหตุอะไรกันแน่ สลับไปกับการฉายภาพความไม่เท่าเทียมและความรุนแรงที่ Transgender ในอเมริกาได้รับขนานกันไปกับเส้นเรื่องหลัก จนจบแล้วสารคดีนั้นไม่ได้บอกว่า Johnson เสียชีวิตเพราะเหตุใด อาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนของการจัดงาน Pride การร่วมมือกันจัดฉากฆาตกรรมนักกิจกรรมระหว่างตำรวจกับเหล่ามาเฟีย หรือ Johnson อาจจะฆ่าตัวตายตามที่ตำรวจสรุป เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือกระบวนการหาความจริงของ Cruz ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของอำนาจรัฐที่ทำให้องค์การเอกชนเล็ก ๆ แบบ “โครงการต่อต้านความรุนแรง” ของ Cruz ต้องดิ้นรนเข้ามามีบทบาทหลักในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของ “Transgender ผิวดำ”แบบ Johnson ที่ปิดคดีโดยที่ความจริงยังคลุมเครือตั้งแต่ปี 1992 ตรงจุดนี้ผู้ชมก็น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าไม่มีหน่วยงานไหนต้องการรื้อฟื้นหรือให้ความสำคัญกับคดีของคนชายขอบของสังคมมากนัก รวมทั้งวิธีที่ใช้หาความจริงก็เป็นวิธีการธรรมดาอย่างการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ ไล่ถามเอากับคนรู้จักของ Johnson ความพยายามของ Victoria Cruz อีกทั้งความล่าช้าของระบบราชการที่คนดูชาวไทยน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากอย่างที่ Cruz ประสบกับ “การโทรไปไม่รับ” “การโดนชิงตัดสาย” หรือ “เดี๋ยวเราจะติดต่อกลับไป” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่น่าเศร้าคือสถานการณ์เหล่านี้ก็ไม่ต่างกันกับคดีที่เกี่ยวกับ Transgender ในปัจจุบันที่มักจะปิดคดีลงโดยที่คนผิดก็ไม่ได้รับโทษอย่างเหมาะสม หรือแม้แต่ในสารคดีก็เปิดเผยว่าตัวของ Victoria Cruz เองก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากอคติทางเพศ และต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมด้วยตนเองมาตลอด 

 

อย่างไรก็ตามสารคดีนั้นไม่ได้เล่าแต่เรื่องเครียดหรือหดหู่ไปซะเสียหมด มิตรภาพและความเป็นนักสู้ของเหล่า LGBT ในเรื่องนั้นก็ทำให้ผู้ชมยิ้มได้เรื่อยๆ เข้าทำนองว่า “กะเทยตาย กะเทยเผา” ไม่มีใครช่วยเรา เราก็ช่วยกันเอง หรือจะเป็นภาพการต่อสู้ไม่ถอยของ Marsha P. Johnson เป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้เป็นคนมีฐานะ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง จบการศึกษาแค่ระดับมัธยมด้วยซ้ำ แต่เปี่ยมไปด้วยพลังและความตั้งใจทางการเมืองจากการเชื่อมั่นว่าการมีตัวตนของเหล่า LGBTQ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว“T” ที่หมายถึง Transgender นั้นเป็นสิ่งที่รัฐควรให้ความสนใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการคุ้มครองปกป้อง Johnson ไม่เคยล้มเลิกแม้จะต้องถูกทรมานและทำร้ายจากตำรวจ[2]  แม้จะไม่มีเงินมหาศาล แต่ก็มุ่งมั่นจนผลักดันให้เกิดองค์กรเล็ก ๆ ที่นำมาจากเงินที่ได้มาจากการขายบริการทางเพศของ Johnson กับเพื่อนนักกิจกรรมอย่าง Sylvia Rivera[3] อย่าง Street Transvestite Action Revolutionaries (STAR) ในปี 1970 เพื่อช่วยเหลือเหล่าเด็ก ๆ LGBT ซึ่งชีวิตนั้นถูกกีดกันให้ได้รับโอกาสในชีวิตจากอคติทางเพศ ถูกไล่ออกจากบ้าน ขาดโอกาสทางการศึกษา และสุดท้ายก็มักจะจบลงที่การขายบริการทางเพศเพื่อเอาชีวิตรอด สารคดีแสดงให้เห็นความเป็นนักสู้ของ Johnson ที่ควรค่าแก่การจดจำและเรียนรู้ว่าราคาของความยุติธรรมนั้นถึงจะสูงและแลกด้วยชีวิตแต่ก็คุ้มค่าที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มา ดังในเหตุการณ์ “Stonewall Uprising” อันเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของ LGBTQครั้งสำคัญ  ตัวของ Johnson เองก็ได้เข้าร่วมประท้วงร่วมกับพี่น้องชาว LGBTQ กว่า 1000 คนที่ Christopher Street ใน New York[4] เป็นแนวหน้าประท้วงในการก่อสิ่งที่รัฐเรียกว่า “ความไม่สงบเรียบร้อย” ในสายตาของคนทั่วไปอย่างการปีนขึ้นไปบนเสาไฟฟ้าเพื่อโปรยอิฐลงมาที่รถตำรวจ[5]  เธอเชื่อว่าต่อให้ต้องจับปืนหรือจะถูกจับโยนเข้าคุกก็จะต้องทำเพื่อการปฏิวัติสิทธิและเสรีภาพในการมีชีวิตของ LGBTQ[6] อาจถือได้ว่าความพยายามราคาสูงลิบที่ LGBTQ ต้องจ่ายไปทั้งการต่อสู้กลับความรุนแรงจากการราบปรามของตำรวจตลอดเกือบอาทิตย์นั้นคุ้มค่าเพราะสิ่งที่มองว่าไม่สงบเรียบร้อยในวันถัดมาก็ได้เกิดเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและกฎหมายสำหรับLGBTQ รวมทั้งเหตุการณ์ Stonewall Uprising และการเคลื่อนไหวของ Marsha P. Johnson ยังสร้างความเชื่อมั่นในการต่อสู้เพื่อสิทธิของ Transgender นั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักกิจกรรมและชุมชนTransgender ออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจวบจนปัจจุบัน ชุมชนชาว Transgender  Victoria Cruz เองในเรื่องนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นและยังคงผลักดันให้ประเด็นการฆาตกรรมTransgender นั้นมีบทลงโทษเท่าเทียมกับฆาตกรรมอื่น ๆ 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารคดีเรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมทั้งยังมีข้อถกเถียงในเรื่องลิขสิทธิ์การเล่าเรื่องที่ตัวผู้กำกับอย่าง David France เองก็โดนกล่าวหาว่า “ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดจากผู้กำกับ Transgender แบบ Tourmaline ที่ส่ง Proposal ไปขอทุนทำหนัง”[7] และนำเรื่องของคนชายขอบผิวดำมาหากำไรเข้าตัวเอง แต่คุณูปการของสารที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็ควรค่าแก่การรับชมจากสารสำคัญที่กำลังส่งมาถึงผู้ชมทุกคนว่า “เราในฐานะเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมโลกจะให้นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางเพศหลายล้านชีวิตในโลกหรือแม้กระทั่งในไทยเองที่ต้องจ่ายค่าการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยชีวิตไปอีกนานแค่ไหน” Transgender ในปัจจุบันไม่ว่าจะที่ใดก็ยังคงประสบกับความรุนแรงและอคติทางเพศ ชีวิตของกลุ่ม Transgender ในอเมริกาหรือหลาย ๆ ที่ในโลกแม้กระทั่งในไทยเองนั้นยังคงวนเวียนอยู่กับการต้องขายบริการเพื่อให้อยู่รอด การใช้ยาเสพติด โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การโดนฆ่า การคุกคามจากตำรวจ โดยที่มาของปัญหาเหล่านั้นก็ชัดเจนว่ามาจากการที่คนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมปฏิเสธตัวตนและการมีอยู่ของ LGBT อีกทั้งรัฐก็ยังปฏิเสธที่จะปกป้องสิทธิในฐานะพลเมืองคนหนึ่งอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของ LGBTQ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในยุคที่วิชาหน้าที่พลเมืองนั้นไม่ได้บรรจุลงไปว่าการชุมนุมประท้วง การจัดงาน Prideคือการออกไปแสดงสิทธิของเราทุกคนที่จะสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมและการยอมรับในตัวตนของ LGBTQ  ในสังคมที่ความเป็นธรรมหาได้ยากยิ่งเช่นนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้ผู้ชมอย่างเราตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่าคนทั่วไปแบบเราๆ สามารถทำอะไรเพื่อทำให้ความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิเสรีภาพที่ LGBTQ ในฐานะราษฎรคนหนึ่งตามกฎหมายของรัฐต้องได้รับได้บ้างหรือยืนยันที่จะเพิกเฉยกับการสูญเสียอีกหนึ่งชีวิตที่จ่ายค่าความยุติธรรมด้วยชีวิตเพื่อให้อีกสิบกว่าล้านคนตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาในยุคที่ความเกลียดชังและอคติทางเพศยังคงฝังรากลึกอยู่เช่นนี้

  



[1] Jason Pierceson, “Marsha P. Johnson,” in LGBTQ Americans in the U.S. Political System : An Encyclopedia of Activists, Voters, Candidates, and Officeholders, edsJason Pierceson  (ABC-CLIO, 2019), 228

[2] BBC,“Pride Month: Who was Marsha P. Johnson and why was she so important?” BBC, accessed June 13, 2020, https://www.bbc.co.uk/newsround/52981395.

[3]The Global Network of Sex Work Projects (NSWP) , “Street Transvestite Action Revolutionaries found STAR House,” NSWP, accessed June 13, 2020, https://www.nswp.org/timeline/event/street-transvestite-action-revolutionaries-found-star-house.

[4] Elizabeth A. Armstrong and Suzanna M. Crage, “Movements and Memory: The Making of the Stonewall Myth” American Sociological Review71, No.5 (October 2006) : 737.

[5] Jason Pierceson, “Marsha P. Johnson,” 228.

[6] Bernadette Marie Calafell, Narrative Authority, Theory in the Flesh, and the Fight over The Death and Life of Marsha P. Johnson, A Journal in GLBTQ Worldmaking 6, No. 2 (2019): 27.

[7] Calafell, “Narrative Authority,” 28.