5 การคุกคามที่นักปกป้องสิทธิต้องเผชิญ

5 กรกฎาคม 2562

ผู้เขียน สัณหนัฐ สิทธิวุฒิวรพันธุ์ นักศึกษาฝึกงาน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

“นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คือคนหรือกลุ่มคน ที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งของตนเองและผู้อื่นโดยไม่แบ่งแยกและไม่ใช้ความเกลียดชัง ตามคำนิยามของ องค์กรสหประชาชาติ (UN) นักปกป้องสิทธิคือ ผู้ที่เคลื่อนไหวและเป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และช่วยสนับสนุนและพัฒนานโยบายรัฐให้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนเพื่อส่วนรวม

 

ถึงนักปกป้องสิทธิจะเป็น “ผู้กล้า” ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อส่วนรวม แต่นักป้องสิทธิมนุษยชนก็มักจะตกเป็นเป้าโจมตีและคุกคามจากทั้งภาครัฐ นายทุน นักการเมือง หรือ ผู้เสียผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และแม้ว่านักปกป้องสิทธิจะได้รับการคุ้มครองตาม ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ขององค์กรสหประชาชาติ แต่นักปกป้องสิทธิกลับยังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทุกมุมโลก

 

สถิติจากรายงานของ “สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย” หรือ Forum-Asia-ฟอรั่มเอเชีย ในรายงานเรื่อง “Defending in Numbers: Resistance in the Face of Repression” ระบุว่า มี 688 กรณีของการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างปี 2560 ถึง 2561 โดยรัฐเป็นผู้กระทำถึง 520 กรณีจาก 688 กรณีหรือ 75% ของการคุกคามทั้งหมด และ 66 กรณีมาจากผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐ และอีก 55 กรณีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำ

 

วันนี้ขอสรุป 5 การคุกคามหลักที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต้องเผชิญดังนี้

 

1. การข่มขู่

การข่มขู่คือสิ่งที่นักปกป้องสิทธิมักจะเผชิญเมื่อออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสังคม การข่มขู่มีทั้งการส่งจดหมายขู่ การขู่ผ่านช่องทางออนไลน์ และการข่มขู่ด้วยวาจา โดยตัวอย่างการข่มขู่ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องเผชิญคือกรณีของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล เป็นประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่และเป็นหนึ่งในผู้ใกล้ชิดกับชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด และขัดขืนการจับกุม และพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ทำให้ถูกวิสามัญ เมื่อปี 2560 โดยไมตรีถูกข่มขู่คุกคามหลังจากที่ไปทวงถามความเป็นธรรมให้แก่ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกวิสามัญ โดยมีคนนำลูกกระสุนปืนมาวางขู่ไว้ที่หน้าบ้าน

นอกจากนั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศถูกข่มขู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรณีของ สุลตานา คามาล (Sultana Kamal) นักกฎหมายและแกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากบังกลาเทศ ถูกข่มขู่ว่า

จะ “หักกระดูกทุกท่อนในร่างกายเธอ” และได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะทำร้ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย หลังจากที่เธอคัดค้านกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ในรายการทอร์คโชว์เรื่องการนำรูปปั้น สตรีแห่งความเที่ยงธรรม (The lady justice sculpture) ออกจากศาลสูงสุด

 

2. การทำร้าย

การทำร้ายเป็นอีกหนึ่งการคุกคามที่นักปกป้องสิทธิทั่วโลกต้องเผชิญ โดยมีทั้งการดักทำร้าย พาพวกไปรุมทำร้าย และการถูกจับไปทรมาน

ในไทยการทำร้ายร่างกายนักปกป้องสิทธิเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ อย่างในกรณีของ จ่านิว หรือ รวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่ม Startup people โดยเริ่มเคลื่อนไหวหลังจากการรัฐประหารปี 57 และยังคงเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเช่น การเป็นแกนนำจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ การจัดการชุมนุมต่อต้านคสช. และการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าหอศิลป์ จ่านิวโดนทำร้ายมาแล้วสองครั้งภายในปี 2562 ครั้งแรกถูกทำร้ายบริเวณป้ายรถเมล์ในวันที่ 2 มิถุนายน หลังจากไปจัดกิจกรรมทางการเมือง และครั้งล่าสุดในวันที่ 28 มิถุนายน โดยถูกคนร้ายถึง 4 คน รุมตีด้วยไม้เบสบอลจนอาการสาหัส

ในต่างประเทศก็มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกทำร้ายด้วยเหมือนกัน เช่น ในกรณีของ เซือง ถิ เติน (Dương Thị Tân) นักกิจกรรม นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและเป็นภรรยาของบล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเวียดนาม ถูกรุมทำร้ายหน้าบ้านตัวเองโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเพื่อสกัดไม่ให้เธอไปร่วมกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของทหารเวียดนามที่ถูกทหารจีนฆาตกรรมเมื่อปี 1974

 

3. การสังหารและบังคับให้สูญหาย

 

การสังหารและบังคับให้สูญหายเป็นการคุกคามที่เลวร้ายที่สุดที่ยังคงเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

ข้อมูลจากเอกสารประกอบการประชุมของสำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาระบุว่า สำหรับประเทศไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเรื่องการปกป้องทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย (อุ้มหาย) จำนวนมากกว่า 50 ราย

เช่น กรณีการลักพาตัวสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 กรณีพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งหายตัวไปภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ปล่อยตัว เมื่อปี 2557

หรือกรณีของเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้เรียกร้องความยุติธรรมในประเด็นสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2559 หลังจากเดินทางเข้าป่าเพื่อเก็บหน่อไม้ เป็นต้น

ในกรณีของต่างประเทศ ยามีน ราชีด (Yameen Rasheed) ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ชาวมัลดีฟส์ ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การเมือง กลุ่มอิสลามหัวรุนแรง และ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ได้ถูกสังหารในวันที่ 23 เมษายน 2560 โดยถูกแทงหลายแผลที่หน้าอพาร์ทเม้นท์ของเขา

 

4. การลดทอนความน่าเชื่อถือ

การใส่ร้ายป้ายสีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และการดิสเครดิตผ่านทางช่องทางออนไลน์ เป็นวิธีการลดทอนความน่าเชื่อถือของนักปกป้องสิทธิที่ฝั่งตรงข้ามนิยมใช้ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของนักปกป้องสิทธิลง

โดยในไทยนั้น สมศักดิ์ ชื่นจิตร คุณพ่อที่ลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมให้ลูกชายวัยมัธยมที่ถูกตำรวจทรมานให้รับสารภาพในคดีชิงทอง หลังจากพบว่าลูกชายถูกซ้อมและทรมานเพื่อให้รับสารภาพในคดีที่ไม่ได้ก่อ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยในขณะที่กำลังทำการสู้คดีเรื่องลูกชายถูกทรมานอยู่นั้น ก็ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือด้วยการอ้างว่าเขาเป็นผู้เสพยาเสพติด และขอให้ไปรับการบำบัดโดยมีหนังสือราชการออกโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของเขาลง

และในต่างประเทศ ก็มีกรณีของ เลนิด ซูดาเลนกา (Leanid Sudalenka) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเบลารุส โดยเขาทำงานช่วยเหลือผู้ที่โดนละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการช่วยส่งคำร้องของผู้ถูกละเมิดไปยังองค์กรสหประชาชาติและยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารอีกด้วย เลนิดถูกตั้งข้อหาด้วยข้อมูลเท็จว่าเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร แต่เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพถูกส่งมาจากอีเมลของเขาที่ถูกแฮกไปยังกรมสรรพากรและสำนักงานตำรวจในพื้นที่ ทำให้เขารู้ว่านี่เป็นความพยายามในการลดทอนความน่าเชื่อถือของเขาลง

 

5.การคุกคามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายหรือการฟ้องร้องกลั่นแกล้ง หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPPs)

คือการฟ้องโดยเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งและให้หยุดเคลื่อนไหว หรือการวิพากวิจารณ์ และเพื่อลดทอนทรัพยากร เวลา ทรัพย์สิน และกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม และเป็นการเจตนาฟ้องเพื่อปิดปากมากกว่าจะเอาชนะหรือความยุติธรรม

ซึ่งการใช้กฎหมายฟ้องกลั่นแกล้งในไทยนั้น มีการใช้อย่างแพร่หลาย อย่างเช่นในกรณีของ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวผู้ต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายที่ถูกครูฝึกซ้อมและทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร ถูกฟ้องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาทจากการเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรม เพื่อให้เธอยุติการเคลื่อนไหว

ส่วนในกรณีของต่างประเทศนั้น ฟาริด อัล-อตราช (Farid al-Atrash) ทนายความชาวปาเลสไตน์ผู้ซึ่งถูกทหารอิสราเอลจับกุมขณะเข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบและดำเนินคดีในข้อหาเข้าร่วมการประท้วงผิดกฎหมายและทำร้ายร่างกายทหาร ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่าการประท้วงนั้นเป็นไปอย่างสงบ

จากการคุกคามด้านบน แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะเป็นผู้ที่เสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมและปกป้องสิทธิของผู้อื่นโดยไม่แบ่งแยก แต่นักปกป้องสิทธิก็ยังคงถูกทำร้ายในหลายๆ ประเทศทั่วโลกและยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และรัฐ ผู้ซึ่งควรจะมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชน ในบางครั้ง กลับคุกคามผู้ที่เห็นต่างซะเอง

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงได้เสนอให้มีการดำเนินการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังนี้

1. ยกเลิกกฎหมายหรือ พ.ร.บ.ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ชุมนุม

2. ยุติการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปากนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรมทางประชาธิปไตย

3. ปกป้อง สอดส่อง และคุ้มครองผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย เช่น นักกิจกรรม นักรณรงค์

4. รับประกันความปลอดภัยและสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในการแสดงสิทธิและเสรีภาพได้