Ordinary People : เสียงจาก 12 คนธรรมดาที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน

15 กุมพาพันธ์ 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

การยอมรับในความแตกต่างและเคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คือเสียง...ที่สะท้อนออกมาจากพวกเขา แม้ว่าแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศ การศึกษา ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงให้พวกเขาเห็นพ้องต้องกัน นั่นคือสิทธิความเป็นมนุษย์ต้องไม่ถูกละเมิด จุดนี้เองได้กลายเป็นปฐมบทสำคัญของการเดินทางเพื่อต่อสู้เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมแก่ คนหมู่มากในสังคม บนฐานคิดที่ว่า “คนธรรมดาก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้”

 

นรินทิพย์ เวียงอินทร์ (ตี้)
นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tee.jpg

เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ก่อเกิดจากการเลี้ยงดู การเรียนรู้จากสังคม สำหรับในมุมมองเราเริ่มต้นจากตอนยังเด็กเคยตั้งคำถามว่าทำไมเกิดเป็นคนเหมือนกันแต่มีสิทธิไม่เท่ากัน พอโตขึ้นเราได้เรียนรู้ว่าบนโลกมันก็เป็นเช่นนี้ มันไม่มีอะไรเท่ากันหรอก เราเลยพยายามนึกถึงภาพสังคมที่มันดีขึ้น อย่างน้อยในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถทำได้ คือเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น ตี้มีเพื่อนเป็นเพศที่ 3 หลายคน  เรื่องหนึ่งที่เราอยากสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือประเด็นเรื่องความเท่าเทียมและลดการคุกคามทางเพศ

 

พลังของคนธรรมดาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศได้ แต่อาจต้องการฉนวนหรือแรงขับเคลื่อนที่มีพลังมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง

 

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (แฟรงค์)
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย
netiwit1.jpg

 ตอนสมัยอยู่โรงเรียนเราเห็นว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง พอเริ่มพูดในสิ่งที่คิดว่ามันเป็นความจริง ก็ทำให้คนไม่ชอบเรา ก็รู้สึกแปลกใจนะว่าทำไมมันเป็นแบบนั้น จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และเริ่มรณรงค์เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย จุดเปลี่ยนสำคัญคือ เราเป็นเหยื่อในระบบโรงเรียนทำให้เราต้องสู้จนถึงทุกวันนี้

 

อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเคารพสิทธิของคนที่คิดต่าง ความแตกต่างมันเป็นสิ่งที่งดงามและทำให้สังคมของเราพัฒนาขึ้น หากผู้คนในสังคมไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างทั่วถึง ก็สะท้อนได้ว่าสังคมนั้นมีการเอารัดเอาเปรียบแฝงอยู่ อีกทั้งประเด็นด้านสิทธิยังไม่ได้แพร่หลายมากนักในบ้านเรา สาเหตุสำคัญคือลักษณะของสังคมไทยเอง  รวมถึงนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวไม่ปรับตัว ยังทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ เลยทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบเดิมหรือได้ผลเฉพาะแค่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น สำหรับคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน หลายครั้งที่เราโดนผลกระทบเชิงลบ มันเป็นเรื่องธรรมดาเสมือนราคาที่ต้องจ่าย แต่ว่ามันจะเป็นประสบการณ์ที่ดีเมื่อย้อนมองกลับมา แล้วรู้ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง สิ่งที่เราต่อสู้วันนั้นแล้วมันยากเย็นเหลือเกิน แต่ถ้าวันหนึ่งมันสำเร็จขึ้นมา ประวัติศาสตร์จะอยู่ข้างเรา




ณธกร นิธิศจรูญเดช (เชี้ยว)  
แอดมินเพจ “Being LGBT in Chula”  
Chiew.jpg

จุดที่ทำให้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนคือเราเป็นคนเพศหลากหลาย มันจะมีความกลัวบางอย่างในการแสดงออกว่าคนอื่นจะรับได้หรือเปล่า แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเจอสถานการณ์ที่โดนกลั่นแกล้งหรือโดนต่อว่าด้วยเพศสภาพ อาจมีการโดนเลือกปฏิบัติบ้างแต่ไม่ร้ายแรง

 

ถ้ามองบางประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มันก็มีส่วนที่พัฒนาขึ้น เช่นเรื่องสิทธิแรงงานแต่ในภาพรวมก็ยังต้องปรับปรุงอีกมาก โดยอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการเคารพและปกป้องสิทธิมากขึ้น ให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองได้เต็มที่โดยปราศจากการกีดกัน ซึ่งจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่ในมิติทางการเมืองอย่างเดียว เราสามารถใช้สิทธิ์ได้ในทุกที่ ในชุมชน ในโรงเรียนของเรา สำนึกเรื่องสิทธิมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามองไปไกลมากกว่าแค่ตัวเอง

 

นักสิทธิมนุษยชนต้องรักษาความเชื่อและความฝันของไว้อย่างแน่วแน่ ระหว่างทางมันอาจมีใครมาบั่นทอนบ้าง เจออุปสรรคบ้าง แต่ถ้าในหัวเรามีภาพสังคมที่อยากให้เป็น และสามารถหล่อเลี้ยงภาพเหล่านั้นได้ ขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ มันจะดีต่อสังคมในท้ายที่สุด



พิมพ์ภัทรา รักเดช (โรส)  
นักศึกคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Rose.jpg

เหตุผลที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมีจุดเริ่มมาจากคือข่าวเหตุการณ์สงครามซีเรีย ช่วงนั้นกำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยพอดี เมื่อได้เรียนรู้ข่าวเหล่านั้นก็ทำให้เราสนใจประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยมากขึ้น และเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรม “Diversity Workshop” ของแอมเนสตี้ ซึ่งเป็นเวิร์คช็อปที่มีความครอบคลุมในหลายประเด็น มีการเชิญให้ผู้ลี้ภัยมาทำกิจกรรมด้วย ยิ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นจริงๆ

 

อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถรับฟัง เคารพ และแบ่งปันความคิดเห็นที่หลากหลายได้โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อย่างในฐานะที่เป็นนักศึกษาคนหนึ่งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เป็นการสนับสนุนประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ เช่น การได้เข้าไปรู้จักผู้ลี้ภัย เพื่อทำให้เค้าได้รู้ว่ายังมีคนที่สนับสนุน ยังมีคนมองเห็นปัญหาของเขาพร้อมให้ความช่วยเหลือเสมอ



ธัญลักษณ์ ทองอยู่เจริญ (รุ้ง)  
อดีตนักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ และนักสิทธิสตรี  

 roong.jpg

อยากเห็นคนไทยเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น เวลาพูดถึงเรื่องอะไรแล้วคนมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน คนทะเลาะกันง่ายมาก ไม่ยอมรับฟังกัน เช่นในสื่อออนไลน์ บางประเด็นคนคนหนึ่งแค่แสดงความคิดเห็น แต่คนอื่นๆไม่ได้ให้ความเคารพกับความคิดเห็นคนอื่นมากเท่าที่ควร อีกทั้งสังคมไทยมีความเป็นลำดับชั้น เราอยากเห็นสังคมไทยมีความเท่าเทียมกัน

 

เมื่อก่อนเราไม่คิดว่าคนธรรมดาจะทำอะไรได้เลย แต่พอได้เข้ามาทำงานด้านนี้ เรารู้สึกว่าคนคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมได้  เดี๋ยวนี้มันมีช่องทางออนไลน์มากมาย ถ้าเรารู้สึกไม่พอใจเรื่องอะไร อาจมีการรวมกลุ่มพูดคุยเพื่อหาทางออกกับประเด็นนั้นๆ แล้วยกประเด็นขึ้นมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน เราสามารถให้ความรู้เรื่องสิทธิ ส่งเสริมให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิไปร้องเรียนในช่องทางต่างๆ อย่างตัวเราเอง สิ่งที่ทำมาตลอดคือการเขียนบทความ มีช่องทางในการเขียน ของแอมเนสตี้ กับ UN Women ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องไปอยู่ในภาครัฐ หรือตำแหน่งระดับสูง ก็สามารถทำได้

 

 

พชร สูงเด่น (อิม)   
เจ้าหน้าที่ดูแลประเด็นประจำ TEDxBangkok

imm.jpg

ตอนเด็กๆเรามาจากคลองเตย จำได้ว่าช่วงที่โตมาที่ย้ายจากคลองเตยไปอยู่ที่โรงเรียนอื่นแล้ว พอถามหาเพื่อนสมัยเด็กที่เคยเล่นด้วยกันว่าตอนนี้เขาไปอยู่ไหน ทำอะไร พบว่ามีหลายคนที่ไปอยู่ในคุก หรือคนวัยเดียวกันตั้งครรภ์แล้ว มันเลยรู้สึกว่าสาเหตุมันมาจากสภาพแวดล้อม ถ้าเรายังอยู่ตรงนั้นต่อเราก็อาจจะเป็นแบบเดียวกับเขาก็ได้ ทำให้เกิดคำถามตลอดเวลาว่าแล้วทำไมหรือเพราะอะไรที่ทำให้เรามาอยู่ในจุดที่แตกต่าง คำตอบคือโอกาสที่ครอบครัวและตนเองได้รับมาโดยตลอด และถ้าสมมติคนที่คลองเตยเค้าได้รับโอกาสเหมือนเราบ้าง เค้าก็อาจจะมาอยู่ตรงจุดนี้ได้เหมือนกัน ส่วนตัวเลยเชื่อว่าพื้นฐานและบริบทของสังคม มันสำคัญมากต่อการกำหนดว่าคนคนหนึ่งจะเดินไปในทิศทางไหน เลยเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกมาตลอดว่าเราต้องทำหน้าที่ที่จะ ทำประโยชน์บางอย่างกลับคืนสังคม โดยส่งต่อโอกาสที่เคยได้รับนั้นไปยังคนอื่นที่เขาอยากได้รับเหมือนกัน

 

คุณไม่จำเป็นต้องทำงานมูลนิธิก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์หรือสาขาทางสังคมมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง จริงๆมันมีทักษะอื่นที่คุณมีแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สามารถเกิดผลดีต่อต่อสังคม สิ่งหนึ่งที่เชื่อมาตลอดก็คือ ทุกภาคส่วน ทุกคน ทุกทักษะ มันมีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

ศักดิ์เสรี ก่อแก้ว (ซีเจ)   
ประธานชุมนุมสิทธิมนุษยชนศึกษา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม

cj.jpg

สนใจประเด็นเรื่องทรงผม เลยพยายามหาทางออกเรื่องทรงผมนักเรียนไทย ไอเดียคืออยากให้คนไทยเข้าใจเรื่องสิทธิทรงผม ทรงผมมันไม่เกี่ยวกับผลการเรียน ไม่ว่าจะผมสั้นผมยาวมันก็ไม่เกี่ยวกัน หากไม่ลากความเชื่อมโยงนี้เด็กจะมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่โดนผู้ใหญ่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น การทำโทษโดยอ้างกฎระเบียบเรื่องทรงผม ก็เลยอยากจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องทรงผมขึ้นมา

 

คนธรรมดาต้องมั่นใจในตัวเองว่าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และทำให้คนอื่นๆรู้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ควรจะเป็นอยู่ หากคนในสังคมเข้าใจและเห็นความสำคัญในสิ่งที่เรากำลังทำ เชื่อว่าพวกเค้าพร้อมที่จะสนับสนุนเราเสมอ  

 

 

ชิษณุพงษ์   นิธิวนา (เบสท์)  
นักกิจกรรมเยาวชนด้านความหลากหลายทางเพศ

best.jpg 

เริ่มต้นจากการทำงานวิจัย เข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย จัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อในประเด็น LGBT ปัจจุบันทำ Blog ของตัวเองชื่อว่า Intoeyview พยายามสร้างสื่อในประเด็น LGBT ให้เข้าใจง่าย เพราะปัจจุบันมี NGOs ที่ทำงานสร้างความเข้าใจร่วมกับรัฐบาลมาก แต่ว่าไม่ค่อยมีคนสื่อสารกับคนทั่วไป ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยก็ยิ่งเห็นว่าประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญ พอเรียนจบแล้วเห็นโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ เราได้เข้าไปร่วมรู้สึกชอบจึงอยากทำต่อ

 

อยากให้คนไทยเข้าใจมากขึ้น ทุกวันนี้มีคนพูดมาก แต่ไม่ค่อยมีคนฟัง ถ้าเราฟัง เราคิดว่าประเด็นปัญหาต่างๆน่าจะดีขึ้น อยากให้สังคมไทยฟังกันมากขึ้น ทุกวันนี้เราสามารถใช้ Social media เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายก็จริง แต่บางครั้งเราอาจจะฟังข้อมูลแค่ด้านเดียวเพราะว่าสื่อไม่ใช่ศาล มันไม่ใช่พื้นที่ที่จะไปตัดสินว่าใครถูกหรือผิด ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือพยายามทำความเข้าใจในให้รอบด้าน ความเข้าใจเหล่านั้นจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้นได้ในสังคม

 

 

พรหมคีรี  ตินตะชาติ (ห้า)
นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

HA.jpg

คำว่าสิทธิมนุษยชนเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิตหรือความเป็นอยู่ของประชากรได้เป็นอย่างดี ถ้าสังคมมีรากฐานของสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง ปัญหาเรื่องอื่นๆก็จะไม่ถูกกดขี่คุกคามหรือโดนจำกัดมากขนาดนี้


ทำให้มองว่าในประเทศไทยยังต้องพัฒนาให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่ามันมีประโยชน์อย่างไร เราทุกคนควรตระหนัก เคารพและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หากประเทศไทยมีสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตและคุณภาพประชากรก้าวหน้าไปได้

 

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากตัวเรา ไม่จำเป็นว่าเราต้องไปทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ตามความสนใจหรือสิ่งที่คิดว่าตนเองมีศักยภาพพอในการผลักดัน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอื่นๆได้สนุกกับการเรียนรู้เรื่องของสิทธิ มันไม่ได้ยากเกินไปที่คนในสังคมจะหันมาเคารพซึ่งกันและกัน และรัฐบาลก็ควรหันมาทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

ตั้งแต่หันมาสนใจประเด็นนี้ คำหนึ่งที่ได้ยินมาเสมอ คือคำว่า “คนโลกสวย” ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งต่างๆที่เขาต้องเจอมันไม่ได้สวย คนกลุ่มหนึ่งที่พยายามต่อสู้เพื่ออนาคต ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกคุกคาม และประเทศประเทศหนึ่ง มันเป็นการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน เมื่อปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข “โลกสวย” จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรม



กรกนก คำตา (ปั๊ป)
นักกิจกรรมทางการเมือง และหนึ่งในคณะกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

pup.jpg อยากเห็นสังคมไทยมีความยุติธรรม ความเท่าเทียมแบบที่ทุกคนมีโอกาสเสมอกัน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยได้รับการรับรองจากรัฐว่าจะมีสิทธิ ความปลอดภัย สิทธิในการแสดงออก สิทธิในร่างกาย พร้อมทั้งได้อยู่ในระบบที่รัฐฟังเสียงของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ ปัจจุบันความเป็นมนุษย์ของคนในรัฐเผชิญการกดทับในหลายระดับ รัฐละเมิด และไม่ได้เข้าใจสิทธิมนุษยชน ส่วนในระดับปัจเจกเองก็ไม่ได้รับการกระตุ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพ หรือได้รับความรู้ว่าตนเองมีสิทธิ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการละเมิดได้ง่ายขึ้น

 

การเป็นนักสิทธิมนุษยชนทำเท่าที่ตนเองแบกรับความเสี่ยงได้ เราไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้คนอื่นทำเพราะมันไม่ยั่งยืน ในท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องกลับมาอยู่ในจุดที่ตัวเองทำได้และอยู่รอด ฉะนั้นให้เริ่มจากพิทักษ์สิทธิและตรวจสอบตัวเองก่อนว่าตอนนี้เรากำลังกล้ำกลืนอยู่กับอะไรที่มันไม่ยุติธรรมรึเปล่า หันกลับไปมองคนในสภาพแวดล้อมของเราว่ามีใครที่คิดตรงกับเราบ้าง พยายามรวมตัวกัน เพื่อให้เกิดพื้นที่นึงที่คนจะมาแลกเปลี่ยนหรือพูดคุย แล้วพยายามพัฒนาขยับขยาย สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน แล้วสร้างกิจกรรมร่วมกัน มองหาคนที่มีประสบการณ์มาช่วยสนับสนุน การที่จะทำให้คนเข้าใจในสิทธิคนอื่น มันต้องเริ่มจากการที่ทำให้คนเข้าใจในสิทธิของตนเองก่อน

 

 

ชำนาญ จันทร์เรือง
อดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชำนาญ.jpg

ช่วงที่แอมเนสตี้ไปจัดกิจกรรมที่เชียงใหม่และได้เชิญอาจารย์ชำนาญไปเป็นวิทยากร แล้วตัวผมเองก็ตกเป็นเหยื่อของกรณีโทษประหารชีวิต คุณพ่อผมถูกฆาตกรรม ซึ่งผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตนะ ซึ่งมันก็ตรงกับจุดยืนของแอมเนสตี้ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตทุกกรณี

หลายคนมองว่านักสิทธิมนุษยชน หรือผมเป็นคนโลกสวย แต่จริงๆแล้วเราคิดว่า มันคงจะสวยไม่ได้หรอกโลกใบนี้ เมื่อเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถูกคุกคามหรือถูกแทรกแซง มันมีหลายกรณีมากมาย  แน่นอนมันคงแก้ไข 100% ไม่ได้ แต่มันต้องดีกว่านี้

บางปัญหามันอาจยังไม่มาถึงเรา แต่วันหนึ่งมันเป็นไปได้ที่จะมาถึงเรา ถ้าเราลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นเรียกร้องเรื่องสิทธิพื้นฐาน หากคนเดียวลุกได้ย่อมมีคนอื่นลุกตาม

 

 

รูมมาน แวเตะ (รูม)  
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และรองประธานแอมเนสตี้คลับปัตตานี

Room.jpg

ตอนที่เข้าชมรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้คำว่าสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เรามองเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน หลายๆครั้งมันไม่ควรถูกมองข้ามไป จุดนั้นเองที่ทำให้เราสนใจอยากทำให้คนอื่นๆได้เข้าใจเรื่องสิทธิมากขึ้น เราเคยถูกบังคับห้ามอะไรหลายอย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราเข้าใจว่ากฏระเบียบหรือข้อห้ามต่างๆ ไม่ควรฝ่าฝืนและไม่มีสิทธิที่จะไปขัดแย้ง แต่พอได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นทำให้เรารู้ว่าถ้ามันไม่เหมาะสม เราก็สามารถแย้งได้

 

สถานการณ์ปัจจุบัน คนในสังคมไทยรู้จักคำว่าสิทธิมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่พอเริ่มมีปัญหาประเด็นต่างๆทำให้คนเริ่มสนใจมากขึ้น เราจึงอยากให้ทุกคนรู้ว่ามีสิทธิอะไร เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และเรียนรู้วิธีปกป้องสิทธิของตนเอง กระทั่งส่งเสริมให้มีในการเรียนระบบภาคบังคับมากขึ้น

 

การที่เราออกมาทำอะไรสักอย่างมันเป็นสิ่งที่ดี ถึงแม้มันจะขัดแย้งกับความคิดใครหลายๆคน แต่ถ้าเราเชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิด ก็ให้ยึดมั่นและสู้ต่อไป