หลิวเสี่ยวโป & หลิวเซีย : ย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้ของครอบครัวนักปกป้องสิทธิรางวัลโนเบล 

5 กันยายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

แอมเนสตี้บอกว่า “หลิวเซียถึงเยอรมันแล้ว”
แต่ ... หลิวเซียเป็นใคร?

เราจึงขอชวนมาย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้ของครอบครัวนักปกป้องสิทธิรางวัลโนเบล เนื่องในโอกาสครบรอบการจากไปของ “หลิวเสี่ยวโป” ลองมาดูกันดีกว่าว่าเรื่องราวของคนธรรมดาๆ ที่กล้าหาญลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสันติภาพจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกได้มากขนาดไหน

หลิวเสี่ยวโป เป็นอาจารย์วรรณกรรมอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมประเทศจีน 


ในเหตุการณ์การประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน เขาให้ความช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่จัดการประท้วงอย่างสันติในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง แต่กลับถูกรัฐบาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 21 เดือน

 

 

 

หลังจากนั้น หลิวเสี่ยวโป ยังคงทำงานวิชาการด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง แต่เขาก็ถูกจำคุกอีกครั้งเป็นเวลา 3 ปีในค่ายแรงงานเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลจีนต่อองค์ดาไลลามะซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในไต้หวันและทิเบต

 

 

หลิวเสี่ยวโป เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองในประเทศจีน แต่กลับถูกตัดสินจำคุก 11 ปี ด้วยข้อหา “ยุยงให้บ่อนทำลายอำนาจรัฐ” เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ข้อที่ 8

 

 

ระหว่างที่หลิวเสี่ยวโปอยู่ในคุก เขาได้รับทราบผ่านทนายความว่า เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เขาก็ไม่มีโอกาสได้รับรางวัลนั้นด้วยตนเอง

หลิวเสี่ยวโป เป็นคนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า 

"แม้จะถูกลงโทษปราบปรามอย่างรุนแรง แต่หลิวกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาการต่อสู้หลากหลายรูปแบบเพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน"

 

นอกจากนั้น องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ก็ได้มอบรางวัลให้หลิวเสี่ยวโปในเวที Alison Des Forges Award เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญในการต่อสู้เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศจีน

 

ในขณะเดียวกัน ภรรยาของหลิวเสี่ยวโป อย่าง “หลิวเซีย” ผู้เป็นกวีและศิลปินก็ถูกขังอยู่ในบ้านอย่างผิดกฏหมาย เธอถูกจับตามองจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และคนภายนอกสามารถติดต่อเธอได้อย่างจำกัดมากทางโทรศัพท์เท่านั้น

 

 

หลิวเซีย ในฐานะภรรยาก็ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลสี จินผิง เพื่อประท้วงต่อต้านการคุมขังในบ้านพักอย่างผิดกฏหมาย

แอมเนสตี้ เจ้าของรางวัลโนเบลคนอื่นๆ ตลอดจนผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลก ได้เรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวหลิว เสียวโป อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากพบว่าเขาเป็นโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย แต่กลับไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

 

ในระหว่างการถูกคุมขังอย่างผิดกฎหมาย หลิวเซีย ก็เกิดอาการหัวใจวายและถูกวินิจฉัยว่ามีอาการทางโรคหัวใจแต่รัฐบาลไม่ยินยอมให้หลิวเซียได้เข้ารับการรักษาตามสมควร

 

 

หลิวเสี่ยวโปเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม เนื่องจากอวัยวะล้มเหลว แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญจะกล่าวว่า ร่างกายของหลิวเสี่ยวโปมีความพร้อมที่จะสามารถเดินทางไปรับการรักษาจากต่างประเทศได้ แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธข้อเรียกร้องของหลิวเสี่ยวโป

แอมเนสตี้ทั่วโลกแสดงความเสียใจกับการจากไปของหลิว เสี่ยวโป ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และขอเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัว หลิว เซีย เป็นอิสระ

 

 

 

หลิว เซีย ยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง เนื่องจากการถูกขังเป็นเวลาต่อเนื่อง รวมไปถึงการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัว

หลิว เซีย ถึงกับพูดว่า
“ฉันไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ถ้าฉันไปไหนไม่ได้ ฉันก็จะตายที่บ้าน หลิว เสี่ยว โป จากไปแล้ว โลกนี้ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว ตายๆไปซะยังง่ายกว่า การที่ฉันตายเพื่อประท้วงมันง่ายดายนัก”

 

รัฐบาลจีนยอมปล่อยตัวหลิวเซีย หลังจากที่แอมเนสตี้ องค์กรภาคประชาสังคม รัฐบาลนานาประเทศ และผู้รักในสิทธิมนุษยชนทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ โดยล่าสุดรัฐบาลเยอรมันได้เจรจาทางการทูตกับประเทศจีน หลังจากได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ หลิวเซีย ก็ได้เดินทางไปที่ประเทศเยอรมนีทันที

นี่นับเป็นความสำเร็จจากการรณรงค์ของผู้รักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่ร่วมเรียกร้องให้ทุกคนได้รับเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม
แอมเนสตี้ ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จครั้งนี้ 

ใครๆ ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ ... แล้วคุณล่ะ?#HumanRightsDefender

ใครๆ ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ ... แล้วคุณล่ะ?#HumanRightsDefender

ร่วมกับเรา https://bit.ly/2L4ninY