THE TRUTH ABOUT REFUGEES: ความจริงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่คุณอาจยังไม่รู้

4 มิถุนายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ภาพปก:  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา

 

223559_AI_USA.jpg

เครดิตภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา

 

วิกฤตผู้ลี้ภัยกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลกกำลังจับตามองและพยายามหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน ดังนั้นเพื่อระลึกถึงความเข้มแข็ง ความอดทน และชะตากรรมของผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีจากประเทศตนเอง องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะต้องได้รับการคุ้มครอง และผู้นำโลกควรหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แล้วกลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นใคร? ทำไมต้องได้รับการคุ้มครอง ร่วมกันหาคำตอบได้ที่นี่

 

ผู้ลี้ภัย (Refugees) คือใครกันแน่?

พวกเขาคือ กลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ตามล่า หรือไล่สังหารในประเทศบ้านเกิดของตนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง จนต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศใกล้เคียงโดยในบางครั้งพวกเขาถูกเรียกว่าผู้ขอลี้ภัย (Asylum Seekers) จนกว่าคนๆ นั้นจะได้รับสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” จาก UNHCR

 

ผู้ลี้ภัย (Refugees) หลบหนีออกมาอย่างไร?

มีทั้งคนที่เดินทางโดยเครื่องบิน รถยนต์ เรือ ไปจนถึงการเดินเท้า และมีทั้งที่เข้าเมืองแบบ ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย หรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ พวกเขาอาจพักพิงในประเทศทางผ่านชั่วคราวเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย แต่ที่ผ่านมาการรับรองสถานะและส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สามล่าช้า ทำให้มีผู้ลี้ภัยตกค้างในประเทศทางผ่านจำนวนมาก

 

ผู้ลี้ภัยในไทยเป็นใครบ้าง?

ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว 130,000 คน โดย 90% มาจากชนกลุ่มน้อยของประเทศเมียนมาโดยอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดน มากว่า 30 ปีแล้วอีกราว 10% มาจากปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban Refugee)

 

ผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban Refugee) อยู่อาศัยกันอย่างไร?

ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใดๆ ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสถานะของพวกเขาจึงถือว่าเป็น “คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการโดนจับกุม กักกัน หรือผลักดันกลับไปสู่ประเทศที่ตัวเองเลือกที่จะจากมา อีกทั้งยังตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากผู้ลี้ภัย

 

ผู้ลี้ภัยต่างจากแรงงานข้ามชาติอย่างไร?

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่สูญเสียทุกอย่างในชีวิต รวมไปถึงความเป็นอยู่ บ้านเรือน และแม้แต่ครอบครัว ผู้ลี้ภัยแตกต่างจากแรงงานข้ามชาติเพราะแรงงานข้ามชาติเดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยไม่อาจพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลของตนเอง พวกเขาถูกบังคับให้หนีจากประเทศของตนเอง ประชาคมโลกจึงควรให้ความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

 

syria_0.jpg

เครดิตภาพ: Yasin Akgul/AFP/Getty

 


บ้านใหม่เปลี่ยนชีวิตผู้ลี้ภัย

ปี 2558 มีผู้ลี้ภัยมากกว่าล้านคนต้องเสี่ยงชีวิตเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยที่ปลอดภัยกว่า ในครึ่งปีแรกมีผู้ลี้ภัย 33,400 คน ได้อาศัยใน 30 ประเทศที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยสามารถพำนักภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มทางเลือกที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยมากขึ้น เช่น ภายในสิ้นปี 2559 ให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่มีความเสี่ยงสูงอย่างน้อย 10% หรือราว 480,000 คน ได้พำนักในต่างประเทศ เช่น ประเทศตุรกี เลบานอน และจอร์แดน ซึ่งขณะนี้มีสถานที่พักพิงเพียง 178,195 แห่งทั่วโลก แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่ยังสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้ จากจำนวนผู้ลี้ภัย 19.5 ล้านคนทั่วโลกและยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น มีผู้ลี้ภัย 1.38 ล้านคนที่ต้องหาที่พักพิงในต่างประเทศให้ได้ภายในสิ้นปี 2560