16 สุนทรพจน์ที่น่าจดจำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง

25 เมษายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นหมอสอนศาสนานิกายแบปทิสต์ที่ริเริ่มต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในปี 2503 ความสามารถทางด้านวาทศิลป์ของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนับสนุนเขาอย่างมากมาย เขาเป็นผู้ที่ยึดถือหลักการประท้วงอย่างสงบ  และมีแนวคิดว่าการใช้ความเมตตากรุณาต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามนั้นย่อมดีกว่าการใช้ความก้าวร้าว 

 

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เกิดวันที่ 15 มกราคม ปี 2472 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการต่อสู้อย่างสงบในปี 2507 และถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2511 

 

การเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองในครั้งนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาอย่างมาก แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่จวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นกรณีของนายอัลเบิร์ต วู๊ดฟอกส์ ที่ถูกขังเดี่ยวในสหรัฐอมเริกามานานถึง 40 ปี เนื่องจากเขามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบล็กแพนเทอร์ (Black Panther Party)

 

ความยุติธรรม

1. “ความปั่นป่วนจากการจลาจลจะดำเนินต่อไปเพื่อสั่นคลอนรากฐานของชาติเรา จนกว่าวันที่สดใสแห่งความยุติธรรมจักปรากฏ”
2. “เราต้องการสิทธิของเรา เราต้องการมันที่นี่ และเราต้องการมันเดี๋ยวนี้”
3. “ถึงเวลาแล้วที่บุตรของพระเจ้าทุกคนจะได้รับความยุติธรรม”

 

การประท้วงอย่างสงบ 

4. “เราต้องไม่ทำให้การประท้วงอย่างสร้างสรรค์ของเราเสื่อมเสียจากการใช้ความรุนแรง”

 

5. “ความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของความเมตตากรุณาและการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นคือการช่วยให้เราได้เห็นมุมมอง ได้ยินคำถาม และรู้ถึงการประเมินตัวเราจากฝ่ายตรงข้าม เราอาจเห็นถึงจุดอ่อนของเราจากมุมมองของเขา หรือถ้าตัวเราสมบูรณ์แล้ว เราอาจได้เรียนรู้และได้ประโยชน์จากสติปัญญาของพี่น้องที่เราเรียกเขาว่าศัตรู”

 

6. “ทุกคนที่มีความเชื่อมั่นอย่างมีมนุษยธรรมอาจประท้วงในรูปแบบที่เห็นว่าเหมาะสมกับความเชื่อมั่นของตนเอง แต่เราทุกคนควรประท้วง”

 

7. “วันนี้เรายังมีทางเลือก คือ การอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความรุนแรง หรือ การใช้ความรุนแรงเพื่อร่วมกันทำลายล้าง เราต้องก้าวข้ามผ่านความลังเลไปสู่การลงมือทำ”

 

8. “ถึงแม้ชัยชนะจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ความรุนแรงก็ไม่เคยทำให้เกิดสันติภาพทที่ถาวร”

 

9. “เราใช้สันติวิธีเพราะท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในสังคม เราจะชักจูงพวกเขาด้วยถ้อยคำของเรา แต่ถ้าถ้อยคำของเราชักจูงพวกเขาไม่ได้ เราก็จะชักจูงพวกเขาด้วยการกระทำของเรา”

 

สันติภาพและการปฏิวัติ

10. “ผู้ที่ถูกกดขี่จะไม่เป็นผู้ที่ถูกกดขี่ตลอดไป เพราะความปราถนาในอิสรภาพจะฉายชัดในวันหนึ่ง”

 

11. “ด้วยความอดทดและความมุ่งมั่นเราจะทำต่อไปจนกว่าหุบเขาแห่งความสิ้นหวังนี้จะถูกทับถมจนกลายเป็นภูเขาแห่งความหวัง จนกว่าภูเขาแห่งความหยิ่งทระนงและความไร้เหตุผลจะลดระดับลงด้วยความนอบน้อมและความเมตตากรุณา จนกว่าพื้นที่อันแสนขรุขระแห่งความอยุติธรรมจะกลายเป็นพื้นที่อันราบเรียบแห่งความเท่าเทียมและโอกาส และจนกว่าพื้นที่อันบิดเบี้ยวแห่งอคติและลำเอียงจะได้รับการดัดให้ตรงด้วยสติปัญญาและความศรัทธา”

 

12. “เราไม่ควรให้ความสำคัญแค่การขับไล่ที่เกิดจากสงคราม แต่เราควรให้ความสำคัญกับการรับรองสันติภาพด้วยเช่นกัน”

 

13. “มันถึงเวลาแล้วที่โลกต้องทำสงครามเพื่อเอาชนะความยากจน ประเทศที่ร่ำรวยควรใช้ทรัพยากรที่มีอย่างมากมายของตนเพื่อช่วยประทศที่ด้อยพัฒนาให้พัฒนา ช่วยให้การศึกษากับผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษา ช่วยผู้คนที่อดอยากให้กินอิ่มนอนหลับ เพราะประเทศที่ยิ่งใหญ่คือประเทศที่มีความเมตตากรุณา”

 

14. “ผมเชื่อว่าความจริงที่ไร้พิษสงและความรักที่ไม่มีเงื่อนไขจะเป็นคำตอบสุดท้าย และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมความถูกต้องเพียงชั่วคราวที่ถึงแม้จะพ่ายแพ้นั้นแข็งแกร่งยิ่งกว่าชัยชนะที่โหดร้าย”

 

15. “การปฏิวัติที่มีคุณค่าแท้จริงจะบอกกับโลกใบนี้เกี่ยวกับสงครามว่า “การสร้างความแตกต่างด้วยวิธีนี้นั้นไม่ยุติธรรม”

 

16. “เรามาเริ่มกันเถอะ เรามาเริ่มอุทิศตัวของเราอีกครั้งให้กับการต่อสู้อันยาวนาน และขมขื่น ทว่าสวยงาม เพื่อโลกใบใหม่”