แอมเนสตี้แนะสามขั้นตอนปกป้องข้อมูลส่วนตัว-ปกป้องสิทธิมนุษยชนของคุณ

10 เมษายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ในวันนี้ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กจะให้การกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาแห่งสหรัฐฯ หลังยอมรับว่าอาจมีการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานมากถึง 87 ล้านรายอย่างไม่เหมาะสม ให้กับบริษัทเคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเคมบริดจ์ แอนาลิติกา บริษัทที่ปรึกษากลยุทธการสื่อสารทางการเมืองสัญชาติอังกฤษ กับทีมหาเสียงของทรัมป์ อาจทำให้ข่าวการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นประเด็นพาดหัวใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

 

ปัญหาอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊ก ส่งผลให้พวกเราหลายคนต้องเผชิญกับความจริงว่า ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเรา และมีการแชร์ในโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้เห็นถึงปัญหาท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล

 

ถ้าคุณกังวลกับการที่ข้อมูลส่วนตัวของคุณถูกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยที่คุณไม่ยินยอมอนุญาต คุณจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

 

ที่น่าเศร้าคือ เราแทบไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างสิ้นเชิง พวกเราหลายคนต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดีย และแม้คุณจะโกรธเคืองเฟซบุ๊กเนื่องจากข้อบกพร่องในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว แต่คุณก็อาจไม่ต้องการลบแอคเคาน์นี้ไปก็ได้

 

แต่คุณสามารถจำกัดโอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะสอดแนมข้อมูลของคุณได้ ต่อไปนี้เป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานสามประการของเรา

 

1. เข้าใจความเสี่ยง

ประการแรก เราต้องทราบว่าใครเป็นผู้เก็บข้อมูลของเรา และเก็บไปทำไม

 

กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์เป็นบริษัทรายใหญ่ซึ่งสะกดรอยข้อมูลของคุณทางอินเตอร์เน็ต และหากคุณใช้บริการเหล่านี้ พวกเขาจะมีข้อมูลส่วนตัวของคุณอย่างละเอียด บริษัทใช้ข้อมูลตามโปรไฟล์เหล่านี้เพื่อเลือกโฆษณาที่จะส่งมาให้คุณดู และเพื่อเสนอบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ เพื่อให้คุณใช้บริการเหล่านี้ต่อไป

 

แม้ว่าคุณจะตั้งค่าการแชร์ข้อมูลให้เป็นไปรเวต ทำให้เพื่อนและตัวบริษัทเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ แต่ระบบการตั้งค่าที่มีจุดอ่อนและชวนสับสน อาจส่งผลให้ข้อมูลของคุณบางส่วนแพร่ไปสู่สาธารณะ หรืออาจถูกแชร์โดยบุคคลที่สามได้ นี่เองเป็นจุดที่ “นายหน้าค้าข้อมูล” และบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาแสวงหาประโยชน์

 

เคมบริดจ์ แอนาลิติกาเป็นเพียงหนึ่งในหลายบริษัท ซึ่งทำธุรกิจจากการสะสมและขายข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทเหล่านี้เก็บและรวบรวมทั้งข้อมูลที่เราแชร์แบบสาธารณะ เช่น เวลาเราคลิก “like” ในเฟซบุ๊ก เข้ากับข้อมูลมหาศาลที่เราผลิตขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ได้แก่ การเก็บข้อมูลจากบัญชีผู้ลงทะเบียนเพื่อมีสิทธิออกเสียง ไปจนถึงเก็บข้อมูลพฤติกรรมออนไลน์ของเรา ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถจัดทำโปรไฟล์ประชากรอย่างละเอียดมากขึ้น

 

การสะกดรอยและการจัดทำโปรไฟล์ส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ต ถือเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างชอบธรรมเต็มที่ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน อาจเป็นการคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน รวมทั้งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก เนื่องจากผู้ใช้งานอาจกลัวจะถูกสอดแนม เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเวลาอยู่ในโลกออนไลน์ ทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากทั้งบริษัทและรัฐบาลสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อย่างมิชอบ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายของตนตามเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ หรือพื้นฐานทางกายภาพที่ต้องได้รับการคุ้มครองอื่น ๆ (protected characteristics)

 

2. ควบคุมการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของคุณ

เมื่อรู้ถึงความเสี่ยงแล้ว คุณสามารถตัดสินใจได้ว่า ต้องการแชร์ข้อมูลส่วนไหนในแพลทฟอร์มสาธารณะในอนาคต ถึงเวลาที่คุณจะต้องตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในบรรดาแอปโซเชียลมีเดียที่ใช้ หากคุณตรวจสอบและทราบว่ามีข้อมูลมากเพียงใดที่ถูกบริษัทและหน่วยงานนำไปเก็บโดยมิชอบ คุณจะต้องตาสว่างแน่นอน!

 

แพลทฟอร์มของโซเชียลมีเดียหลายบริษัท กำหนดเงื่อนไขจำกัดการสะกดรอยข้อมูล แต่บริษัทไม่ได้กำหนดให้เป็นค่าตั้งต้น (default) คุณจึงต้องจัดการการตั้งค่า และปิดออพชั่นการสอดแนมข้อมูลเท่าที่เป็นไปได้

 

คุณอาจเริ่มต้นจากการดูที่หน้า “Privacy Checkup” ของเฟซบุ๊ก (ถ้าคุณอยู่ในเว็บไซต์เฟซบุ๊กให้คลิกที่สัญลักษณ์ ? และไปที่ Privacy Checkup) ซึ่งจะอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่ใครที่เห็นโพสต์และโปรไฟล์ของเรา ทั้งยังแสดงผลลัพธ์ให้เห็นหากมีแอปบุคคลที่สาม (third party apps) สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้

 

ตรวจสอบรายชื่อแอปเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และให้ลบแอปที่เราไม่รู้จักออกไป เหตุอื้อฉาวกรณีเคมบริดจ์ แอนาลิติกาเกิดขึ้นเนื่องจากแอปบุคคลที่สามสามารถเข้าถึงและแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานในระบบเฟซบุ๊กได้

 

นับจากนั้นมา เฟซบุ๊กถูกบีบให้ต้องจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปเหล่านี้ แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการยืดหยุ่นหลักเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อเปิดทางให้แอปเข้าถึงข้อมูลของเราได้มากขึ้นอีกในอนาคต

 

ตอนนี้ยังมีคนคิดเครื่องมือพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลของคุณถูกแชร์ให้กับเคมบริดจ์ แอนาลิติกาหรือไม่

 

กูเกิ้ลมีออพชั่นให้ตรวจสอบ “Privacy Checkup” เช่นกันที่ https://myaccount.google.com/privacycheckup ทำให้คุณสามารถเลือกออพชั่นที่จะลบข้อมูลที่ทางกูเกิ้ลเก็บไว้แล้วได้ และสั่งให้กูเกิ้ลหยุดเซฟข้อมูลเกี่ยวกับ “หัวข้อ” การค้นหาข้อมูลของเรา หรือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติโลเคชั่นของเรา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเสียงพูดและเสียงอื่น ๆ ของเราที่ถูกบันทึกไว้

 

ทวิตเตอร์ยังไม่มีออพชั่นให้ตรวจสอบ Privacy Checkup แต่คุณสามารถเข้าถึงการตั้งค่าหลักที่หน้า Privacy and Safety ที่ https://twitter.com/settings/safety และให้ตรวจสอบรายชื่อแอปที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในแอคเคาท์ของคุณได้ที่ https://twitter.com/settings/applications

 

3. ใช้เครื่องมืออย่างง่ายเพื่อตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

เราจำเป็นต้องควบคุมปริมาณข้อมูลส่วนตัวที่เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และทวิตเตอร์เก็บเอาไว้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถหยุดยั้งพวกเขาและบริษัทอื่น ๆ จากการสะกดรอยข้อมูลในเบื้องหลัง ขั้นตอนต่อไป คือ การเปลี่ยนไปใช้บริการออนไลน์ที่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ในการออกแบบบริการตั้งแต่ต้น

 

DuckDuckGo เป็นเสิร์ชเอ็นจินที่ช่วยให้เราค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต โดยไม่เปิดเผยตัวตนของเรา คุณอาจไม่เคยคิดว่าประวัติการค้นหาในอินเตอร์เน็ตเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง แต่หลายบริษัทใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับตัวคุณ ตั้งแต่ข้อกังวลด้านการแพทย์ของคุณ ไปจนถึงการเดินทางประจำวันของคุณ

 

DuckDuckGo ไม่เก็บหรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลตอนที่เราใช้งาน และเวลาที่เราคลิกลิงค์ที่เสนอให้โดย DuckDuckGo หน้าเว็บไซต์จากลิงค์ดังกล่าวจะไม่ทราบว่าเราไปถึงเว็บไซต์นั้นจากการค้นหาด้วยคำว่าอะไร

Privacy Badger เป็นแอปที่จัดทำขึ้นโดย Electronic Frontier Foundation (EFF) เพื่อขัดขวางไม่ให้แอปบุคคลที่สามสามารถสอดแนมข้อมูลคุณขณะท่องโลกอินเตอร์เน็ตได้ ทั้งยังสามารถขัดขวางไม่ให้เฟซบุ๊กและกูเกิ้ลสอดแนมข้อมูลคุณ ในขณะที่คุณไม่ได้เข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าว ทั้งยังสามารถบล็อกบริษัทโฆษณาและนายหน้าค้าข้อมูล ซึ่งพยายามสอดแนมข้อมูลในโลกออนไลน์ของคุณลับหลัง

 

คุณยังอาจตัดสินใจเปลี่ยนเว็บบราวเซอร์ ซึ่งมีตัวเลือกอยู่สองค่ายที่เราจะเสนอคือ Brave และ Firefox  Brave เป็นเว็บบราวเซอร์ที่ดีที่ สามารถบล็อกโฆษณาและบล็อกการสอดแนมข้อมูลซึ่งเป็นค่าตั้งต้นในตัวของมันเอง ส่วน Firefox คุณต้องเปลี่ยนการตั้งค่าเอง โดยการเปิดออพชั่น “Tracking Protection” ในเว็บบราวเซอร์

 

หากคุณต้องการรายละเอียดทางเทคนิคว่ามีการสอดแนมข้อมูลอย่างไร และเราควรทำอย่างไร เว็บไซต์ Me and My Shadow (https://myshadow.org/) ของค่าย Tactical Tech สามารถให้คำแนะนำอย่างละเอียดว่าข้อมูลส่วนตัวได้ถูกเก็บไปอย่างไร และเราจะควบคุมข้อมูลของตนเองได้อย่างไร

 

สุดท้ายแล้ว เคล็ดลับเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลออนไลน์ คุณยังควรปฏิบัติตามแนวปฏิบัติพื้นฐานหกข้อจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้านล่างเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์