ส่องสังคมจีน ในโอกาสครบ 2 ปีกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว

9 มีนาคม 2561

เรื่อง: หลู ปิน นักปกป้องสิทธิสตรีชาวจีน

หมายเหตุบบรรณาธิการ: กฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัวของจีนนั้นถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2559 หลังจากมีการรณรงค์โดยกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีมานานถึง 20 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของนักกิจกรรมอย่าง ลู พิน จนถึงตอนนี้เวลาผ่านไปสองปี กฎหมายที่ว่านั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่ ลู พิน ได้เขียนบอกเล่าถึงความจริงและประสบการณ์กว่า 20 ปี ของเธอผ่านบทความต่อไปนี้


ผู้หญิงชาวจีนมีการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันและกันมานานแล้ว จากสถิติของรัฐบาลระบุว่าผู้หญิงหนึ่งในสี่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ปัญหาที่ลุกลามราวโรคระบาดนี้บ่อยครั้งกลับถูกซุกไว้ใต้พรม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโดยวัฒนธรรมของจีนแล้ว การใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนนอกไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปก้าวก่าย แต่ตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนไป


มุนมองของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป

ความเงียบถูกทำลายเป็นครั้งแรกเมื่อละครเรื่อง Don’t Respond To Strangers ออกอากาศทางโทรทัศน์ ละครเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเป็นละครที่โด่งดังและเป็นที่นิยม ถึงแม้ว่า Don’t Respond To Strangers จะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ แต่ละครเรื่องนี้ก็ได้นำข้อเสนอแนะหลายประการของกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีสอดแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่อง ละครเรื่องนี้ได้ทำลายกำแพงและจุดประเด็นการพูดคุยเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวในสังคมชาวจีน


สืบเนื่องจากความสำเร็จของละคร เครือข่ายต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยสมาคมกฎหมายแห่งประเทศจีน(Anti-Domestic Violence Network of the China Law Society) ได้จัดทำป้ายโฆษณาต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2545 โดยฉันทำงานที่นี่ในตำแหน่งผู้ประสานงานฝ่ายสื่อ ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปี 2546 เราได้พยายามทำในสิ่งที่ถือว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมากในประเทศที่จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างประเทศจีน คือ เราได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อรัฐบาลเพื่อนำไปบังคับใช้ โดยฉันมีหน้าที่เผยแพร่ร่างกฎหมายนั้นต่อสื่อมวลชนที่แห่กันมาที่ปักกิ่งเพื่อรายงานข่าว “การประชุมสองสภาฯ” การประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติและหน่วยงานที่ปรึกษาของรัฐบาลของประเทศจีน นอกจากข้อมูลพื้นหลังเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เราเผยแพร่ต่อนักข่าวแล้ว เรายังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับแรกที่ร่างโดยประชาสังคมชาวจีน


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีการให้ความสนใจ แต่มันก็ไม่ได้สร้างความตื่นตัวอย่างที่เราคาดหวัง และร่างกฎหมายก็ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในวาระการประชุมสภานิติบัญญัติของรัฐบาล ในปี 2546 ผลของการพยายามของเรายังไม่ “สุกงอม” แต่สังคมเริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ในปี 2548 สถานีโทรทัศน์ CCTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลได้ออกอากาศสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกตัดสินจำคุกหลังจากฆ่าสามีที่กระทำทารุณต่อเธอ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในการที่จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของประชาชนในสังคมเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว


สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะการวิ่งเต้นอย่างต่อเนื่อง การรณรงค์อย่างทุ่มเทของนักกิจกรรม และความมุ่งมั่นของกลุ่มนักปกป้องสิทธิสตรีอย่างแท้จริง หลายปีผ่านไป มุมมองของคนจีนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ต่างๆที่เราได้กระทำมา


คิม ลี คดีคนดัง

หนึ่งในคดีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นที่รู้จักคือคดีของ คิม ลี โดยคิมเป็นพลเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่ในปักกิ่ง โดยในตอนนั้นเธอได้แต่งงานกับเศรษฐีชื่อ ลี่ หยาง ซึ่งเป็นคนดังจากคอสเรียนภาษาอังกฤษของเขาที่ชื่อ “Crazy English” ซึ่งเป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นการสอนให้นักเรียนทั่วทั้งประเทศจีนก้าวข้ามผ่านความอายในการพูดภาษาอังกฤษโดยการให้นักเรียนตะโกนประโยคภาษาอังกฤษในสวนสาธารณะหรือในโรงเรียน ในปี 2554 คิม ลี ได้โพสภาพร่างกายของเธอที่บอบช้ำและสะบักสะบอมลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างความตกใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ ส่งผลให้ข่าวคดีการหย่าร้างของเธอถูกนำเสนอยาวนานกว่าหนึ่งปี ในที่สุดคิมก็ชนะคดีและได้รับค่าเสียหายชดเชยเป็นเงิน 50,000 หยวน (ประมาณ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถือว่าเป็นเงินชดเชยที่มีมูลค่าสูงที่สุดในคดีฟ้องหย่าจากการถูกทารุณกรรมในขณะนั้น


เมื่อคิมออกมาจากห้องพิจารณาคดี เธอตรงเข้ามาสวมกอดอาสาสมัครที่ใส่ “ชุดแต่งงานเปื้อนเลือด” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงและการประท้วงที่ออกแบบเพื่อนำเสนอประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทุกๆชัยชนะนั้นเราได้มาอย่างยากเย็น และนักกิจกรรมก็ได้ฉลองเพียงแค่เวลาสั้นๆเท่านั้น
จากชัยชนะครั้งนี้ อาสาสมัครกลุ่มเดียวกันยังได้จัดทำข้อเรียกร้อง โดยในข้อเรียกร้องนั้นได้ระบุว่า “เราไม่ต้องการกฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่กลวง ว่างเปล่า และเป็นแค่สัญลักษณ์…เราต้องการกฎหมายที่มีอำนาจอย่างแท้จริง….เราหวังว่าเราจะได้รับรู้ มีส่วนร่วม และได้ตรวจสอบกระบวนการตรากฎหมาย” ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการลงชื่อจากประชาชนถึง 12,000 รายชื่อ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้


ข้อสังเกตเรื่องกฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

ประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเริ่มปรากฏให้เห็นในกฎหมายท้องถิ่นเมื่อปี 2543 เมื่อมลฑลหูหนานได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมในครอบครัวขึ้นเป็นมลฑลแรก และร่างกฎหมายนี้ได้รวมอยู่ในวาระการประชุมของรัฐบาลกลางในปี 2553 และกฎหมายดังกล่าวได้ถูกนำมาบังคับใช้ทั่วทั้งประเทศในที่สุดในปี 2559
เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นชัยชนะจากหลายๆฝ่าย แต่สำหรับฉันมันยังไม่ใช่ชัยชนะ เพราะจากประสบการณ์ในการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายนี้ เรามองเห็นถึงความยากลำบากที่เราต้องเผชิญต่อไป นั่นคือศึกที่แท้จริง ศึกที่เราจะต้องต่อสู้เพื่อให้กฎหมายนี้ถูกนำไปบังคับใช้อย่างจริงจัง และมันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น


ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร จากกรณีของเชอร์ลี่ย์ ได ซึ่งเป็นพลเมืองแคนาดา เธอชนะการฟ้องหย่าสามี ลี่ จี ซึ่งโด่งดังจากการเป็นสตั๊นท์ แต่เธอสูญเสียสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร เธอได้ตั้งคำถามว่าทำไมผู้ที่กระทำทารุณต่อเธอถึงได้รับสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรแต่เพียงผู้เดียว แต่ศาลกลับเข้าข้างสามีเก่าของเธอ และก่อนหน้านั้นเธอก็ไม่ได้เจอหน้าลูกของเธอถึงสองปี


ศาลควรคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กก่อนที่จะตัดสินใจมอบสิทธิการเลี้ยงดูบุตรให้กับผู้ปกครอง แต่ตอนนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าหากเกิดกรณีที่มีการกระทำทารุณต่อคนในครอบครัวศาลจะนำประเด็นนี้มาประกอบการพิจารณาหรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังมีความบกพร่องในการตัดสินกรณีที่ผู้ปกครองฝ่ายหนึ่งแยกเด็กออกจากผู้ปกครองอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการไม่ให้ผู้ปกครองอีกฝ่ายหนึ่งมาเยี่ยมเด็ก

 

เชอร์ลี่ย์ พร้อมทั้งแม่อีกเก้าคนได้ริเริ่มโครงการ “ริบบิ้นสีม่วง”ซึ่งเป็นการรณรงค์ในเรื่องนี้ และเธอได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร และสิทธิในการเยี่ยมบุตรมาจนถึงทุกวันนี้

 

กฎหมายว่าด้วยการใช้ความรุนแรงในครอบครัวประสบผลสำเร็จหรือไม่?

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว องค์กรสิทธิสตรี Equality ได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบซึ่งชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกฎหมาย นั่นก็คือการขาดการสนับสนุนเหยื่อที่หนีจากการถูกกระทำทารุณในครอบครัว ข้อมูลในรายงานระบุว่าในปี 2559 มีเหยื่อแค่ 149 ราย ถูกรับเข้าไปอยู่ในสถานพักพิงเพื่อเหยื่อจากการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีอยู่ถึง 2,000 แห่ง นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเหลือเหยื่อนั้นยังมีไม่เพียงพอ คุณสมบัติในการที่จะได้รับการช่วยเหลือนั้นมีมากเกินไป ในขณะที่กฎระเบียบที่ศูนย์พักพิงนั้นมีความเข้มงวด และการให้บริการนั้นยังไม่เพียงพอ


สื่อได้รายงานปัญหาเหล่านี้อยู่หลายปี แต่กลับไม่มีการกระทำที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งการระดมทุนขององค์กร NGOs ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็มีความไม่แน่นอน เนื่องจากองค์กร NGOs ในประเทศจีนนั้นประสบปัญหาการจดทะเบียนที่ยากขึ้น และการระดมทุนที่มีความไม่แน่นอน


คดีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวยังถือว่าเป็นคดีที่ชนะได้ยากมาก จากรายงานขององค์กร Equality ระบุว่า หลังจากที่มีการออกกฎหมายได้ 10 เดือน คดีฟ้องหย่าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว 142 คดี ในมลฑลจี่หนาน มีแค่ 14 คดี เท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้มีการหย่า และเหตุผลของการชนะทั้ง 14 คดี นี้คือการที่ผู้ต้องสงสัยยอมรับสารภาพว่ากระทำทารุณต่อเหยื่อ และสำหรับคดีที่เหลือ เหตุผลที่แพ้คดีคือการที่ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธต่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และศาลมองว่าคดีเหล่านี้มีหลักฐานไม่เพียงพอ


ยิ่งคดีที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันด้วยแล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นไปอีก

การต่อสู้เพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และพิทักษ์สิทธิสตรียังต้องดำเนินต่อไป จนถึงทุกวันนี้ หนทางการต่อสู้นี้ถูกสร้างขึ้นโดยผู้หญิง เหยื่อ และผู้รอดชีวิตที่ต้องแลกด้วยชื่อเสียง และร่างกายเพื่อให้เกิดนโยบายและการออกกฎหมายใหม่ๆ ในแต่ละมณฑล


จนถึงทุกวันนี้ การเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากรัฐบาลของพวกเขา