ร่วมไว้อาลัยครบรอบ 2 ปีการจากไปของ "แพะคนสุดท้ายคดีเชอรรี่แอน"

12 ตุลาคม 2557

 

ย้อนไปเมื่อ 28 ปีที่แล้ว “คดีเชอรี่แอน” โด่งดังมากจนมีการนำมาสร้างเป็นหนังโศกนาฏกรรมความรัก ทั้งยังเป็นตำนาน “แพะรับบาป” เป็นบทเรียนอันน่าอัปยศอดสูของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย และความพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ในกระบวนการยุติธรรม

 

นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม แพะคนสุดท้ายในคดีเชอรี่แอน เขาเป็นหนึ่ง ใน 5 ผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นผู้ต้องหาฆาตรกรรมเชอรี่แอน ดันแคน เป็นผู้เสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาด เป็น “แพะรับบาป” ที่ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับกระบวนการยุติธรรม และแก้ไขกฎหมายและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาของไทย

 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2529 “เชอร์รี่แอน ดันแคน” เด็กสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกันวัย 16 ถูกล่อลวงขึ้นแท็กซี่จากหน้าโรงเรียนไปฆาตกรรมในป่าแสมบางสำราญ ต.บางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ เหตุเกิด และเป็นข่าวโด่งดังที่สื่อมวลชนและสาธารณชนให้ความสนใจ แต่คดีกลับไม่คืบหน้า

 

กระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ตำรวจได้จัดแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหายกแก๊งค์ทั้งหมด 5 คน คือจำเลยที่ 1 นายวินัย ชัยพานิช เป็นผู้บงการจ้างวาน, จำเลยที่ 2-5 เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดคือ นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย, นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม และนายธวัช กิจประยูร

 

โดยคดีนี้ มีนายวินัยเพียงคนเดียวที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลยกฟ้อง ขณะที่นายกระแสร์และพวกต้องต่อสู้กับคดีนี้อีกหลายปี จากศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังระหว่างรอฎีกา และศาลฎีกาพิพากษาว่าพวกเขาคือผู้บริสุทธิ์ ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2536 แต่ระหว่างที่ถูกจองจำอยู่ในคุกนายรุ่งเฉลิมถูกโรคประจำตัวรุมเร้ามากขึ้นเพราะร่างกายและจิตใจอ่อนแอ บวกกับความทุกข์ระทมจนตรอมใจตายในที่สุด นายพิทักษ์ติดโรคจากในคุกและเสียชีวิตไม่นานหลังหลุดคดี ส่วนนายธวัชรอดออกมาในสภาพสมบูรณ์แต่ก็หมดโอกาสในชีวิตไปมากมาย สุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อพฤศจิกายน 2542

 

สำหรับนายกระแสร์ ผลจากการถูกซ้อมให้รับสารภาพทำให้ต้องพิการเนื่องจากกระดูกสันหลังร้าว โดยต้องไปรับยาจากโรงพยาบาลทุกเดือน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเขาถูกตำรวจบังคับด้วยวิธีการต่างๆ นานา เพื่อให้สารภาพ จนกลายเป็นภาพหลอนฝังแน่นในจิตใจ “ผมเห็นตำรวจก็ยังกลัวอยู่ กลัวถูกทรมานในคุกอีก”

 

“ตอนที่ถูกจับผมไม่รับสารภาพ ผมถูกตำรวจหลายคนซ้อม เยอะ หลายคนจำไม่ได้ มีตำรวจนอกเครื่องแบบด้วย ไม่ทราบว่าใครบ้าง ยกเท้าถีบโดนหน้าอก หงายท้อง หลังกระแทกกับโต๊ะ โดนถีบหลังกระแทกอีกทีหนึ่ง หัวฟาดพื้น ถูกซ้อมจนกระดูกสันหลังร้าว ปวดเรื่อยมา ต้องกินยาตลอด นอนหงายไม่ได้จะชา หลังจะชา ต้องนอนตะแคง เดินนานๆ ไม่ได้ เท้าจะชา สมองมึนชา ประสาทช้า คิดอะไรช้า เพราะถูกซ้อมหัวฟาดกับโต๊ะ ไปหาหมอตามคลินิคเขาฉายเอ็กซเรย์ให้ผม ขณะที่ศาลชั้นต้นกำลังจะตัดสิน แล้วผมก็ไม่มีตังค์ที่จะผ่า พอศาลตัดสินผมก็เข้าเรือนจำปากน้ำไปเลย พอออกมาแล้วหลักฐานฟิล์มเอ็กซเรย์ก็ไม่รู้หายไปอยู่ไหนหมดแล้ว ช่วงที่อยู่ในคุกมีหมอก็ขอยาแก้ปวดบ้าง แม่ส่งน้ำมันไปให้ทาบ้าง...” กระแสร์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภาพจำในอดีตได้อย่างแจ่มชัด แม้ว่าเขาไม่อยากจะจดจำมันแล้วก็ตาม

 

การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถูกห้ามกระทำไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติหรือภาวะสงคราม การทรมานเป็นสิ่งที่ผิด และไม่อาจมีเหตุผลใดสร้างความชอบธรรมให้การทรมานได้เลย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นักกิจกรรมของเรา และประชาชนเรียกร้องให้ รัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
1. บัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา
2. กำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
3. กำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและครอบครัว ทั้งทางด้านกฎหมาย ร่างกาย จิตใจและสังคม

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต

 

นายกระแสร์ ได้พูดหลังออกจากคุกว่า "…ก่อนเข้าคุกข้าพเจ้ามีครอบครัว ภรรยาอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในคุกภรรยาข้าพเจ้าเครียดมากจนเสียชีวิต ต่อมาลูกสาวอายุ 17 – 18 ปีถูกฆ่าข่มขืน ข้าพเจ้าอยู่ในคุกไม่มีใครบอกว่าลูกสาวข้าพเจ้าโดนฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เรื่องเขาปิดกัน ลูกสาวกำลังสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเกิดข้าพเจ้าซึ่งเป็น พ่อยังอยู่ข้างนอก ก็ยังดูแลเขาได้ไม่โดนฆ่า ต่อมาลูกชายก็หายสาปสูญยังหาไม่เจอ…"

 

นายกระแสร์ เริ่มเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงช้าๆ ว่า "เมื่อปี 2529 นางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ถูกฆ่าตาย ตำรวจปากน้ำก็มาแจ้งจับพวกข้าพเจ้ากับเสี่ยวินัย ชัยพาณิชไปจับ รุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย พิทักษ์ ธวัช จับไปปากน้ำว่าร่วมกันฆ่านางสาวเชอรี่แอน แต่พวกเราไม่ได้ฆ่า บอกกับตำรวจ กับใครตอนนั้นก็ไม่มีใครเชื่อ นักข่าวประโคมข่าวมาก ตำรวจปากน้ำชื่อ พ.ต.อ.มงคล ศรีโพธิ์ และพ.ต.อ.สันติ เพ็งสูตร เอาตัวนายประเมิน โภชน์พัฒน์ มาชี้ตัวโดยดูรูปจากตำรวจก่อนและให้เงินนายประเมิน 500 บาท แล้วมาชี้ตัวว่าพวกเราเป็นคนประคองเชอรี่แอนลงมาจากตึกคอนโดมิเนียมของเสี่ยวินัย จากนั้นอัยการก็สั่งฟ้องเรา ศาลตัดสินประหารชีวิตพวกเรา 4คน แต่ยกฟ้องเสี่ยวินัย เราถูกส่งเข้าไปอยู่ในแดนประหาร คุกบางขวาง จนปี 2535 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่รุ่งเฉลิม ตายในคุกก่อนที่ศาลจะอุทธรณ์จะพิพากษา เพราะคิดมากเครียด เนื่องจากตัวเองไม่ได้ทำความผิด ลูกเขาก็ยังเล็กๆ อยู่ในสมัยนั้น ตัวข้าพเจ้าเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาเจ้านายเก่าบริษัทยามประกันตัวให้ออกมาได้ แต่พิทักษ์และธวัช ยังติดอยู่ในบางขวาง เพราะต้องรอศาลฎีกา แต่ออกมาได้ไม่เท่าไหร่ก็เสียชีวิตทั้ง 2 คนเพราะติดโรคมาจากในเรือนจำ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าตายปีไหน ตอนข้าพเจ้าโดนจับถูกตำรวจซ้อม หัวฟาดกับโต๊ะ ทำให้มึน ประสาทเลยช้าคิดอะไรช้า

 

ผู้ต้องหาโดนซ้อมจนสมองชา


"ตอนที่ข้าพเจ้าถูกจับข้าพเจ้าไม่รับสารภาพ ข้าพเจ้าถูกตำรวจหลายคนซ้อม เยอะ หลายคนจำไม่ได้ มีตำรวจนอกเครื่องแบบด้วย ไม่ทราบว่าใครบ้าง ถูกซ้อมจนกระดูกสันหลังร้าว ไปหาหมอตามคลินิคเขาฉายเอ็กซเรย์ให้ข้าพเจ้า ขณะที่ศาลชั้นต้นกำลังจะตัดสิน แล้วข้าพเจ้าก็ไม่มีตังค์ที่จะผ่า พอศาลตัดสินข้าพเจ้าก็เข้าเรือนจำปากน้ำไปเลย พอออกมาแล้วหลักฐานฟิล์มเอ็กซเรย์ก็ไม่รู้ หมอหายไปอยู่ไหนหมดแล้ว จากกระดูกสันหลัง ทำให้หัวคิดช้า คิดอะไรคิดออก แต่ช้า เพราะมึน ตอนที่ตำรวจซ้อมหัวฟาดพื้น สมัยก่อนโรงพักปากน้ำเป็นไม้ เก้าอี้เป็นไม้ พอถูกถีบก็หงายท้องเลยหลังกระแทกโต๊ะที่นั่งหัวฟาด ขณะนี้พอเวลาเดินเร็วๆ ขาจะชามาจากหลัง นอนหงายไม่ได้ ต้องนอนตะแคง ช่วงที่อยู่ในคุกมีหมอก็ขอยาแก้ปวดบ้าง แม่ส่งน้ำมันไปให้ทาบ้าง

 

เข้าคุกทั้งที่ไม่ผิด


"ตอนเสี่ยวินัยเขายกฟ้องพวกข้าพเจ้าโดนตัดสินประหารชีวิต เสี่ยวินัย ก็ไปวิ่งเต้นแจ้งทางกองปราบปราม ทีนี้กองปราบปรามเขารู้แล้วว่าพวกข้าพเจ้าไม่มีความผิด กองปราบปรามติดตามคดีอย่างเงียบๆ กำลังตามจับผู้ต้องหาตัวจริงแล้วก็แจ้งมาที่โรงพักปากน้ำว่า พวกนี้ไม่มีความผิด ตัวจริงกำลังจะจับอยู่ แต่ตำรวจปากน้ำไม่เชื่อให้ศาล อัยการสูงสุดดำเนินเรื่องต่อไป ไม่ยอมปล่อยพวกข้าพเจ้าทั้งที่รู้ว่าไม่ผิด อยู่ในคุกไม่มีใครช่วยหรือต่อสู้ให้ ภาวนาอย่างเดียวให้เรารอด เพราะเราไม่ได้ทำความผิด เราอยู่ในคุกเรายังไม่รู้ว่ากองปราบปรามกำลังดำเนินการ พอเขาจับตัวจริงได้เราก็รอด ศาลยกฟ้องก่อนแล้วจึงจับผู้ต้องหาตัวจริง หลังศาลยกฟ้องไม่มีใครยื่นมือมาช่วย คนที่ไม่เคยทำผิดอยู่ๆ ศาลตัดสินประหารชีวิต จิตใจที่ยืนอยู่ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร อย่างเฮาดี้ (นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย) เป็นลมพับตรงนั้น นอกนั้นพากันร้อง เป็นลมหมด ก็เขาไม่ได้ทำความผิดแล้วศาลตัดสินประหาร คนไม่ผิดความรู้สึกตอนนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคนอื่นจะเป็นอย่างไร พอศาลตัดสินก็ต้องเข้าคุกไป

 

ผู้ต้องหาเมียตาย-ลูกสาวโดนฆ่าข่มขืน-ลูกชายหายสาปสูญ


"ก่อนเข้าคุกข้าพเจ้ามีครอบครัว ภรรยาอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ในคุก ภรรยาข้าพเจ้าเครียดมากจนเสียชีวิต ต่อมาลูกสาวอายุ 17-18 ปีถูกฆ่าข่มขืน ข้าพเจ้าอยู่ในคุกไม่มีใครบอกว่าลูกสาวข้าพเจ้าโดนฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็ไม่รู้เรื่องเขาปิดกัน ลูกสาวกำลังสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเกิดข้าพเจ้าซึ่งเป็นพ่อยังอยู่ข้างนอกก็ยังดูแลเขาได้ ไม่โดนฆ่า ต่อมาลูกชายก็หายสาปสูญยังหาไม่เจอ

 

ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมตำรวจ 25 ล้าน


"ช่วงเกิดคดีสื่อมวลชนออกข่าวทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์ ทีวีทุกช่อง ลงข่าวกันครึกโครมหมดเลย แต่ตอนศาลยกฟ้องมีข่าวแค่นี้ (ทำมือให้ดูว่าเป็นข่าวสั้นๆ) แล้วประชาชนจะรู้หรือว่าพวกเราไม่ได้ผิด เขาต้องคิดว่าเรายังเป็นฆาตกรอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่าศาลยกฟ้องเรา ตอนออกมาจากคุกมีทนายอยู่ 1 คนช่วยเหลือว่าความคดีฟ้องกรมตำรวจกับตำรวจให้ แต่ฟ้องแบบไม่มีสตางค์ ฟ้องอนาถา ศาลตัดสินแล้วว่าตำรวจพวกนั้นไม่เกี่ยว ให้ฟ้องกับกรมตำรวจ ตอนนี้ฟ้องกับกรมตำรวจอยู่ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ตอนโดนจับเสียชื่อเสียง คนอื่นเกลียดว่าเป็นฆาตกร ทั่วประเทศลงข่าวครึกโครมส่วนนี้เรียก 10 ล้านบาท และตำรวจทำร้ายร่างกายทำให้พิการทางสมอง ข้าพเจ้าก็เรียกอีก 5 ล้านบาท แล้วข้าพเจ้าเคยทำงานด้านรักษาความปลอดภัยได้เงินเดือนๆ ละ 3,300 บาทประมาณ 21 เดือนคิดเป็นเงิน 96,300 บาท แล้วก็ตอนที่ข้าพเจ้าเสียอิสรภาพถูกจับเข้าไปอยู่ในคุก ถูกใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชั่วโมง มีกินบ้างไม่มีบ้างตอนอยู่ในคุก แล้วแดนประหารมีนักโทษทุกประเภท ไม่มีใครกลัวใคร บางคนก็ประสาทเสีย บางคนก็บ้า ก็ต้องทนอยู่กันอย่างนั้น ลำบากมาก ตรงนี้เรียก 10 ล้านบาท แล้วแต่ศาลจะเมตตาให้

 

"ทนายไม่ได้บอกว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ข้าพเจ้าก็ไปขึ้นศาล ฝ่ายอัยการก็เลื่อนเรื่อย ศาลรัชดาเลื่อนเรื่อย นี้ก็เลื่อนข้าพเจ้าไปวันที่ 3 เมษายน เวลา เช้า 09.00 น. ข้าพเจ้าไม่ได้หวังว่าจะชนะคดีได้เงิน 25 ล้านบาท แล้วแต่ศาลจะเมตตา ได้แค่ 1 ล้าน ครึ่งล้าน แค่ให้พอมีเงินไปใช้หนี้เขา ตอนที่แม่ข้าพเจ้ามาเยี่ยมในคุก แม่อยู่อยุธยาต้องยืมเงินเขามาเยี่ยมข้าพเจ้า ปัจจุบันมีอาชีพขายปลาตู้ ปลากัด และรับจ้างเป็นยามบ้างหรือใครจ้างให้ทำอะไรก็ไปไม่พอกิน

 

สำหรับแพะแดนประหาร


อยู่ในคุกบอกไม่ถูกว่าจะได้ออกหรือไม่ได้ออก คิดว่าจะได้ออกก็คิดไม่ได้ คิดว่าจะตายก็เอ๊ะ ยังไงก็บอกไม่ถูก คล้ายๆ หมดอาลัยแล้ว ถึงคราวก็ตายคิดแบบนี้ เพราะไม่รู้ว่ากองปราบปรามกำลังเดินเรื่องให้เรา ไม่เคยมีใครมาส่งข่าวให้เลย ตอนไปศาล ตำรวจโรงพักมากันใหญ่เลยทั้งที่เราไม่ได้ผิดเลย ใส่ตรวน 2 เส้น ใส่กุญแจมืออีก จนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว ทำกับเราน่าดู สุดท้ายตำรวจบอกทำไปตามหน้าที่ ทำไปตามพยานหลักฐาน เขาก็พ้นไป จะว่าเป็นเวรกรรมของข้าพเจ้า ก็เป็นกรรมที่มันพวกนี้สร้างกรรมให้เรา พวกตำรวจร่วมกันจับพวกเรา สร้างกรรมให้เรา ทำให้หลายชีวิตต้องลำบาก ลูกเมียลำบาก ในแดนประหารมีคนทุกชนิด บางคนก็ไม่ได้ทำความผิด จับเขาไปไว้ในนั้น บางคนก็สู้คดี ได้คุยกับบางคนไม่ได้มีความผิดบางคนไม่รู้เรื่อง ตำรวจชอบปิดคดีเร็วๆ ข้าพเจ้าว่าตอนนี้ในแดนประหารมีคนที่ไม่ผิดอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเขาจับกันมาอย่างไร แต่คดีข้าพเจ้าเป็นคดีดัง แต่อยู่ๆ ก็เงียบไม่มีใครรับผิดชอบ บางคนถ้าเกิดเป็นคดีแบบข้าพเจ้า ถ้าหลักฐานที่เขาสร้างมาแน่นหนาก็ต้องโดนประหารทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำความผิด อยากเรียกร้องให้ประเทศไทยมีกฎหมายจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้กับคนที่ถูกจับไปอยู่ในคุกโดยไม่รู้เรื่อง ศาลเขาคงจะอ่านหนังสือบ้างว่าคดีแพะมาอีกแล้ว ข้าพเจ้าเห็นข่าวในทีวีจับแพะคดีปล้นร้านทองอีก เขาคงคิดว่าเป็นเวรกรรมของมัน จับเขาไปแล้ว คนจับส่งเป็นใคร คดีข้าพเจ้าจำชื่อได้หมดตอนนี้เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่อย่าไปเอ่ยชื่อเขาเลยไม่ดี เดี๋ยวส่งคนมาเก็บอีกจะยุ่ง"

 

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซด์ http://pakyok.com/166.html