12 ปีที่คุณอังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ อีก 5 คนไม่ได้พบหน้าทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ และที่สำคัญกว่านั้นคือ “สามี” และ “พ่อ” ของครอบครัว เหลือไว้ก็เพียงแต่ความโศกเศร้า คำถาม และคดีความที่จบลงด้วยการพ่ายแพ้
ก่อนหายตัวไป “ทนายสมชาย” ว่าความให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อ้างว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 ไม่มีใครพบทนายสมชายอีกเลยหลังจากที่แยกตัวกับเพื่อนทนายย่านรามคำแหง หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวนีละไพจิตรเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นตำรวจ 5 นาย โดย 1 ในนั้นคือตำรวจที่ลูกความของทนายสมชายกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องสงสัย
ในขณะที่ความหวังที่จะได้พบเจอกับทนายสมชายอีกครั้งริบหรี่ลงเรื่อยๆ โอกาสครั้งสำคัญที่ครอบครัวนีละไพจิตรจะได้รับรู้รสชาติความยุติธรรมก็หมดลงเช่นกัน หลังศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ยกฟ้องคดีต่อตำรวจทั้ง 5 นาย โดยระบุว่าพยานหลักฐานขาดความน่าเชื่อถือ พร้อมกับไม่อนุญาตให้คุณอังคณาและลูกๆ เป็นโจทก์ร่วม

แม้ครอบครัวนีละไพจิตรจะได้รับข้อมูลว่าทนายสมชายถูกทรมานจนเสียชีวิต แต่กลับไม่มีหน่วยงานรัฐไหนที่รายงานอย่างเป็นทางการได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายคนสำคัญของไทยเมื่อ 12 ปีก่อน
“ความจริง” ยังคงหลบซ่อนอยู่ในมุมมืดที่ใดสักแห่งในสังคมไทย ร่วมกันใช้โอกาสครบรอบ 12 ปีการหายตัวไปของทนายสมชายเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนำความยุติธรรมมาสู่ทนายสมชาย ครอบครัวนีละไพจิตร ตลอดจนผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายคนอื่นๆ ต่อไปด้วย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคนให้…
-สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายในกรณีต่างๆ
-ผ่าน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย พ.ศ. …. โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย
-ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว
-ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกบังคับให้สูญหายและรับประกันว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
-รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่
***ร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัวนีละไพจิตรด้วยการลงชื่อเพื่อรื้อคดีทนายสมชายอย่างโปร่งใสและยุติธรรม ตลอดจนหนุนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย เพื่อป้องกันไม่ให้การอุ้มหายเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต คลิกที่นี่