‘ยุติทรมานโดยเจ้าหน้าที่’ ต้องมี ‘กฎหมาย’ อย่าทำให้ ‘เหยื่อ’ ไม่มีตัวตน

7 กรกฎาคม 2560

เรื่อง: วจนา วรรลยางกูร
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน

 

"การทรมานเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น"

 

เป็นคำยืนยันของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งกล่าวในงาน "Torture Bill, Still No Justice-พ.ร.บ. (ป้องกันและต่อต้านการทรมานฯ) ยังไม่มี ความยุติธรรมยังไม่มา"

 

จัดขึ้นเนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล 26 มิถุนายน

 

โดยความร่วมมือระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) และสถานทูตแคนาดา

 

ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีมา 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายให้คำนิยามชัดเจน ส่งผลต่อการตีความกฎหมาย

 

ผลที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เกิดความลำบากในการสืบสวนสอบสวน เป็นเหตุให้เหยื่อไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม

 

แม้จะมีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ก็ถูก สนช.ตีตกและเงียบหายไปจนปัจจุบัน

 

ศ.วิทิตกล่าวว่า เรื่องการทรมานมีมานานแล้วตั้งแต่มีมนุษย์ แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้มีสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่คนนับล้านถูกประทุษร้ายทั้งถูกฆ่าและถูกทรมาน เป็นบทเรียนที่สำคัญมากของมนุษย์

 

"หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามีสหประชาชาติขึ้นมามีหลักเกณฑ์ ข้อตกลงและมติชัดเจนว่าสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะ ไม่ถูกทรมาน เป็นสิทธิที่เด็ดขาดและสำคัญมาก น่าเศร้าที่หลาย กรณีคนที่ไปช่วยเหลือผู้ถูกทรมานแล้วกลายเป็นเหยื่อไปด้วย อย่างกรณีนักสิทธิมนุษยชนในไทย เช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มหาย ช่วงนั้นทำงานช่วยเหลือคนที่ถูกทรมานและถูกฆ่าด้วย

 

"ในประเทศเรามีภาวะที่เปิดช่องให้เกิดการประทุษร้ายและทรมาน เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้กักขังคนในที่ปิดที่ไม่ใช่พื้นที่ราชการซึ่งอาจเกิดการประทุษร้ายได้ รวมถึงกฎอัยการศึกด้วย การกักตัวเป็นระยะเวลานานก็จะเกิดโอกาสการประทุษร้ายได้ ถ้าเราใช้หลักเกณฑ์ที่ดีปกป้องมนุษย์ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ดี จะเป็นการปกป้องทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่เองด้วย

 

"วิธีดีที่สุดคือการนำบุคคลนั้นขึ้นศาลเพื่อป้องกันการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ก่อการประทุษร้าย ดังนั้นการห้ามทรมานจึงควบคู่ไปกับสิทธิที่จะมีโอกาสขึ้นศาลด้วย"

 

ต้องคัดกรองคนไม่ดี อย่าทำแค่โยกย้าย

 

ประเด็นเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น ศ.วิทิตกล่าวว่า ประเทศไทย แม้ได้ห้ามการทรมานในกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญมานานแล้ว แต่ไม่มีนิยามชัดเจน ขณะที่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯมีนิยามตามหลักสากลและไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกมา 10 ปีแล้ว

 

"เมื่อเกิดเหตุแล้ว การตรวจสอบสอบสวนเกิดขึ้นยากมาก เป็นข้อท้าทาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจทั้งบวกและลบ หาผู้รับผิดชอบยาก เกิดการลอยนวลตลอดเวลา ลงโทษผู้กระทำผิดได้ยาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บางฝ่าย อย่างมากมีเพียงการโยกย้ายเจ้าหน้าที่

 

"เหยื่อและครอบครัวต้องเจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะช่วงขอความเป็นธรรม การถูกประทุษร้ายมีผลแนวลบมากมายต่อครอบครัวและผู้เรียกร้องสิทธิแทนเหยื่อ ทั้งทนายและเอ็นจีโอ ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ดขาดที่ห้ามทรมานอย่างมีน้ำหนักมากขึ้น"

 

ศ.วิทิตกล่าวถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นว่า 1.เรามีร่าง พ.ร.บ.ครอบคลุมทั้งการทรมานและอุ้มหายที่มีนิยามตามสากล ขอเชียร์ให้ พ.ร.บ.นี้ ผ่านเสียที โดยไม่ต้องลังเล

 

2.เรื่องภายในเรายังต้องปรับปรุง กฎหมายและกฎเกณฑ์ยัง หลวม เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้กฎอัยการศึก หรือการใช้คำสั่งทั้งหลายนำไปสู่ความไม่โปร่งใสในหลายส่วนและนำไปสู่การลอยนวลด้วย

 

3.เมื่อละเมิดแล้วต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่การโยกย้าย เพราะฉะนั้นนโยบายกรองคนควรจะต้องชัดเจนให้มาก

 

4.ช่วยเหลือเหยื่อและครอบครัวให้ติดต่อกันได้สม่ำเสมอ ให้เยี่ยมได้ง่ายขึ้น

 

5.การโจมตีผู้พิทักษ์สิทธิต้องหยุด เคารพนักสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือให้ข้อมูลโปร่งใสช่วยบรรเทาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

 

"ทราบว่าในไทยยังมีคดีฟ้องนักสิทธิมนุษยชนเป็นกรณีที่อยู่ในเวทีโลกด้วย ขอเรียกร้องให้ยุติ เนื่องจากขัดหลักสิทธิมนุษยชน ในคำนึงถึงหลักนิติธรรมสากลเป็นเกณฑ์ ยึดถือความรับผิดชอบต่อทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ สกัดเจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีไปสู่มิติอื่น ลู่ทางที่ควรจะเป็นต่อไปคือลู่ทางของความถูกต้อง ความยุติธรรมและแสงของความหวัง เน้นอย่างประจักษ์ต่อทุกฝ่ายที่มีอำนาจเพื่อใช้อำนาจที่ดีขจัดอำนาจที่ลบ นี่คือข้อท้าทายที่อยู่ในมือของเราทุกคน" ศ.วิทิตกล่าว

 


น้ำตาของผู้ถูกกระทำ

 


เมื่อไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน ทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบซ้ำหลังถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ

 

อิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานขณะเป็นนักศึกษา เมื่อปี 2551 ถูกจับกุมตามกฎอัยการศึกโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา มีการควบคุมตัวเกินกำหนดเวลาและมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกาย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กองทัพบกที่ 1 จ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย

 

"แม้มีคำสั่งศาลปกครองให้ชดใช้ทางแพ่งแล้วแต่คดีอาญาฟ้องไม่ได้ เพราะจำหน้าผู้ที่ทำร้ายไม่ได้ ตอนซ้อมถูกเอาผ้าปิดหน้าแล้วซ้อมในห้องมืด แต่จำหน่วยงานและสถานที่ได้ ภายหลังทราบว่าเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่โต หากมี พ.ร.บ.ซ้อมทรมานจะสามารถดำเนินคดีคนสั่งการได้

 

"คนที่ถูกทำร้ายร่างกายจะมีความระหวาดระแวงการคุกคาม ตอนที่ผมฟ้องนั้น หลายๆ ครั้งมีเจ้าหน้าที่มาขู่ที่บ้าน ขู่พ่อแม่ ไปที่ทำงาน โทรศัพท์ให้ยุติเรื่องจะเยียวยาเป็นเงินให้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐไม่ยอมรับสิ่งที่ทำ" อิสมาแอกล่าวอีกเสียงหนึ่งจากครอบครัวเหยื่อ สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ที่ถูกจับกุมเพราะหน้าคล้ายคนวิ่งราวสร้อย แต่เมื่อจับกุมคนร้ายตัวจริงได้ จึงพยายามร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างสอบปากคำ

 

อีกเสียงหนึ่งจากครอบครัวเหยื่อ สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ที่ถูกจับกุมเพพราะหน้าคล้ายคนวิ่งราวสร้อย เเต่เมื่อจับกุมคนร้ายตัวจริงได้ จึงพยายามร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างสอบปากคำ 

 

สมศักดิ์เปิดเผยว่า ประสบปัญหาเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับเรื่อง ร้องเรียน ใช้เวลาแจ้งความกับตำรวจ 3 ครั้ง แล้วไม่ดำเนินคดี ส่งไป ป.ป.ท. สอบอยู่ 2 ปี ก่อนยุติเรื่องว่าไม่มีหลักฐาน ล่าสุดศาลสั่งว่ามีมูลเป็นคดีอาญาข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกาย ทำให้ตกใจกลัว เพราะไม่มี พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน

 

"ลูกชายผมเป็นเหยื่อ โดนคนเดียวแต่ล้มทั้งบ้าน เหมือนไฟนรกเผาผลาญชีวิตครอบครัว การทรมานเพื่อให้รับสารภาพเอามา เป็นความดีความชอบบนคราบน้ำตาผู้ที่ทุกข์ทรมาน ต่อให้เขาทำ ความผิด เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีสิทธิทรมานหรือละเมิดเขา ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน" สมศักดิ์กล่าว

 

 

ความรุนแรงจะคงอยู่ ถ้าสังคมยอมรับ

 

"สังคมไทยยังยอมรับการซ้อมทรมานอยู่ โดยเฉพาะคดียาเสพติดและก่อการร้าย สังคมจะบอกว่า 'ทรมานไปเลย' เราต้องให้ความรู้แก่สังคมว่าการทรมานเป็นอาชญากรรม"

 

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิประสานวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า การซ้อมทรมานอุ้มหาย เป็นอาชญากรรมที่ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงดำเนินคดียากมาก ยิ่งเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงยิ่งยาก แม้ไทยจะเข้าร่วมในภาคีทรมาน-อุ้มหาย แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัตินัก เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามอนุสัญญา

 

"ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้งที่ สนช.ให้ผ่านกฎหมายวันละหลายฉบับ แต่ฉบับนี้ สนช.ส่งกลับมากระทรวงยุติธรรมโดยไม่ทราบเหตุผล ผมอาจเข้าใจผิดเองก็ได้ว่านี่คือการเตะถ่วง คิดว่าเหตุหนึ่งที่กฎหมายล่าช้า เพราะร่างกฎหมายกำหนดว่าถ้ามีการทรมานอุ้มหายผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย หากไม่ห้ามปรามหรือรู้เห็นเป็นใจต้องรับโทษอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ที่ทำการทรมาน"

 

สมชายบอกว่า ถ้ามีการซ้อมทรมานอย่างเป็นระบบ อุ้มหายและอุ้มฆ่าอย่างกว้างขวาง เรียกว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติระดับสูง ต้องถูกพิจารณาฐานความผิดว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การให้ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบเป็นการป้องกันได้ดี ที่สุด เพราะจะต้องดูแลอย่างเข้มงวดไม่ให้การซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก

 

"พวกเราต้องผลักดันให้กฎหมายนี้เป็นจริง องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศพยายามช่วยกัน การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องสร้างวัฒนธรรมไม่ใช้ความรุนแรง เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นการผลิตซ้ำ คนก่ออาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นล้วนเป็นคนถูกกระทำมาทั้งสิ้น เมื่อสังคมไม่ปฏิเสธความรุนแรงคนเหล่านี้จึงยังลอยนวลอยู่ การคัดค้านความรุนแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มของ สังคม เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับลูกหลานในอนาคต" เป็นคำยืนยัน ของสมชาย

 

ทวงสัญญาในความเงียบ


ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และคณะกรรมการ นักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์ "ติงไทยให้คำมั่นสัญญา ป้องกันและปราบปรามการทรมานบนเวทีนานาชาติแต่ไม่ปฏิบัติตาม ผู้เสียหายยังไม่ได้รับความยุติธรรมและยังถูกคุกคาม"
โดยเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว สอบสวนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระ โปร่งใสและเป็นกลาง นำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลพลเรือน และให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานระหว่างประเทศเข้าตรวจเยี่ยม
วันเดียวกันมีคำชี้แจงจากกระทรวงยุติธรรมว่ารับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวคืนมาจาก สนช. เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เรื่องรับฟังความ คิดเห็น ก่อนจะเสนอ ครม.อีกครั้ง โดยจะมีการประชุมความคืบหน้าในเดือนสิงหาคมต่อไป
เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่คาดหวังว่าจะไม่จบลงด้วยความเงียบ