ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรืออยู่ที่ไหนบนโลก คุณควรตระหนักรู้ไว้ว่า
เอม ภูมิภัทร
ไม่ควรมีใครต้องถูกบังคับให้สูญหาย เพียงเพราะเขาพูดความจริง

ในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ นักแสดงจากภาพยนตร์ “ดอยบอย” ได้แบ่งปันมุมมองของเขาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชน บทสัมภาษณ์นี้สะท้อนถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของเอมในการใช้บทบาทนักแสดงของเขา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
เอมกล่าวว่า “ถ้าเรามีความกระตือรือร้นหรือรับรู้ต่อสิ่งนี้แค่ปีละครั้ง อาจจะไม่ได้อะไรหรือได้อะไรน้อยมาก” เขารู้สึกว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นผู้ถูกบังคับให้สูญหายเพียงหนึ่งวันต่อปีไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง “เราต้องไม่หยุดตะโกน ต้องไม่หยุดที่จะจงเกลียดจงชังการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง” เขาย้ำว่าความรับรู้และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมควรเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่ในวาระพิเศษเพียงแค่ “วันผู้สูญหายสากล” ที่มีขึ้นทุกวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเพียงเท่านั้น
ระหว่างพูดคุยกันอยู่นั้น เอมย้ำถึงความสำคัญของการไม่หยุดเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์บังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก เขาเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ การเฝ้าระวังและการรับรู้ต่อเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรร่วมมือกัน
เอมสะท้อนความรู้สึกของเขาต่อความยุติธรรมในสังคมไทย เมื่อถามถึงเรื่องสิทธิของผู้คนในเมืองไทยตอนนี้ เขามองว่าผู้คนทุกวันนี้อาจโกรธกันน้อยไปและไม่ใช้หัวใจในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมากพอในบางครั้ง เพราะระบบบางอย่างที่ทำให้ผู้คนคิดหนักจนกดทับไม่ให้กล้าส่งเสียงเรียกร้องออกมา เขาเชื่อว่าการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ว่าจะเป็นประเด็นการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องอื่นๆ ทุกคนต่างก็ต้องใช้พลังงานและความพยายามอย่างมาก และสำหรับเอมนั้นแม้ว่าเขาจะท้อถอยบ่อยครั้งเมื่อเห็นชัยชนะเล็กๆ ของสิ่งที่ไม่ควรชนะในกระบวนการยุติธรรม แต่เขาก็ยังคงย้ำถึงความสำคัญของการไม่สูญเสียกำลังใจในการเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เอมยังบอกอีกว่าตั้งแต่รู้และเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ‘ความยุติธรรม’ เอมหวังมาตลอดว่าอยากเห็นสิ่งนี้เป็นที่ประจักษ์ แต่ความหวังนั้นช่างเลือนราง ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงในสังคมได้เมื่อไหร่ “ผมรู้สึกว่าเราก็สู้กันมานาน แต่ว่าทำไมหนทางมันดูช่างยาวไกลเหลือเกิน” เพราะในหลายเหตุการณ์กว่าจะรับรู้ว่าใครคนใดคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกอำนาจทางกฎหมายพรากสิทธิอันพึงมีไป ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายก็ได้แต่ร่ำไห้ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้รับความเป็นธรรม และตัวเขาเองในฐานะผู้ติดตามสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดก็รู้สึกอัดอั้นใจไม่ต่างกัน
ซึ่งเอมมองว่าสิ่งที่เกิดในสังคมทุกวันนี้ เป็นเพราะการเพิกเฉยต่อสิ่งที่รัฐกระทำกับประชาชนและใช้เวลายาวนานเหลือเกินกว่าคนในสังคมจะเริ่มขยับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่รู้และไม่เข้าใจในสิทธิของตน จึงถูกอำนาจเบื้องบนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาโดยตลอด
เอมได้วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมเกี่ยวกับการที่ประชาชนต้องมารับหน้าที่สร้างการรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกันเองแทนที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐ เขามองว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรเป็นหน้าที่ของเราที่เราจะสร้างการรับรู้ให้กันเอง เขาย้ำว่าเราทุกคนควรตระหนักว่าคนมีอำนาจจริงๆ คือเรา ไม่ใช่รัฐ รัฐมีอำนาจเพราะเราให้
ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เด็กกว่านี้ ตอนที่ประมาณ 10 ปี หรือ 5 – 6 ปีที่แล้ว ผมยังรู้สึกหรือมีความหวังว่ามันอาจจะเกิดขึ้นทันในช่วงชีวิตตัวเอง แต่ตอนนี้ผมมองว่ามันอาจจะไม่สำคัญขนาดนั้นแล้วว่า
เอม ภูมิภัทร
สิ่งที่เราอยากจะเห็นจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตเราหรือเปล่า ผมไม่สนใจแล้วว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
แต่ผมสนใจว่าผมทำเต็มที่หรือยังในช่วงเวลาที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ ผมว่าสิ่งสำคัญมันคือสิ่งนี้มากกว่า

เอมเล่าถึงตัวละคร ‘วุฒิ’ ที่เขาได้รับบทในภาพยนตร์ “ดอยบอย” ว่าเป็นตัวละครที่มีความเชื่อและอุดมคติที่คล้ายคลึงกับตัวเขาเอง “ตัวเรากับตัววุฒิเชื่อในสิ่งเดียวกัน เชื่อในสิ่งที่ไม่ต่างกันเลย เรามีอุดมคติที่เราอยากเห็นแบบเดียวกัน” เอมเล่าถึงความท้าทายในการแสดงบทนี้ โดยเฉพาะความต้องการที่จะนำเสนอบทบาทนี้ให้สมจริงที่สุด เขาเปิดใจว่าตัวเองต้องทำความเข้าใจทั้งความคิดและจิตใจของวุฒิ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีทั้งความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความยุติธรรมและการต่อสู้เพื่อสิทธิของมนุษยชน
แม้ว่าเขาจะรู้สึกว่าตัวเองและตัวละครมีความฝันที่จะเห็นสังคมที่ดีกว่าเหมือนกัน แต่ความเข้มแข็งและความโกรธของวุฒิในเรื่อง เอมมองว่าตัวละคร ‘วุฒิ’ ในภาพยนตร์ “ดอยบอย” อาจจะมีความรู้สึกและพลังมากกว่าตัวเขาที่มีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงตอนนี้
เราฝันเห็นสังคมเดียวกัน แต่เขาจะโกรธกว่าผมเยอะมาก
เอม ภูมิภัทร
ก่อนที่เอมจะเข้ามารับบทบาท ‘วุฒิ’ เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่เคยเผชิญกับประสบการณ์อันน่าเศร้าเหมือนวุฒิที่ครอบครัวของเขาถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐ ในฐานะนักแสดงเอมจึงเข้าใจได้แค่ในบทบาทที่ได้รับหรือเท่าที่คนในสังคมคนหนึ่งจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งเอมนึกภาพไม่ออกว่าหากวันหนึ่งครอบครัวของเขาต้องเผชิญชะตาอันเลวร้ายเช่นนี้ ชีวิตจะเป็นอย่างไร กับการต้องอยู่ในรัฐที่ไม่พร้อมให้การโอบอุ้มมีแต่ผลักไสให้กลายเป็นคนนอก และพร้อมพรากชีวิตของพวกเขาไปได้ทุกเมื่อ
การสวมจิตวิญญาณเป็นวุฒิทำให้เขาต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตระหนักตั้งแต่เริ่มแรกคือโกรธกับชะตากรรมของผู้ถูกอำนาจกดขี่ แม้ว่าเอมไม่เข้าใจคำว่านักกิจกรรมมากนัก แต่สังคมที่เอมอยู่ รายล้อมไปด้วยผู้มีใจรักในความยุติธรรม โดยเอมเรียกพวกเขาว่า ‘ฮีโร่’ เหล่าผู้ผดุงความยุติธรรมที่ไม่ย่อท้อต่อการกดขี่ของรัฐ เอมค่อยๆ เรียนรู้ ซึมซับอุดมการณ์ ความเชื่อ ลองใช้ชีวิตในสังคมที่พวกเขาอยู่ และพยายามทำความเข้าใจว่าโลกแบบไหนที่พวกเขาฝันอยากจะเห็น จนสามารถประกอบสร้างออกมาเป็นตัวละครในดอยบอย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นยังคงตกตะกอนอยู่ในใจเอมมาจนถึงปัจจุบัน
แม้เอมจะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยตรง แต่เขาเชื่อว่าการมีอยู่ของงานศิลปะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ หากศิลปะถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องและศิลปินไม่กลัวที่จะสร้างงาน เอมย้ำว่าภาพยนตร์อย่าง “ดอยบอย” จะสามารถเป็นหนึ่งในคลื่นที่จะทลายกำแพงของความกลัวและความไม่รู้ของคนที่อยู่ในสังคมตอนนี้ได้ ซึ่งเขาเชื่อว่าการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อความคิดและความเชื่อของผู้คนจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามได้
เอมไม่ใช่แค่เชื่อเท่านั้น แต่หวังว่าสิ่งที่เขาสะท้อนผ่านตัวละคร จะทำให้คนตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และสิทธิเหล่านั้นล้วนติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด
ผมว่าหนังเรื่องหนึ่งไม่สามารถทำได้ ผมว่าหนังเรื่องหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ขนาดนั้น แต่คลื่นของงานศิลปะสามารถทำได้ อย่างที่บอกว่าถ้า 10 ปีมีหนังแบบดอยบอยโผล่มาแค่เรื่องเดียว มันก็จะแหลมกราฟมาแค่ช่วงหนึ่งแล้วก็หายไป แต่ถ้าเราสร้างความต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศในการที่จะทำให้ศิลปินไม่กลัวที่จะสร้างงาน ให้คนไม่กลัวที่จะเสพงาน มันจะทลายกำแพงไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นคลื่นที่สุดท้ายมันจะผลักดันไปสู่อะไรบางอย่างแน่นอน
เอม ภูมิภัทร
เอมยังหวังว่าดอยบอยจะไม่ใช่แค่กระแสที่ผ่านเลยไป อยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้จุดประกายความหวังในสังคมที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและต้องสู้อยู่ตลอดเวลาและถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 แล้วก็ตาม แต่เอมยังไม่วางใจเขายังหวังให้ทุกคนจับจ้องการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ
“เราต้องไม่เพิกเฉยเพื่อไม่ให้สิ่งนี้กลายเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว” คำพูดจากเอมที่พูดถึงกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เพราะเขาเชื่อว่าถ้าปล่อยไว้ให้เป็นแค่กฎหมาย สังคมที่วาดหวังไว้คงเป็นไปได้ยาก แม้ดอยบอยจะสร้างแรงกระเพื่อมทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่หากคนในสังคมยังนิ่งเฉย คลื่นลูกแรกที่ส่งออกไปอาจจมหายไปในสายธารก่อนถึงฝั่ง

เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ ใช้บทบาทนักแสดงของเขาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นที่สำคัญต่อสังคม เขาเชื่อมั่นว่าทุกคนควรตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ในวันสำคัญหรือผ่านกิจกรรมเฉพาะ แต่ควรเป็นสิ่งที่เราทุกคนเฝ้าระวังและปกป้องทุกวัน
ต่อให้มันผลักดันไปสู่ พ.ร.บ. ก็ตาม แต่เราก็ต้องไม่เพิกเฉยกับการจะทำให้สิ่งนี้กลายเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว เราก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป เราก็ต้องสู้กับระบบตลอดเวลา ต่อให้ในทางกฎหมายมันจะผ่านแล้ว แต่ว่าการบังคับใช้ก็อีกเรื่องหนึ่ง การสร้างสังคมที่มีบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อความคิด ความเชื่อของตัวเองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องหนึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้น แต่ว่าถ้ามันเกิดคลื่น คลื่นหนึ่ง และเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่ามันจะนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ดีขึ้นแน่นอน
เอม ภูมิภัทร