นักสิทธิมนุษยชน แนะ รัฐใช้ 'หลักการไม่ส่งกลับ' เด็กไร้สัญชาติ 126 คน ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

7 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

ภาพ : สำนักข่าวชายขอบ

‘สุรพงษ์’ นักกฎหมายสิทธิมนุษชน ชี้ ส่งเด็กนักเรียนไร้สัญชาติ 126 คน กลับเมียนมา เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษชน ย้ำ เด็กต้องไม่หลุดระบบการศึกษา

 

กรณี เด็กนักเรียนอายุ 5-16 ปี จำนวน 126 คน ที่เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 (ราษฏร์อุปถัมภ์) อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง แต่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์และถูกส่งตัวกลับพื้นที่ต้นทางที่จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งตัวให้ผู้ปกครองและผลักดันออกนอกประเทศต่อไปตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ ล่าสุดเด็กทั้ง 126 คน ถูกนำตัวไปสถานสงเคราะห์ 5 แห่งในจังหวัดเชียงราย เพื่อรอผู้ปกครองมารับและบางส่วนถูกส่งตัวกลับประเทศเมียนมา

จากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเนื่องจากเด็กๆ กลุ่มนี้ ต้องหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน และถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งอาจทำให้เด็กเสี่ยงอันตรายจากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเมียนมาตอนนี้

 

ภาพจาก Facebook ส่วนตัว Surapong Kongchantuk

 

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีมติเห็นชอบนโยบาย  “การศึกษาเพื่อปวงชน” หรือ Education for All ซึ่งครอบคลุมความหมายถึง มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ต้องได้รับการศึกษาหรืออีกนัยหนึ่งการศึกษาต้องจัดให้มนุษย์ทุกคน การขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเรียนหนังสือได้ แม้จะไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย นั่นหมายความหมายเด็กนักเรียน 126 คนมีสิทธิศึกษาต่อในประเทศไทยได้ หากได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองและโรงเรียน เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการศึกษาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ส่วนกรณีเด็กนักเรียน 126 คน ถูกผลักดันกลับเมียนมา และมีส่วนหนึ่งถูกย้ายไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์ หรือโรงเรียนตามแนวชายแดน สุรพงษ์ มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนประเด็นต่างๆ ให้รอบด้าน เพราะอาจขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ปี 2548  ที่มีมติเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนทุกคนในประเทศไทย เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนไหนก็ได้ในประเทศไทย ไม่ใช่แค่โรงเรียนตามแนวชายแดนเพียงอย่างเดียว ในฐานะนักเรียนไร้สัญชาติ ( G Code) แทนเลขบัตรประจำตัวประชาชน

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า หากเจ้าหน้าที่ส่งเด็กนักเรียนกลับเมียนมา อาจเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เพราะการส่งเด็กนักเรียนไปที่เมียนมา อาจทำให้เด็กนักเรียนต้องไปเจอความไม่ปลอดภัยหรือเสี่ยงอันตราย เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กส่วนใหญ่เป็นชาวอาข่า จากรัฐฉาน เมียนมา ที่ยังคงมีความขัดแย้งรุนแรงจากความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับรัฐบาลทหารเมียนมา

“ปัจจุบันในเมียนมายังมีการสู้รบ หากพยายามส่งเด็กนักเรียนกลับไปที่ประเทศอาจทำให้พวกเขาต้องเจอกับความไม่ปลอดภัยทั้งต่อชีวิตและจิตใจ รัฐไทยไม่ควรปล่อยให้เด็กนักเรียน 126 คน ต้องไปเผชิญกับอันตราย และเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือไม่มีสัญชาติควรได้เรียนหนังสือที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่แนวชายแดน”

สุรพงษ์ทิ้งท้ายว่า การออกเอกสารรับรองให้เด็กนักเรียนไร้สัญชาติได้เรียนหนังสือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และขอให้รัฐทบทวนการส่งเด็กนักเรียนกลับประเทศเมียนมา ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพราะหากคดีนี้ไม่ถึงที่สุดหรือศาลยังไม่ได้ตัดสิน เห็นว่าเด็กมีสิทธิเรียนหนังสือในประเทศไทยต่อไป แต่หากยืนยันส่งกลับประเทศเมียนมาต้องได้รับความยินยอมจากครอบครัวและเด็กด้วยความสมัครใจ

 

กัณวีร์ แนะรัฐคำนึงประโยชน์เด็กไร้สัญชาติ 126 คน ตาม ‘หลักการไม่ส่งกลับ’ คุ้มครองเด็กเสี่ยงภัยร้ายแรง

 

ภาพจาก Facebook ส่วนตัว กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang

 

กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคเป็นธรรม และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าได้เดินทางไปดูชีวิตความเป็นอยู่เด็ก 35 คน จาก 126 คน ที่บ้านพักฉุกเฉินแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับข้อมูลจากคนในพื้นที่ว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จ.อ่างทอง พยายามทำเรื่องขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (GR - Code) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จ.อ่างทอง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติและถูกตรวจสอบวินัย แจ้งความเอาผิดกับผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เพราะรับเด็กไร้สัญชาติชาวเมียนมาเข้าเรียนจำนวนมากผิดปกติ และเตรียมผลักดันเด็กนักเรียนทุกคนกลับประเทศต้นทาง

 

รหัส GR - Code หมายถึง รหัสประจำตัว 13 หลัก สำหรับเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เช่น เด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน โดยรัฐจะต้องออกให้เด็กที่เข้าเรียนหนังสือ เพื่อทำให้มีข้อมูลเด็กในระบบ เพื่อจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนที่มีเด็กกลุ่ม เช่น ค่าอาหารกลางวัน นม อุปกรณ์การเรียน

 

กัณวีร์เผยต่อว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การส่งเด็กกลับประเทศต้นทางอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ต้องคุ้มครองและปกป้องให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด แต่หากมองในมุมกฎหมายตามพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ถ้าเรื่องนี้เข้าข่ายมีการลักลอบเข้าเมืองจริง ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายอย่างแน่นอน แต่เมื่อเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจต้องตั้งคำถามว่า ‘เด็กเป็นเหยื่อ’ จากขบวนการลักลอบนำคนเข้าเมืองหรือไม่ ที่สำคัญในกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่าหากพบเด็กกระทำความผิด ในประเด็นนี้ อาจไม่ต้องดำเนินคดี แต่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้ทันที

“ประเทศไทยมีนโยบายการศึกษาแห่งชาติ Education fo All ที่ให้การศึกษาสำหรับทุกคน โดยไม่แยกแยะชาติพันธุ์ และสัญชาติ ดังนั้นน้องๆ นักเรียน 126 คน ต้องได้รับความคุ้มครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก”

หลักการไม่ส่งกลับ (principle of non-refoulement) เป็นอีกประเด็นที่กัณวีร์ แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า เด็กไร้สัญชาติหรือเด็กลี้ภัย ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี  ไม่ควรถูกส่งกลับประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเสี่ยงต่อการถูกทรมานให้มีอันตรายร้ายแรง ซึ่ง เรื่องนี้เป็นไปตามข้อบท 33 ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ ที่ยอมรับเป็นประเพณีร่วมกันว่า หลักการไม่ส่งกลับเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

“การที่ประเทศไทยให้การศึกษาต่อเด็กไม่ว่าจะมีสัญชาติได้ตามงบประมาณและแนวทางการปฏิบัติที่มีอยู่ได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ ไม่งั้นเราจะมีการขอทำทะเบียน G Code สำหรับเด็กนักเรียนไม่มีสัญชาติไปทำไม” กัณวีร์ทิ้งท้าย