2 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน: เมื่อการคุกคามประชาชนกลายเป็นโรคประจำถิ่น

12 กันยายน 2565

Amnesty International

เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารล้อมไว้ ในมือของเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ ขณะที่พวกเขาถือเบ็ดกันคนละคัน เด็กหนุ่มกลุ่มนี้หล่อหลอมมิตรภาพขึ้นมาจากความแตกต่างที่สังคมหยิบยื่นคำนิยาม ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม แต่พวกเขาเติบโตมาด้วยกันในเมืองแห่งนี้ ความทรงจำร่วมของพวกเขาผนึกแน่นภายใต้กฎหมายพิเศษที่ถูกประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548

ค่ำคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคม เด็กหนุ่มกลุ่มนี้ทำกิจกรรมแสนปกติอย่างการตกปลา แต่ในเมืองที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมมีแนวโน้มที่อำนาจจะอยู่ในมือเจ้าหน้าที่อย่างล้นเกิน

เอกรินทร์ ต่วนศิริ นั่งฟังเรื่องราวข้างต้นด้วยความตกใจ เขาเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงเด็กที่เกิดในปี 2547 ไว้อย่างน่าสนใจ อาจารย์เอกรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่า เด็กเหล่านี้เกิดมาก็พบเจอกับความรุนแรงทันที ความสงบและสันติภาพเป็นเพียงเรื่องเล่าปรัมปรา เพราะเด็กที่นี่ได้ประสบพบเจอความรุนแรงจากรัฐและกลุ่มผู้ก่อการติดอาวุธ 

เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ออกไปตกปลาเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันว่าข้อสังเกตของอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิโรจน์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้นี้ มีน้ำหนักและชวนให้พิจารณา

“จะเกิดอะไรขึ้นหากเจ้าหน้าที่รัฐยิงพวกเขา ผมนั่งฟังเรื่องราวของน้องๆ กลุ่มนี้พลางคิดไปถึงตัวบทกฎหมาย หากเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจะกลายเป็นเหยื่อทันทีครับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย พวกเขาแค่ออกไปตกปลา นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว

"ตลอดเวลา 17 ปีของกฎหมายพิเศษนี้ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่คนใดถูกลงโทษจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผิดพลาดครับ” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าวย้ำถึงอำนาจพิเศษที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะถูกประกาศใช้ทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2563 

Q_set1_Eakarin 1.jpg

จากความไม่สงบของเมืองชายแดนสู่การระบาดที่ศูนย์กลางอำนาจ

เป็นเวลากว่า 17 ปี หากนับจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของสงขลา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากวันนั้นถึงวันนี้ รัฐบาลประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทั้งสามจังหวัดในทุกๆ 3 เดือนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

การเกิดสภาวะยกเว้น (The state of exception) โดยเหตุผลความมั่นคงของชาติ ทำให้สิ่งที่อาจารย์เอกรินทร์เรียกว่า “สถานการณ์ความรุนแรงไม่ปกติ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืดเยื้อเรื้อรังกว่า 17 ปี จนเป็น “สภาวะไม่ปกติถาวร”

“ยิ่งอ้างสถานการณ์ไม่ปกติไปยาวนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับการให้ความชอบธรรมกับความมั่นคงของชาติแบบกองทัพจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเหมือนวัคซีนที่รัฐบาลแต่ละชุด เลือกนำมาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของตนเอง เราจึงเห็นมันถูกใช้มาอย่างยาวนานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และพฤษภาคม 2553 รวมถึงการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 

กระทั่งในสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 วัคซีนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ดูเหมือนว่าวัคซีนที่ชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ กลับถูกใช้เพื่อรักษา ‘อาการป่วย’ ของรัฐบาลเสียมากกว่า เพราะกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้อำนาจรัฐในการควบคุมสถานการณ์อยู่แล้ว 

iLaw ตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์อันยุ่งเหยิงในการระบาดช่วงต้นปี 2563 ว่า เหตุผลที่แท้จริงของรัฐในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจไม่ได้ต้องการอำนาจเพื่อออกคำสั่งต่างๆ กระจายออกไป แต่เพื่อ ‘รวบอำนาจ’ ให้กลับมารวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

“อันจะเห็นได้จากโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ และให้ปลัดกระทรวงและผู้นำเหล่าทัพขึ้นมาเป็นผู้ปฏิบัติงานหลักภายใต้การสั่งการโดยตรงจากนายกฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างการทำงานแบบยุค คสช. ในอดีต รวมถึงสามารถแบ่งงานให้คนที่ไว้วางใจไปทำงานแทนได้ เช่น การให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยฯและ อดีตรองหัวหน้า คสช. มาดูแลปัญหาการกักตุนสินค้า แทน จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล” บทวิเคราะห์ของ iLaw ระบุ

ย้อนไปตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2564 มีประชาชน นักศึกษา และนักการเมืองฝ่ายค้าน ถูกฟ้องดำเนินคดี จากการวิจารณ์และชี้ให้สังคมมองเห็นการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นกรณีตัวอย่างที่สังคมมองเห็นได้ชัดเจน เขาถูกรัฐฟ้องร้อง ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ม.14 ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการไลฟ์ถ่ายทอดสด หัวข้อ “วัคซีนพระราชทานใครได้ใครเสีย” 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ และเบนจา อะปัญ สองสมาชิกจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำกิจกรรม ‘กระชากหน้ากากไบโอไซเอนซ์’ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยกัน 4 ข้อหา ประกอบด้วย ม.112 ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา

และยังมีผู้คนที่สปอร์ตไลท์ส่องไม่ถึง แต่พวกเขาถูกรัฐดำเนินคดีจากการออกมาแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์การระบาดอย่างทั่วถึง

สำหรับอาจารย์เอกรินทร์ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชน นอกจากจะปิดกั้นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน รัฐยังปิดกั้นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นอีกด้วย 

“ผมคิดว่าเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  ประชาชนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับนโยบายของรัฐ กรณีการจัดการวัคซีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หากคุณเห็นต่างจากรัฐบาลไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัคซีน การจัดสรรงบประมาณ การมีนโยบายพัฒนาในระดับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มอาชีพให้บริการกลางคืนที่ออกมาเรียกร้องแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ปากท้องของพวกเขา พวกเขาก็อาจจะถูกฟ้องร้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

อาจารย์เอกรินทร์ ตั้งคำถามว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ รัฐมีมาตรการใดในการรับฟังเสียงเหล่านี้ และการันตีว่าการออกมาเรียกร้องของพวกเขาจะปลอดภัย 

“กลุ่มคนต่างๆ ที่ออกมาแสดงความเห็นภายใต้กฎหมายพิเศษ พวกเขามีอะไรการันตีความปลอดภัย และไม่มีมาตรการใดๆ ในการรับฟังและปรับเปลี่ยน ซ้ำร้ายพวกเขาถูกดำเนินคดีจากรัฐด้วย” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว

 

เมื่อการคุกคามประชาชนกลายเป็นโรคประจำถิ่น

ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จากการเก็บข้อมูลของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี  มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 274 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1,444 คน จากจำนวน 623 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี  ซึ่งมีเยาวชนถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวทั้งสิ้น 149 คดี  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นข้อหาที่ถูกดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมากที่สุด 

ใน รายงานผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย พบว่า ข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และในรายงานฉบับดังกล่าวยังได้ระบุถึงความเดือดร้อนของประชาชาชนทั่วไปที่ต้องประสบปัญหากับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว

“เวลาที่รัฐบาลมีเรื่องกับประชาชน มันไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างรัฐบาลกับประชาชน” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าวและย้ำว่า รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่างๆ ที่ได้ไปลงนามไว้ 

“ถ้าเรายืนอยู่บนหลักการที่มีพันธะสัญญากับภาคีต่างๆ ที่ไปลงนามร่วมกับสังคมนานาชาติไว้ ผมคิดว่าเราต้องยึดมั่นตรงนี้ รัฐต้องตระหนักว่าเรามีข้อตกลงอะไรไว้บ้าง เวลาที่รัฐปฏิบัติกับประชาชน รัฐได้ละเมิดข้อตกลงนั้นหรือไม่ สำคัญมากนะครับ มันจะทำให้ประเทศของเราได้รับความเคารพและความน่าเชื่อถือจากประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการควบคุมสถานการณ์การระบาดของต่างประเทศที่มีแนวโน้มการจัดการปัญหาได้ดี พบว่าการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในหลายประเทศใช้กฎหมายที่เราเรียกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินกันน้อยมาก เขาไม่เชื่อว่าการใช้กฎหมายแบบนี้จะแก้ปัญหาได้ เขาเชื่อเรื่องการแสดงความเห็นและรับฟังว่าสังคมกำลังคิดอะไร แล้วรัฐก็ประเมิน เช่นเรื่องโรคระบาด ฝ่ายบริหารก็ต้องรับฟังว่าสังคมคิดเห็นอย่างไร ไม่ว่าประเทศอังกฤษหรือนิวซีแลนด์ เราจะเห็นนายกรัฐมนตรีออกมาสื่อสารกับประชาชน ประชาชนก็บอกว่าพวกเขาไม่ใส่แมสแล้วนะ ยินยอมที่จะเผชิญโรคแล้วนะ รัฐก็ไม่ได้ใช้กฎหมายไปบังคับประชาชน ยุคสมัยเปลี่ยนไป การรับฟังเสียงประชานจึงสำคัญต่อการแก้ปัญหาโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว 

แต่สำหรับประเทศไทย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดและนโยบายของรัฐ เมื่อพวกเขาออกมาเรียกร้อง กลับถูกรัฐใช้กฎหมายเล่นงาน

“ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงในสถานการณ์ฉุกเฉินมากมาย พวกเขาล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่เปราะบางทั้งนั้นนะครับ ไม่ได้มีตาข่ายทางสังคมรองรับ เปราะบางทั้งในแง่ประเด็น เปราะบางในแง่ของวัย เปราะบางด้านประสบการณ์ เราเห็นตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชน ของกลุ่มบางกลอย ของกลุ่มจะนะ พวกเขาไม่ได้มีิอำนาจในสังคมการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงออกมาเรียกร้องให่้รัฐบาลปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูป แต่รัฐกลับพรากเอาเสรีภาพของพวกเขาไป” อาจารย์เอกรินทร์ กล่าว

 

 

Q_set1_Sitanan 1.jpg

ตามหาน้องชาย โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 คดี คดีแรกมาจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ที่แยกอโศก วันนั้นเป็นครั้งแรกที่สิตานันขึ้นไปพูดบนเวทีการชุมนุมทางการเมือง เธอกล่าวแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชน จากกรณีอดีตข้าราชการตำรวจทรมานผู้ต้องหาโดยใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะจนเสียชีวิต 

“เราพูดถึงกรณีที่ประชาชนถูกทำให้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกรณีโจ้ ถุงดำ เราต้องการผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ให้เกิดการบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนทุกคน” สิตานัน เล่าถึงมูลเหตุของคดีที่ 1 

เพราะทุกคนสามารถเป็น ‘วันเฉลิม’ ได้ ทุกคนมีความเสี่ยงหากเพิกเฉยต่อความไม่ถูกต้อง สิตานันคิดเช่นนั้น จึงส่งเสียงเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ….. แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือหมายเรียกที่ส่งไปถึงภูมิลำเนา

สามเดือนต่อมา สิตานันถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องในคดีเดียวกันอีกครั้ง จากการยื่นหนังสือที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 เพื่อรายงานถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเยาวชน การไม่ให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมถึงกลุ่มชุมชนต่างๆ ที่ออกมาปกป้องทรัพยากรบ้านเกิด

ตลกร้ายที่วันนั้นตรงกับวันสิทธิมนุษยสากลโลก แต่เธอกลับถูกรัฐใช้กฎหมายคุกคามสิทธิในการแสดงออกโดยสงบ 

สองปีผ่านไป ไม่มีความคืบหน้าในคดีการถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม สวนทางกับการเสาะหาหลักฐานด้วยตัวของเธอเอง แต่หลักฐานที่สืบหามาทั้งหมดถูกทางการไทยและกัมพูชาปฏิเสธถึงการดำรงอยู่และหายไปของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา 

ตลอดสองปีที่ผ่านมา ชีวิตประจำวันของสิตานันค่อยๆ ดันหลังให้เธอออกมายืนอยู่ในแถวเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากที่เคยนิยามตัวเองว่า ‘ชีวิตอยู่ในกะลา’ แต่หลังจากน้องชายถูกลักพาตัว เธอเรียกร้องและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เสียงนี้เริ่มจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง แต่เสียงค่อยๆ ก้องกังวาลขยายปริมณฑลไปไกล 

“การบังคับให้สูญหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะครอบครัวของเรา แต่เกิดกับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงคนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกคุกคามและรุกล้ำ พอเราได้ฟังเรื่องของคนที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เรามีความรู้สึกว่า ถ้ามีศักยภาพที่จะส่งเสียง ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อให้แสดงออกได้ เราก็จะช่วยทำให้เรื่องเหล่านี้กระจายออกไปในสังคมวงกว้าง ให้สังคมรับรู้มากขึ้น เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าเหยื่อที่ถูกกระทำคนอื่นๆ”

จากชุดความคิดดังกล่าว สิตานันถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามรวมกลุ่มตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีชื่อปรากฎในบัญชีชื่อบุคคลเฝ้าระวังพิเศษของหน่วยงานความมั่นคง

 

Q_set1_Janthorn.png

หาทางกลับบ้าน โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จันทร ต้นน้ำเพชร อายุ 18 ปี เป็นเยาวชนที่ถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการร่วมกิจกรรมของกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ในการชุมนุมครั้งนั้นผู้ชุมนุมทวงถามความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยหมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ชีวิตของจันทรคล้ายกับดวงดาวที่ได้รับผลกระทบจากการที่ใครคนหนึ่งเด็ดดอกไม้ 

เธอต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อกลับมาเป็นล่ามให้กับชุมชนในการประสานงานกับคนภายนอกที่เข้ามาช่วยต่อสู้เพื่อให้ปัญหาของชาวบางกลอยได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน หลังจากนโยบายกันคนออกจากป่าของรัฐที่ดำเนินมาตั้งแต่คนรุ่นปู่

ตอนจันทรอายุ 7 ขวบ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมมือกับทหารและเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น บุกเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางของชาวบ้านที่ใจแผ่นดิน และบางกลอยบน เพื่อบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดออกจากป่า โดยใช้ชื่อปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “ยุทธการตะนาวศรี”

7 ปีต่อมา ในปี 2561 หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินคดีว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สิน เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียปัจจัยในการดำรงชีวิต และให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น 300,987 บาท และไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่ที่เดิมเนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิถือครองที่ดิน 

แต่พวกเขาไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ถูกจัดสรรให้ใหม่ เนื่องจากพื้นที่เป็นหินและกรวด ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจพากันกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ดินของบรรพบุรุษที่เคยอยู่อาศัยและทำกินมาแล้วหลายร้อยปีอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 เพื่อทำไร่หมุนเวียนเลี้ยงชีพตนเอง

แม่ของจันทรเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่กลับขึ้นไปยังใจแผ่นดิน

“ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดระลอกที่ 2” จันทร เล่าถึงช่วงเวลาที่แม่ของเธอตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน “แม่โทรมาบอกว่าจะขึ้นไปบางกลอยบน ซึ่งอาจจะโดนจับ เราก็รับรู้ความเสี่ยงที่อาจจะโดนจับ แต่พอไม่กี่วันผ่านไป น้าโทรมาบอกว่ารีบกลับมารับน้องเลย เราก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น น้าบอกว่าแกไม่ได้ดูข่าวเลยเหรอ ว่าพ่อแม่แกโดนจับ”

เจ้าหน้าที่อุทยานได้ใช้มาตรการภายใต้ “ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม โดยมีการสนธิกำลังทหาร-ตำรวจ มากกว่า 100 นาย และใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ในการบุกขึ้นไปจับตัวชาวบ้านที่อยู่ในเขตใจแผ่นดิน และบางกลอยบนลงมาทั้งหมด 85 คน และมีชาวบ้านจำนวน 22 คน ถูกตำรวจแจ้งข้อหายึดครองที่ดินภายในอุทยานแห่งชาติ

การที่แม่ถูกดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นเเรงฉุดให้จันทรออกจากระบบการศึกษา มาร่วมต่อสู้กับพ่อแม่และชุมชนบางกลอย เธอเริ่มจากการเป็นล่าม คอยประสานงานกับภาคีเครือข่าย เธอเป็นเพียงไม่กี่คนในหมู่บ้านที่สื่อสารภาษาไทยได้ ปัญหาที่วิ่งผ่านคนกลางอย่างล่ามค่อยๆ ประทับลงไปในจิตใจ จันทรเริ่มเป็นกระบอกเสียงให้่ชุมชน กระทั่งขูดควักเอาประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของคนรุ่นปู่ย่าตายาย เรียงร้อยเป็นถ้อยคำของตนเอง ก่อนจะลงเอยด้วยการถูกดำเนินคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังจากถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จันทรต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อรายงานตัวตามหมายเรียกของศาล ซึ่งสร้างอุปสรรคให้ชีวิตของเธอ  

“การเข้ากรุงเทพฯต้องใช้เงินค่ะ แล้วเราก็ไม่ได้มีเงิน ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำงาน เขาคิดยังไงมาใส่คดีให้หนู หนูเป็นแค่เยาวชน เราไม่ได้ไปด่า ไปบูลลี่ใคร หนูแค่ออกมายืนยันถึงสิทธิของตัวเอง พื้นที่ที่เราอยู่มาก่อน เรามีสิทธิที่จะกลับคืนไป เรามาเรียกร้อง แล้วคุณมายัดคดีให้เด็กคนหนึ่ง มันยิ่งปลุกความอยากสู้ของเรา”

คงเหมือนเด็กอายุ 18 ส่วนมากที่มักจะวาดแต่งสีสันให้กับอนาคตข้างหน้า แต่ชีวิตของจันทรตอนนี้ อนาคตคือการย้อนกลับ ไม่ใช่ไปข้างหน้า

“ตอนแรกเรามีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นอะรไมากมายเต็มไปหมด แต่มันดับไปหมดแล้วค่ะ ตอนนี้ฝันอย่างเดียวของหนูคือการกลับไปบางกลอยบน อยากกลับไปใช้ชีวิตที่เป็นอิสระของเรา ใช้ชีวิตโดยไม่ถูกเหยียบย่ำจากรัฐ หรือบีบบังคับให้อยู่ในกรอบ เราอยากอยู่อย่างอิสระของเรา ชีวิตคนต้องการมีอิสระ" จันทร เล่า

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มในเมืองปัตตานี สิ่งที่เกิดขึ้นกับสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับจันทร ต้นน้ำเพชร คือสิ่งผิดปกติที่ถูกทำให้ชาชิน สังคมไทยอยู่ภายใต้การระบาดมายาวนาน การระบาดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรคโควิด-19 แต่เป็นการคุกคามประชาชนที่ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นมานานแล้ว

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • สัมภาษณ์ เอกรินทร์ ต่วนศิริ, อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิโรจน์ วิทยาเขตปัตตานี, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565

  • สัมภาษณ์ จันทร ต้นน้ำเพชร, เยาวชนแห่งหมู่บ้าบางกลอย, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565

  • สัมภาษณ์ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พี่สาวของวันเฉลิม ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 

  • เอกรินทร์ ต่วนศิริ, สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น ต้องทำอย่างไร, https://thaipublica.org/2022/01/future-thailand-ekkarin-tuansiri/?fbclid=IwAR0UloVVf9KzLwtItgNoaQudBbUmFPx5PJje9VAHc20ZOL1CS3XwLqPHTds

  • iLaw, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: หนึ่งเดือนหลังใช้ "ยาแรง" เราเห็นอะไรบ้าง, https://ilaw.or.th/node/5657

  • จินตนา ประลองผล, จันทรเด็กสาวบางกลอยยืนหยัดขอกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน, https://imnvoices.com/?p=2912

  • ณัฐพล เมฆโสภณ, รวมกรณีวิจารณ์การจัดการวัคซีนโควิด-19 แล้วโดนดคี ม.112, https://prachatai.com/journal/2021/05/93042