"แพม” นักศึกษาฝึกงานไฟแรงที่มีความมุ่งมั่นเรื่องสิทธิสตรี 

1 สิงหาคม 2565

Amnesty International

ผลงานโดย วิชัย ตาดไธสงค์

นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ประเทศไทย

มารู้จักกับ กฤติมา คลังมนตรี หรือแพม นักศึกษาจากเอกภาษาจีน คณะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากเด็กเรียนภาษา แต่มีความฝันอยากทำงานข่าว หญิงสาวผู้สนใจเรื่องสิทธิสตรี หนึ่งในนักกิจกรรมที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมค้นหาตัวตนของเธอได้ในบทสัมภาษณ์นี้

 

รู้จักแอมเนสตี้ได้อย่างไร?

“คือ ถ้าติดตามข่าวการเมืองก็จะรู้จักกับแอมเนสตี้อยู่แล้ว เพราะแอมเนสตี้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องคนหาย เรื่องความรุนแรงต่างๆ รู้จักเพราะได้ดูข่าวนี่แหละ”

 

ทำไมสนใจที่จะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้?

“ตอนแรกเลยอยากฝึกงานเกี่ยวกับการทำข่าว ทำสื่อ บวกกับรุ่นที่เคยมาฝึกงานที่แอมเนสตี้เลยแนะนำให้มาฝึกงานที่นี่ เพราะฝ่ายสื่อสารองค์กรก็ทำงานคล้ายสื่อเหมือนกัน แล้วได้ลองยื่นสมัครมา ตอนนั้นรู้สึกว่าจะติดไหมเพราะรับคนน้อยมาก แต่สุดท้ายแล้วพอได้สัมภาษณ์ก็ติดเลย”

 

คาดหวังว่าจะได้อะไรก่อนที่จะมาฝึกงานที่แอมเนสตี้?

“ตอนแรกที่คาดหวังไว้เลยก็คือ เราอยากลงพื้นที่ไปม็อบ อยากเห็นสถานะการณ์จริงๆ และอยากไปงานเสวนาต่างๆ ที่องค์กรจัด แต่พอเอาเข้าจริงคือทำงานอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหนเลยด้วยสถานะการณ์ต่างๆ แล้วทางมหาวิทยาลัยก็มีมาตรการให้ฝึกงานแบบ Work From Home ด้วยเลยไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้”

 

เหตุผลที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชน?

“มันเริ่มตอนเลือกตั้งเพราะเราเป็น first voter เอาจริงๆ แล้วเราก็ได้ยินเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่เด็กแล้ว คือเรารู้ว่ามันมีอยู่แต่ก็ไม่ได้เข้าความหมายจริงๆ ของมันเลยตั้งแต่เด็กจนถึงมหาวิทยาลัย เราไม่เคยรู้เลยว่าความหมายมันเป็นอย่างไร มีบทบาทสำคัญอย่างไร รับรู้คำว่าสิทธิมนุษยชนนี่ที่ไม่ในหนังสือแต่ไม่รู้ความหมายเลย แต่มารู้จักคำนี้จริงๆ คือตอนได้เลือกตั้ง เพราะได้ฟังปราศรัยมันจะมีคีย์เวิร์ดเรื่องสิทธิมนุษยชนเราก็เลยเกิดความตระหนักเรื่องนี้ขึ้นมากขึ้นแล้วตามมาเรื่องนี้มาเรื่อยๆ ก็จนมารู้จักแอมเนสตี้เพราะเริ่มสนใจการเมืองแบบจริงๆ จังๆ”

 

สิทธิมนุษยชนเรื่องใดบ้างที่สนใจอยู่ในขณะนี้?

“เราเป็นเฟมินิสต์ แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องสนใจเรื่องสิทธิสตรี พอดีกับตอนที่มาฝึกมาทันช่วงที่ ‘คุยกับผู้หญิงทำแท้ง ‘ จัดงานร่วมกับแอมเนสตี้ เป็นช่วงที่พูดคุยเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 301 และแก้ไขมาตรา 305 มาตราเอาผิดบุคคลทำแท้ง ก่อนหน้าที่ก็สนใจเรื่องนี้อยู่ ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัยก็ทำม็อบเรื่องทำแท้งด้วย ช่วงที่มาฝึกกับแอมเนสตี้ช่วงนั้นก็ได้มีการขยับร่างกฎหมายทำแท้งนี้ด้วย ตอนเด็กเคยดูเรื่องทำแท้ง 2,000 ศพ หรืออะไรสักอย่างไม่แน่ใจ สื่อจะมักสร้างมายาคติให้ไปโฟกัสที่สิทธิในตัวอ่อนในครรภ์ แล้วมายาคติเหล่านี้มันทำให้เกิดการตีตราบุคคลเหล่านี้ ลดทนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาด้วยชุดศีลธรรมบางอย่างและจบเลยไม่ได้มานั่งคิดว่า ทำแท้งทำไม ทำไมต้องทำ เลยทำให้สนใจเรื่องนี้ และมาทันช่วง Pride Month ด้วยรอบที่ 2 อยู่ในบรรยากาศนี้มันก็รู้สึกมีความสุขมากๆ เพราะมีความสนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศด้วย และอีกอย่างหนึ่งคือสิทธิทางการเมือง เรื่องการเมือง การเลือกตั้ง ชอบการเลือกตั้งเพราะว่าชอบบรรยากาศในการเลือกตั้ง แต่ไม่ชอบระบบความล่าช้าในการนับคะแนนอะไรแบบนี้นะ แต่ชอบบรรยากาศของมันเพราะว่าเราเลือกได้ เรามีอำนาจในมือ เราจะเลือกคนนี้มาทำงานให้เรา เวลาเห็นประเทศอื่นๆ เขาได้เลือกตั้งมันสนุก ได้ลุ้น ได้ฟังการดีเบต มันเป็นบรรยากาศที่ดี”

 

งานที่ทำมีอะไรบ้างและความความท้าทายที่ต้องเจอ ?

“งานหลักๆ ที่ทำเลยก็คือดูแลเว็บไซต์ ดูว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเกิดมีปัญหาอะไรก็จะไปแจ้งพี่อีกคนที่ดูแลเว็บไซต์ เขียนบทความ งานถอดเทปทั่วไป ส่วนความท้าทายคือ จบไม่ตรงสายเพราะเรียนไม่ตรงสาย เราเรียนภาษามาแล้วมาทำสื่อ ทำเขียน มันก็ใหม่และท้าทายมากๆ แต่สิ่งที่ทำก็ไม่ใช่งานที่ยากมากเช่น สรุปงานสัมมนา งานเขียนบทความ ด้วยความที่เรียนไม่ตรงสายมันเลยเป็นความท้าทาย”

 

สิ่งที่ได้รับหลังจากการฝึกงานที่แอมเนสตี้ ?

“ได้ความกระตือรือร้น เพราะว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพมาก เขาทำงานกันเป็นระบบ แต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียดมาก มีการยืดยุ่นในการทำงาน เลยเป็นว่ามีความกระตือรือร้นในการทำงาน อยากทำงานมาขึ้นและอีกอย่างที่ได้เลยคือความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ยังไงก็ต้องได้แน่นอนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์” 

 

เชิญชวนให้คนที่สนใจมาลองฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย

“สมัครเลย ถ้าสนใจก็ยื่นมาเลย ไม่ต้องลังเล เพราะแอมเนสตี้เปิดรับความหลากหลายไม่ว่าคุณจะจบอะไรมา คณะอะไร ถ้าคุณสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนและพร้อมจะขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องการที่จะส่งต่อและสื่อสารออกไปให้ไกลก็ยื่นมาเลย”

 

อยากให้แอมเนสตี้ทำอะไรในอนาคต ?

“ในความเห็นตอนนี้คือยังไม่มีอะไรเพิ่ม เพราะว่าตอนนี้ถ้าให้คะแนนเต็มหนึ่งร้อยตอนนี้ให้ไปเลยหนึ่งร้อยห้า แอมเนสตี้ทำบทบาทหน้าที่ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว”