ครบรอบ 2 ปี ของการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขึ้นเพื่อควบคุมโรคโควิด19ปัจจุบันเป็นการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 18)1 นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนดตามมานับถึงเดือนมีนาคม 2565 ได้ถึง 43 ฉบับ แต่ละฉบับวางมาตรการใหม่ สำหรับการควบคุมโรคและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการเดิม เช่น การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตามช่วงเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่ การห้ามทำกิจกรรม และรวมไปถึงการสั่ง “ห้ามชุมนุม” เป็นต้น
เป็นที่สังเกตได้ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่จะควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิด 19 เพราะจากการเก็บข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพบว่า เราพบว่าประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนและถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 274 ราย ในจำนวนคดีเหล่านี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,444 คน ในจำนวน 623 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี ซึ่งมีเยาวชนถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวทั้งสิ้น 149 คดี ซึ่งการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นข้อหาที่ถูกดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมากที่สุด
จากข้อมูลที่ยกมาข้างต้นอันเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย จะเห็นว่าข้อหาที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และในรายงานฉบับดังกล่าวยังได้ระบุถึงความเดือดร้อนของประชาชาชนทั่วไปที่ต้องประสบปัญหากับการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวโดยเจน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบปัญหาจากพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เจน สิตานัน ได้เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากและความไม่เป็นธรรมจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ แม้ว่าเธอจะบอกกับเราว่าชีวิตของเธอปกติดี แต่ไม่ได้มีความสุขอะไรมากเพราะน้องชายของเธอคือ ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2563นอกจากที่เธอต้องเป็นห่วงเรื่องคดีของน้องชาย เธอยังต้องประสบกับการเจอคดีด้วยตัวเองอีกด้วย ดังนั้นแอมเนสตี้ฯ จึงได้ชักชวน เจนสิตานัน พูดคุยถึงชีวิตของเธอที่ได้รับผลกระทบกับร่างพระราชกำหนดฯ ดังกล่าววาระครบรอบ 2 ปีของการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และครบรอบ 2 ปีที่ต้าร์ วันเฉลิม น้องชายของเธอได้หายตัวไปอีกด้วย
ความคืบหน้าของเรื่องวันเฉลิมและสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการเรียกร้องความยุติธรรม
มันก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย เพราะว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราถือว่าเราทำอะไรมามากมายแล้วก็มีหลักฐาน มีข้อมูลต่างๆ ที่มอบให้หน่วยงานของรัฐ แต่เราคิดว่าหน่วยงานของรัฐเพิกเฉย และไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับคดีมันก็เลยยังไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรสำหรับตัวเราได้อะไรมาเยอะแยะเลยค่ะ ทั้งเรื่องความยุ่งยากลำบาก แล้วก็ได้คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มา 2 คดี จากการชุมนุมตอนเดือนกันยายนที่แยกอโศก วันนั้นพี่ไปพูดเรื่องพ.ร.บ.ป้องกันและการบังคับทรมานอุ้มหาย เพื่อให้คนเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยถึงต้องมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาการซ้อมทรมานและการทำให้สูญหาย มันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้นเราเลยไปผลักดันเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย อีกคดีหนึ่งก็คือวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน พี่ไปยื่นหนังสือที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN)เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิมและครอบครัวของเรา วันนั้นมีคนไปยื่นหนังสือในคดีของเขาเองที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิด้วยคนก็ไม่ได้เยอะ ซึ่งเราไม่ได้ชุมนุมหรือไม่ได้ทำอะไรเลย พวกตำรวจกับสายสืบยังเยอะกว่าพวกเราอีก พอยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็กลับ แต่ปรากฏว่าพี่โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการไปยื่นหนังสือหน้า UN และยังมีคนโดนในคดีเดียวกันอีก 5-6 คน
ความรู้สึกหลังจากโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จะพูดได้มั้ยว่ามันไร้สาระมาก ยิ่งทางการกระทำกับเราแบบนั้น เราก็ยิ่งต้องสู้กับทางการ มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เขาสามารถทำอะไรกับเราก็ได้ ถามจริงนะคะ ตอนนี้ประเทศไทยมีอะไรที่เป็นธรรมสำหรับประชาชนบ้าง พี่ว่าพี่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลชุดนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้องหายไป หรือการที่ไปยื่นหนังสื่อที่หน่วยงานต่าง ๆ เราไม่ได้คำตอบใด ๆ จากหน่วยงานรัฐเลย แล้วรัฐบาลก็ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมพวกเรา เขาไม่อยากให้มีการชุมนุม แต่นั่นทำให้ประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น ข้าวยากหมากแพงทุกอย่าง แล้วประชาชนจะอยู่ยังไงประเทศพังหมดแล้วกับการที่ไม่ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่แหละเป็นสิ่งที่พี่มองว่ารัฐบาลเห็นแก่ตัวคิดถึงแต่ตัวเอง
ผลกระทบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมีอะไรบ้าง
จริงๆแล้วมันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่กับตัวพี่เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีมานานแล้วจึงสร้างความยุ่งยากวุ่นวายให้คนที่โดนคดี เสียเวลา เสียค่าเดินทาง เด็กบางคนก็ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ไปถึงก็ถูกเลื่อน ไปบ่อยๆขึ้นมันก็เพิ่มภาระให้ทุกคน แต่ก็ไม่แปลกใจหรอกที่รัฐทำกับพวกเราแบบนี้ เพราะเขาไม่อยากให้เราออกมาเคลื่อนไหวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่ะมีไว้เพื่อคุมการชุมนุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล พี่มองว่าสิ่งที่รัฐทำกับเรา ไม่ได้ทำให้เราหยุดเคลื่อนไหวนะ ยังไงก็มีคนออกมาเรื่อยๆ สิ่งที่เขาทำมันไม่มีประโยชน์เลย มันกลับเป็นโทษมากกว่า จริงๆแล้ว การที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันทำให้เศรษฐกิจพังพินาศไปหมดไม่ว่าจะเป็นแม่ค้า พ่อค้า พนักงานประจำ หรือพนักงานให้บริการอื่น ๆ
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?
มันควรยกเลิกตั้งแต่ปีก่อนแล้วค่ะ แต่ที่รัฐบาลยังดึงดันคงกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาไว้ ก็เพื่อคงความชอบธรรมให้กับตัวเอง ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่ต่อ ซึ่งมันไม่จริง ต่อให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอยู่ คนที่โดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังออกมาเคลื่อนไหวเหมือนเดิม และอาจจะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณยังไม่ยกเลิกกฎหมายนี้ อย่างพี่เนี่ยก็ไม่ได้กลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงจะมีแต่ถ้าคนไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาก็ออกมาชุมนุมอยู่ดี มันไม่มีผลอะไร นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจพังลงไปเท่านั้น
อยากฝากอะไรถึงคนที่แจ้งข้อหานี้กับตัวเองไหม
ขอฝากถึง สน.นางเลิ้งนะคะ คุณแจ้งความจับประชาชนทุกคนด้วยข้อหาไร้สาระแบบนี้ หน้า UN ก็ไปแจ้ง การชุมนุมของบางกลอยก็แจ้ง แล้วมาบอกว่าให้ยอมเสียค่าปรับ พี่ไม่ยอมรับ พี่เข้าใจว่าเด็กบางคนไม่มีเวลาที่จะไปสำนักงานอัยการ ไปขึ้นศาล เขาก็ยอมจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่ใช่ว่าพี่เสียดายเงินค่าปรับ 2,000 บาท แต่มันคือกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชน มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นที่คุณจะมาเอาเงินประชาชนด้วยการแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินพี่ไม่เสียเงินค่ะ พี่จะสู้คดีให้ถึงที่สุด คุณจะทำอะไรก็ช่าง ให้เราไปไหน จะตัดสินจำคุกหรืออะไร พี่ยอมหมดทุกอย่าง ฝากด้วยนะคะ สน.นางเลิ้ง คุณทำกับประชาชนแบบนี้ เดี๋ยวเราเจอกันค่ะ ส่วนรัฐบาลพี่อยากบอกคนที่กำลังทำงานกับรัฐบาลชุดนี้อยู่ว่า คุณไม่ควรเอาความรู้ความสามารถของคุณมาใช้กลั่นแกล้งประชาชนในข้อหาที่ไร้สาระขนาดนี้
ลงชื่อในปฏิบัติการด่วน‘เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
จริงๆ แล้ว พี่เข้าใจว่าประชาชนทั่วไปเขาไม่รู้ว่าการที่รัฐออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วมันกระทบอะไรบ้าง พี่อยากบอกให้คุณเข้าใจว่า ที่ผ่านมาที่เขาไม่ให้เราออกมาทำมาหากิน ต้องทำงานอยู่บ้าน มันเป็นเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ค่ะ จริงๆการมีหรือไม่มีก็ค่าเท่ากัน ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากจะเชิญชวนทุกคนที่มองเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้มันไม่มีประโยชน์ ก็ออกมาร่วมกันล่ารายชื่อให้ยกเลิกมันไป มาแสดงตัวว่ามีใครที่ได้รับผลกระทบจากมันบ้าง พี่หวังว่าจะได้หลายแสนชื่อนะ แต่อย่างที่เรารู้กันว่ามีการรณรงค์ล่ารายชื่อกันกี่ครั้งแล้วมันก็ยังเหมือนเดิม ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ได้ยังไง ทั้งที่คนออกมาไล่มากขนาดนี้ เขาก็ยังมองไม่เห็นหัวประชาชนเลย…
จากบทสนทนาดังกล่าวของเจน สิตานันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเธอรวมไปถึงคนอื่น ๆ จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นได้ทำให้เห็นว่าการออกพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้อย่างเหมาะสมเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่นัยหนึ่งเป็นการใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพหรือเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องต่างๆ ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงได้ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องการยุติข้อกล่าวหาต่อ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลอื่นๆ ต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ เพราะหากประเมินจากระยะเวลา 2 ปีเต็มที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ยังคงถูกใช้อยู่โดยที่ผลลัพธ์ของการใช้งานนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไขเรื่องโรคระบาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย ดังนั้นการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จึงสมควรเกิดขึ้น