“คุณอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบ แต่คุณอาจจะเปลี่ยนชีวิต ใครบางคนที่โลกอาจเคยมองข้ามหรือละเลยเขา เพื่อทำให้ชีวิตเหล่านั้นดีขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง”
“ถ้าให้เปรียบแอมเนสตี้เป็นอาหาร ผมคงเรียกว่ามันเป็น ‘เมนูหลักของชีวิต’ ไม่ใช่ของว่าง ไม่ใช่ของหวาน แต่คือสิ่งที่ผมเลือกมีไว้ทุกวัน…”
เสียงของชายวัยเกษียณดังขึ้นในร้านหนังสือเล็กๆ ที่แวดล้อมด้วยกลิ่นกาแฟจางๆ ที่ร้าน Anyway Book Café จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนากับเราอย่างเป็นกันเอง ชำนาญ จันทร์เรือง ไม่ได้พูดถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกด้วยท่าทีของอดีตประธานธรรมการ แต่เขาพูดในฐานะ “มนุษย์คนหนึ่ง” ที่ยังเชื่อว่าการช่วยเพื่อนมนุษย์แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แต่ยังคงเป็นความหวังที่จับต้องได้

“ผมเป็นมนุษย์ที่ทนเห็นการกดขี่ข่มเหงไม่ได้ ทางไหนที่ช่วยได้ ผมก็จะช่วย บางทีก็แค่หักบัตรเครดิตบริจาครายเดือน มันไม่เยอะหรอกครับ แต่เรารู้ว่าเราได้ช่วยจริงๆ”
เขาพูดถึงการบริจาคที่ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘ผู้มีมากให้ผู้มีน้อย’ แต่พูดถึงการเป็น ‘คนธรรมดา’ ที่อยากรักษาความเป็นธรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงไว้ให้โลกใบนี้ โดยเฉพาะในวันที่อำนาจบางอย่างยังพยายามกลบเสียงของคนเล็กๆ “สวรรค์เห็นในชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า” ชำนาญพูดขึ้นมาระหว่างคุยกัน… และหากต้องเลือกอาหารหรือเครื่องดื่มใดมาขนานคู่กับแอมเนสตี้ เขาเลือกไวน์เมนูที่เขาชอบ แต่ไม่ใช่เพราะความหรูหราแต่เป็นเพราะทำให้คนมองโลกได้ด้วยความหวังในมุมมองส่วนตัวของเขา
“ถ้าคิดอะไรไม่ออก กินอะไรไม่ได้ ผมจะเลือกไวน์ เพราะไวน์ทำให้คนเรามีอารมณ์สุนทรีย์ ทำให้มองโลกในแง่ดีขึ้น การมีอยู่ของแอมเนสตี้ก็เหมือนไวน์…ถ้าเราช่วยกัน มันจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้เหมือนกัน”
บทสนทนานี้ไม่ได้มีเพียงความคิดเชิงอุดมการณ์ แต่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าเล็กๆ จากการเป็นสมาชิก ผู้บริจาค และมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่ยืนยันว่าการเคียงข้างสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเห็นกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ จากนี้คือเรื่องเล่าและเรื่องราวของหนึ่งในผู้บริจาคของแอมเนสตี้ ประเทศไทย
ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยชั้นหนังสือ โต๊ะไม้ ในจังหวัดเชียงใหม่ Anyway Book Café คือสถานที่นัดหมายของเราในการพูดคุยกับผู้บริจาคหรือ Donor ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร้านแห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่คาเฟ่เงียบสงบที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังเป็นพาร์ตเนอร์ของ Amnesty Shop Thailand สะท้อนถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว ความหวัง และสิทธิมนุษยชนที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน วันนั้นชายวัยเกษียณคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน พร้อมรอยยิ้มที่อ่อนโยน เขาคือหนึ่งในผู้บริจาครายเดือนที่ยังคงมุ่งมั่นเคียงข้างการปกป้องสิทธิมนุษยชน
“แอมเนสตี้คือเมนูหลักของชีวิตผม แอมเนสตี้ไม่ใช่ของว่าง แอมเนสตี้ไม่ใช่ของหวาน แต่แอมเนสตี้คือสิ่งที่ผมเลือกมีไว้ในทุกวัน”
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระด้านการเมืองและกฎหมาย และเคยเป็นทั้งอดีตประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและเป็นหนึ่งใน “ศิลปินเพื่อแอมเนสตี้” (Artist for Amnesty) ซึ่งเป็นโครงการของแอมเนสตี้ที่จัดขึ้นทั่วโลก โดยเป็นการรวมตัวของศิลปิน นักคิด นักเขียนจากหลากหลายสาขา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการทำงานรณรงค์เพื่อส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
จากปลัดอำเภอ สู่ ‘มนุษย์ที่ทนไม่ได้กับความอยุติธรรม’
ก่อนจะเป็นที่รู้จักในวงการสิทธิมนุษยชน ชำนาญเคยเป็นปลัดอำเภอและทำงานในศาลปกครอง สถานที่ทำงานที่ทำให้เขาเห็นคดีความของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการที่ทำให้เขาเขียนคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจและประชาไท โดยเฉพาะหนังสือ “สิทธิมนุษยชนที่คนรุ่นใหม่ควรรู้”
“เรื่องสิทธิผมสนใจมานาน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นแอมเนสตี้เท่านั้น”
เมื่อได้รู้จักและสมัครเป็นสมาชิก ชำนาญเริ่มร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ในจังหวัดเชียงใหม่ และไม่นานเขากลายเป็นกรรมการ ต่อด้วยตำแหน่งประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2557 เขาย้ำว่าไม่ใช่ตำแหน่งที่ทำให้เขาภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ได้เกิดมา หากแต่คือบทบาทของมนุษย์คนหนึ่งที่เลือกอยู่เคียงข้างและต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกดขี่ เพื่อคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อชาวบ้านที่ถูกกฎหมายเอารัฐเอาเปรียบต่างหากที่ทำให้เขาภาคภูมิใจในการมีชีวิตอยู่ และพูดขึ้นมาระหว่างพูดคุยกันว่า “โลกใบนี้ติดหนี้บุญคุณแอมเนสตี้”

ทำไมโลกนี้เป็นหนี้บุญคุณแอมเนสตี้ ? เราถามกลับ…เขานิ่งไปเล็กน้อยก่อนจะตั้งคำถามกลับคืนมาว่า “คุณลองนึกภาพดูว่า…ถ้าไม่มีแอมเนสตี้ ใครจะไปพูดเรื่องโทษประหารชีวิต ใครจะเขียนจดหมายหานักโทษที่ไม่มีใครเหลียวแล ใครจะยืนอยู่ตรงนั้นเวลาที่รัฐบาลออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชน” จากนั้นชำนาญเล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ให้ฟังว่า ตอนนั้นยังไม่มีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่พบว่ามีการส่งจดหมายจากต่างประเทศ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดหลายคนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เป็นการเคลื่อนไหวจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นพบว่าเสียงจากนานาชาติสามารถช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ได้ ฉะนั้นคำว่าโลกใบนี้ติดหนี้แอมเนสตี้ในความหมายของชำนาญ จึงหมายถึงมนุษย์บนโลกนี้ที่ติดหนี้แอมเนสตี้ เพราะองค์กรแห่งนี้ที่มีอยู่ทั่วโลก ได้ทำหน้าที่ยืนหยัดเคียงข้างทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
“บางครั้งรัฐไม่เกรงใจใคร แต่เมื่อมีจดหมายนับพันจากทั่วโลก เขาก็เริ่มลังเลที่จะละเมิด”
“มันไม่ใช่แค่แคมเปญ มันคือชีวิตคนจริงๆ ที่รอดเพราะจดหมายนั้น”
ความยุติธรรมในรูปแบบที่ไม่ต้องออกหน้า
หลังหมดวาระในตำแหน่งหน้าที่กับแอมเนสตี้ ชำนาญเลือกสนับสนุนองค์กรในฐานะผู้บริจาครายเดือน เพราะได้สัมผัสความจริงและเห็นกับตาว่าการระดมทุนด้านสิทธิมนุษยชนในไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก ถ้าเทียบกับการที่คนจะไปบริจาคหรือทำบุญในรูปแบบอื่นๆ
“เราอยู่ในสังคมที่บางคนยังมอง NGOs หรือ องค์กรภาคประชาสังคมว่าเป็นภัยของรัฐบาล บางคนตั้งข้อรังเกียจว่าใครไม่เหมือนเราคือศัตรู แม้แต่การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ หรือผู้ลี้ภัย ก็ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องชวนขัดใจ”

การที่ชำนาญกล้าออกตัวเรื่องนี้เพราะในระหว่างที่เขาเป็นกรรมการของแอมเนสตี้ เขาเห็นด้วยตาตัวเองว่า การขับเคลื่อนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ต้องฝ่าฟันกับอะไรบ้าง และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจเป็นผู้บริจาคระยะยาว
“การระดมทุนในไทยเมื่อก่อนมันยากลำบากมาก NGOs อย่างแอมเนสตี้ไม่ได้ขอเงินรัฐ ไม่รับจากทุนใหญ่ ต้องพึ่งประชาชนที่เข้าใจสิทธิมนุษยชนจริงๆ ซึ่งมีไม่มากในสังคมไทย”
บริจาคเดือนละ 500 บาท เพราะยังอยากเป็นส่วนหนึ่ง แม้จะไม่ออกหน้าแล้วก็ตาม
หลังจากออกจากตำแหน่งทางราชการและหันไปทำงานการเมืองมากขึ้น ชำนาญยอมรับว่าเขาเริ่มรู้สึกว่าไม่ควรใกล้ชิดกับแอมเนสตี้แบบออกหน้าออกตาอีกต่อไป เพราะอาจทำให้ถูกมองว่าองค์กรสนับสนุนพรรคการเมืองหรือมีพรรคการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่แม้บทบาทจะเปลี่ยนไปตามเส้นทางชีวิตที่เลือก แต่ชำนาญไม่เคยหยุดช่วยหรือเป็นผู้สนับสนุน เขาเข้าใจดีว่าบางคนอาจอยากช่วยแต่ไม่พร้อมเปิดเผยตัวตน หรือมีข้อจำกัดทางสถานะ นั่นยิ่งทำให้บทบาทของผู้บริจาคที่อยู่เบื้องหลัง สำคัญไม่แพ้กันในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและระดับโลกไปกับแอมเนสตี้
“เราอาจไม่ได้ร่วมกิจกรรมมากเหมือนก่อน อยู่เชียงใหม่บ้าง มีข้อจำกัดเรื่องการเมืองบ้าง แต่เงินบริจาคสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมให้เดินต่อไปได้”
แล้วทำไมต้องบริจาคให้กับแอมเนสตี้?
แม้ปัจจุบันชำนาญไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะข้อจำกัดเรื่องที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดและบริบททางการเมืองส่วนตัว แต่ทุกวันนี้เขายังคงอยู่เบื้องหลังแอมเนสตี้อย่างมั่นคง ผ่านการบริจาคเป็นประจำเดือนละ 500 บาท โดยตัดจากบัตรเครดิต สำหรับเขาใช้คำว่า “ง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะมาก” แต่ที่มากกว่านั้นคือการเลือกจะอยู่ในขบวนการที่ต่อต้านผู้มีอำนาจที่มีความกลัวต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
“500 บาทต่อเดือนให้กับแอมเนสตี้ ไม่ได้เยอะสำหรับผม แต่คิดว่ามันต่อเนื่อง มั่นคง และช่วยให้แอมเนสตี้ไม่ต้องวิ่งเต้นหาเงินทุนทำงานจนไม่มีเวลาทำงานเนื้อหาจริงๆ”
เขายังย้ำว่าในต่างประเทศ เช่น ยุโรปหรืออเมริกา การบริจาคให้ NGOs อย่างแอมเนสตี้เป็นเรื่องปกติ มีผู้บริจาครายเดือนถึง 60–70% ของประชากรวัยทำงาน เขาใช้คำว่า “มันคือวัฒนธรรมการเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่ ‘คนอื่น’ ที่เราจะเมินเฉยได้”
การช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง
สิ่งที่แอมเนสตี้ทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องนักโทษการเมืองหรือผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงการยืนหยัดเคียงข้างนักโทษทางความคิด นักสิทธิมนุษยชน ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ที่ถูกดำเนินคดี ถูกจับกุมคุมขัง เพียงเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ชำนาญยกตัวอย่างกรณีของอานนท์ นำภา ทนายความนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่แอมเนสตี้รณรงค์ว่าเขาเป็น “นักโทษทางความคิด” และเรียกร้องให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวและปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เขาบอกว่าทนายอานนท์เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการต่อสู้เรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่กลับถูกละเมิดสิทธิคืน เพียงเพราะเขาต่อสู้และมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐและกระบวนการยุติธรรม
“คุณเชื่อในศาสนาแบบหนึ่ง เชื่อในอุดมการณ์แบบหนึ่ง ไม่ควรทำให้คุณติดคุก”
“ทุกคนมีสิทธิคิดได้ ต่างได้ ไม่ใช่แค่สิทธิในการพูด แต่คือสิทธิในการเป็นมนุษย์”
แอมเนสตี้เป็น NGOs ที่แท้จริง และถ้าโลกนี้ไม่มีแอมเนสตี้….
ในฐานะที่เคยอยู่ในแอมเนสตี้มาหลายบทบาท ชำนาญอธิบายว่าแอมเนสตี้คือตัวอย่างของ NGOs ที่แท้จริง เพราะไม่รับเงินจากรัฐ ไม่รับทุนจากผู้มีอิทธิพล ไม่รับทุนจากเอกชน และยึดถืออิสระในการทำงานเป็นหัวใจ เพราะการสนับสนุนมาจากคนธรรมดาที่มีมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก เมื่อถามว่าแล้วถ้าโลกนี้ไม่มีแอมเนสตี้ เขาบอกว่า โลกจะเงียบ จะไม่มีใครพูดเวลาคนถูกอุ้มหาย จะไม่มีใครเซ็นชื่อเวลามีร่างกฎหมายลิดรอนสิทธิ จะไม่มีใครยื่นมือให้เพื่อนมนุษย์ที่ถูกจองจำเพราะแค่คิดต่างไป ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเลวร้ายไปกว่านี้มาก เขาย้ำว่า NGOs เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของประชาธิปไตย หากประเทศใดไม่มี NGOs ประเทศนั้นจะไร้กลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล และปกป้องผู้ที่ไม่มีีสิทธิ ไม่มีเสียง
“NGOs จริงๆ กับ NGOs แฝง มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ แต่แอมเนสตี้คือองค์กรที่ไม่เดินไปหาอำนาจใด และพร้อมตรวจสอบอำนาจทุกรูปแบบ อย่างน้อยที่สุดแอมเนสตี้คือสายตาที่คอยมองว่าอะไรผิด อะไรไม่เป็นธรรม และออกมาพูดในวันที่ไม่มีใครกล้าพูด”
NGOs ไม่ใช่ศัตรูของรัฐ แต่คือสมการของประชาธิปไตย
อีกบทสนทนาที่น่าสนใจคือเรื่องความเข้าใจผิดของคนไทยเกี่ยวกับ NGOs เขาเห็นว่าในสังคมไทยและประเทศแถบอาเซียนโดยรวม ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า NGOs คือ “พวกสร้างความวุ่นวาย” หรือ “รับเงินต่างชาติ” แต่ในมุมชำนาญ NGOs แท้จริงคือเสาหลักของประชาธิปไตย
“ประเทศที่ไม่มี NGOs คือประเทศเผด็จการ ไม่ต้องเถียงเลย อย่างประเทศจีน ฮ่องกง รัสเซีย เขาไล่ NGOs ออกหมดแล้ว”
“NGOs คือสิ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายๆ เพราะมีสายตาจับจ้อง NGOs คือเครื่องวัดความโปร่งใสของประเทศ”
ระหว่างการพูดคุยชำนาญบอกว่าการมีอยู่ของ NGOs บนโลกใบนี้ เป็นเรื่องของอารยธรรม ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือการเป็นฝ่ายต่อต้านที่เที่ยวประท้วงอย่างเดียวเสมอไป แต่การมีอยู่ของ NGOs เป็นการถ่วงดุลทางสังคม และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้คน “เราอาจไม่ใช่เขา…แต่วันหนึ่งเขาอาจเป็นเรา”

บทสนทนาไม่ได้หยุดเพียงแค่เรื่องของการบริจาค แต่กลายเป็นการชวนตั้งคำถามใหญ่ของชีวิตว่า เราควรยืนอยู่ตรงไหน เมื่อความอยุติธรรมเดินมาหาเพื่อนมนุษย์อีกคน ชำนาญยกคำกล่าวของ Martin Niemöller ในยุคนาซีที่ว่า “ตอนแรกเขามาเอาคนอื่น ฉันไม่พูดอะไร เพราะฉันไม่ใช่เขา สุดท้ายเขามาเอาตัวฉัน และไม่มีใครเหลืออยู่ที่จะพูดแทนฉัน” สำหรับเขาคำกล่าวนี้คือบทเรียนจากอดีตที่ไม่เคยเก่า แม้เวลาจะผ่านมาสักกี่สิบปี
“ถ้าคุณไม่ช่วยใครเลย วันหนึ่งก็จะไม่มีใครเหลือมาช่วยคุณ”
“เราไม่ต้องออกหน้าเสมอไป…แต่ขออย่าหันหลัง”
สุดท้าย ชำนาญ จันทร์เรือง ไม่ได้เชิญชวนให้ทุกคนออกไปถือป้ายกลางถนน หรือขึ้นเวทีปราศรัย เขาเข้าใจดีว่าแต่ละคนมีข้อจำกัดของตัวเอง แต่เขาเชื่อว่าการบริจาค การเป็นสมาชิก การแชร์ข่าวสาร การเขียนจดหมาย หรือเพียงการตั้งคำถามอย่างจริงใจ ล้วนเป็นการต่อสู้เช่นเดียวกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน
“คุณอาจจะไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบ แต่อาจช่วยเปลี่ยนชะตาชีวิตของใครบางคนได้ เพราะในโลกที่ขมขื่น การไม่ทำอะไรเลยคือการยอมให้ความอยุติธรรมงอกงาม
ชีวิตที่ภาคภูมิใจที่สุด คือการได้เป็นสมาชิกและผู้บริจาคแอมเนสตี้
บทสนทนาในร้าน Anyway Café ช่วงท้าย ชำนาญพูดถึงความภาคภูมิใจหนึ่งในชีวิต นั่นคือการได้เป็นส่วนหนึ่งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เขาบอกว่าเพราะบางครั้ง…ความหวังอาจเริ่มต้นจากแค่การไม่หันหลังให้กัน ไม่ว่าบางคนเลือกออกหน้า บางคนเลือกเขียนจดหมาย บางคนเลือกบริจาค แต่ทุกคนคือคนที่ “ไม่หันหลังให้กัน”
หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ยืนยันว่าความเป็นธรรมไม่ใช่เรื่องของคนกล้าพูดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ยังเลือกมองเห็น ร่วมบริจาคกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยสมัครเป็นผู้บริจาครายเดือนวันนี้ เพื่อให้เสียงของใครบางคน…ไม่ถูกกลืนหายไปกับความเงียบ
“ถ้าถามว่าผมภูมิใจอะไรที่สุดในชีวิต ผมไม่ใส่การศึกษาหรืออาชีพในโปรไฟล์ แต่ผมใส่ว่าการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นั่นคือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดจริงๆ จากหัวใจ”
หากเรื่องราวของผู้บริจาคจุดประกายบางอย่างในใจ และทำให้คุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง โลกใบนี้ยังต้องการพลังเล็กๆ อีกมากมาย เพื่อผลักดันให้สิทธิมนุษยชน โดยสามารถร่วมส่งต่อความหวังผู้คนกับเราได้ ผ่านการบริจาคสนับสนุนภารกิจของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผ่านช่องทางบริจาค ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี: สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เลขที่บัญชี: 047-2-42617-5 หรือติดตามข้อมูลเรื่องการบริจาคได้ที่ลิงก์สำหรับบริจาคออนไลน์ได้ที่นี่: ่ https://bit.ly/4dUfvUK หรือหากคุณต้องการก้าวไปพร้อมกับเราในระยะยาว สามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในคนธรรมดากว่า 10 ล้านคนทั่วโลกได้ที่นี่: https://bit.ly/4kEJSkL เพื่อมาช่วยกันทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคน