วันสตรีสากล จากขนมปังและดอกกุหลาบ การต่อสู้ระดับโลก…สู่เสียงแห่งสิทธิของผู้หญิงไทย

“หากความเงียบคือพันธนาการ
การเปล่งเสียงคืออิสรภาพ”

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี วันสตรีสากล (International Women’s Day) วันนี้เปรียบเหมือนบทกวีของผู้หญิงทั่วโลก เพราะเป็นวันที่ถ้อยคำไม่ได้เป็นเพียงเสียงกระซิบ แต่คือกลองรบที่ดังก้องกังวาน เป็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดพาภูเขาแห่งอคติให้สั่นสะเทือน คือรอยเท้าที่สตรีทุกคนร่วมกันจารึกไว้บนผืนแผ่นดินว่า “เราอยู่ที่นี่ เราอยู่บนโลกใบนี้ เรามีตัวตน และเราจะไม่มีวันถูกลืม”

วันสตรีสากลจุดเริ่มต้น…เปลวเพลิงในโรงงาน… จุดประกายแห่งเสรีภาพ

หากมองย้อนกลับไปในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 กลางนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงจักรเย็บผ้าที่ดังเป็นจังหวะเดียวกับเสียงหัวใจของแรงงานหญิงนับร้อยคน ผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้มีชีวิตเป็นเจ้าหญิงในนิยาย หากแต่เป็นเพียงแรงงานหญิงผู้ที่ต้องใช้สองมือเย็บปักชีวิตของตัวเอง เพราะพวกเธอคือเสาหลักของครอบครัว คือมือที่อ่อนโยนที่มีบทบาทหนึ่งต้องเลี้ยงดูลูกหลาน คือหัวใจแข็งแกร่งที่พอจะต้านลมพายุแห่งความอยุติธรรมในสังคมที่ยังไม่โอบรับความรู้ ความสามารถของผู้หญิงเท่าไหร่นักในตอนนั้น

ในตอนนั้น…พวกเธอไม่ต้องการสิ่งใดนอกจากสิทธิที่ควรเป็นของมนุษย์ทุกคน ค่าจ้างที่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่ไม่ขูดรีดชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรถูกซื้อขาย ทำให้พวกเธอตัดสินใจเดินออกจากเงาของโรงงานทอผ้า ลุกขึ้นเปล่งเสียงแห่งการเรียกร้อง แต่สิ่งที่ตอบกลับมาคือโซ่ตรวนแห่งอำนาจ… และเปลวเพลิงแห่งความรุนแรง

จุดเริ่มต้นของการมีวันสตรีสากลมาจากการที่….โรงงานถูกเผาไหม้ แรงงานผู้หญิง 119 คนถูกจองจำอยู่ภายในเปลวเพลิง ที่มิได้เผาเพียงเรือนร่างของพวกเธอเท่านั้น แต่เปลวเพลิงได้เผาผลาญความเงียบที่ถูกกดทับพวกเธอมาตลอดศตวรรษไปด้วย ซึ่งเปลวเพลิงนั้น… คือประกายแรกของไฟแห่งเสรีภาพที่ไม่มีวันดับของสิทธิสตรีบนโลกใบนี้ ที่หลายภาคส่วนพยายามขยับและผลักดันให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงไม่ต่างจากผู้ชาย

คลาร่า เซทคิน นักสิทธิหญิง…ผู้จารึกเสียงของสตรีลงในหน้าประวัติศาสตร์สากล

ที่ผ่านมาโลกเคยเป็นเวทีที่ผู้ชายเป็นผู้แสดงหลักอยู่แถวหน้าในทุกแวดวงสังคม และผู้หญิงอาจเป็นเพียงเงาสะท้อนที่คอยสนับสนุนอยู่หลังม่าน แต่…คลาร่า เซทคิน นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน คือหนึ่งในผู้หญิงที่ไม่ยอมเป็นเงาให้ผู้ชายเพียงอย่างเดียวทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตประจำวัน เธอลุกขึ้นจับปากกาและเขียนเรื่องราวของผู้หญิงลงในประวัติศาสตร์ หากเปรียบเทียบ…เธอเป็นเหมือนพายุที่พัดพาความเปลี่ยนแปลง เธอคือสายฟ้าที่ฉายแสงในคืนอันมืดมน ท่ามกลางกระแสโลกที่ยังมองว่าผู้หญิงเป็นเพียงแรงงานราคาถูก แต่…คลาร่ากลับเห็นพลังของผู้หญิงทุกคน และกล่าวอย่างหนักแน่นว่า

“เราทุกคนควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน
ไม่ใช่เพราะเราเป็นหญิงหรือชาย
แต่เพราะเราเป็นมนุษย์”

คลาร่า เซทคิน

เสียงแห่งเสรีภาพและไฟที่ไม่มีวันมอดดับ หญิงผู้ปลุกเปลวเพลิงแห่งสิทธิ

ปี 1907 ใจกลางความมืดมนของยุคอุตสาหกรรม ร่วมกับอุดมการณ์ที่เต็มเปี่ยมของ คลาร่า เซทคิน จึงทำให้เธอลุกขึ้นตะโกนปลุกระดมขึ้นมา เพราะเธอไม่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นเพียงแรงงานที่ไร้ตัวตนในโรงงานที่ไร้หัวใจในการโอบรับดูแลผู้หญิงอย่างเท่าเทียม ด้วยความที่เธอไม่ต้องการให้ลูกหลานรุ่นหลังเติบโตมาในโลกที่มืดมนแบบเดียวกับที่แม่ของพวกเธอเคยเผชิญ

  • เธอเรียกร้องให้ แรงงานหญิงได้ทำงานเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • เธอเรียกร้องให้ สวัสดิการแรงงานได้รับการปรับปรุง
  • เธอเรียกร้องให้ สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
แต่ในตอนนั้นต้องยอมรับว่า โลกยังไม่พร้อมจะฟังเสียงของผู้หญิงเท่าไหร่นัก ผู้หญิงถูกล้อมปราบ ถูกจับกุม ถูกตราหน้าว่าทำในสิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรทำ ทว่าความพยายามนั้นไม่เคยสูญเปล่า เพราะในวันที่คลาร่า เปล่งเสียง คนอื่นๆ ก็เริ่มฟัง และเสียงนั้นได้ถูกส่งต่อไปยังผู้หญิงคนอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่อาจยอมจำนนต่อชะตากรรมที่ถูกกำหนดให้

“ขนมปังและดอกกุหลาบ” เสียงของหญิงสาวที่ดังขึ้นทั่วนิวยอร์ก

ปี 1908 เพียงหนึ่งปีหลังจากที่คลาร่าเริ่มการเคลื่อนไหว มีผู้หญิงกว่า 15,000 คน รวมตัวกันกลางเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นเสียงฝีเท้าของพวกเธอดังก้องบนถนน มีทั้งความโกรธขึ้ง ความเศร้าโศก และความหวังรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในวันนั้น 

“ขนมปังและดอกกุหลาบ” คือเสียงตะโกนของพวกเธอ
ประโยคนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงที่เธอส่งเสียงถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มองเห็นผู้หญิงเท่าเทียมและเท่ากัน 

“ขนมปัง” เปรียบเหมือนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงควรจะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการทำงานที่ไม่พรากลมหายใจของพวกเธอไปก่อนวัยอันควร ส่วน “ดอกกุหลาบ” คือศักดิ์ศรีแห่งชีวิตที่มากกว่าการเป็นเพียงเครื่องมือหรือของประดับในระบบสิทธิสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียม ในตอนนั้นโลกเริ่มสั่นสะเทือนขึ้นมาให้เห็นชัดในประเด็นสิทธิของผู้หญิง เพราะพวกเธอจำนวนมากกล้าลุกขึ้นมาเดินขบวนแบบขบถต่ออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งสวนทางกับความเชื่อในเมื่อก่อน เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงแม่ของลูกหรือภรรยาของสามี แต่ผู้หญิงสามารถออกมาเรียกร้องสิทธิที่สมควรได้เช่นเดียวกับทุกคน

แปดชั่วโมงทำงาน แปดชั่วโมงเรียนรู้ แปดชั่วโมงพักผ่อน กำเนิดระบบที่เปลี่ยนโลก

สองปีผ่านไป ในปี 1910 ณ โคเปนเฮเกน ตัวแทนผู้หญิงจาก 17 ประเทศร่วมประชุมกัน พวกเธอไม่ได้มาเพื่อเพียงรำลึกถึงอดีต แต่เพื่อกำหนดอนาคต พวกเธอประกาศว่า แรงงานหญิงจะต้องได้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง อีก 8 ชั่วโมงต้องเป็นเวลาที่พวกเธอได้ศึกษาเล่าเรียน เพื่อพัฒนาตัวเอง และอีก 8 ชั่วโมงต้องเป็นเวลาพักผ่อน เพราะพวกเธอคือมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร และที่ประชุมนั้น “8 มีนาคม” ถูกกำหนดให้เป็น “วันสตรีสากล” วันของผู้หญิง วันที่พวกเธอไม่ต้องร้องขอสิทธิ แต่เป็นวันที่โลกต้องรับฟังสังคมปลอดการทรมานและการบังคับสูญหาย มีหวังแค่ไหน?

เสียงของสตรี ดังก้องจากอดีตสู่อนาคต

กว่าศตวรรษหรือ 100 ปีที่ผ่านไป โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้หญิงไม่ต้องซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของโรงงานอีกต่อไป พวกเธอสามารถออกมาเป็นผู้นำ เป็นนักคิด เป็นนักเคลื่อนไหว มีสิทธิเลือกตั้ง และได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้น แต่ทว่าโลกก็ยังมีทั้งความเท่าเทียมและไม่เท่าเทียมอยู่

  • ผู้หญิงยังคงถูกจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในหลายประเทศ
  • ผู้หญิงยังถูกปิดกั้นจากเวทีการเมืองหรือมองว่าไม่เหมาะสม
  • ผู้หญิงยังคงถูกตีตราว่ามีศักยภาพไม่มากพอที่จะเป็นผู้นำ

วันสตรีสากลจึงไม่ใช่เพียงวันที่ต้องเฉลิมฉลอง แต่เป็นวันที่ต้องตระหนักว่า “การต่อสู้ของผู้หญิงยังไม่จบ” แต่ยังคงค่อยๆ เดินหน้าในทุกช่วงเวลาหน้าประวัติศาสตร์โลก

เสียงที่ไม่มีวันเงียบของจุดกำเนิดวันสตรีสากล

เสียงของคลาร่า เซทคิน ไม่ใช่เสียงที่แผ่วเบาหรือสูญสลายไปกับกาลเวลา แต่เป็นเสียงที่สืบทอดจากหญิงสาวแรงงานในนิวยอร์ก เป็นเสียงของผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิในทุกมุมโลก เป็นเสียงของผู้หญิงในปัจจุบันที่ยังต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และเป็นเสียงของคุณทุกคนที่ยังมีโอกาสจะเปล่งออกไป

“เพราะเสียงของผู้หญิง…ไม่ใช่เพียงเสียงสะท้อนจากอดีต แต่คือเสียงที่ไม่มีวันเงียบในทุกยุคสมัย และทุกวันของโลกใบนี้”

จากสิทธิสตรีสากล สู่สิทธิของผู้หญิงไทย เสียงที่ไม่มีวันเงียบ

“ขนมปังและดอกกุหลาบ” เสียงตะโกนของแรงงานหญิงกลางมหานครนิวยอร์กแม้จะผ่านมากว่า 100 ปี แต่ยังคงดังก้องผ่านกาลเวลา ตอนนั้นพวกเธอเดินท่ามกลางถนนอันเปียกชื้น เรียกร้องสิทธิในชีวิตที่ควรจะมี ทั้งค่าจ้างที่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่ไม่ขูดรีด และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ขนมปังเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดในแต่ละวัน แต่ยังต้องการดอกกุหลาบมาเป็นสัญลักษณ์ของศักดิ์ศรี ความงดงาม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง

เปลวไฟแห่งการต่อสู้ที่ถูกจุดขึ้นจากวันนั้น ได้เผาผลาญพันธนาการที่เป็นชนักติดผู้หญิงไว้ในเงาของสังคม จากโรงงานทอผ้าแห่งนิวยอร์ก….สู่เสียงจากหุบเขาในอมก๋อย จากลานชุมนุมเดินขบวน…สู่การมีชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้ จากการเรียกร้องสิทธิผู้หญิงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน…สู่สิทธิชาติพันธุ์และที่ดินทำกิน เสียงของผู้หญิงได้เดินทางข้ามกาลเวลา และข้ามข้อจำกัดของเพศสภาพมาจนถึงทุกวันนี้ 

“เพราะเสียงของผู้หญิง…ไม่เคยเป็นเพียงเสียงกระซิบ แต่เป็นเสียงที่เปลี่ยนโลก”

  • สิทธิสตรีในวันนั้น…
    คือสิทธิในการทำงานที่เป็นธรรม
    คือสิทธิในการมีเสียงในการเมือง
    คือสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกกดขี่
  • สิทธิสตรีในวันนี้…
    คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องหวาดกลัวความรุนแรง
    คือสิทธิในการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
    คือสิทธิในการมีตัวตนในสังคมวัฒนธรรม

ในประเทศไทยเสียงของผู้หญิงที่เปล่งออกมายังคงเป็นเสียงที่เรียกร้องความเป็นธรรมในรูปแบบที่ต่างออกไป หากแรงงานหญิงในนิวยอร์กต่อสู้เพื่อสิทธิในโรงงาน แรงงานหญิงไทยต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน เพื่อสิทธิในวิถีชีวิต เพื่อสิทธิในศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ ราวกับว่าที่ผ่านมาผู้หญิงก็ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา หากแต่ผู้หญิงคือผู้ให้กำเนิดชีวิตความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในประเทศไทยก็มีเช่นกัน

อัญชนา หีมมิหน๊ะ: ผู้หญิงที่ลุกขึ้นสู้ เพื่อทุกชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้

กลางกระแสโลกที่เชี่ยวกราก ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงร่ำไห้ของผู้คนในดินแดนชายแดนใต้ มีเสียงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยเงียบงัน เสียงที่เปล่งขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของผู้คน เสียงที่กล้าท้าทายอำนาจและโครงสร้างที่มองข้ามความเป็นมนุษย์ อัญชนา หีมมิหน๊ะ คือผู้หญิงคนนั้น เธอไม่ใช่นักรบที่ถืออาวุธ ไม่ใช่นักการเมืองที่มีอำนาจ หากแต่เป็นผู้หญิงธรรมดาที่เลือกจะใช้หัวใจในการต่อสู้ เพราะเธอรู้ดีว่า “ความยุติธรรม ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากไม่มีใครกล้าทวงคืน”

แต่การยืนหยัดในโลกที่เต็มไปด้วยอคติ ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เมื่อผู้หญิงต้องยืนอยู่บนเส้นทางแห่งการต่อสู้ “อีก*หรี่” คำด่าทอที่เต็มไปด้วยอคติ ถูกโยนเข้าใส่เธอบ่อยครั้งจากผู้ที่ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของเธอ นี่คือราคาที่อัญชนาต้องจ่าย จากการเลือกเป็นผู้หญิงที่ไม่ก้มหัวให้กับความอยุติธรรม

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่เธอเดินบนเส้นทางนี้ เส้นทางที่เต็มไปด้วยหนามแหลมของอำนาจรัฐและสายตาที่มองเธอเป็นศัตรู ไม่ใช่เพราะเธอเป็นอาชญากร แต่เพราะเธอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เปล่งเสียง เธอฝันอยากเป็น “เจ้าหน้าที่ป่าไม้หญิง” แม้จะเป็นฝันที่ดูเรียบง่าย แต่ในเวลานั้นเป็นฝันที่ไม่ค่อยมีผู้หญิงคนไหนเลือกเดิน

อัญชนาในตอนนั้น จึงก้าวเข้าเรียนในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า “ผู้หญิงก็สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เธอต้องการ” แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เธอพบว่าความฝันของเธอไม่ได้จบลงที่การดูแลป่าไม้เพียงเท่านั้น เธอเริ่มมองเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมที่กดทับผู้หญิง ทั้งกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้เห็นต่าง ชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้คนที่ไร้เสียง และวันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจว่าในชีวิตจากนี้ จะไม่เพียงแค่รักษาผืนป่า แต่จะรักษาความยุติธรรมให้กับผู้คนด้วย

การเป็นผู้หญิงทำให้คุณทำงานได้ยากขึ้นไหม? เราถามเธอ…

เธอหยุดคิดไปครู่หนึ่ง… ก่อนตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “ไม่เคยมองว่าการทำงานนี้ต้องเป็นชายหรือหญิง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรทำได้ หากเรายึดหลักสิทธิมนุษยชน” แต่โลกไม่ได้มองแบบเดียวกับเธอ สังคมยังคงตั้งคำถามว่า….

ผู้หญิงสามารถปกป้องสิทธิของคนอื่นได้จริงหรือ?

ผู้หญิงจะปกป้องผู้ชายได้ไหม?

ผู้หญิงพูดเรื่องความยุติธรรมเป็นคนสร้างปัญหาหรือเปล่า?

อัญชนารู้ดีว่าผู้หญิงที่กล้าออกมาพูดเรื่องสิทธิ ย่อมถูกจับตามองมากกว่าผู้ชายเสมอ แต่เธอไม่สนใจ เพราะเธอรู้ว่าความยุติธรรมไม่ควรมีเพศ จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของเธอในช่วงที่ชายแดนใต้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ช่วงเวลาที่ประชาชนหลายพันคนถูกทำให้ไร้ตัวตน ถูกละเมิดสิทธิ ถูกบังคับให้สูญหายไป เธอพบว่าผู้หญิงในพื้นที่นี้ ไม่ใช่เพียงเป็นแค่แม่ ภรรยา หรือลูกสาว แต่พวกเธอคือลมหายใจของครอบครัว คือเสาหลักของชุมชน และเป็นผู้ที่ต้องออกมายืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้หญิงคือแนวหน้าในการเรียกร้องสันติภาพและความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ พวกเธอไม่ได้เพียงแค่ร้องไห้ให้กับสามีที่ถูกจับกุมคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเธอไม่ได้เพียงแค่ไว้ทุกข์ให้กับลูกชายที่ถูกพรากชีวิตไป แต่พวกเธอเดินออกมา ประกาศให้โลกรู้ว่า “เราจะไม่ยอมเงียบ” และอัญชนาคือหนึ่งในนั้นผ่านความเชื่อที่ว่า “ความเงียบไม่เคยเป็นคำตอบของปัญหา” เพราะเมื่อใดที่โลกเงียบเสียงลง เมื่อนั้นความอยุติธรรมก็จะยิ่งเติบโต และเธอจะไม่มีวันยอมให้มันเกิดขึ้น โดยที่เธอไม่ทำอะไรเลย

“อัญชนาไม่ใช่ผู้หญิงที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่เธอคือผู้หญิงที่เลือกจะลุกขึ้นสู้”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร:  เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

“ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย เราดูการทำงานผ่านศักยภาพมากกว่า ดังนั้นอยากจะให้กำลังใจผู้หญิงนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนทุกๆ คน”

เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงโปว์และต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินและทรัพยากร จากหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พรชิตา ฟ้าประทานไพร  เธอเป็นนักปกป้องสิทธิที่เป็นเยาวชน ผู้ต่อสู้เพื่อร่วมขบวนการกับกลุ่มเพื่อนเครือข่ายภาคีเพื่อเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจหรือรัฐบาล ให้ปกป้องและคุ้มครองญาติพี่น้องของเธอให้เหมือนมนุษย์คนหนึ่งในสังคม

  “ในชุมชนมีปัญหาเรื่องประเด็นเหมืองแร่ถ่านหิน ในปี 2562 มีป้ายมาติดขอสัมปทานจำนวนพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา จนมีเครือข่ายหนึ่งที่อยู่ในอมก๋อย เขาไม่เห็นด้วยกับโครงการ ก็เลยมาให้ความรู้เรื่องสิทธิในที่ดิน”

“นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจนายทุนและรัฐ ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้มีทั้งคนในหมู่บ้านแล้วก็เยาวชนในพื้นที่ที่ได้ร่วมกันต่อต้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน”  

เธอเล่าต่อว่าการเรียกร้องของเธอเริ่มเข้มข้นมากขึ้นภายหลัง ที่มีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าไปในพื้นที่และได้มีการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิรวมถึงให้ความรู้ด้านกฎหมาย ทำให้พวกเธอลุกขึ้นต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย

การต่อสู้ของเธอไม่ได้ถโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการออกมาปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานนั้น กลับทำให้เธอถูกคุกคาม ข่มขู่ จากผู้มีอำนาจ พรชิตาเล่าว่าในช่วงแรกที่เธอต่อสู้เรื่องนี้ มีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของเธอออกมาข่มขู่ ในฐานะผู้หญิงที่ขับเคลื่อนประเด็นและต่อสู้ในสังคมที่ยังคงมีบรรยากาศของความชายเป็นใหญ่ ทำให้เธอถูกมองจากสายตาของผู้มีอำนาจว่าเป็นเพียง “เด็กผู้หญิงที่เปราะบาง” พรชิตาเชื่อเสมอว่าผู้หญิงมีพลังในตัวเอง นั่นคือพลังของความนุ่มนวลแต่ซ่อนเร้นไปด้วยความแข็งแกร่ง 

อีกมิติของการเป็นผู้หญิงที่ต้องขับเคลื่อนประเด็นสิทธิไปด้วยก็มีความเสี่ยง เพราะสายตาผู้มีอำนาจเขามองว่าเธอเป็นแค่เด็กผู้หญิงที่เปราะบาง จะจัดการเมื่อไหร่ก็ได้ เธอย้ำฝากทิ้งท้ายว่า 

“เราเป็นผู้หญิงที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้กับใคร ขอแค่เพียงแสดงพลังของผู้หญิง มาสู้กับพวกนายทุนบ้าอำนาจ หรือผู้ใหญ่ที่กระหายอำนาจ คุณก็จะเป็นผู้หญิงแห่งนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่จะมีพวกเราเกาะบ่าเดินสนับสนุนไปตลอดเส้นทางจนกว่าจะเจอชัยชนะไปพร้อมๆ กัน”

อมรรัตน์ ทองพัฒน์: เสียงของผู้หญิงที่ไม่มีวันถูกกลืนหาย

“อย่ามองผู้หญิงว่าเป็นเพียงผู้หญิง จงมองผู้หญิงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป”

เสียงอันหนักแน่นแต่กลมกล่อมไปด้วยรอยแผลจากการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง เสียงที่ไม่ได้เปล่งขึ้นเพื่อเรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่เป็นเสียงที่สะท้อนความเจ็บปวดของผู้หญิงอีกนับไม่ถ้วนในดินแดนที่อำนาจ เสียงที่ไม่ยอมให้ “ที่ดิน” เป็นเพียงตัวเลขบนกระดาษของรัฐ แต่คือ “ชีวิต” ของผู้คนที่ปลูกฝังรากลึกลงไปในดิน

ชวนรู้จักผู้หญิงอีกคนในวันสตรีสากล อมรรัตน์ ทองพัฒน์ กรรมการบริหารฝ่ายสตรี ขององค์กรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงและที่ดินและนักสู้ในฐานะพลเมือง หญิงชาวบ้านธรรมดา ที่ไม่ยอมเป็นเพียง “ผู้ถูกปกครอง” แต่เลือกที่จะเป็น “นักต่อสู้ในฐานะพลเมือง” เธอมีต้นกำเนิดของนักสู้มาตั้งแต่ต้น เมื่อชีวิตไม่ได้เริ่มต้นจากจุดที่เท่าเทียมตั้งแต่แรก เสียงของตลาดยามเช้า เสียงของแม่ค้า เสียงของเหรียญกระทบกันในมือของผู้ซื้อ เสียงของเด็กน้อยที่วิ่งเล่นอยู่ข้างแผงขายของ นี่คือโลกใบแรกที่อมรรัตน์เติบโตขึ้น เธอคือลูกแม่ค้าในตลาด ลูกคนกลางในครอบครัวที่มีพี่น้องห้าคน เติบโตมากับห้องแคบๆ ที่พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อให้ลูกๆ ได้กินอิ่ม นอนหลับ แบบหาเช้ากินค่ำ

ตอนเด็กๆ อมรรัตน์ยอมรับว่าเคยอับอายที่ไม่มีเสื้อผ้าใหม่ไปโรงเรียน เคยรู้สึกถึงสายตาที่มองเธออย่างแตกต่างเพียงเพราะเธอมาจากครอบครัวที่ไม่มีฐานะ แต่วันเวลาผ่านไป…เธอเลือกที่จะแยกตัวออกมาเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของตัวเอง และหวังเพียงให้ลูกๆ มีชีวิตที่มั่นคงกว่าที่เธอเคยมี

“เราไม่ได้เป็นคนจนที่ขี้เกียจ แต่โครงสร้างของรัฐผลักดันให้เราต้องเป็นคนจน”

คำพูดนี้ของอมรรัตน์เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงที่เจ็บปวด เพราะในสังคมที่สร้างเส้นแบ่งระหว่าง “คนที่มี” และ “คนที่ไม่มี” เส้นแบ่งนั้นไม่เคยเป็นเพียงเส้นสมมติ แต่คือกำแพงสูงที่กดทับชีวิตของคนที่เกิดมาผิดฝั่ง

อมรรัตน์เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการตั้งคำถาม ทำไมคนบางกลุ่มมีบ้าน มีที่ดิน มีทุกอย่างที่ต้องการ ขณะที่คนอีกกลุ่มกลับต้องดิ้นรนเพื่อให้มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน และเมื่อเธอเติบโตขึ้น มีครอบครัว มีลูก ทำให้เริ่มเผชิญหน้ากับความจริงที่โหดร้ายยิ่งขึ้น “อย่ามองผู้หญิงว่าเป็นผู้หญิงแค่ที่เพศกำเนิด แต่จงมองผู้หญิงในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป” เสียงของเธอหนักแน่น สะท้อนแรงศรัทธาที่สั่งสมจากประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ของอมรไม่ได้เริ่มจากอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เริ่มจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์คือความมั่นคงในชีวิต

อมรเกิดและเติบโตมาในครอบครัวไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยอยู่บนที่ดินของรัฐ ถูกตีตราว่าเป็น “ผู้บุกรุก” และต้องเช่าน้ำ เช่าไฟจากเพื่อนบ้าน เสียค่าใช้จ่ายมหาศาลเพียงเพื่อสิทธิที่คนทั่วไปควรได้รับ ต่อมาในปี 2548 เสียงกระซิบจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ พาเธอเข้าสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน ความคิดที่เคยสงสัยว่า “เรามีสิทธิด้วยเหรอ” กลับกลายเป็นคำถามที่นำเธอไปสู่เส้นทางที่ไม่มีวันหวนคืน ในการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว สำรวจที่ดิน ตรวจสอบการใช้งานของนายทุน และเผชิญกับอำนาจรัฐโดยตรง

“พอเราเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ว่ามันผิดเงื่อนไขหรือไม่ กลับกลายเป็นว่ามีการสลายการชุมนุม”

“อำนาจพวกนี้เคยทำให้ผู้หญิงของ สกต. สูญเสียชีวิตถึง 2 คน”

สำหรับผู้หญิงในขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งการเป็นนักต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยืนอยู่ในแนวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดิน อมรเล่าว่าการต่อสู้ของเธอแตกต่างจากผู้หญิงที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เพราะเธอต้องเผชิญทั้งอิทธิพลมืด เจ้าหน้าที่รัฐ และกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อประชาชน การต่อสู้ของเธอไม่เพียงแต่เพื่อปากท้องของตัวเอง แต่เพื่อสิทธิของทุกคนในขบวนการ

เธอไม่เพียงแต่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน แต่ยังพูดถึงสิทธิของผู้หญิงในทุกมิติ ทั้งด้านแรงงาน กฎหมาย และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย ในสังคมที่ผู้หญิงยังคงถูกกีดกันออกจากพื้นที่สำคัญ เธอเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงในการสร้างสังคม

“เรากำลังพูดถึงผู้หญิงทั่วไปและทั่วโลก เรายังเข้าไม่ถึงกระบวนการที่เรามีส่วนร่วมให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลก สร้างสังคม สร้างครอบครัว”

วันสตรีสากลอมรฝากข้อความถึงผู้หญิงทุกคนว่า “จงเชื่อมั่นในสิทธิของผู้หญิง และร่วมกันปกป้องสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ฝากถึงผู้มีอำนาจให้คืนสิทธิพลเมือง เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ อิสรภาพ และประชาธิปไตย ให้พลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน”

สรวรรณ นิรันรัตน์: ผู้หญิงที่ไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม

“เราต้องยอมรับว่าในความเป็นผู้หญิง การที่จะได้ยอมรับก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะว่าถ้าเราไม่แกร่งพอ หรือว่าเราไม่ยืนหยัดจริงๆ”

“ส่วนใหญ่ความเป็นเพศสภาพของผู้หญิงมักจะถูกมองว่าเดี๋ยวก็หยุด เดี๋ยวก็จบ เดี๋ยวก็ถอย อันนี้คือส่วนใหญ่ของนักปกป้องสิทธิที่มีเพศสภาพเป็นผู้หญิง”

นักปกป้องสิทธิที่ทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่อยู่ในบ้านเกิดของตัวเองทางภาคใต้ สรวรรณ นิรันรัตน์ เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางของนักปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมานิว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย “เพราะว่ามีโอกาสไปร่วมอบรมของแอมเนสตี้ แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า อ้าว ในฐานะที่เราเป็นคนในพื้นที่ท้องถิ่น เราก็มีสิทธิในการที่จะปกป้องชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง รวมทั้งพี่น้องของเราซึ่งอยู่ในท้องถิ่นของเราก็คือพี่น้องชาติพันธุ์มานิ หรือวันนี้เราใช้คำว่าชนเผ่ามานิ”  

สิทธิในการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมอย่างอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเอง ยังได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP 

ทว่ากลุ่มชาติพันธุ์มานิยังคงพบเจอปัญหาในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ สิทธิในที่ดินหรือสิทธิที่อยู่อาศัย จากที่ทำกินที่กำลังถูกรุกราน หรือแม้แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะถูกรัฐกลืนหายไปเรื่อยๆ  ด้วยความที่เป็นคนที่ไม่ชอบเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น จึงเป็นผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้เพื่อพี่น้องชาติพันธุ์และเรื่องปกป้องชุมชนและที่ดินทำกินในเรื่องที่อยู่อาศัย  

 “พี่น้องมานิเขาอยู่ไม่ไกลจากเรามาก ถ้ากลุ่มที่ใกล้ที่สุดก็อยู่หลังบ้านเอง ห่างไปแค่ 200 เมตร เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนเราก็เข้าใจว่าเขามีบัตรประชาชนเรียบร้อยแล้ว แต่วันนึงที่เรากลับบ้านของเรา เราก็รู้ว่าพี่น้องมานิของเรายังไม่มีบัตรประชาชนเลย”

“เขาบอกว่าช่วยทำบัตรให้เขาหน่อยได้ไหม.. ทำยังไงก็ได้ให้เขามีบัตรประชาชนได้ไหม เพราะว่าช่วงนี้เขาก็ลำบาก ทั้งเรื่องของการรักษาพยาบาล และเรื่องของสิทธิต่างๆ เพราะการไม่มีบัตรประชาชนนั้นทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จากรัฐได้”  

สิ่งที่เธอเล่าคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เร่งผลักดันเรื่องของสิทธิการเข้าถึงบัตรประชาชน จนชาวมานิมีบัตรประชาชน และหลังจากมุ่งหน้าผลักดันจนสำเร็จ ความสัมพันธ์ที่มีก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่บ้านของเธออีกกลายเป็นความสัมพันธุ์แบบครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น 

สรวรรณเป็นนักปกป้องสิทธิหญิงที่มีจุดยืนว่าไม่ชอบเห็นความอยุติธรรม ดังนั้นตลอดเส้นทางการต่อสู้เธอคนนี้ไม่เคยมองว่าเพศสภาพตัวเองเป็นข้อจำกัดในการยืนหยัดเรื่องสิทธิมนุษยชน

“สำหรับคนทำงานส่วนตัวไม่เคยคิดว่าผู้หญิงหรือผู้ชายใครจะเก่งกว่ากัน ทุกอย่างอยู่ที่ใจของใครจะสู้มากกว่ากันกับการช่วยเหลือสังคม กับการที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจ นี่คือความต่างเพื่อไปสู่ความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นสำหรับพี่พี่ถือว่าเพศสภาพไม่เป็นปัญหาอะไรถ้าใจเราพร้อมจะสู้”

“ในช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่าการที่จะให้ใครมายอมรับเราที่เป็นผู้หญิง มันไม่ได้ง่าย ก็มีบ้างเหมือนกันที่เขาไม่ยอมรับให้เข้าไปในส่วนของพื้นที่ของพี่น้องมานิเพราะเรามีเพศสภาพเป็นผู้หญิง”

สรวรรณ พูดทิ้งท้ายว่า… สองมือของผู้หญิง เป็นสองมือที่ขับเคลื่อนโลกตั้งแต่วันแรกที่คนจะลืมตามาดูโลก ฉะนั้นก็ต้องใช้พลังของผู้หญิง เธอมองว่าความเป็นมนุษย์ควรเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ชนเผ่า หรือว่าใครก็ตาม ชีวิตของเธอจึงยึดถือเสมอว่า สิทธิของความเป็นคนถ้าเป็นไปได้ควรเท่าเทียมกันตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก พลังของทุกคนมีไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ใจเราพร้อมจะสู้แค่ไหน ยึดมั่นในสิ่งที่เราทำแค่ไหน 

“อุดมการณ์ที่มีอยู่ในหัวใจ เราจะต่อสู้ได้ยาวนานแค่ไหน สำหรับพี่จะต่อสู้กับความอยุติธรรมจนถึงลมหายใจสุดท้าย” และนี่คือเสียงของนักปกป้องสิทธิที่จะไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรม และพร้อมสู้ตามอุดมการณ์ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน”

วันสตรีสากล เสียงของผู้หญิง…ที่เปลี่ยนโลก

วันสตรีสากลไม่ใช่เพียงวันที่สะท้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงในอดีต แต่เป็นเครื่องเตือนใจว่า เส้นทางแห่งความเท่าเทียมยังคงต้องดำเนินต่อไป เสียงของผู้หญิงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จากแรงงานหญิงที่นิวยอร์ก สู่เสียงของนักปกป้องสิทธิในประเทศไทยอาจเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พลังของผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงเสียงกระซิบเท่านั้น แต่เป็นพายุที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น

สิ่งที่แรงงานหญิงในอดีตเรียกร้องยังคงเป็นหัวใจของการต่อสู้ของผู้หญิงไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องหวาดกลัวความรุนแรง สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน หรือสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเป็นหนึ่งในพลังที่ผลักดันให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เสียงของอัญชนา หีมมิหน๊ะ อมรรัตน์ ทองพัฒน์ พรชิตา ฟ้าประทานไพร และสรวรรณ นิรันรัตน์ ไม่ใช่เพียงเสียงของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเสียงของผู้หญิงไทยที่ไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม เป็นเสียงที่สะท้อนว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

  • เพราะสิทธิสตรีไม่ใช่เพียงเรื่องของผู้หญิง แต่เป็นเรื่องของทุกคน
  • เพราะเสรีภาพ ไม่ควรมีเพศมาเป็นเงื่อนไข
  • เพราะเสียงของผู้หญิง…จะไม่มีวันเงียบหาย

“ขนมปังและดอกกุหลาบ” อาจเป็นเสียงตะโกนเมื่อร้อยปีก่อน แต่วันนี้…คือเสียงของเราทุกคน ที่จะก้องกังวานไปจนกว่าความเท่าเทียมจะเป็นจริงในสักวัน เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน