Amnesty International
“จากการค้นหาตัวตนสู่การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน: โตโต้ ก้าวหน้า ผู้บริจาคที่เชื่อว่า ทุกการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
เสียงจากคนธรรมดา สู่การสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน
คุยกับ….โตโต้ ก้าวหน้า เสาวกุล ผู้บริจาค แอมเนสตี้ ประเทศไทย
เรื่องราวของ “โตโต้ ก้าวหน้า เสาวกุล” เริ่มต้นจากการค้นหาตัวตนในฐานะ Transgender (คนข้ามเพศ) ท่ามกลางสังคมที่ยังไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเขาได้พบกับกลุ่มอัญจารีและได้รับโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งยังได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สำคัญเช่น การพูดในเวทีและการแปลบทหนังเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
เมื่อโตโต้ได้รับการอบรมในด้านสิทธิมนุษยชนที่โครงการ AIHR เขาก็เริ่มเข้าใจลึกซึ้งถึงความเชื่อมโยงของสิทธิที่ไม่ใช่แค่เรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับทุกคน เขายังได้ขยายประสบการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยร่วมทำงานกับองค์กรต่างๆ เช่น ILGA ASIA (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association Asia) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ
โตโต้เชื่อว่า ทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากการเข้าใจสิทธิของตนเองและคนรอบข้าง แม้เพียงแค่การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าได้ เขามองว่าองค์กรเช่นแอมเนสตี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันสิทธิมนุษยชนทั่วโลก พร้อมยืนยันว่า “การทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสิทธิมนุษยชนก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
“ตอนนั้นเราเลือกที่จะไม่ทำงานประจำ แต่ใช้เวลาไปกับการเรียนและทำกิจกรรมสิทธิมนุษยชน การตัดสินใจนี้ทำให้เราได้สัมผัสกับเรื่องราวและประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการทำงานปกติ มันเป็นช่วงเวลาที่เติมเต็มทั้งความรู้และหัวใจของเราอย่างแท้จริง”
งานเสวนาที่ศูนย์มนุษยวิทยาสิริธร เมื่อปี 2552 ได้เปลี่ยนวิธีคิดและชีวิตคนๆ หนึ่งไปตลอดกาล นับตั้งแต่วันนั้นที่เขายังไม่แน่ใจชัดในอัตลักษณ์และวิถีชีวิต การเดินทางไปที่นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาคนนั้นคือ “โตโต้ ก้าวหน้า เสาวกุล” ในวัยที่เพิ่งเริ่มใช้ชีวิตในฐานะ Transgender ที่เกิดมามีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิง เขากล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มเปิดเผยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นช่วงเริ่ม Come Out หรือกล้าบอกกับครอบครัวว่าตัวเองมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่เกิด
โตโต้ยอมรับว่าเขาไม่ได้เกิดมาพร้อมความมั่นใจเต็มเปี่ยมในความเป็นตัวเองตั้งแต่แรก เขาอธิบายถึงความรู้สึกในเวลานั้นว่า “เราเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ต้องปรับตัวหลายอย่าง การใช้ชีวิตในฐานะ Transgender ในสังคมที่ยังไม่เข้าใจทำให้บางครั้งรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวอยู่บ้าง เพราะสังคมสมัยนั้นยังไม่ได้โอบรับเรื่องความหลากหลายมากเท่าไหร่นัก”
แต่โชคชะตากลับนำพาเขามาพบกลุ่มอัญจารี (Anjaree) องค์กรสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นเป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อสิทธิของหญิงรักหญิง Bisexual และ Transgender ในประเทศไทย โตโต้เล่าถึงการพบ แตง อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งอัญจารี ที่งานเสวนา “30 ปี ขบวนการเคลื่อนไหวของ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” ว่าตอนนั้นเขาไม่มีความรู้อะไรมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่อยากมีเพื่อน อยากเจอคนที่เป็นเหมือนกับตัวเอง เลยตัดสินใจเข้าไปร่วมงานในครั้งนั้น โดยโตโต้เล่าย้อนด้วยรอยยิ้มเล็ก ๆ ว่าในตอนนั้นหากจะหาความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีอินเทอร์เน็ตให้ค้นหาข้อมูลมากมาย เพราะความหลากหลายยังไม่ถูกเปิดกว้างมากพอเหมือนทุกวันนี้ เช่น Google สมัยนั้นไม่ค่อยมีข้อมูล LGBT เป็นภาษาไทยเท่าไหร่ การได้เจอพี่แตงคือจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล”
“การทำงานกับกลุ่มอัญจารีเปรียบเหมือนการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ เราได้เป็นทั้งอาสาสมัครแปลบทหนัง ไปพูดในเวทีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมกิจกรรมที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้สัมผัส สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมความคิดและจุดยืนของเรามากขึ้น”
จากอาสาสมัครสู่การเรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชน
เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอัญจารี โตโต้ก็เริ่มเข้าใจตัวเองและสังคมมากขึ้น เขาเริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการช่วยแปลบทหนัง การพูดในงานสัมมนา และการร่วมรณรงค์ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ
“ตอนนั้นมีมิตรสหายชวนให้ไปอบรมสิทธิมนุษยชนที่โครงการ AIHR (Asian Institute for Human Rights) จำได้ว่าได้ขอให้กลุ่มอัญจารีช่วยรับรองให้ เพราะคิดว่านี่คือโอกาสสำคัญที่ผมจะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องความหลากหลายทางเพศที่สนใจ”
โตโต้สะท้อนถึงการอบรมครั้งนั้นว่าเปิดโลกของเขามากเพราะได้เรียนรู้แนวคิดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น Intersectionality (ความเชื่อมโยงของความหลากหลาย) และ Decolonization (การปลดปล่อยจากระบบอาณานิคม) ซึ่งทำให้เขาเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นเรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกี่ยวพันกับทุกคนบนโลกใบนี้
หลังการอบรม โตโต้ได้รับโอกาสใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยคาดฝัน เขาเล่าว่ามีคนรู้จักได้ผลักดันให้ตัวเองได้ไปทำงานในระดับภูมิภาค จนได้เป็นประธานร่วมองค์กร ILGA ASIA ปี 2013-2015 โอกาสในตอนนั้นทำให้เขาได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBT ในระดับโลก ปัจจุบันโตโต้ยังจำความรู้สึกครั้งแรกที่ได้เดินทางไปประชุมที่นิวยอร์กและเม็กซิโกได้อย่างชัดเจน
“แม้เราจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่การได้ไปเห็นคนจากหลากหลายประเทศที่ต่อสู้เพื่อสิทธิแบบเดียวกันทำให้ผมรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรเพื่อขบวนการนี้มากขึ้น”
การก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงและการเปิดใจกับแอมเนสตี้
ระหว่างการทำงาน โตโต้ได้รู้จักกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผ่านเพื่อนร่วมขบวนการหลายคน เขาเล่าว่า “ตอนแรกผมรู้จักแอมเนสตี้จากพี่ฝนและอีกหลายคนที่ทำกิจกรรมอาสาสมัครร่วมกัน แม้ช่วงแรกจะไม่ได้เข้ามาทำงานโดยตรง แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในแนวทางการทำงานขององค์กรนี้เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย”
โตโต้เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเริ่มสนับสนุนแอมเนสตี้ว่า ตอนนั้นเขาเห็นว่าแอมเนสตี้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมิติ และมีเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกด้วย ซึ่งการทำงานของแอมเนสตี้เรียกได้ว่าตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อและต่อสู้มาตลอดตั้งแต่สนใจเรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในชีวิตที่ทุกคนควรได้รับ
ความเชื่อมโยงของสิทธิมนุษยชนกับชีวิตประจำวัน
“หลายคนมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับผมแล้ว สิทธิไม่ใช่สิ่งที่ต้องรอให้เราเดือดร้อนถึงจะเริ่มสนใจ มันคือพื้นฐานที่เราทุกคนควรมี” โตโต้กล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมอธิบายว่า การเข้าใจถึงสิทธิต่างๆ อาจไม่เกิดขึ้นทันที แต่บางครั้งปัญหาส่วนตัวหรือประสบการณ์เฉพาะหน้าที่เผชิญในชีวิตตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนอายุเพิ่มขึ้นและผ่านประสบการณ์ต่างๆ จะค่อยๆ เปิดมุมมองให้เราทุกคนเห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองกลับมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่าชัดเจน ไม่เกิดขึ้นทางตรงก็เกิดขึ้นทางอ้อม หรือส่งผลต่อคนรุ่นหลังที่ใช้ชีวิต่อจากเรา
“ในอดีตผมก็เหมือนคนทั่วไป เรียนหนังสือ ทำงาน ดูเหมือนชีวิตไม่มีปัญหาอะไร แต่พอได้อยู่ในกลุ่มที่ต้องการการยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือได้เห็นคนที่ถูกละเมิดสิทธิทั้งคนใกล้และคนไกลตัว ยิ่งทำให้เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนคือสิ่งที่ควรได้รับการผลักดันในทุกมิติ”
โตโต้ยังเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่หรือการทำงานเต็มตัวในองค์กรสิทธิมนุษยชนเท่านั้น การใช้ชีวิตที่คิดถึงสิทธิของตัวเองและคนอื่นๆ ไปด้วย หรือการได้ทำเพียงอะไรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสังคม สำหรับเขาคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้หัวใจคน และช่วยจุดประกายการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
“มนุษย์คนหนึ่งอาจไม่ต้องทำทุกอย่างเอง แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าได้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากจุดเล็กๆ การกดไลก์ กดแชร์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็สร้างแรงกระเพื่อมได้เหมือนกัน แอมเนสตี้เป็นองค์กรสิทธิระดับโลกที่เป็นก้าวสำคัญในการจะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งแบบคนธรรมดา ในการพัฒนาให้เรื่องสิทธิถูกให้ความสำคัญมากขึ้น”
การบริจาคเพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
เมื่อถามถึงมุมมองการร่วมสนับสนุนองค์กรอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โตโต้ ในฐานะผู้บริจาคคนหนึ่ง ยืนยันว่าการให้หรือการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่จำกัดแค่การบริจาคเงินเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายวิธีที่เราทุกคนสามารถทำได้หากสนใจให้เรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีต้นทุนชีวิตที่พร้อมและต้องการสนับสนุนเพิ่มเติม โตโต้บอกว่าการบริจาครายเดือนเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำได้ สำหรับเขาเชื่อว่า
“เงินทุกบาทที่สนับสนุนแอมเนสตี้ ที่ผ่านมาสำหรับตัวเองพิสูจน์ได้ว่า มีผลต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนในไทยและระดับโลกจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือนักโทษการเมือง การจัดกิจกรรมรณรงค์ หรือการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม”
การเปลี่ยนมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชน จากผู้เฝ้าดูสู่ผู้ลงมือทำ

โตโต้ทิ้งท้ายว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องที่เราต้องรอให้เกิดปัญหากับตัวเองถึงจะลงมือทำ “วันที่เรายังมองว่าสิทธิเป็นเรื่องไกลตัว อาจเป็นเพราะเรายังไม่เคยเผชิญกับความไม่เท่าเทียม แต่ในวันที่เราเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากเราแค่คนเดียว มันจะทำให้เราอยากเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า”
จากคำพูดและมุมมองของโตโต้ ผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะเห็นชัดว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงแค่หลักการบนกระดาษ แต่คือพลังที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตจริงของทุกคนได้ หากเพียงแค่เราเริ่มจากการเข้าใจ และกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ อย่างเรื่องราวของเขาเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครเล็กๆ ก้าวสู่การเป็นผู้สนับสนุนขบวนการสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังมาจวบจนทุกวันนี้
“การเป็น Transgender เคยทำให้ผมรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากทุกคนที่ผมพบตลอดการเดินทางคือ เราทุกคนสามารถสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้ เราทุกคนสามารถผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในรูปแบบที่ตัวเองเลือกที่จะทำและสนับสนุนได้ เพียงแค่เราเริ่มจากตัวเองและช่วยกัน วันหนึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะดีขึ้นแน่นอน”
นี่คือเรื่องราวของโตโต้ ก้าวหน้า ผู้ที่ไม่เพียงแค่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แต่ยังทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเริ่มต้นจากการกล้าที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อคนอื่น เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งเรื่องนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ คนธรรมดาที่ถูกลิดรอนสิทธิทั่วโลกมานานหลายสิบปี ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกับเราได้ที่ https://bit.ly/4e3G9tv
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้