“วันเยาวชนแห่งชาติมันควรจะเป็นวันที่เยาวชนได้ออกมาเฉลิมฉลองได้สิทธิในการพูดเรื่องที่ตัวเองพบเจอทั้งทางด้านดีและด้านลบ ไม่ใช่ทำข้อมูลลงกราฟิกแค่หนึ่งอัน แต่ควรจะเป็นวันที่เยาวชนรู้ถึงคุณค่าและรู้ว่าเสียงของเรามีคุณค่ากับประเทศนี้”

ในวัย 19 ปี ของอันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมเยาวชน ไม่ได้เป็นเพียงนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เธอคือเสียงหนึ่งของเยาวชนที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายระบบและข้อบังคับที่ฝังรากลึกในสังคมไทย การเคลื่อนไหวของเธอไม่เพียงแต่เกี่ยวกับสิทธิของเยาวชนและสิทธิทางการเมือง แต่ยังเกี่ยวกับการตั้งคำถามว่า “ทำไม” อยู่บ่อยครั้ง ต่อสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลสำหรับเธอ ในการใช้สิทธิในเสรีภาการแสดงออกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย
“จุดเริ่มต้นของเราเริ่มจากคำถาม” อันนากล่าวด้วยน้ำเสียงที่แน่วแน่ ความคิดในตอนนั้น เธอเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่หลายคนอาจมองว่าก้าวร้าวหรือคิดเยอะไป ขณะนั้นเธอตั้งคำถามว่าทำไมคนที่อยากเลือกตั้งต้องถูกจับ ทำไมการแสดงออกของประชาชนถึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุม เรียกว่าในหัวของเธอมีแต่คำว่า “ทำไม” เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ จึงกลายเป็นการตั้งคำถามแบบไม่จบสิ้น ในสิ่งที่คิดว่าควรถูกพัฒนาให้ดีขึ้นหรือให้อิสรภาพกับผู้คนได้มากกว่านี้ เช่น ทำไมต้องมีระเบียบการแต่งกาย ทำไมทรงผมในโรงเรียนถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ระบบการศึกษาอยู่ที่เนื้อหาในการสอนควรจะเป็นที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า ว่าผู้เกี่ยวข้องจะป้อนความรู้ให้เด็กและเยาวชนมีได้โอกาสแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรียนไปสู่การนำมาใช้ในชีวิตได้จริงได้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับอันนาการตั้งคำถามของเธอ ไม่ใช่เพียงการค้นหาคำตอบเท่านั้น แต่เป็นการปลุกเร้าจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย หากเสียงของเธอดังไปทั่วโลกได้ เธอขอเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่กล้าออกมาเป็นตัวแทนของประชาชน นักกิจกรรม และมิตรสหายหลายคนที่เธอรู้จัก เพื่อผลักดันพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ด้วยการทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน และจับต้องได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีความ จนมีชนักติดหลังเพราะต้องขึ้นศาลหรือเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
การตั้งคำถามเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งและรัฐประหารเมื่อหลายปีก่อนของอันนา ทำให้เธอต้องการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว และเมื่อถึงวัยมัธยมยิ่งทำให้ความคับข้องใจเกี่ยวกับระเบียบทรงผมในโรงเรียนที่เธอศึกษาอยู่ เรื่องนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เธอเลือกหยิบยกขึ้นมาเรียกร้องหรือตั้งคำถาม เกี่ยวกับกฎระเบียบการแต่งกายและทรงผมของนักเรียน ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอกล้าออกมาส่งเสียงด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง
โรงเรียนให้อิสระเสรีภาพกับเยาวชนมากน้อยแค่ไหน ?
“ถ้าเขาลงมาคุยกับเราก็อยากรู้เหมือนกันว่าเส้นผมบนหัวเราเป็นภัยความมั่นคงตอนกี่โมง
ในตอนนั้นเราอายุ 16 ปี”
อันนาเปิดใจว่าหากเทียบเคียงเป็นตัวเลข ว่าสถานศึกษาให้อิสรภาพกับเด็กและเยาวชนมากแค่ไหน ถ้าคะแนนเต็มสิบเธอให้เจ็ดคะแนน ถ้าคิดเป็นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เธอให้เจ็บสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะเธอรู้สึกว่าโรงเรียนที่เธอเรียนอยู่ในตอนนั้น (ก่อนเข้ารั้วมหาวิทยาลัย) อาจจะไม่ได้ห้ามหรือบังคับนักเรียนแบบตรงๆ เช่น เดินมาแล้วเห็นทำผม แต่งชุดผิดระเบียบ หรือมีการปราศรัยในรั้วโรงเรียนเกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน ตอนนั้นเธอไม่ได้ถูกเชิญเข้าห้องปกครองในทันที แต่มีสิ่งที่น่าตกใจกว่า คือการที่ระหว่างทำกิจกรรม มีรถตำรวจติดข้อความว่าสันติบาลมาขับวนเวียนอยู่รอบรั้วโรงเรียนด้วย ทั้งที่การทำกิจกรรมปราศรัยเป็นแค่ประเด็นเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกาย ไม่ได้มีเรื่องกฎหมายหรือการเมืองมาเกี่ยวข้อง
“วันนั้นก็คือพูดเรื่องทรงผมล้วนๆ กับเครื่องเเต่งกายอะไรอย่างงี้ แล้วเห็นรถตํารวจติดป้ายสันติบาล ขับในโรงเรียนเราก็รู้สึกตกใจ แล้วก็ตลกว่าทรงผมบนหัวเราก็เป็นภัยความมั่นคงได้เหมือนกันนะ ตอนนั้นที่ทำเรารู้สึกว่าไม่ได้อยากจะปิดบังในการชุมนุมอะไรในโรงเรียน เพราะเราใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมก็เป็นสิทธิของเรา แต่จะรู้สึกแปลกใจที่โรงเรียนชอบพูดว่าไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามาในบริเวณโรงเรียนเวลามีการชุมนุม แต่กลับมีรถตํารวจติดป้ายสันติบาลเข้ามา แม้อาจจะอยากมาปกป้องหรือคุ้มครองเด็ก แต่ว่าเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุ้มครองเท่าไหร่”
อันนาย้ำว่าเรื่องทรงผมหรือการแต่งกายของนักเรียนอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วหากทุกคนลองตระหนักให้ลึกลงไปในชีวิตของตัวเอง เรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของทุกคนที่ควรได้รับอิสรภาพ ท้ายที่สุดเธอยังอยากเห็นเด็กและเยาวชนไทยมีเสรีภาพที่จะเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง
จากผู้ชุมนุม สู่เวทีปราศรัย
อันนาเล่าให้เราฟังว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกของเธอ เริ่มจากการเข้าร่วมชุมนุมในฐานะผู้ร่วมกิจกรรมธรรมดาคนหนึ่ง ในตอนนั้นสำหรับเด็กคนหนึ่งคิดเพียงว่าแค่เข้าร่วมกิจกรรมเฉยๆ เพื่อไปฟังปราศรัยจากมิตรสหายคนอื่นๆ ที่เป็นนักกิจกรรมแนวหน้าและรู้จักกัน เมื่อจบงานก็แค่แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่เมื่อถึงปี 2563 ที่มีคลื่นลูกใหญ่ทางการเมือง จนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้น ยิ่งจุดประกายให้อันนาที่สนใจเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว พลิกบทบาทชีวิตของตัวเองให้กล้าคิด กล้าทำ เพื่อส่งเสียงให้เรื่องสิทธิเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น แม้จะรู้ดีว่าการที่เด็กนักเรียนออกมาชุมนุมประท้วงหรือปราศรัยอาจต้องเผชิญกับกระแสตีกลับทั้งด้านลบและด้านบวก
“เราขึ้นไปปราศรัยครั้งแรก เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องพูด ต้องสื่อสารออกไป”
แม้ว่าการขึ้นเวทีปราศรัยหรือทำกิจกรรมกับมิตรสหาย ที่เป็นเพื่อนนักกิจกรรมเยาวชนด้วยกันหลายครั้งของอันนาอาจจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่แรงผลักดันและจุดยืนของเธอไม่เคยหยุดนิ่ง แม้ว่าความเห็นของเพื่อนรอบข้าง รวมถึงครอบครัวอาจจะไม่เห็นด้วยเสมอไป เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของอันนาที่อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะช่วงเวลาเริ่มต้นการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมจนเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ เหตุการณ์ในตอนนั้นทำให้ครอบครัวของอันนากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี แต่ยังมีความโชคดีที่การเคลื่อนไหวของอันนาในตอนนั้น เธอไม่ถูกดำเนินคดีเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ แต่มีครั้งหนึ่งที่เธอถูกควบคุมตัวไปพร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรม ซึ่งนั่นก็ทำให้ครอบครัวเป็นห่วงเธอไม่น้อย
การคุกคามที่ไม่เห็นตัว

แม้การเคลื่อนไหวของอันนาจะเต็มไปด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่ แต่การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่เธอต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง อันนาเล่าว่าเมื่อครั้งที่เธออายุเพียง 16 ปี เธอถูกผู้ชายติดตามเวลาไปไหนมาไหน เธอเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘ชายหัวเกรียน’ เขาหล่านี้จะมายืนอยู่หน้าที่พักของเธอบ่อยๆ และตามไปถึงครอบครัว แม้แต่พ่อแม่ของเธอก็ไม่ได้รับการยกเว้น เธอบอกว่าชายหัวเกรียนที่เธอเรียกนั้น พวกเขาติดตามพ่อแม่ของเธอเหมือนกับที่เธอถูกติดตาม ที่มากไปกว่าการติดตามคือพวกเขาโทรหาพ่อแม่ของเธออยู่เป็นระยะ ครั้งหนึ่งแม่เคยเปรยว่า ตอนนี้คนที่โทรหาบ่อยที่สุดไม่ใช่พ่อ แต่กลับเป็นตำรวจแทน
สำหรับอันนาแล้ว การถูกคุกคามเช่นนี้กลายเป็นเรื่องที่เธอพยายามปรับตัวและเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญ เธอสารภาพว่าในช่วงแรกหรือครั้งแรกที่รู้ตัวว่าถูกติดตาม สำหรับเธอที่เป็นเยาวชนมีอาการกลัวอยู่ไม่น้อย แต่พอวันเวลาล่วงเลยไป กลายเป็นความเคยชินกับการถูกติดตาม ถามว่าเธอชินอย่างไร? เธอเล่าว่าใช้วิธีการเข้าไปทักทายกับคนที่ติดตามเลย ระหว่างเล่าอยู่นั้นสีหน้าของเธอเล่าด้วยรอยยิ้มเล็กๆ ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งในใจ
“คือจริงๆ ช่วงอายุ 16 ปี เป็นครั้งแรกที่เราโดนจับ เป็นกรณีที่มีเด็กสามคนโดนจับที่แมคโดนัลด์ ช่วงนั้นเราก็โดนตามยาวทั้งเดือน และรู้ว่าเขาไม่ได้ตามแค่ตัวเรา แต่ตามทั้งครอบครัว ตามพ่อแม่ ตามไปยังบ้านตา เขารู้ยันแบบเลขประกันสังคมของพ่อแม่ บางเรื่องเรายังไม่เคยรู้มาก่อนเลย แล้วเราก็แบบ โอ้โห! เขาก็รู้จักพ่อแม่เราดีกว่าเราเสียอีก ถูกตามหนัก ชีวิตไม่ได้เหมือนเดิมเลยไหม ? คือจริงๆ มันก็จะมีชายหัวเกรียนมายืนอยู่หน้าที่พักเราบ่อยๆ แล้วก็บางวันเราก็เข้าไปทักทายเขา เขาก็ทักทายกลับเลย”
แม้จะเป็นเพียงเยาวชนคนหนึ่งในประเทศที่ใหญ่โต และยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป แต่การที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทำให้อันนาต้องพยายามหาความเข้มแข็งในตัวเอง และในวันที่คนรอบข้างกลัว อันนาไม่มัวทำให้ทุกคนจิตตกหรือเป็นห่วงเธอ อันนาเลือกที่จะเป็นกำลังใจให้พวกเขาแทน โดยเธอคิดว่าถ้าทุกคนกลัว เราก็ต้องเข้มแข็ง ไม่อย่างนั้นทุกคนจะกลัวไปหมด สิ่งที่ทำได้คือทำให้ทุกคนไม่เป็นห่วง เพื่อที่แต่ละคนจะได้ใช้ชีวิตกันต่อไป อาจจะไม่ปกติสุขเหมือนก่อนที่เธอจะออกมาเคลื่อนไหว แต่ก็ช่วยเติมแรงกายแรงใจให้คนที่รักเธอทุกคน ไม่ต้องพะว้าพะวงใจเวลาที่เธอเดินทางไปไหนมาไหนหรือทำกิจกรรมกับมิตรสหาย
การเป็นเยาวชนในโลกที่เต็มไปด้วยความคุกคาม
“เราเคยถูกตามไปในร้านหนังสือ ที่เป็นร้านที่มีแต่เด็กๆ แต่มีผู้ชายหัวเกรียน 5-6 คนยืนอยู่” สำหรับเรื่องการถูกคุกคาม อันนาเล่าอย่างติดตลกว่า “มันตลกดีนะ เหมือนพี่เขามาผิดที่ มันไม่ใช่ที่สำหรับเขา แต่พี่เขาก็อยู่”
แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ควรกังวล แต่อันนากลับมองในแง่มุมที่สบายๆ สะท้อนถึงการที่เธอเลือกเผชิญหน้ากับความท้าทาย อย่างไม่เกรงกลัวในเรื่องชีวิตและการใช้สิทธิเสรีภาพสำหรับเยาวชนคนหนึ่ง
อันนาไม่ใช่แค่เยาวชนที่ตั้งคำถามเพียงอย่างเดียว แต่เธอคือคนที่ออกมาหาคำตอบ พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ ความกล้าหาญที่มาพร้อมกับความเข้มแข็งของเธอ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเธอคนเดียว แต่ยังส่งผลให้คนรุ่นใหม่ได้รับแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าอาจจะดีขึ้นในสักวันหนึ่ง
สิทธิเสรีภาพของเยาวชน: เสียงที่ยังไม่ได้รับการฟัง
“เรารู้สึกว่าสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพของเยาวชนมันไม่ได้ดีขึ้น”
อันนากล่าวอย่างตรงไปตรงมา เมื่อถามถึงสถานการณ์ในปี 2567 เธอบอกว่าในปีนี้มีเด็กถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ทำให้เกิดความกลัวในการใช้สิทธิกลับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการพูดถึงประเด็นมาตรา 112 ที่พบว่าเพดานของคนที่อยากจะออกมาใช้สิทธิใช้เสียงพูดถึงเรื่องนี้ ลดระดับและต่ำลงจากปี 2563 อยู่มาก อันนาใช้คำว่า “เราแทบจะไม่เห็นเด็กออกมาชุมนุมในโรงเรียนหรือบนถนนเหมือนเดิมแล้ว”
อันนาพูดถึงความท้าทายที่เยาวชนต้องเผชิญในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ การถูกดำเนินคดี และการถูกปฏิเสธสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สำหรับเธอยังคงอยากเห็นเยาวชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกจับกุม หรือการถูกปฏิเสธสิทธิการประกันตัว ระหว่างการสนทนาเธอกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่ก็ซ่อนความท้อแท้ไว้อย่างเงียบๆ ภายใต้แววตา และช่วงเวลาของการพักจากบทสนทนาครู่หนึ่ง
“เรารู้สึกว่าประเด็นเรื่องสิทธิทางการเมืองกับเด็ก เป็นเรื่องที่รัฐไทยยังแบบขาดตกบกพร่องมาก ถ้าเป็นเด็กสอบก็คือได้เอฟแล้ว คือเรารู้สึกว่ารัฐไทยไม่เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชนเลยแม้แต่น้อย สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมก็ไม่มี สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกก็ไม่เคยเคารพ แล้วก็รู้สึกว่าถ้าอยากให้ความรู้ได้หนึ่งอย่าง อยากวอนให้รัฐศึกษาหาความรู้ให้ตัวเองเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
เมื่อถามอีกว่าหรือเปลี่ยนจากติดเอฟเป็นติด ร. พอจะได้หรือไม่ในความรู้เรื่องสิทธิที่รัฐมีต่อประชาชน ? อันนาเปรียบเทียบให้ฟังว่า การที่ติด ร. เวลาเรียนอยู่ในโรงเรียน อาจสะท้อนให้เห็นเรื่องความขาดตกบกพร่องแค่บางเรื่อง เช่น ถ้าให้ประเทศไทยติด ร. เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นธรรม เช่น ขาดเรื่องให้สิทธิความเป็นส่วนตัวบุคคลหรือ rights to privacy ก็อาจจะให้ทำการบ้านส่งเพื่อคะแนนที่ดีขึ้น ระหว่างคุยกันเธอเปรียบเปรยว่า “เดี๋ยวก็ตามไปส่งครูได้อะไรอย่างงี้” แต่ว่าการที่เธอบอกว่ารัฐไทยติดเอฟ เธอให้ความหมายว่า ผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องทบทวนตัวเอง แล้วถอยหลังให้กับหน้าที่ด้วยการลาออก
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับเยาวชน ในห้วงเวลาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
แม้ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (CRC) ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ทำให้เห็นว่าเป็นประเทศแถวหน้าในเอเชียที่สนับสนุน ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนระดับโลก แต่อันนามองว่าความพยายามของรัฐเห็นภาพชัดเจน แต่ยังขาดความเข้าใจในสิทธิทางการเมืองและสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็กและเยาวชนอย่างมากในหลายประเด็น อันนายกตัวอย่างชีวิตจริงในบางครั้งให้เห็นภาพชัดว่า เธอเคยถูกเชิญไปร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ที่สามารถเสนอประเด็นในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เรื่องสิทธิดีขึ้นในปัจจุบันและวันข้างหน้าได้ แต่กลับพบว่าประเด็นที่เธอเสนอไปถูกตัดหรือถูกยกออกไปจากข้อเสนอเพื่อไม่ให้ถูกพูดหรือส่งเสียง
“เรารู้สึกว่ารัฐไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของเด็กเลย ทั้งเรื่องการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ถ้าภาครัฐอยากเข้าใจเรื่องนี้ ควรเริ่มจากการให้การศึกษาตัวเองเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”
สำหรับอันนา สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนควรได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง เธอยกตัวอย่างถึงกระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นธรรมต่อเยาวชน กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ควรมีการคุกคามหรือละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว “เราควรสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี” อันนาย้ำว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย
ความหวังของเยาวชนในอนาคต: เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องของทุกคน
ในฐานะเยาวชนที่เคยผ่านการคุกคามและถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ อันนาไม่ต้องการเห็นเยาวชนคนอื่นต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน เธอยังเฝ้าฝันถึงสังคมที่เยาวชนสามารถออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวอะไร ระหว่างสนทนาแววตาของอันนาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและความหวังแสดงให้เราเห็น โดยย้ำว่าไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง
วันเยาวชนแห่งชาตินี้ อันนาฝากการบ้านถึงรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องฟังเสียงของเยาวชนอย่างแท้จริง หากรัฐบาลชอบพูดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่คำพูดเหล่านั้นจะเป็นเพียงแค่คำพูด ถ้าไม่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเธอกล่าวเสริมว่า การจัดงานหรือการประชุมที่ผู้จัดอ้างว่าให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมนั้น แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เปิดกว้างให้เยาวชนพูดในประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางการเมือง
“เด็กหลายคนพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพจิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเยาวชนหลายคนก็ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้ด้วยเช่นกัน แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่ค่อยถูกยกขึ้นมาพูดถึงในเวทีของรัฐ” อันนากล่าวอย่างหนักแน่นระหว่างการสนทนา
ฝากการบ้านถึงรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องฟังเสียงจริงของเยาวชน
อันนาอยากให้รัฐบาลไทยเข้าใจว่า การขับเคลื่อนประเทศไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพจิตของเยาวชน แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด ถ้ารัฐบาลต้องการเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก เธอแนะนำในฐานะเยาวชนคนหนึ่งว่า ประเทศไทยต้องเริ่มจากการเคารพสิทธิเสรีภาพของเยาวชนในประเทศตัวเองก่อน พร้อมกับส่งข้อความสำคัญถึงหน่วยงานรัฐผ่านคำพูดที่น่าคิด
“วันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งวันที่หน่วยงานรัฐขึ้นข้อความกับกราฟิกสวยๆ แต่ถามว่าคนที่เป็นเยาวชนจริงๆ รู้สึกไหมว่าวันนี้เป็นวันของตัวเอง มีเยาวชนคนไหนรู้สึกไหมว่าเสียงที่ตัวเองพูดมาถึงหน่วยงานรัฐไปถึงจริงๆ สมมติว่าเยาวชนเหล่านั้นยังไม่รู้สึกแสดงว่ากราฟิกสวยๆ ก็ไร้ค่า”
บทส่งท้าย: เยาวชนคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
“การเคลื่อนไหวของเยาวชนไม่ใช่แค่เรื่องของอนาคต แต่คือเรื่องของวันนี้”
อันนาทิ้งท้ายด้วยข้อความทรงพลังที่ฝากถึงรัฐบาลและสังคมไทย โดยเธอย้ำความฝันถึงวันที่เยาวชนทุกคนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองได้อย่างปลอดภัย เธอฝันถึงประเทศที่ไม่เพียงแค่ฟังเสียงของเยาวชน แต่ให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างแท้จริง เพราะในวันที่เยาวชนมีความฝันและความหวัง แต่ยังต้องเผชิญกับการคุกคาม ติดตาม และการกดขี่ นี่อาจไม่ใช่ประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง
เสียงของอันนา ที่พูดคุยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในครั้งนี้ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2567 อาจเป็นหนึ่งเสียงที่สะท้อนถึงประเทศไทยว่ายังต้องพัฒนาหรือปรับนโยบายและแนวคิดในมิติไหนบ้างเกี่ยวกับการให้สิทธิเสรีภาพกับเยาวชน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน ปีนี้ อันนา อันนานนท์ วัย 19 ปี ผู้ขับเคลื่อนสิทธิเยาวชนและสิทธิทางการเมือง ยังเชื่อว่าเสียงของเยาวชนยังคงดังขึ้นได้ แม้จะถูกกดทับด้วยระบบที่ไม่เคยให้พื้นที่อย่างแท้จริง
เธอยืนยันและย้ำว่า พร้อมจะเป็นหนึ่งในเสียงที่ต้องการให้สังคมได้ยินในการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทุกก้าวย่างของอันนาไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องทรงผม การแต่งกาย หรือกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายเท่านั้น ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอันนาวาดหวังว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการได้รับความคุ้มครองที่ปลอดภัย และสิทธิที่เป็นมิติที่มนุษย์ควรได้รับ จะเสียงดังและยังคงถูกพูดถึงให้ได้รับการพัฒนาต่อไป ไม่ใช่แค่เยาวชนแต่เป็นทุกคนที่ทำได้
สุดท้ายความฝันของอันนาผ่านการสนทนาครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงความฝันส่วนตัว แต่คือความฝันที่เต็มไปด้วยความหวัง ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศเพื่อเยาวชนทุกคน เพราะในโลกที่เยาวชนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย อันนา อันนานนท์ อาจเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมเยาวชนที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า พลังของคนหนุ่มสาวไม่ควรเป็นเสียงเล็กๆ ที่ถูกมองข้าม แต่ควรเป็นเสียงที่กล้าแกร่งและทรงพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากพวกเขาได้รับโอกาสและพื้นที่ในการแสดงออกอย่างแท้จริง เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน