สุเมธ สุวรรณเนตร : ชายผู้กอบกู้เศษซากความฝัน กับความหวังว่าสักวัน ‘การถูกอุ้มหาย’ จะไม่ ‘อันตรธาน’ ไปจากความทรงจำ

ชื่อของ ‘สุเมธ สุวรรณเนตร’ ถูกรู้จักในฐานะผู้กำกับสารคดีสั้น เจ้าของรางวัลพิราบขาว จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 26 จัดโดยหอภาพยนตร์ และมูลนิธิหนังไทย หลังจากส่งภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘เลือน แต่ไม่ลืม’ (Lost, and life goes on) สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของญาติผู้สูญหายที่จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 30  ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535[1] เข้าประกวดในครั้งนั้น ด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยมว่า ทุกเรื่องราวของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในความทรงจำ จะไม่เลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์

สุเมธ เปิดใจว่า ไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรมากนัก ขอแค่ภาพยนตร์ที่เขานำภาพเคลื่อนไหวมาร้อยเรียงเล่าเรื่องได้ถูกกล่าวถึงหรือเป็นที่จดจำในความทรงจำของผู้คนในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ถูกบังคับสูญหายยังคงถูกพูดถึงและไม่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้อัตรธานหายไป เพราะพวกเขาก็คือคนคนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ และมีคนรักรอคอยให้กลับบ้านอยู่ทุกวินาทีของคืนวัน

นอกจาก ‘สุเมธ สุวรรณเนตร’ จะเป็นผู้กำกับมือรางวัลจากภาพยนตร์ ‘เลือน แต่ไม่ลืม’ เขายังมีอีกหนึ่งบทบาท คือการเป็นอาจารย์ประจำวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยศรีปทุม สถานศึกษาที่เขาหย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าเอาไว้ ด้วยความหวังว่าจะช่วยฟูมฟักนักศึกษาที่เปรียบเสมือนต้นกล้าให้เติบใหญ่ในวงการภาพยนต์อย่างมั่นคง เขาเชื่อมั่นว่าพลังของโลกภาพยนตร์จะมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้คนในสังคมได้มองเห็นโลกอีกใบได้อย่างถนัดตา

รู้จักคำว่า ‘อุ้มหาย’ เพราะมีเพื่อนเป็นตำรวจ

ส่วนจุดเริ่มต้นที่ชายคนนี้ หันมาสนใจกรณีการถูกอุ้มหาย เกิดขึ้นหลังจากแลกเปลี่ยนบทสนทนากับนายตำรวจคนหนึ่งที่รู้จักกันในฐานะเพื่อน ที่บอกเล่าเกี่ยวกับควบคุมตัวและวิธีการทำให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ

“ผมเริ่มระแคะระคาย และบังเอิญเห็นข่าวการถูกอุ้มหายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของคนเสื้อแดง มีข่าวศพลอยน้ำเกิดขึ้นช่วงนั้น เลยเริ่มสนใจและค้นหาเรื่องการถูกอุ้มหายมากขึ้น ก็ลองถามเพื่อนว่าแล้วนิยามของเขาที่มีต่อคำคำนี้คืออะไร”

“เขาบอกผมว่ามันคือการเอาไปรีดข้อมูล จากนั้นจึงปล่อยตัวไป แต่ในความเป็นจริง การอุ้มหายมันคือหายไปเลยนะ ตามตัวไม่ได้ คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าการอุ้มหายแท้จริงแล้วคืออะไร”สุเมธ เล่าวินาทีที่รู้จักคำว่า ‘อุ้มหาย’ ครั้งแรกจากเพื่อนที่เป็นนายตำรวจ

สุเมธ เผยความคิดในตอนนั้นว่า เขาเข้าใจว่าตำรวจเองอาจเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้น้อย ไม่มีสิทธิ มีเสียง ในการต้านทานคำสั่งจากเบื้องบน แต่สิ่งที่เขาคิดภายในใจตอนนั้นคือ ถ้าหากปล่อยให้ฟันเฟืองใหญ่หมุนวนไปเรื่อย ๆ แล้วไม่มีเฟืองชิ้นเล็กชิ้นน้อยคอยขวางกั้น เมื่อนั้นเราคงได้เห็นภาพความสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นแน่แบบไม่จบสิ้น

“กรณีของคุณปวีณ พงศ์สิรินทร์ คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เขาคือเฟืองตัวหนึ่งที่อยู่ในระบบ ถ้าฟันเฟืองเล็ก ๆ คือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ขณะที่พวกผู้ใหญ่เป็นเฟืองอันเบ้อเร่อ คุณจะไปฝืนเฟืองใหญ่ได้อย่างไร ก็คงต้องหมุนตามเขาไป ถ้าคุณไม่ยอมเฟืองใหญ่ก็อยู่ไม่ได้ เลยมีแค่สองทางคือตำแหน่งผลประโยชน์ กับอีกสิ่งคือความเสียหายทางชีวิต”สุเมธ ผู้กำกับภาพยนตร์ เลือน แต่ไม่ลืม พูดถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในเมืองไทย

เดินหน้าศึกษากฎหมายอุ้มหาย ทำภาพยนตร์สารคดี

เพื่อให้นิยามคำคำนี้ไม่ถูกบิดเบือน สุเมธจึงลงมือสร้างสิ่งที่ไม่มีมาก่อนในโลกภาพยนตร์ไทย โดยเริ่มจากการลงไปค้นคว้าหาข้อมูลอย่างจริงจัง ตามติดทุกความเคลื่อนไหวของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ไปจนถึงการพูดคุยกับครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกบังคับสูญหาย จนทำให้เข้าใจความรู้สึกของคนใจสลายเพราะคนในครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รักหายสาบสูญไปเป็นครั้งแรกในชีวิต

“ผมเคยถามญาติ ๆ ว่าต้องเยียวยาเท่าไหร่ถึงจะพอ เขาก็พูดมาว่าเท่าชีวิตเขา มันมีค่าเท่าไหร่ละ มันมีค่าแค่เงินไม่กี่หมื่นเหรอ”

คำตอบที่สุเมธได้รับไม่ต่างจากถูกคมมีดเฉือน เขาได้เห็นอีกมิติของความสูญเสียจนตั้งคำถามขึ้นมาว่า คุณค่าชีวิตคนจะถูกตีราคาได้อย่างไร ในเมื่อคุณค่าของทุกคนเป็นสิ่งที่กะเกณฑ์ออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้

“หนังเรื่องเลือน…แต่ไม่ลืม จึงพยายามพูดถึงความเจ็บปวดของผู้ได้รับผลกระทบ คนที่รอคอยกับสิ่งที่ญาติเรียกร้องความยุติธรรม ที่ไม่ได้แลกกลับมาด้วยเงินอย่างเดียว มันคือเรื่องของจิตใจ การเยียวยาหลาย ๆ อย่าง”สุเมธ เล่าแก่นเรื่องส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ให้ฟัง

หลังจากที่ทำภาพยนตร์ เลือน…แต่ไม่ลืม ทำให้สุเมธตระหนักว่า การอุ้มหายไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน เพราะ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการลงนามมานานแล้ว สามารถคุ้มครองคนทุกคนได้ แต่ยังไม่ถูกบังคับใช้เพราะว่าไม่มีกฎหมายมาครอบคลุมเรื่องนี้ เขามองว่า ถ้าหากมี พ.ร.บ. ชัดเจนแล้ว จะทำให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล มีเครื่องมือตัดสินได้อย่างเป็นธรรม

เปิดมุมมอง ‘อุ้มหาย’ ผ่านความคิดผู้กำกับ ‘เลือน แต่…ไม่ลืม’

ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องมือนี้ปราบปรามใครก็ตาม ในความเป็นจริงผ่านความคิดของ สุเมธ เขามองว่าการอุ้มหายในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องการเมืองหรือการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย เช่น ยาเสพติด การคอร์รัปชัน ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ที่รัฐมองว่าเป็นผู้เห็นต่าง หรือเสี่ยงต่อการเป็นเรื่องของภัยความมั่นคง

“แต่คำถามคือความมั่นคงของใคร ของประชาชนหรือของรัฐ”  สุเมธตั้งคำถาม ก่อนจะเสริมว่า การที่แผ่นดินนี้จะประกอบสร้างขึ้นมาเป็นรัฐได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ ‘ประชาชน’ “ประชาชนคือคนขับเคลื่อนหนุนทั้งประเทศนี้ ถ้ามีแต่รัฐไม่มีประชาชนทำอย่างไร จะเอาภาษีที่ไหน เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างไร”

จึงเป็นที่มาของการทำภาพยนตรที่ใช้ชื่อว่า ‘อันตรธาน’ สารคดีสั้นที่เป็นภาคต่อหรือภาค 2 หลังจากได้ฉายภาพของการอุ้มหายผ่านภาพยนตร์ เลือน…แต่ไม่ลืม ออกไป จนประสบความสำเร็จจากการได้รางวัลพิราบขาว จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 26 เป็นอย่างดี โดยสุเมธบอกว่าจะใช้สารคดีเรื่องนี้ เป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ว่ามีการบังคับใช้อย่างจริงจังแค่ไหน หลังกฎหมายบังคับใช้ไปเมื่อปีที่ผ่านมา

“ผมได้คุยกับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ถามเขาว่าจัดการกับความกลัวอย่างไร เขาบอกผมว่าตัวเขาเองไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้มีชนักติดหลัง เขาแค่เรียกร้องขอความยุติธรรม ต้องการรู้ความจริง แล้วทำไมจะต้องกลัว สิ่งที่เขาทำก็ไม่ได้ไปเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของใครเลย จึงไม่กลัวที่จะทำ”

หนัง ‘อันตรธาน’ หวังให้ทุกคนรู้สิทธิ รู้ทันกฎหมายอุ้มหาย

คำพูดของสุเมธก่อนจะเน้นย้ำว่า การทำสารคดีของเขา มีไว้เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ถึงสิทธิที่พึงมีของตัวเองและประชาชนทุกคน มีเป้าหมายใหญ่คือทำให้คนที่ได้รับชมได้ความรู้และเข้าใจว่า ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่สามารถพรากสิทธิและความชอบธรรมของตัวเรา ครอบครัว และคนทุกคนไปได้ เพราะเขารู้ว่าการไม่รู้นั้นอันตรายเพียงใด และไม่อยากเห็นใครก็ตาม ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะความไม่รู้อีก

“ผมเริ่มเข้าใจจริง ๆ ก็ตอนที่ไปคุยกับทนายความคนหนึ่งที่อยู่ภาคใต้ เขาเคยเป็นมือปืนที่อยากรู้กฎหมาย เลยเลือกเรียนกฎหมายจากในคุก พอออกจากคุกมา ก็มาสอบเป็นทนาย เพราะการรู้กฎหมายช่วยปกป้องตัวเขาได้ รวมถึงทำให้รู้ว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างในชีวิตนี้”

“ถ้าคนทั่วไปรู้ว่าตัวเองกำลังเจอกับอะไร และรู้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร เราก็จะช่วยปกป้องกันตัวเองได้ แม้ว่ามันจะเป็นแค่หนัง แต่มันจะช่วยเราได้ ข้อดีของหนังแนว Fiction (เรื่องที่แต่งขึ้น) คือมันทำให้สร้างความบันเทิงได้เต็มรูปแบบ แต่ก็ใช่ว่าสารคดีจะทำให้คนรู้สึกไม่ได้ สารคดีมันก็มีความรู้สึกไม่ต่างกัน”

แต่ตัวแปรที่ทำให้ พ.ร.บ.อุ้มหาย มีความศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นกฎหมาย สุเมธ ในฐานะคนที่มีโอกาสได้ทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นบอกว่า กฎหมายจะศักดิ์สิทธิได้ คงหนีไม่พ้นผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่มีอำนาจในการตัดสินชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติว่า มนุษย์ทุกคนจะมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้ในฐานะอะไร

“ในความคิดของผม ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกมาแล้วก็ตาม แต่หากเจ้าหน้าที่ยังเพิกเฉย แน่นอนว่า ถึงมี พ.ร.บ. กี่ฉบับออกมาก็ไม่มีความหมาย”สุเมธ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายทรมานอุ้มหายที่ถูกบังคับใช้ในปัจจุบัน

“ดังนั้น พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่เราผลักดันขึ้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้คน ไม่ให้ถูกกระทำโดยอำนาจของรัฐ มันคือเจตนาที่ทุกคนพยายามให้เกิดขึ้น แต่ว่าอำนาจของรัฐมันอยู่เหมือนคอขวด อยู่ที่เจ้าหน้าที่ที่จะรับเรื่อง ถ้าคอขวดนี้มันไปไม่ได้ มันก็หยุดตรงนี้ เครื่องมือในการอุ้มหายของรัฐ ก็ยังคงทำงานอยู่เหมือนเดิม”

เพื่อไม่ให้ความเป็นธรรมถูกเมินเฉย สุเมธยืนยันว่า จะกอบโกยทุกเศษซากความชอกช้ำ ผ่านภาพยนตร์สารคดีสั้น ‘อันตรธาน’ ที่ได้นำมาสร้างเป็นเรื่องเล่าที่คนทุกคนสามารถรับชม และเข้าใจได้ว่าสิทธิของตัวเองคืออะไร และการถูกอุ้มหายไม่ใช่เรื่องไกลตัว

“หนังเรื่องนี้สิ่งที่ผมอยากขับเคลื่อนคือ ผมอยากให้ทุกคนเท่ากัน”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกคนติดตามและรับชมภาพยนตร์สารคดีสั้น ‘อันตรธาน’ หนังภาค 2 ต่อจากภาพยนตร์เรื่อง ‘เลือน…แต่ไม่ลืม’ ได้เร็ว ๆ นี้ เพื่อมาขับเคลื่อนให้เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคน และตอกย้ำว่าการทรมานอุ้มหายไม่ใช่เรื่องปกติในกระบวนการยุติธรรม แต่กฎหมายที่บังคับใช้ต้องถูกทำให้ศักดิ์สิทธิเพื่อทำให้ทุกครอบครัวที่มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายรู้ความจริง ได้รับความยุติธรรม จนสิ้นสงสัย


[1] ภาพยนตร์สารคดี ‘เลือน…แต่ไม่ลืม (Lost, and life goes on)’  https://www.youtube.com/watch?v=ktmt-_GVz9I&t=3s

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้