คุยกับวัยรุ่นอายุ 17 ในองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลก

29 กันยายน 2560

 

ชีวิตหลังเรียนจบชั้นมัธยม หลายคนคงเตรียมตัวที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย บางคนอาจใช้เวลานี้ออกเดินทางหรือทำงานพิเศษเพื่อค้นหาตัวตน แต่สำหรับพิม สิงหติราช วัยรุ่นอายุ 17 ปี ที่พึ่งเรียนจบ ม.6 กลับเลือกที่จะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อหาประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทางเลือกที่คนไทยรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยนึกถึงมากนัก วันนี้ แอมเนสตี้จึงถือโอกาสจับเข่าคุยกับพิมเพื่อสอบถามถึงที่มาที่ไปและแนวคิดของเธอกัน

 

อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กอายุ 17 ปี มาฝึกงานกับแอมเนสตี้ได้?

 

พิมพึ่งเรียนจบมัธยมค่ะ เมื่อก่อนพิมมีความฝันว่าหลังจากเรียนจบแล้วอยากหาอะไรทำเพื่อค้นหาตัวเองก่อนไปเรียนมหาลัยเลย หรือที่เรียกว่า Gap year คือแทนที่จบ ม.6 แล้วจะเรียนต่อเลย แต่ใช้ช่วงเวลานี้ทำอะไรอย่างอื่นดีกว่า จริงๆ พิมได้สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยมิดเดิลเบอรี รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐฯ แล้วทางนั้นก็รับเข้าเป็นนักศึกษาแล้ว ช่วงนี้เลยมีเวลาว่างที่จะได้ทำนั่นทำนี่ ตอนแรกจะไปเที่ยวก่อน แต่การจะไปเที่ยวเลยครึ่งปีมันก็เยอะไป พิมก็เลยเลือกมาฝึกงานค่ะ และที่เลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้เพราะว่าเคยเป็นสมาชิกถึงสองปีของชมรมแอมเนสตี้ในโรงเรียนค่ะ

 

ช่วยเล่าเกี่ยวกับชมรมแอมเนสตี้ที่โรงเรียนได้ไหม?

 

พิมจบจากโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ และที่โรงเรียนจะมีชมรมต่างๆ ให้นักเรียนเลือกเข้า แอมเนสตี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น พิมเป็นสมาชิกชมรมปีแรก แต่ปีต่อมาพิมก็มีบทบาทมากขึ้นในการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงกิจกรรม Write for Rights ที่นั่นทำให้พิมรู้จักพี่เมย์ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมของแอมเนสตี้ประเทศไทย) พี่เมย์บอกว่ามีใครสนใจอยากมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ไหม พิมสนใจเลยติดต่อพี่เมย์มา ตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้มาฝึกงานที่นี่ถึงสองเดือนค่ะ 

 

ที่ชมรมมีกิจกรรมอะไรบ้าง

 

ชมรมแอมเนสตี้ที่โรงเรียนพิมจะจัดงาน Write for Rights ทุกๆ ปีอยู่แล้ว เรียกกิจกรรมนี้ว่า Light Up Night จริงๆ แล้วกิจกรรมในแต่ละปีก็จะโฟกัสที่เรื่องต่างๆ กัน อย่างปีที่แล้วเราทำเรื่องผู้ลี้ภัย พี่เมย์พาผู้ลี้ภัยมาแล้วเราก็จะมีการพูดคุย ทำความรู้จักกับพวกเขา พิมคิดว่าชมรมแอมเนสตี้ช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานรณรงค์เชิงกิจกรรม นักกิจกรรมรุ่นใหม่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของชมรมนี้เลยค่ะ

 

ทำไมถึงสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชน?

 

พิมสนใจด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสาขาที่พิมจะไปเรียนต่อด้วย แม้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและงานภาคประชาสังคมจะเป็นสิ่งที่พิมกำลังเริ่มเรียนรู้ และจริงๆ แล้วหลังจากเรียนจบ พิมก็อยากจะไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนนานาชาติ แต่ที่พิมสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนและแอมเนสตี้ก็อาจจะเป็นเพราะพิมรู้สึกผูกพันกับชมรมแอมเนสตี้มากๆ ตอนเรียนมัธยม พิมยังเข้าร่วมกิจกรรม Model for United Nations ถึงสองปี และชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์และการเมือง พิมคิดว่าหลายๆ อย่างนี่แหละมารวมกันทำให้พิมมาสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนค่ะ

 

งานที่ได้ทำในแต่ละวันมีอะไรบ้าง?

 

พิมฝึกงานอยู่ฝ่ายกิจกรรม มีพี่เมย์เป็นหัวหน้าที่ดูแลพิม ตอนนี้พิมกำลังวางแผนจัดกิจกรรมสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะจัดในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งต้องทำทั้งเขียนร่างโครงการ หาสถานที่ ซื้ออุปกรณ์และคิดเกมที่จะเอามาเล่นในงาน ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่สำหรับพิมเลยทีเดียว ส่วนงานอื่นๆ ก็มีตอบอีเมลบ้างและสรุปรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ค่ะ

 

คนไทยมองว่านักกิจกรรมเป็นพวกหัวรุนแรง?

 

ในสายตาคนไทยทั่วไป พิมก็ถือว่าเป็นคนหัวรุนแรงมากกว่าอยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะพิมเป็นแบบนี้ ไม่สามารถโกหกและแกล้งว่าเป็นแบบอื่น อาจจะเป็นเพราะพิมโตมากับสภาพแวดล้อมที่มีคนหลายเชื้อชาติ ซึ่งเปิดกว้างด้านความคิดมากกว่า พิมรู้ว่าคำว่านักกิจกรรมมักจะถูกมองไม่ดีนักในสังคมไทย แต่รอบข้างพิมไม่เป็นปัญหาเลย

 

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังสนใจอยู่ตอนนี้?

 

ตอนนี้งานที่พิมทำเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเยอะ และพิมก็เคยเข้าเวิร์กช็อปเรื่องผู้ลี้ภัย เลยเป็นประเด็นที่พิมค่อนข้างมีความรู้ แม้ว่าจะไม่มากถ้าเทียบกับพี่ๆ คนอื่นๆ ที่นี่ แต่ก็ถือว่ารู้มากขึ้นจากแต่ก่อน พิมคิดว่าเรื่องผู้ลี้ภัยจะเป็นสิ่งที่พิมทำต่อได้ค่ะ

 

อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดนับตั้งแต่ฝึกงานมา?

 

ช่วงสัปดาห์แรกๆ ยากมาก ถึงแม้ว่าพิมจะเคยไปทำงานระยะสั้นๆ มาก่อน แต่ที่นี่พิมจะต้องทำนานถึงสองเดือน งานที่ถูกมอบหมายให้ทำแรกๆ พิมก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี จริงๆ ควรถามพี่เขาแต่เห็นพี่เขางานยุ่ง เลยได้นั่งแต่อยู่กับที่ ไม่รู้จะทำยังไงดี แต่หลังจากนั้นพิมก็เลยเรียนรู้ที่จะถามมากขึ้น และพี่เขาก็เริ่มเชื่อใจว่าพิมทำงานได้ เลยให้รับทำงานแทนไปเลยส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรมากขึ้น แต่บางครั้งพิมก็กลับบ้านไปปวดหัวไป เพราะมีงานที่ต้องทำเยอะ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะที่อย่างน้อยเราก็ได้ทำอะไร (หัวเราะ)

 

คำว่าสิทธิมนุษยชนหมายความอย่างไรสำหรับพิม?

 

ส่วนตัวแล้วคำถามนี้ตอบยาก เพราะมีคำจำกัดความกว้าง ถ้าจะให้นิยาม มันคงหมายถึงโลกที่ทุกๆ คนมีสิทธิมนุษยชน และจะไม่มีสักวันที่จะมีใครเปิดทีวีแล้วเจอข่าวอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนที่เกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้ ถ้าเรามีวันที่เราจะไม่เจออะไรแบบนั้นอีกต่อไป นั่นแสดงว่าเราประสบความสำเร็จแล้วค่ะ

 IMG_20170912_152733 - Copy.jpg


สมัครเป็นนักศึกษาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คลิ้กที่นี่