แอมเนสตี้ ตั้งสำนักงานฮ่องกงแห่งใหม่ในต่างแดน สานต่อภารกิจแก้วิกฤตสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและทั่วโลก

สถานการณ์การปราบปรามสิทธิมนุษยชนอย่างหนักในฮ่องกงเมื่อปี 2564 ส่งผลให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกงต้องตัดสินใจปิดสำนักงานในนครแห่งนี้ ท่ามกลางความกดดันจากอำนาจรัฐที่ยิ่งทวีความเข้มข้น แต่ในปี 2568 แอมเนสตี้กลับมาพร้อมพลังใหม่ ด้วยการเปิดตัว สำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกงในต่างประเทศ (AIHKO) ซึ่งถือเป็นการสานต่อพันธกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างไม่ย่อท้อ พร้อมขับเคลื่อนการสนับสนุนชาวฮ่องกงทั้งที่ยังอยู่ในประเทศและผู้ลี้ภัยทั่วโลกให้เสียงและสิทธิของพวกเขายังคงดังก้องในเวทีนานาชาติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศเปิด “สำนักงานในต่างประเทศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง” (Amnesty International Hong Kong Overseas – AIHKO) อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นความหวังในเรื่องสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ภายหลังได้ปิดสำนักงานในฮ่องกงลงไปเมื่อปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การปราบปรามด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานใหม่แห่งนี้จะดำเนินงานภายใต้การนำของนักกิจกรรมชาวฮ่องกงที่ลี้ภัยในต่างประเทศ มีสำนักงานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน

พันธกิจใหม่ในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนฮ่องกงที่เปลี่ยนไป

ฉีหมั่นลุก ผู้อำนวยการบริหาร AIHKO กล่าวว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนทำให้เกิดการล่มสลายของภาคประชาสังคมในฮ่องกง สิ่งที่เกิดขึ้นคือหายนะและโศกนาฏกรรมที่น่าเจ็บปวดเพราะทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและสื่อมวลชนกว่า 100 แห่งต้องปิดตัว หรือทำให้หลายคนต้องหลบหนีและย้ายออกนอกประเทศภายใต้แรงกดดันของอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม การปิดสำนักงานแอมเนสตี้ ฮ่องกงเดิมในปี 2564 สำหรับเขาคิดว่ายิ่งเป็นแรงผลักที่ทำให้ทีมงานมีพลังในการเดินหน้าภารกิจสิทธิมนุษยชนต่อได้ และสามารถสร้างเครือข่ายใหม่ในต่างแดนที่เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

“การเปิดสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกงในต่างประเทศนับเป็นก้าวสำคัญและเป็นหมุดหมายที่ดีในการสะท้อนถึงพันธกิจที่แน่วแน่ยิ่งขึ้นของเราต่อสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง และเป็นการยืนยันว่าเราจะไม่ทอดทิ้งชาวฮ่องกงที่ต้องพลัดถิ่นทั่วโลก” ฉีหมั่นลุก ผู้อำนวยการบริหารคนใหม่ของ AIHKO กล่าว

สถานการณ์ฮ่องกงในยุคปราบปราม เสียงของผู้ลี้ภัยยังคงไม่เงียบ

ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในฮ่องกงยังคงเป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะนับตั้งแต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 ทำให้มีประชาชนกว่า 10,000 คน โดยเฉพาะเยาวชนและนักศึกษา ถูกจับกุมจากการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทำกิจกรรมประท้วง ในจำนวนนี้พบว่ากว่า 300 คน ถูกตั้งข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” อย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่ โจว ฮั่ง ถึง แกนนำคนสำคัญในฐานะทนายความผู้ยืนหยัดเพื่อความยุติธรรม และ จิมมี่ ไหล นักเคลื่อนไหวด้านสื่อในตอนนั้น ทั้งคู่ถูกดำเนินคดีความด้วยโทษจำคุกเป็นเวลานานจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในตอนนั้นจึงเป็นที่มาที่ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศสถานะให้พวกเขาเป็น “นักโทษทางความคิด” 

นอกจากนี้ยังพบว่าทางการฮ่องกงยังคงใช้นโยบายและกฎหมายตั้งแต่ยุคอาณานิคมมาเป็นอาวุธสำคัญในการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก เช่น กฎหมายยุยงปลุกปั่น รวมถึงได้ทำการออกกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิพลเมืองมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อปราบปรามความคิดเห็นของบุคคลหรือกลุ่มที่เห็นต่างทุกรูปแบบ และถึงขั้นมีการตั้งรางวัลนำจับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการฮ่องกงที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือเดินทางของพวกเขาอีกด้วย

โจอี้ ซิว หนึ่งในคณะกรรมการบริหารสำนักงานฮ่องกง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และหนึ่งในนักกิจกรรม 19 คนที่ถูกตำรวจฮ่องกงตั้งรางวัลนำจับ กล่าวว่า “ภัยคุกคามเหล่านี้ยิ่งทำให้พวกเราแข็งแกร่งขึ้น เป็นเครื่องเตือนใจว่าเสรีภาพของเราถูกพรากไป แม้เราจะออกจากฮ่องกงมาแล้วก็ตาม แต่ความปรารถนาของเราคือต้องการหลุดพ้นจากการกดขี่อย่างแท้จริง ทำให้เราต้องเดินหน้าสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไป ในการทำข้ามพรมแดนและข้ามข้อจำกัดใดๆ เราจะทำงานนี้เพื่อชาวฮ่องกงทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฮ่องกงหรือลี้ภัยไปอยู่ที่ใดในโลก”

แอมเนสตี้ ฮ่องกง (AIHKO)  เป็นสำนักงานแรกของแอมเนสตี้ที่ก่อตั้งและทำงานขณะลี้ภัย

สำนักงานแอมเนสตี้ ฮ่องกง หรือ AIHKO ถือเป็นสำนักงานแห่งแรกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ก่อตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ “ระหว่างการลี้ภัย” เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ชาวฮ่องกงหลายแสนคนต้องย้ายถิ่นฐานในการแสวงหาความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพ

เฟอร์นันโด ชวง อดีตสมาชิกรัฐสภาฮ่องกงและคณะกรรมการบริหาร AIHKO กล่าวว่า สำนักงานฮ่องกงที่อยู่ในต่างประเทศจะช่วยให้การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะสามารถพูดได้อย่างเสรีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เขายืนยันว่าจะทำงานให้หนักขึ้น เพื่อสนับสนุนผู้คนที่ยังอยู่ในฮ่องกง และช่วยให้พวกเขาเดินหน้าทำงานที่สำคัญเหล่านั้นต่อไปได้

 “การอยู่ในต่างประเทศช่วยให้เรามีพื้นที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นในการพูดและรณรงค์เรื่องต่างๆ เรามีหน้าที่ที่ต้องทำมากขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้คนที่ยังคงอาศัยอยู่ในฮ่องกง และทำให้พวกเขายังสามารถเดินหน้าภารกิจที่สำคัญได้ต่อไป”

ปัจจุบัน AIHKO กำลังขยายความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก ที่มุ่งเน้นการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกง โดยเฉพาะองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในต่างประเทศ สะท้อนถึงการหดตัวของพื้นที่ภาคประชาสังคม และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกภายในฮ่องกงอย่างชัดเจน และปัจจุบัน AIHKO ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเป้าหมายสำคัญในการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวฮ่องกง ทั้งที่ยังอยู่ในฮ่องกงและที่ลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ พร้อมเป็นกระบอกเสียงแทนพวกเขา และส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ลี้ภัยในระดับสากล

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าสำนักงานในต่างประเทศของแอมเนสตี้ฮ่องกงคือสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความไม่ยอมจำนน และเจตจำนงอันแน่วแน่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากเพียงใด เซ็คชั่นใหม่นี้รวมถึงรูปแบบการดำเนินงานที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์พิเศษ จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากระบอบอำนาจนิยม ทั้งในฮ่องกงและพื้นที่อื่นทั่วโลก

“สำนักงานใหม่นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่ยอมจำนนของเรา แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคและการปราบปราม เราจะไม่หยุดยั้งในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของทุกคน สำนักงานแห่งใหม่ของแอมเนสตี้ ฮ่องกงในต่างประเทศจะเป็นหัวใจสำคัญในการตอบโต้ระบอบอำนาจนิยมในฮ่องกงและทั่วโลก”

ข้อมูลพื้นฐาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง ได้ยุติการดำเนินงานลงตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สำนักงานภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้ย้ายฐานปฏิบัติงานไปยังสำนักงานอื่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและยุโรป เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำหรับแนวทางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเด็น “นักโทษทางความคิด” กำหนดว่า หมายถึง บุคคลใดก็ตามที่ถูกคุมขังเพียงเพราะความเชื่อส่วนบุคคล อัตลักษณ์ หรือสถานะของตนเอง โดยที่พวกเขาไม่ได้ใช้ความรุนแรง หรือสนับสนุนความเกลียดชังหรือความรุนแรงในทุกรูปแบบ และการคุมขังนั้นเกิดขึ้นจากเจตนาที่จะปิดปากพวกเขา

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ:

[email protected]
[email protected]
+44 07472 681674

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน