การโจมตีทางทหารที่ไร้มนุษยธรรมในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวกำลังขัดขวางการบรรเทาสาธารณภัย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการโจมตีทางอากาศและการโจมตีรูปแบบอื่น ๆ ต่อพลเรือนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระดับ 7.7 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้เร่งส่งความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนที่อยู่ในเขตที่เป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมาโดยเร็วที่สุด

จากการสัมภาษณ์บุคคลในพื้นที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบหลักฐานที่สนับสนุนรายงานที่ว่า กองทัพเมียนมายังคงดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก และสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้รอดชีวิต

โจ ฟรีแมน นักวิจัยประเทศเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า กองทัพเมียนมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและให้ความสำคัญสูงสุดกับการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้รอดชีวิต

“กองทัพเมียนมาไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือด้วยมือข้างหนึ่ง ในขณะที่ใช้มืออีกข้างหนึ่งทิ้งระเบิด ด้วยการโจมตีทางอากาศ และยังมีการโจมตีต่อพลเรือนในพื้นที่แผ่นดินไหว การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ และแสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง” 

จากรายงานของสื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,065 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 3,900 คน ซึ่งในแต่ละวันพบจำนวนผู้บาดและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหาการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าตัวเลขที่แท้จริงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่แนวรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งอยู่ในแถบมัณฑะเลย์ในเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากในตอนกลางของเมียนมา นอกจากนี้ยังมีรายงานความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา รวมถึงบางพื้นที่ในรัฐฉานและภาคพะโค

ปัจจุบัน การโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในเมียนมา ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ที่กำลังมีการช่วยชีวิตหลังเหตุแผ่นดินไหว และในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ รวมทั้งในรัฐกะเหรี่ยงและคะเรนนี 

เสียงดัง ‘เหมือนเลื่อยยนต์’

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ทำสงครามอย่างหนักกับกลุ่มต่อต้านที่ติดอาวุธในภาคสะกายและตอนกลางของประเทศ ส่งผลให้เกิดการโจมตีทางอากาศที่มิชอบด้วยกฎหมาย การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และการวางเพลิงเผาบ้านเรือนอย่างกว้างขวาง ในบางกรณี กองกำลังที่ต่อสู้กับกองทัพก็ถูกกล่าวหาว่าทำสิ่งที่มิชอบเหล่านั้นเช่นกัน

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า ต้องหลบหาที่กำบังเมื่อเกิดการโจมตีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งมีการโจมตีเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเช้าของวันอังคาร (1 เมษายน) และเกิดขึ้นในวันที่เกิดแผ่นดินไหวเช่นกัน โดยเป็นการโจมตีด้วยเครื่องร่อนขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมีพลขับ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า “การโจมตีด้วยพารามอเตอร์” เป็นยุทธวิธีใหม่ที่กองทัพเมียนมานำมาใช้ในภาคกลางของเมียนมา เพราะลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงอากาศยาน

“ฉันได้อยู่ในที่หลบภัยใต้ดิน [ระหว่างการโจมตี] จากนั้นได้ยินเสียงเครื่องยนต์บินผ่านหมู่บ้าน เสียงนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ที่ต้องเอาตัวรอดจากการโจมตีทางอากาศ ที่ผ่านมาฉันไม่รู้ว่าทำไมการโจมตียังไม่หยุดเสียที”

พยาบาลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการอารยะขัดขืน เล่าว่าการโจมตีด้วยพารามอเตอร์เกิดขึ้นในช่วงค่ำภายหลังแผ่นดินไหว รวมถึงครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ในครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตี เนื่องจากชุมชนมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ

“ฉันรู้สึกไม่สบายใจเลย ทุกคนในหมู่บ้านต่างหวาดกลัวทั้งจากการโจมตีและแผ่นดินไหว”

เธอกล่าว

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพ ที่จัดตั้งขึ้นหลังการทำรัฐประหารปี 2564  เพื่อกำกับดูแลกองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ติดอาวุธได้ประกาศยุติการโจมตีเป็นเวลาสองสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม และในวันที่ 1 เมษายน “กองกำลังสามพี่น้อง” ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ประกาศหยุดยิงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเวลาหนึ่งเดือน ยกเว้นในกรณีที่ต้องป้องกันตัวเอง

แต่แม้จะมีการหยุดยิง ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงมีข้อจำกัด เพราะมีรายงานว่ากองทัพเมียนมามักขัดขวางการบรรเทาทุกข์และกลับคำประกาศขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของแอมเนสตี้รายงานว่า ความช่วยเหลือไปถึงพื้นที่ได้รับผลกระทบบางส่วนเท่านั้น ขณะที่การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตถูกจำกัด และบางกรณีทางการยังขัดขวางหรือสกัดกั้นความช่วยเหลือ

‘สถานการณ์คล้ายกับตอนที่เกิดโรคโควิด-19’

ตรงข้ามกับการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามข้อมูลที่แอมเนสตี้เคยบันทึกไว้  ครั้งนี้กองทัพเมียนมากลับได้ออกมาประกาศขอรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และแอมเนสตี้ได้รับข้อมูลว่ามีการส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบางส่วน แต่มีไม่ทั้งหมด รวมทั้งยังมีปัญหาการติดต่อทางอินเทอร์เน็ต และมีรายงานว่าทางการได้ขัดขวางหรือสกัดการส่งความช่วยเหลือบางส่วน

แอมเนสตี้ได้พูดคุยกับชาวบ้านสามคนที่เมืองสะกาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคสะกาย ทั้งยังได้อ่านรายงานการให้ความช่วยเหลือของกลุ่มประสานงานที่นำโดยภาคประชาสังคมของเมียนมาซึ่งระบุว่า ในเมืองสะกายได้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นถุงใส่ศพ ผงปูนขาว ไฟฉาย เวชภัณฑ์ และยากันยุง 

รายงานยังระบุอีกว่า กองทัพที่มีอำนาจควบคุมเหนือเมืองแห่งนี้เป็นส่วนใหญ่ใช้มาตรการ “สอดส่องอย่างเข้มงวด” ต่อรถขนาดเล็กที่เดินทางจากมัณฑะเลย์ไปเมืองสะกาย โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะขอตรวจดูสิ่งของที่จัดส่ง และการตรวจสอบอาจใช้เวลานานขึ้น หากเป็นการจัดส่งสิ่งของที่มาจากพื้นที่อื่นๆ ของภาคสะกายที่มีเส้นทางเชื่อมโยงไปยังกลุ่มต่อต้าน

ชาวบ้านเล่าอีกว่าตอนนี้ในเมียนมาหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และไฟฟ้า ชาวบ้านบางส่วนต้องใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กแทน ในขณะที่คนอีกจำนวนมากต้องอาศัยนอนอยู่ริมถนนโดยใช้เสื่อ ผ้าใบ และกางมุ้งกันยุง

“สภากาชาดเมียนมาส่งเจ้าหน้าที่มาที่นี่ และภาคประชาสังคมในสะกายก็ยังทำงานอย่างเข้มแข็ง แต่ยังไม่เห็นกลุ่มช่วยเหลือจากนานาชาติเข้ามาเลย”

ชาวบ้านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม

“ประชาชนไม่สามารถซื้ออาหารและน้ำดื่มได้ เพราะไม่มีใครขาย”

ชาวบ้านอีกคนซึ่งช่วยจัดส่งความช่วยเหลือกล่าวว่า ประชาชนต้องการอาหารแห้ง เช่น อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยกลุ่มในพื้นที่ต้องใช้อุปกรณ์ของตัวเองในการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิต และแม้จะมีรายงานว่า หน่วยงานระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้จัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังเมืองสะกาย แต่จนถึงวันที่ 31 มีนาคม ยังไม่มีใครพบเห็นพวกเขาในพื้นที่ ขณะที่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์คนหนึ่งได้เล่าถึงสภาพน่าหวาดกลัวในโรงพยาบาลจังหวัดสะกายหลังแผ่นดินไหวว่า

“สถานการณ์ในโรงพยาบาลเหมือนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีศพกองอยู่เต็มไปหมด เราไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร หรือใครเป็นคนเอาศพมาไว้ โรงพยาบาลเพียงแต่นำศพมาวางไว้ในห้องฌาปนกิจ”

เธอยังเล่าว่า หมอบอกให้ธอต้องผ่าคลอดและต้องเดินทางไปมัณฑะเลย์ แต่เธอไม่สามารถไปได้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม เธอยังคงต้องพักอาศัยอยู่กลางแจ้งภายในพื้นที่ของโรงพยาบาล

“สิทธิมนุษยชนได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงวิกฤตและภัยฉุกเฉิน กองทัพเมียนมาและทุกฝ่ายในความขัดแย้งต้องตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของประชาชนทุกชุมชน และรับประกันว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะไปถึงทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ”

“ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการจัดส่งความช่วยเหลือจากนานาประเทศ รวมถึงน้ำสะอาด อาหาร ยารักษาโรค และเงินช่วยเหลือ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุดในสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้โดยทันที”