ปฏิบัติการด่วน! ผู้ลี้ภัยชาวจีนเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับ

2 ตุลาคม 2561

หยางจงและหวูยูฮัว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีนได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR พวกเขาถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองระหว่างอยู่ในประเทศไทย และอาจถูกส่งตัวกลับไปประเทศจีน ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและถูกทรมาน

 

หวูยูฮัว (吴玉华) หรือที่มักรู้จักกันในชื่ออ้ายหวู่ (哎乌) และหยางจง (杨崇) เป็นคู่สามีภรรยา ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเบื้องต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 โดยในวันดังกล่าว พวกเขาอยู่ระหว่างช่วยเหลือนักกิจกรรมชาวจีนอีกคนหนึ่งที่กำลังยื่นจดหมายกับสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ เพื่อขอความคุ้มครองให้ผู้ลี้ภัย และต่อมาได้เดินทางพร้อมนักกิจกรรมคนดังกล่าวไปที่โรงพักในพื้นที่ ตำรวจพบว่าคู่สามีภรรยามีเอกสารการเดินทางไม่ถูกต้อง และดำเนินคดีกับนางหวูในข้อหา “เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และ “พำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมาย” และดำเนินคดีกับนายหยางในข้อหา “พำนักอาศัยเกินที่ได้รับอนุญาต” นางหวูได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่นายหยางยังถูกควบคุมตัวต่อไป ทั้งคู่เสี่ยงจะถูกบังคับส่งกลับไปประเทศจีน หรืออาจต้องถูกควบคุมตัวในระยะเวลาที่ไม่จำกัดในประเทศไทย ก่อนจะถูกส่งกลับหรือได้รับที่พำนักอาศัยในประเทศที่สาม

 

ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางออกจากเมืองจีนมายังประเทศไทย ในปี 2558 นายหยางถูกทางการจีนควบคุมตัวโดยพลการและทรมาน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบทางภาคใต้ของจีนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน นางหวูก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และได้ทำงานรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ทั้งคู่ต่างได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ในเดือนกันยายน 2559 ระหว่างอยู่ในเมืองไทย ทั้งคู่ยังคงรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในเมืองจีน เมื่อคำนึงถึงการเคลื่อนไหวของพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองจีน มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า หากถูกส่งกลับไปประเทศจีน พวกเขาจะถูกดำเนินคดีอาญา ถูกควบคุมตัว และเสี่ยงที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม และตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลกรณีนักกิจกรรมชาวจีนที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับไปประเทศจีน ตามคำร้องขอของรัฐบาลจีน และพบว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายปี และสุดท้ายถูกศาลสั่งจำคุกเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ

 

โปรดเขียนจดหมายทันทีในภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาของท่านเอง เรียกร้องทางการให้   

  • ให้ปล่อยตัวหยางจงโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้ยกเลิกการจำกัดสิทธิและการดำเนินคดีใด ๆ ต่อเขาและหวูยูฮัว
  • ไม่ให้ส่งหยางจงและหวูยูฮัวกลับไปประเทศจีนหรือประเทศอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า จะทำให้พวกเขาถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
  • ให้ภาคยานุวัติอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย และพิธีสาร พ.ศ. 2510  

 

กรุณาส่งจดหมายของท่านก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ไปที่

นายกรัฐมนตรี

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำเนียบรัฐบาล

ถนนพิษณุโลก ดุสิต

กรุงเทพฯ  10300

โทรสาร +66 2 288 4323

อีเมล์: spmwebsite@thaigov.go.th   

คำขึ้นต้น: เรียน นายกรัฐมนตรี

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ถนนอัษฎางค์

พระนคร

กรุงเทพฯ 10200

ประเทศไทย

โทรสาร: +66 2 221 0823

คำขึ้นต้น: เรียนรัฐมนตรี

 

และสำเนาจดหมายถึง  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย 

กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา

กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย

อีเมล์ minister@mfa.go.th

คำขึ้นต้น: เรียน รัฐมนตรี

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

หยางจงตกเป็นเป้าหมายของทางการจีน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบในภาคใต้ของประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในปี 2554 ทางการจีนได้เรียกตัวและควบคุมตัวเขาหลายครั้ง เนื่องจากการเข้าร่วมกับ “ขบวนการถนนในเมืองใต้” ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงโดยการถือป้ายผ้าตามถนน เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและการส่งเสริมสิทธิ ในปี 2555 ศาลสั่งจำคุกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากการจัดประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยทรัพย์สินส่วนตัว หลังพ้นโทษเมื่อปี 2556 นายหยางยังคงเข้าร่วมกับการรณรงค์เพื่อสิทธิต่อไป ถูกเรียกตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังถูกควบคุมตัวโดยพลการ และถูกซ้อมโดยทางการ ในปี 2557 มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบชื่อได้จับตัวเขา ระหว่างที่เขาเดินทางไปสนับสนุนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิด้านที่ดิน และได้เอาผ้าคลุมศีรษะเขา ใช้เทปกาวปิดปากและจมูกของเขา และได้มัดมือมัดเท้าเอาไว้ พร้อมกับนำตัวไปยังสถานที่ซึ่งไม่ปรากฏชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อมูลการควบคุมตัวนายหยางเมื่อปี 2555 ก่อนการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติ และการประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองของประชาชนจีน และในปี 2557 ก่อนจะถึงวาระครบรอบ 25 ปีของการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนเหมิน ดูเหมือนว่าการควบคุมตัวทั้งสองครั้งมีจุดมุ่งหมาย เพื่อขัดขวางไม่ให้เขาทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หวูยูฮัวเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และทำงานเป็นตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งการรณรงค์ให้กับเกาฟีเสียง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีน และเกาจีเฉิง ทนายความสิทธิมนุษยชน

 

ในปี 2558 ทางการได้ควบคุมตัวสามีภรรยาคู่นี้หลายครั้ง และโยกย้ายพวกเขาออกไปจากเมืองกวางเจา ระหว่างที่เตรียมจัดเลี้ยงงานแต่ง เพื่อหลบหนีการคุกคามและการประหัตประหารจากทางการ ทั้งคู่จึงเดินทางมายังเมืองไทยหลังจากปีดังกล่าว เพื่อแสวงหาที่ลี้ภัย

 

ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย และไม่มีกรอบกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อให้ที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยซึ่งไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ ย่อมเสี่ยงต่อการจับกุม การควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด ต้องอยู่ในสภาพที่เลวร้ายและเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับ

 

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันของรัฐบาลจีน หลักการนี้ห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ๆ กรณีที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะเป็นเหตุให้ถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 แต่ยังมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และมีผลบังคับใช้ต่อทุกประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อห้ามไม่ให้มีการควบคุมตัวโดยพลการ และการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีอื่น ๆ

 

ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 รัฐบาลไทยได้บังคับส่งกลับตงกวงปิงและเจียงยีเฟยไปประเทศจีน แม้ว่านักกิจกรรมทั้งสองคนจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว ทั้งยังเข้าสู่กระบวนการเร่งรัดเพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยในประเทศที่สาม โดยมีกำหนดการเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 18 พฤศจิกายน ภายหลังถูกบังคับส่งกลับจากประเทศไทย ทั้งนายตงและนายเจียงถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาเป็นเวลาเกือบสามปี ก่อนจะถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนของรัฐ ตงกวงปิงถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ยุยงให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาล” และ “เดินทางข้ามพรมแดนประเทศอย่างผิดกฎหมาย” เนื่องจากไปเข้าร่วมการชุมนุมสองครั้งในประเทศไทยเมื่อปี 2558 โดยรัฐบาลจีนมองว่าเป็นการชุมนุมที่มีเป้าหมายเพื่อ “โค่นล้มอำนาจรัฐ” และ “โค่นล้มระบอบสังคมนิยม” ครอบครัวและทนายความของนายตงไม่ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีหรือการกำหนดบทลงโทษแต่อย่างใด เขาถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก นับแต่ถูกบังคับส่งกลับจากประเทศไทย และมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย