ม็อบดาต้า ไทยแลนด์ยื่นรายงานสังเกตการณ์ชุมนุมต่อสภาและ กสม. ชี้มีการละเมิดสิทธิการชุมนุมและขัดมาตรฐานสากล

6 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

 

ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โครงการม็อบดาต้า ไทยแลนด์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ILaw) มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุม บันทึก เเละเผยแพร่รายละเอียดต่อสาธารณะ ได้ยื่นรายงานไปยังสภาผู้เเทนราษฎร์เเละคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญโดยเฉพาะสิทธิในการใช้เสรีภาพด้านการชุมนุมเเละการเเสดงออก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 - กรกฎาคม พ.ศ. 2564 หลังพบการจำกัดและละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรการที่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การดำเนินคดีกับเด็กเเละเยาวชน การบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม การรวมกลุ่ม เเละการเเสดงออก การควบคุมตัวโดยพลการเเละการยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 

 

นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวได้ส่งเสียงดังและสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างให้กับสังคม ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เด็กและเยาวชนกลายเป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมผ่านการชุมนุมโดยสงบ  แต่กลับถูกดำเนินคดีด้วยความผิดอาญาหลายข้อหา รวมเเล้วอย่างน้อย 51 คน ใน 47 คดี ในจำนวนนี้ เด็กที่อายุน้อยที่สุด คือ 14 ปี ซึ่งถูกเเจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และอย่างน้อย 33 คนถูกจับกุมโดยไม่มีหมายศาล  17 คน ถูกควบคุมตัวในสถานที่อื่น ซึ่งไม่ใช้สถานที่ที่ใช้ในการสอบสวนคดีอาญาปกติ เด็กเเละเยาวชนยังตกเป็นเหยื่อจากการยุติหรือ ‘สลายการชุมนุม’ หลายครั้ง เด็กที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 7 ขวบ ได้รับบาดเจ็บจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม บริเวณ รัฐสภา (แยกเกียกกาย) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563  ปัจจุบันคดีเด็กและเยาวชนยังไม่ได้รับการพิจารณาเพื่อยุติการสอบสวนหรือดำเนินคดี ทำให้เด็กเเละเยาวชนอย่างน้อย 4 คนถูกสั่งฟ้องว่ากระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมถึงมาตรา 112 อีกด้วย

 

รายงานยังได้ระบุถึงการบังคับใช้กฎหมายทับซ้อนระหว่างพระราชกำหนดดังกล่าว และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งได้นำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 38 คดี รวมเเล้วมีผู้ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน อย่างน้อย 511 คน ใน 165 คดี (ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2563-18 กรกฎาคม 2564) แม้จะไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าการชุมนุมดังกล่าวได้นำไปสู่การระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งนับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือบัญญัติไว้

 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหลายกรณี ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเสมือนเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายแล้ว นำมาสู่การสลายการชุมนุมทั้งหมดอย่างน้อย 21 ครั้ง (ข้อมูลจนถึง เดือนสิงหาคม 2564)  โดยเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ทั้งกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าจัดการกับผู้ชุมนุมโดยไม่เเยกแยะระหว่างผู้ชุมนุมเเละบุคคลซึ่งต้องสงสัยว่าอาจใช้ความรุนเเรง ขัดต่อหลักการตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ซึ่งออกโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกอบการตีความข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ต้องอำนวยให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ มาตรการที่ใช้เพื่อยุติความรุนเเรงจึงต้องใช้เเต่เฉพาะบุคคลที่ก่อความรุนเเรงเท่านั้น ตามหลักความจำเป็นเเละได้สัดส่วน 

 

อีกทั้งแนวปฏิบัติในการควบคุมตัวผู้ชุมนุมนั้น ยังกลายเป็นปฏิบัติการที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมเเละควบคุมตัวผู้ชุมนุมหรือผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุมได้โดยพลการ ทั้งการจับกุมผู้ชุมนุมโดยระบุว่ากระทำความผิดซึ่งหน้า การนำตัวไปควบคุมไว้ในกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด.ภาค1) จังหวัดปทุมธานี และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) รวมแล้วกว่า 335 คน อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบว่าผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กหรือเยาวชนหรือไม่ ทำให้มีเด็กเเละเยาวชนถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ใหญ่ในสถานที่ดังกล่าวซึ่งความช่วยเหลือทางกฎหมายเเละสิทธิในการพบผู้ปกครองถูกปิดกั้น อีกทั้งยังมีการรายงานถึงการปฏิบัติที่โหดร้ายและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะการจับกุมสมาชิกกลุ่ม We Volunteer หรือมวลชนอาสา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ผู้ถูกจับกุมระบุว่าถูกบังคับให้นอนราบกับพื้น คาบสิ่งของในปาก และจำกัดการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก 

 

สุดท้ายเเล้ว มาตรา 16 ประกอบกับมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548ยังกำหนดยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายเเละทางวินัยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามพระราช-
กำหนดนี้ด้วยความสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควร แก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ซึ่งนำมาสู่การสร้างภาวการณ์ลอยนวลพ้นผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งอาจกระทำการด้วยความรุนเเรงจนเกินสมควรแก่เหตุในการสลายการชุมนุม จับกุมเเละควบคุมตัวผู้ชุมนุมตามรายละเอียดข้างต้น 

 

จากข้อมูล สถิติ ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นทางกฎหมาย ทางม็อบดาต้า ไทยแลนด์ได้ยื่นข้อเสนอแนะ (หรือเรียกร้อง) ต่อทางการไทย ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 

 

  1. จัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาเหตุในการควบคุมการชุมนุม 

  2. กำหนดให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการค้นหาความจริงในเหตุที่เกิดขึ้น 

  3. กำหนดแผนและนโยบายที่ชัดเจนในการอำนวยให้ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทั้ง 21 ครั้ง เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความรับผิดและหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน 

  4. จัดทำและเผยแพร่รายงานซึ่งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการในข้อ 1ต่อสาธารณะ 

  5. วางแผนในการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายซึ่งไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และ ยกเลิกบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ

 

ตามพันธกรณีหว่างประเทศซึ่งประเทศได้ให้สัตยาบันและลงนามไว้กว่า  7 ฉบับ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพ ปกป้อง เเละส่งเสริมให้บุคคลทุกคนสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพของตนหรือโดยร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติและเปิดพื้นที่ให้มีการเเสดงออกเเละสมาคมได้อย่างไม่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ