แอมเนสตี้ชี้วิกฤตโรฮิงญาคือความน่าอับอายของเหล่าผู้นำโลก

18 กันยายน 2560

 

แอมเนสตี้ชี้การล้มตายของชาวโรฮิงญาคือความน่าอับอายของ UN ที่ทำตามสัญญาในการปกป้องผู้ลี้ภัยไม่ได้ ย้ำประเทศร่ำรวยยังคงผลักภาระการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้ประเทศยากจน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเนื่องในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 72 โดยระบุว่าการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมาซึ่งก่อให้เกิดผู้ลี้ภัยระลอกใหญ่นั้นเป็นความน่าอับอายของเหล่าผู้นำโลก โดยเฉพาะประเทศร่ำรวย ที่ต่างล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

 

จากข้อมูลพบว่าการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระลอกล่าสุดในรัฐยะไข่ของเมียนมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย และมีประชาชนที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยเกือบ 400,000 คนตลอดช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่หนีไปยังยุโรปทางเรือตลอดปี 2559 เลยทีเดียว

 

ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่หนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศยากจนถูกทิ้งให้ต้องรับมือกับวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ ขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป กลับมีท่าทีเพิกเฉยและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยน้อยลง

 

“ประเทศยากจนและรายได้น้อยอย่างบังกลาเทศ ยูกันดา และเลบานอน ถูกทอดทิ้งให้ต้องรับมือกับจำนวนผู้ลี้ภัยมหาศาล ประเทศร่ำรวยซึ่งรองรับผู้ลี้ภัยน้อยกว่าจึงควรหันมาให้ความช่วยเหลือด้านการตั้งถิ่นฐานใหม่มากขึ้น แต่ผู้นำประเทศร่ำรวยต่างๆ ยังคงเพิกเฉยราวกับว่าวิกฤตการณ์นี้ไม่มีอยู่จริง”

 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ สัญญาว่าจะรองรับผู้ลี้ภัยให้ได้ราว 360,000 คน แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง หลายประเทศไม่ตอบสนองแต่วิกฤตผู้ลี้ภัย และหลายประเทศยังพยายามลิดรอนสิทธิผู้ภัยมากขึ้นเสียเอง เช่น สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่ลดการรับผู้ลี้ภัยจาก 110,000 คนเหลือเพียง 50,000 คนต่อปี หรือออสเตรเลียที่ขังผู้ลี้ภัยเอาไว้ที่ศูนย์กักกันนอกชายฝั่งซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่อันตราย เป็นต้น