ในยุคที่สิทธิมนุษยชนมืดมน ผู้หญิงคือพลังขับเคลื่อนอาเซียน

13 มีนาคม 2560

 

เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “วันสตรีสากล” ทั่วโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอยกตัวอย่างนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงหกคนในอาเซียนที่ต้องเผชิญกับการคุกคาม ข่มขู่ กักขัง และความรุนแรง เพียงเพราะพวกเธอออกมายืนหยัดปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมภาค

 

แชมพา พาเทล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า “ในภูมิภาคอาเซียน มีรัฐบาลแค่ไม่กี่ประเทศที่สามารถภูมิใจกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของตัวเองได้ ขณะที่อีกหลายประเทศ ผู้หญิงจำนวนมากต่างลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญและเผชิญอันตรายมากมายเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม”

 

“ในโอกาสวันสตรีสากลปีนี้ เราขอชื่นชมผู้หญิงหกคนจากหกประเทศที่แสดงความกล้าหาญจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วทั้งอาเซียน การทำเพื่อสังคมของพวกเธอสมควรได้รับการยกย่อง ไม่ใช่ประณาม” แชมพา พาเทล กล่าวทิ้งท้าย

 

หกนักนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงหกคนจากหกประเทศ ได้แก่:

 

ไทย: ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน)

113_1.jpg

เธอคือทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือลูกความหลายคนที่ถูกสอบสวนและดำเนินคดีจากการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของภาคประชาสังคมในไทย ทนายจูนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีจากข้อหากบฏและละเมิดคำสั่งห้าม “ชุมนุมทางการเมือง” เกิน 5 คนของ คสช. โดยการตั้งข้อหาดังกล่าวชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ทนายความอย่างสุจริตของเธอ

ไม่ใช่แค่ทนายจูนเท่านั้น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในประเทศไทยอีกหลายคนอย่างพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ ก็ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องทางอาญาและการคุกคามรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกัน

 

มาเลเซีย: มาเรีย ชิน อับดุลลาห์

 

คุณแม่ลูกสามวัย 60 ปี เธอถูกจับขังเดี่ยวโดยไม่มีการพิจารณาคดีนาน 11 วันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 หลังเป็นผู้นำในการประท้วง Birsih เรียกร้องการปฏิรูปการเลือกตั้งและระบบธรรมาภิบาล ซึ่งมีชาวมาเลเซียเข้าร่วมหลายแสนคน

มาเรียถูกจับภายใต้กฎหมายความมั่นคงในข้อหาบ่อนทำลายประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และกฎหมายมาตรการพิเศษรักษาความมั่นคง (SOSMA) โดยกฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายป่าเถื่อนที่เปิดช่องให้ให้มีการคุมขังในสถานที่ลับเป็นเวลานานได้โดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรม

มาเรียถูกจับพร้อมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ อีก 14 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประท้วง Birsih และก่อนหน้านี้ เธอเคยถูกทางการสอบสวนมาแล้วหลายครั้งจากการมีส่วนร่วมกับการชุมนุมอย่างสงบครั้งก่อนๆ ในมาเลเซีย

 

 

กัมพูชา: เทพ วันนี

 

เทพเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย เธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นความพยายามของรัฐในการปิดปากเธอแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณอันน่ากลัวไปยังนักกิจกรรมในกัมพูชาคนอื่นๆ ด้วย

 

เทพและสมาชิกชุมชนของเธอได้ร่วมกันประท้วงต่อต้านการไล่ที่รอบทะเลสาบบึงกากตลอดช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบตกเป็นเป้าการดำเนินคดีและจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมจากทางการ แต่จนถึงทุกวันนี้ พวกเธอก็ยังยืนหยัดเพื่อสิทธิและความยุติธรรมต่อไป

 

 

ฟิลิปปินส์: ส.ว. เลลา เด ลิมา

405.jpg

สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีนำกระทรวงยุติธรรม และอดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์คนนี้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังออกมาคัดค้านนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ของประธานธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต จนกระทั่งถูกจับในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

 

ปัจจุบัน เลลาถูกคุมขังที่เรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา และอาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 12 ปี เธอยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเองมาโดยตลอดและเชื่อว่าการจับกุมเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เธอระบุด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างที่น่ากลัวของรัฐบาลที่ลุแก่อำนาจและล้มเหลวทางจริยธรรม

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีดูแตร์เตพูดให้ร้ายเลลาหลายครั้ง เพียงเพราะเธอออกมาวิจารณ์นโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดเขาปราศรัยกับกลุ่มผู้สนับสนุนว่าหากเขาเป็นเลลา เขาคงจะ “แขวนคอตาย” ไปแล้ว

 

 

เวียดนาม: เจิ่น ที งา

 

นักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดินและประชาธิปไตย เธอถูกตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบทำร้ายร่างกายต่อหน้าลูกๆ สี่คน จนเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอถูกจับกุมด้วยข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลซึ่งเป็นข้อหาถูกใช้เพื่อคุมขังผู้เห็นต่างเป้นระยะเวลานานๆ โดยเธอถือเป็นหนึ่งในนักโทษทางความคิด 93 คนที่ถูกกักขังอยู่ในเวียดนาม

 

เธอเริ่มศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้วยตัวเองระหว่างรักษาตัวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ตอนไปขายแรงงานที่ไต้หวันและสงสัยว่าตัวเองอาจถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เมื่อเธอเดินทางกลับประเทศจึงได้เข้าร่วมกับเครือข่ายหญิงในการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

เมียนมา: ไว ไว นู

 

ไว ไว นูเธอกลายเป็นนักโทษทางความคิดหลังถูกรัฐบาลทหารเมียนมาจับและคุมขังเมื่อปี 2548 เธอถูกปฏิเสธการเข้าถึงทนายความและถูกห้ามไม่ให้พูดระหว่างการพิจารณาคดี ในตอนนั้น ไว ไว นูเป็นนักศึกษากฎหมายวัยเพียง 18 ปี พวกเขาบอกเธอว่าจะต้องถูกขังในคุกที่แน่นหนานานถึง 17 ปี

 

ต่อมาในปี 2555 เธอได้รับอิสรภาพหลังเมียนมาเริ่มปฏิรูปประเทศ เธอตั้งใจว่าจะต่อสู้กับความอยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เธอต้องประสบพบเจอตลอดเวลาที่อยู่ในคุก ตอนนี้เธอจบกฎหมายแล้วและได้ก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสองแห่งได้แก่ องค์กรผู้หญิงเพื่อสันติภาพรัฐอาระกัน และองค์กรยุติธรรมเพื่อผู้หญิง

 

ไว ไว นูและครอบครัวของเธอเป็นชาวโรฮิงญา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกทางการเมียนมากดขี่อย่างรุนแรงมานานหลายปี ปัจจุบัน เธอได้รับการยกย่องในฐานะนักรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมที่กล้าหาญและมีโวหารดี