จดหมายเปิดผนึก: ชีวิตชาวโรฮิงญาเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล

5 พฤษภาคม 2563

Amnesty International 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์เลสเต ไทย ศรีลังกา และเวียดนาม แสดงความกังวลถึงชีวิตชาวโรฮิงญาเสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล โดยส่งข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนภายใต้มาตรฐานระหว่างประเทศและพันธกิจต่อภูมิภาค  

แคลร์ อัลการ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย รณรงค์ และนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่าเรือประมงหลายลำที่บรรทุกหญิงชายและเด็กหลายร้อยคนซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญา ติดอยู่กลางทะเลหลังถูกรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ผลักดันออกนอกชายฝั่งและปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่ง โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้ร่วมมือทำงานและดำเนินการโดยทันที เพื่อคุ้มครองชีวิตบุคคลที่เสี่ยงภัยอยู่กลางทะเล โดยจำเป็นต้องมีมาตรการระดับประเทศและภูมิภาคที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าเมืองและผู้ขอลี้ภัย รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้เพื่อแก้ไขสาเหตุของวิกฤติในครั้งนี้ 

 

“ที่ผ่านมาหลายประเทศในภูมิภาคได้ดำเนินการอย่างน่าชื่นชมเพื่อให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่หลบหนีจากการเลือกปฏิบัติและการประหัตประหารมานับทศวรรษ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายร้อยชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้งและสะท้อนให้เห็นการขาดมาตรการประสานงานรับมือ นับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องร่วมมือกันดำเนินการตามกรอบการคุ้มครองระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองอย่างสอดคล้องตามกฎบัตรอาเซียนที่เคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” 

 

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรประกันว่า มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้สัดส่วน ไม่เลือกปฏิบัติ และมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่อาจถูกใช้เป็นเหตุผลให้รัฐปฏิเสธไม่ให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง การบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในเรือต่อไปยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิทธิด้านสุขภาพของพวกเขาและอาจเสี่ยงต่อสิทธิในชีวิต”แคลร์ อัลการ์กล่าว 

 

นอกจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังนี้

  • ประสานงานปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเพื่อค้นหาและช่วยเหลือเรือที่เสี่ยงภัย ให้สอดคล้องตามปฏิญญาระดับภูมิภาคและกฎหมายระหว่างประเทศ
  • อนุญาตให้เรือที่บรรทุกผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัยในประเทศที่ใกล้สุด และไม่ผลักดันเรือออกนอกชายฝั่ง ไม่คุกคามหรือข่มขู่พวกเขา
  • จัดให้มีหรือประกันให้มีเสบียงที่จำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง ทั้งอาหาร น้ำ ที่พักพิง และบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ
  • ประกันว่าผู้ที่สมัครขอลี้ภัยสามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นธรรม
  • เคารพหลักการไม่ส่งกลับ โดยประกันว่าจะไม่มีการส่งบุคคลไปยังสถานที่ใด ๆ รวมถึงประเทศต้นทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงภัยต่อชีวิตของพวกเขาหรืออาจเป็นเหตุให้ถูกทรมานหรือประหัตประหาร
  • ประกันว่าบุคคลจะไม่ถูกเอาผิดทางอาญา ถูกควบคุมตัว หรือถูกลงโทษเพียงเพราะวิธีการเข้าเมืองของพวกเขา
  • จัดทำกลไกฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการเดินเรือในภูมิภาคในอนาคต
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 พร้อมทั้งพิธีสาร พ.ศ. 2510 และอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของบุคคลไร้สัญชาติ และดำเนินการตามกฎบัตรในระดับกฎหมาย นโยบาย และการดำเนินงานของภาครัฐ
  • ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐ และมีความเชี่ยวชาญในการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะต่อไปนี้สำหรับรัฐบาลบางประเทศ

  • เวียดนามในฐานะเป็นประธานอาเซียน ควรเรียกประชุมด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องตามกฎบัตรอาเซียน (ซึ่งระบุว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียนมีขึ้นเพื่อ...แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่ออาเซียน โดยให้มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม”)
  • เมียนมาต้องยุติการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบและการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญา และรับประกันว่าหน่วยงานด้านมนุษยธรรม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และผู้สื่อข่าว รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอื่น ๆ สามารถเข้าถึงรัฐยะไข่ได้อย่างเสรีและไม่มีการปิดกั้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะต่อไปนี้สำหรับทุกรัฐ

  • เพิ่มจำนวนการรับผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมโดยอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมกัน
  • ให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความช่วยเหลือทางวิชาการและทางการเงินกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต และเพื่อการตอบสนองความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองในภูมิภาค

 

 

จดหมายฉบับเต็ม