ยกย่องบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในการสกัดโรคโควิด-19

7 เมษายน 2563

Amnesty International Thailand

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็น วันอนามัยโลก (World Health Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ตั้งแต่การควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ปีนี้องค์การอนามัยโลกนิยามให้ ปี 2563 เป็น “ปีแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์” อีกทั้งยังครบรอบ 200 ปีเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363) ผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่และยกระดับวิชาชีพพยาบาล

 

เพื่อเป็นการยกย่องหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่เป็นด่านหน้าในสกัดโรคโควิด-19  พวกเขาให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ อย่างน่านับถือ พวกเขาต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องแม้มีความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและครอบครัว การทำงานเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน แรงกดดันด้านจิตใจและความเหนื่อยล้า โดยมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนติดไวรัสนี้ไปแล้ว

 

นอกจากนั้นบุคลากรเหล่านี้ยังให้ความรู้กับชุมชนเพื่อจัดการกับความกลัวและตอบคำถามต่างๆ และบางส่วนยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษาทางการแพทย์ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มีหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่มีการสกัดกั้นโรค เราก็จะพ่ายแพ้ในศึกที่ต้องต่อสู้กับโรคไวรัสโควิด-19 นี้

 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 ระบุว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อใหม่จำนวน 13 ราย จำนวนนี้เป็นบุคคลากรในโรงพยาบาลเอกชน 11 ราย รวมมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสมจำนวน 50 ราย และมีการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3 ราย 

 

ได้แก่ 1.พยาบาล เพศหญิง โรงพยาบาล (รพ.) เชียงรายประชานุเคราะห์ เสียชีวิตเนื่องจากวูบหมดสติขณะปฏิบัติงาน 2.เจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ เพศชาย รพ.ลำพูน เสียชีวิตเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ขณะเปลี่ยนชุดป้องกัน PPE ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และ 3.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพศหญิง จ.พิษณุโลก ทำหน้าที่คัดกรองโรค มีภาวะความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดในสมองแตก

 

แม้ทั้ง 3 ราย ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แต่สาเหตุที่เสียชีวิตอาจจะเกิดจากการรับภาระงานที่หนักในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดนี้ ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของการสกัดโรคโควิด-19 ด้วยการดูแลตนเองให้แข็งแรง ปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส และลดการเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนไม่ต้องรับภาระงานที่หนักมากจนเกินไป 

 

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลทั่วประเทศคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ โดยระบุว่าบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นแนวหน้าที่รับมือกับโรคระบาด พวกเขาต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องแม้มีความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและครอบครัว ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นรวมทั้งการติดโรคโควิด-19 ระหว่างทำงาน การทำงานเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน แรงกดดันด้านจิตใจและความเหนื่อยล้า แม้อยู่ระหว่างการประเมินอย่างรอบด้านถึงผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ แต่มีรายงานระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนติดไวรัสนี้ไปแล้ว 

 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดสิทธิด้านสุขภาพ รัฐจะต้อง “จัดทำ ดำเนินการ และตรวจสอบนโยบายระดับชาติที่เป็นเอกภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและโรคจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการจัดทำนโยบายระดับชาติที่เป็นองค์รวมด้านบริการทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและบริการด้านสุขภาพ” ซึ่งครอบคลุมถึงสภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอและมีคุณภาพ ข้อมูล การอบรม และการให้ความสนับสนุนด้านจิตใจ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่รับมือกับวิกฤติ อีกทั้งรัฐต้องประกันให้มีกลไกเพื่อดูแลให้เกิดการสนับสนุนครอบครัวของบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลอื่น ซึ่งต้องเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยเนื่องมาจากโรคโควิด-19

 

 

 

ที่มาข้อมูล

https://www.who.int/news-room/campaigns/world-health-day/world-health-day-2020

https://www.who.int/thailand/activities/world-health-day-2020-in-thailand

https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2125555

https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2125845