แอมเนสตี้ออกรายงาน "การจับกุมทางการเมือง" ในเมียนมา เรียกร้องรัฐบาลใหม่ปรับปรุงสิทธิมนุษยชนด่วน

24 มีนาคม 2559

 

แอมเนสตี้ออกรายงานเกี่ยวกับการจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมืองในเมียนมาช่วงสองปีที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งของ “อองซานซูจี” เร่งปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างเร่งด่วน ชี้ประชาคมโลกมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ภารกิจดังกล่าวสำเร็จได้

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกรายงานล่าสุดเรื่อง “New expression meets old repression” ซึ่งรายงานซึ่งเผยให้เห็นว่าทางการเมียนมาปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวางในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการปิดปากผู้แสดงความเห็นต่างด้วยวิธีการและอำนาจที่หลากหลาย

 

รายงานดังกล่าวระบุว่าผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และคุมขัง มีหลายกลุ่มตั้งแต่นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักศึกษา ตลอดจนนักกิจกรรมด้านแรงงานและที่ดิน ทั้งๆ ที่พวกเขาเพียงแค่แสดงความคิดเห็นอย่างสงบ โดยเฉพาะนักโทษทางความคิดที่ถูกคุมขังเกือบ 100 คน ส่วนอีกหลายร้อยคนกำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล

 amnesty.1png-01.png

 

แชมพา พาเทล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“นักโทษทางความคิดจำนวนมากเหล่านี้เพิ่มรอยด่างของสถิติในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
และสะท้อนให้เห็นว่าข้ออ้างของทางการที่บอกว่ามีการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนไม่เป็นความจริง
การเพิ่มการปราบปรามและการจับกุมบุคคลซึ่งเพียงแต่แสดงความเห็นของตนอย่างสงบเป็นปัญหาที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง”

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่ของเมียนมาซึ่งนำโดยพรรคเอ็นแอลดีและ "อองซานซูจี" ให้ใช้โอกาสสำคัญหลังชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในการปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศโดยเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข การปฏิรูปกฎหมาย และยุติการจับกุมโดยพลการ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังคงมีการตั้งคำถามถึงความสามารถของพรรคเอ็นแอลดีในการเปลี่ยนแปลงแนวทางสิทธิมนุษยชนของประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมายังคงให้อำนาจกองทัพในการควบคุมสถาบันหลักหลายแห่ง ดังนั้น ประชาคมโลกจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและผลักดันให้ภารกิจของรัฐบาลใหม่เมียนมาสำเร็จลุล่วงไปได้

 

“รัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดีมีโอกาสทองในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน
พวกเขาต้องคว้าโอกาสนี้ไว้อย่างเต็มที่ และการที่จะทำเช่นนั้นได้ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ”

แชมพา พาเทลกล่าว