เกรตา ทุนเบิร์กและขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตคว้ารางวัลส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้

7 June 2019

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมอบรางวัล “Ambassador of Conscience Awards  ปี 2562 ให้กับ เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future movement) ของเด็กนักเรียน ในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นลุกขึ้นมาลงมือทำเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

เกรตา ทุนเบิร์ก กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัล Ambassador of Conscience award ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในนามของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต ไม่อาจถือเป็นรางวัลส่วนตัวสำหรับฉัน แต่เป็นรางวัลสำหรับทุกคน เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ได้ทราบว่าเราได้รับการยกย่องเช่นนี้ และได้ทราบว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อบางสิ่งซึ่งกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก

“การปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรมสำนึกหมายถึง การต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง ฉันคิดว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในขบวนการนี้กำลังทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเรามีหน้าที่ที่จะต้องพยายามและทำให้โลกดีขึ้น ความอยุติธรรมอย่างชัดแจ้งที่เราทุกคนต้องต่อสู้ได้แก่ ประชาชนในโลกฝ่ายใต้เป็นผู้ที่ได้รับและจะได้รับผลกระทบมากสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าพวกเขาจะมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหานี้น้อยสุดก็ตาม”

“สิทธิมนุษยชนและวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สืบเนื่องกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งโดยไม่แก้อีกปัญหาได้ ภาวะโลกร้อนย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถปลูกพืชผล ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อบ้านเรือนของพวกเขา และสร้างผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองเรา แต่เหตุใดพวกเขาจึงนิ่งเฉยไม่หาทางหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทำลายชีวิตเรา” เกรตากล่าว

คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า รางวัล Ambassador of Conscience Award ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อยกย่องบุคคลซึ่งแสดงความเป็นผู้นำและความกล้าหาญอย่างโดดเด่น ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น สำหรับในปีนี้แอมเนสตี้ได้มอบรางวัลนี้ใหกับเกรตา ทุนเบิร์ก และขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ

“เรารู้สึกเป็นเกียรติและได้รับแรงบันดาลใจจากเจตจำนงที่แน่วแน่ของนักกิจกรรมเยาวชนทั่วโลก ซึ่งพยายามท้าทายให้เราเผชิญหน้ากับความจริงอันเนื่องมาจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศโลก เยาวชนทุกคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตได้แสดงออกถึงการกระทำหน้าที่ตามมโนธรรมสำนึก พวกเขาเตือนให้เราตระหนักว่า เรามีพลังมากกว่าที่เราคิด และสามารถมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากหายนะด้านสภาพภูมิอากาศโลกได้”

“เรามักบอกว่าเยาวชนจะเป็นผู้นำของวันพรุ่งนี้ ผมยินดีมากที่เกรตา ทุนเบิร์กและนักกิจกรรมของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตเพิกเฉยต่อคำพูดนั้น เพราะถ้าพวกเขารอจนถึงพรุ่งนี้ อาจไม่มีอนาคตเหลือสำหรับเราทุกคนอีก พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำได้ ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่จะต้องเดินตามเด็กๆ เหล่านี้” คูมีกล่าวทิ้งท้าย

รางวัล Ambassador of Conscience Award ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อยกย่องบุคคลหรือกลุ่มคนที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุดมการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของตน การเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม ตลอดจนใช้ความสามารถที่มีอยู่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

รางวัลนี้จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจเนื่องจากบทกวี “From the Republic of Conscience” ซึ่งเชมัส ฮีนนี (Seamus Heaney) กวีชาวไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับไปแล้วประพันธ์ให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ประกอบด้วยเนลสัน แมนเดลา มาลาลา ยูซาฟไซ แฮร์รี เบลาฟอนเต้ อ้าย เว่ย เว่ย  กลุ่มเยาวชนแห่งแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ขบวนการ Angélique Kidjo ของชนพื้นเมืองในแคนาดา เอลิเซีย คีย์ และโคลิน เคเปอร์นิก

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ขบวนการเยาวชนที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงโลก

เกรตา ทุนเบิร์ก เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต กลุ่มของเยาวชนจากสวีเดนซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ได้ตัดสินใจหยุดเรียนหนังสือทุกวันศุกร์ เพื่อไปประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดน จนกว่าสภาจะดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความพยายามของเธอในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ส่งผลให้เยาวชนกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก เข้าร่วมกิจกรรมในวันปฏิบัติการระดับโลก ซึ่งเป็นการนัดหยุดเรียนของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม มีการจัดการชุมนุมประท้วงในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และยูกันดา 

 “นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลทูตมโนธรรมสำนึกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในนามของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต ไม่อาจถือเป็นรางวัลส่วนตัวสำหรับดิฉัน แต่เป็นรางวัลสำหรับทุกคน เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ได้ทราบว่าเราได้รับการยกย่องเช่นนี้ และได้ทราบว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อบางสิ่งซึ่งกำลังส่งผลกระทบ” 

“การปฏิบัติหน้าที่ตามมโนธรรมสำนึกหมายถึง การต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง ฉันคิดว่าทุกคนที่มีส่วนร่วมในขบวนการนี้กำลังทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเรามีหน้าที่ที่จะต้องพยายามและทำให้โลกดีขึ้น ความอยุติธรรมอย่างชัดแจ้งที่เราทุกคนต้องต่อสู้ได้แก่ ประชาชนในโลกฝ่ายใต้เป็นผู้ที่ได้รับและจะได้รับผลกระทบมากสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าพวกเขาจะมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหานี้น้อยสุดก็ตาม” เกรตา ทุนเบิร์กกล่าว

 

วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าเรามักเข้าใจว่า วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ แต่ผลกระทบที่เลวร้ายจากวิกฤตนี้ต่อประชาชน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทำให้กลายเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เร่งด่วนเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ซับซ้อนและขยายตัวขึ้น สร้างผลกระทบที่เพิ่มขึ้นและเลวร้ายมากขึ้น และสร้างหายนะให้กับคนในรุ่นปัจจุบันและในอนาคต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยกล่าวแล้วว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อาจส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามรุ่นคนครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

“สิทธิมนุษยชนและวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สืบเนื่องกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งโดยไม่แก้อีกปัญหาได้ ภาวะโลกร้อนย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถปลูกพืชผล ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อบ้านเรือนของพวกเขา และสร้างผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองเรา แต่เหตุใดพวกเขาจึงนิ่งเฉยไม่หาทางหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทำลายชีวิตเรา” เกรตา ทุนเบิร์กกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทุกประเทศให้ดำเนินการมากขึ้นด้านสภาวะภูมิอากาศ และให้ดำเนินการอย่างสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน สิ่งสำคัญมากสุดคือการทำให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ รวมทั้งเด็กและเยาวชน สามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาควรได้รับข้อมูลและความรู้ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการอภิปราย และควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง

 “บางครั้งหนูรู้สึกเสียใจเพราะคนที่หนูพยายามพูดคุยด้วยไม่ยอมรับฟัง บางคนก็ด่าเรา บางคนคิดว่าเราเป็นนักการเมือง ส่วนคนอื่น ๆ ไม่สนใจเราเลย พวกเขาบอกเราว่าเราไม่สามารถทำงานที่เริ่มต้นได้จนจบหรอก แต่หนูอยากย้ำเตือนกับทุกคนว่า เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำภารกิจที่เราเริ่มต้นให้สำเร็จ เพราะอนาคตของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง” คานานูรา ไอรีน นักกิจกรรมกลุ่มวันศุกร์เพื่ออนาคตจากกรุงคัมพาลา ยูกันดา กล่าว

กลุ่มเยาวชนซึ่งอยู่เบื้องหลังขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต กำลังเรียกร้องให้ผู้ใหญ่เข้าร่วมงานกับพวกเขา ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน ก่อนจะถึงการประชุมสุดยอดการปฏิบัติการเพื่อสภาวะภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก นักกิจกรรมจะจัดกิจกรรมเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีการนัดหยุดงานหรือหยุดเรียนทั่วโลกเพื่อสภาพภูมิอากาศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่สามารถเข้าร่วมการหยุดงานประท้วง ให้ดำเนินการเพื่อแสดงเอกภาพกับกลุ่มเด็กนักเรียนดังกล่าว

“เรามักบอกว่าเยาวชนจะเป็นผู้นำในวันพรุ่งนี้ ผมยินดีมากที่เกรตา ทุนเบิร์กและนักกิจกรรมของขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคตเพิกเฉยต่อคำพูดเช่นนี้ เพราะถ้าพวกเขารอจนถึงพรุ่งนี้ อาจไม่มีอนาคตเหลือสำหรับเราทุกคนอีก พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำหน้าที่เป็นผู้นำได้ ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่จะต้องเดินตามเด็ก ๆ เหล่านี้” คูมีกล่าว