การประหารชีวิตทั่วโลกปี 2561 ลดลงเป็นจำนวนมาก

10 เมษายน 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

thumbnail_DP2019_Media_HalfOfTheWorld_Final.png

· การประหารชีวิตทั่วโลกลดลง 31% นับเป็นจำนวนต่ำสุดอย่างน้อยในรอบทศวรรษ

· แต่อีกหลายประเทศยังมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เบลารุส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซูดานใต้ และสหรัฐอเมริกา

· ประเทศไทยเริ่มกลับมาประหารชีวิตใหม่ ศรีลังกาขู่จะดำเนินการเช่นนั้น

· จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตมากสุดในโลก ตามมาด้วยอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอิรัก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2561 พบว่าการประหารชีวิตทั่วโลกลดลงเกือบหนึ่งในสาม นับเป็นตัวเลขต่ำสุดอย่างน้อยในรอบทศวรรษ สถิติเหล่านี้ครอบคลุมการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกยกเว้นในประเทศจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการประหารชีวิตหลายพันครั้งเป็นความลับทางราชการ

 

ในประเทศอิหร่าน ภายหลังการแก้ไขกฎหมายปราบปรามยาเสพติด การประหารชีวิตที่เคยถูกใช้อย่างแพร่หลายลดลงถึง 50% ส่วนประเทศอิรัก ปากีสถาน และโซมาเลียมีการประหารชีวิตลดลงอย่างมากเช่นกัน ส่งผลให้จำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกลดลงจากจากเดิมที่ในปี 2560 มีการประหารชีวิต 993 ครั้ง เหลือ 690 ครั้งในปี 2561

 

คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า จำนวนการประหารชีวิตที่ลดลงอย่างมากทั่วโลก เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าแม้แต่ประเทศที่มีแนวโน้มlสนับสนุนโทษประหารชีวิต ยังเริ่มเปลี่ยนแนวทาง และตระหนักว่าโทษประหารไม่ใช่คำตอบ

 

“แม้จะมีการถดถอยอยู่บ้างในบางประเทศ แต่จำนวนการประหารชีวิตในประเทศเป็นแถวหน้าที่นิยมใช้การประหารชีวิตประชาชนก็ยังลดลงอย่างมาก นั่นเป็นสัญญาณของความหวังที่ว่า อีกไม่นานการลงโทษที่โหดร้ายเช่นนี้จะกลายเป็นเพียงแค่หน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น”

 

 

การหันกลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า ในปี 2561 ไม่ได้มีแต่ข่าวดีเสมอไป เพราะมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศเบลารุส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซูดานใต้ และสหรัฐอเมริกาส่วนประเทศไทยได้ประหารชีวิตประชาชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 และประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนาแห่งประเทศศรีลังกาประกาศว่า จะรื้อฟื้นการประหารชีวิตใหม่อีกครั้งหลังยุติไปกว่า 40 ปี โดยมีการประกาศรับสมัครผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“แม้จะมีข่าวดีในปี 2561 แต่ก็ยังมีข่าวร้ายปนด้วยจากไม่กี่ประเทศที่ทำตัวสวนกระแสอย่างน่าละอาย”

“ในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และซูดานใต้มีรายงานการประหารชีวิตที่สูงสุดในรอบหลายปี ส่วนประเทศไทยได้หันกลับมาใช้การประหารชีวิตอีกครั้งหลังหยุดไปเกือบทศวรรษ แต่ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศส่วนน้อยที่มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ สำหรับประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ผมขอท้าทายให้ท่านทำหน้าที่อย่างกล้าหาญ และยุติการลงโทษที่โหดร้ายเช่นนี้โดยเร็ว” คูมีกล่าว

 

เนารา ฮุสเซน หญิงสาวชาวซูดานถูกศาลสั่งประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากฆ่าชายที่เธอถูกบังคับให้แต่งงานด้วยและเขาพยายามที่จะข่มขืนเธอ ข่าวดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองให้คนทั่วโลก และผลจากการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ศาลได้กลับคำพิพากษาจากประหารชีวิตเป็นจำคุกเธอห้าปีแทน

เนารากล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลดังนี้

“ฉันตกใจมากเมื่อศาลประกาศว่าจะประหารชีวิตฉัน ฉันไม่ได้ทำสิ่งใดร้ายแรงจนถึงขั้นที่จะถูกประหารชีวิต ฉันแทบไม่เชื่อเลยว่าความอยุติธรรมเช่นนี้มีอยู่จริง โดยเฉพาะความอยุติธรรมต่อผู้หญิง ก่อนหน้านั้นดิฉันไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะต้องถูกประหาร แต่เมื่อได้ยินคำพิพากษา ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาก็คือ ‘ตอนที่คนถูกประหาร พวกเขารู้สึกอย่างไร? พวกเขาทำอะไรได้บ้าง?’ ฉันต้องตกอยู่ในความยากลำบากมากพออยู่แล้ว เพราะครอบครัวประกาศตัดขาดฉัน ทิ้งให้ฉันอยู่เพียงลำพังด้วยความตกใจกลัวตอนที่ศาลสั่งประหารชีวต”

 

ประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก

 thumbnail_DP2019_Media_HalfOfTheWorld_Finall.png

จีนยังคงเป็นประเทศแถวหน้าที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่เราไม่อาจทราบจำนวนการประหารชีวิตที่แท้จริงในจีนได้ เนื่องจากทางการถือว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทางราชการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งเกิดขึ้นในประเทศจีน ในแต่ละปี

 

เป็นครั้งแรกที่ทางการเวียดนามเปิดเผยตัวเลขการใช้โทษประหารชีวิต โดยระบุว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 85 ครั้งเกิดขึ้นในปี 2561 ตัวเลขนี้ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุดในโลก รวมทั้งจีน (1000+ ครั้ง) อิหร่าน (อย่างน้อย 253 ครั้ง) ซาอุดีอาระเบีย (149 ครั้ง) เวียดนาม (อย่างน้อย 85 ครั้ง) และอิรัก (อย่างน้อย 52 ครั้ง)

 

โห่ ซุย ห่าย (Hồ Duy Hải) ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานลักทรัพย์และฆ่าคนตายโดยเจตนา แม้เขาจะร้องเรียนว่าถูกทรมานและบังคับให้ลงชื่อใน “คำสารภาพ” และศาลพิพากษาประหารชีวิตเขาในปี 2551 เขายังคงเป็นนักโทษที่เสี่ยงจะถูกประหารในเวียดนาม โดยความเครียดจากโทษประหารชีวิตส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเขาอย่างใหญ่หลวง

 

เหงวียน ถิ ลวาน (Nguyễn Thị Loan) แม่ของเขาบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า

“ลูกฉันถูกจับไป 11 ปีแล้ว ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด ฉันแทบรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว เพียงแค่นึกถึงความทุกข์ยากของลูกหลังกรงขังก็ทำให้ฉันเจ็บปวดใจอย่างมาก อยากจะขอให้ประชาคมโลกช่วยทำให้ครอบครัวของเรากลับคืนมาอีกครั้ง พวกคุณเป็นความหวังเดียวที่ฉันมีอยู่”

 

แม้จำนวนการประหารชีวิตจะลดลงอย่างมาก แต่ประเทศอิหร่านยังคงมีสถิติการประหารชีวิตคิดเป็นหนึ่งในสามของตัวเลขรวมทั่วโลก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลกับจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางประเทศในปีที่ผ่านมา

 

ในประเทศอิรัก จำนวนการใช้โทษประหารเพิ่มขึ้นจากอย่างน้อย 65 ครั้งในปี 2560 เป็นอย่างน้อย 271 ครั้งในปี 2561 ในประเทศอียิปต์มีการใช้โทษประหารเพิ่มขึ้นกว่า 75% จากอย่างน้อย 402 ครั้งในปี 2560 เป็นอย่างน้อย 717 ครั้งในปี 2561 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการกำหนดโทษประหารชีวิตกับจำเลยจำนวนมากของทางการอียิปต์ ภายหลังการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการใช้ “คำสารภาพ” ที่ได้มาจากการทรมานและมีข้อบกพร่องในการสอบสวนของตำรวจ

 

แนวโน้มของโลกที่มุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

 

ตัวเลขโดยรวมในปี 2561 ชี้ว่า โทษประหารชีวิตมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และที่ผ่านมามีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยุติการใช้บทลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศบูร์กินาฟาโซ ในเดือนกุมภาพันธ์และกรกฎาคมตามลำดับ แกมเบีย และ มาเลเซีย ต่างประกาศอย่างเป็นทางการพักการประหารชีวิต ในสหรัฐอเมริกาศาลประกาศว่ากฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิตในรัฐ วอชิงตัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนตุลาคม

 

ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มี 121 ประเทศที่ลงมติสนับสนุนข้อเสนอให้พักการใช้โทษประหารชีวิตระดับโลก นับว่าเป็นที่สูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีเพียง 35 ประเทศเท่านั้นที่ออกเสียงคัดค้านข้อเสนอนี้

 

“นับว่าเป็นการก้าวอย่างช้าๆ แต่มั่นคง โลกมีฉันทามติร่วมกันที่จะมุ่งไปสู่การยุติการใช้โทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เพื่อยกเลิกการประหารชีวิตทั่วโลกมากว่า 40 ปี แต่ในขณะที่ยังมีนักโทษประหารทั่วโลกอยู่กว่า 19,000 คน เราก็ยังคงต้องต่อสู้ต่อไป”

“จากบูร์กินาฟาโซถึงสหรัฐอเมริกามีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต ถึงเวลาแล้วที่ประเทศอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตาม เราทุกคนต่างต้องการอาศัยอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย แต่การประหารชีวิตไม่ใช่ทางออก ด้วยความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากประชาชนทั่วโลก เราจะสามารถและเราจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ในที่สุด” คูมีกล่าวทิ้งท้าย

 

จนถึงสิ้นปี 2561 มี 106 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทางกฎหมายสำหรับความผิดอาญาทุกประเภทแล้ว และมี142 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

 

 

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ)