แอมเนสตี้แสดงข้อกังวลต่อการลงโทษโดยการปาหินต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการตัดอวัยวะกรณีลักทรัพย์ในบรูไน

30 มีนาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แสดงข้อกังวลอย่างมากต่อประมวลกฎหมายอาญาในประเทศบรูไน ซึ่งกำหนดการลงโทษโดยการปาหินจนเสียชีวิตกรณีมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน และการตัดอวัยวะกรณีลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในบรูไน ดารุสซาลาม ในสัปดาห์หน้า โดยมีส่วนแรกที่เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 แล้ว

 

 “ประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนที่กำลังมีผลบังคับใช้ กำหนดโทษปาหินและการตัดอวัยวะ รวมทั้งการลงโทษต่อเด็ก เป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษที่โหดร้ายมากที่สุด” 

 “บรูไนต้องยุติแผนการลงโทษเช่นนี้ทันที และแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ประชาคมระหว่างประเทศต้องประณามอย่างเร่งด่วนต่อการดำเนินงานของบรูไนที่จะทำให้การลงโทษอันโหดร้ายมีผลบังคับใช้”

เรเชล ชาว โฮวเวิร์ด นักวิจัยประเทศบรูไน แอมเนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนลกล่าว 

 

การลงโทษดังกล่าวเป็นผลมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของกฎหมายอิสลามของบรูไน ดารุสซาลาม ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน 2562 ทั้งนี้จากการแจ้งเตือนแบบไม่เด่นชัดมากนักในเว็บไซต์ของสำนักงานอัยการสูงสุด เรเชล ชาว โฮวเวิร์ดกล่าวต่อว่า

 

“การกำหนดบทลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมในกฎหมายเป็นเรื่องที่น่าละอาย “ความผิด” บางประการตามกฎหมายนี้ไม่ควรเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ด้วยความยินยอมระหว่างผู้ใหญ่สองคนที่มีเพศเดียวกัน” 

“ข้อกฎหมายซึ่งเป็นการฏิบัติมิชอบเช่นนี้ถูกประณามอย่างกว้างขวาง เมื่อมีแผนจะประกาศใช้ตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว”

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแสดงข้อกังวลอย่างมากต่อประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ ซึ่งในส่วนแรกเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ว่า

 

“ประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนมีข้อบกพร่องอย่างรุนแรง เพราะหลายข้อบทละเมิดสิทธิมนุษยชน"

“นอกจากกำหนดโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีแล้ว ยังเป็นกฎหมายที่จำกัดอย่างกว้างขวางต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพด้านศาสนาและความเชื่อ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง”

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

บรูไน ดารุสซาลามลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ  ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) และที่ผ่านมาได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2557

 

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การลงโทษทางร่างกายในทุกรูปแบบ ทั้งการปาหิน การตัดอวัยวะ หรือการเฆี่ยนตี ถือเป็นการทรมานหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นข้อห้ามในทุกกรณี

 

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย เป็นข้อห้ามอย่างเบ็ดเสร็จตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ ซึ่งบรูไนไม่ได้ลงนามหรือไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ข้อห้ามนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดโดยไม่อาจโต้แย้งได้สำหรับรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม การทรมานไม่ว่าในรูปแบบใดถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

แม้ว่าบรูไนมีโทษประหารในกฎหมาย แต่ไม่ได้บังคับใช้ในทางปฏิบัติ เมื่อปี 2560 มีการกำหนดโทษประหารอีกครั้ง ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด