“ยิ่งใหญ่ขึ้น กล้าหาญกว่าเดิม ร่วมด้วยพลังของคุณ” แอมเนสตี้ในยุคของ คูมี นายดู 

16 สิงหาคม 2561

 “ยิ่งใหญ่ขึ้น กล้าหาญกว่าเดิม ร่วมด้วยพลังของคุณ” แอมเนสตี้ในยุคของ คูมี นายดู

 

เลขาธิการคนแรกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เป็นชาวแอฟริกาใต้ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางขององค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่สุดของโลก ในขณะเข้ารับดำรงตำแหน่งระหว่างการมาเยือนกรุงโยฮันเนสเบิร์ก

 

การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องขยายให้ยิ่งใหญ่ขึ้น กล้าหาญกว่าเดิม และมีส่วนร่วมจากคนมากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้  คูมี นายดู นักเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์กล่าวขณะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอย่างเป็นทางการ

 

“โลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน จึงต้องรับมือด้วยการคิดให้หลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเพียงความอยุติธรรมที่เราเผชิญอยู่ โดยไม่คำนึงถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบที่กดขี่ที่เราทุกคนต่างเผชิญอยู่ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” คูมี นายดูกล่าว

 

“เราไม่อาจพูดถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศได้ โดยไม่ตระหนักว่านี่เป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมและปัญหาด้านเชื้อชาติ เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศได้ โดยไม่ตระหนักว่าปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการกีดกันทางเศรษฐกิจต่อผู้หญิง และเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า การกดขี่ปราบปรามสิทธิของพลเรือนและสิทธิทางการเมืองมักเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาพยายามเรียกร้องความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ”

 

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้กล่าวเสมอว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความแตกแยกมากสุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ จากการที่เราเห็นผู้นำคนสำคัญของโลกต่างสร้างสังคมที่เสมือนเป็นฝันร้าย มืดบอดด้วยความเกลียดชังและความกลัว เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันภายใต้คุณค่าที่สร้างเอกภาพให้กับเราอย่างเช่น  สิทธิมนุษยชน เราจึงจะข้ามพ้นปัญหาเหล่านี้ได้ คูมีกล่าว

 

“ในการแสดงความเห็นเป็นครั้งแรกในฐานะเลขาธิการ ผมขอชี้แจงว่าในบัดนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะพยายามอ้าแขนให้กว้างมากสุด เพื่อเปิดรับและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายในระดับสากลอย่างแท้จริง ซึ่งมีขอบเขตแผ่ไพศาลไปทั้งสี่มุมของโลก โดยเฉพาะในโลกฝ่ายใต้

 

“ผมต้องการสร้างการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่คนมีส่วนร่วมมากขึ้น เราจำเป็นต้องให้นิยามใหม่กับสิ่งที่เรียกว่าแชมเปี้ยนด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2561 นักกิจกรรมจะเป็นใครก็ได้ ทั้งที่มาจากสหภาพแรงงาน โรงเรียน กลุ่มศาสนา รัฐบาล หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ” คูมี นายดูกล่าว

 

“โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผมอยากให้พวกพวกคุณทราบว่า เราพร้อมจะร่วมมือกับคุณ เราต้องการให้คุณท้าทายเรา เพื่อกระตุ้นให้เราทำงานให้ดีขึ้น ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นผู้นำในวันพรุ่งนี้ แต่เป็นผู้นำที่นี่และเดี๋ยวนี้ คนอย่างอาเฮด ทามิมี, เอลิน เอริสสันส์, ซิบอนจิล เอ็นเดเชส์ และทุกคนที่ไม่ลังเลที่จะแสดงความดื้อแพ่ง หรือไม่ลังเลที่จะถูกเรียกว่าไร้เดียงสาหรือมีแต่อุดมคติ หากแต่คนเหล่านี้ต่างเป็นต้นแบบที่กล้าหาญ เราต้องการคนเหล่านี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้

 

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเกิดขึ้นมาจุดยืนของคนตัวเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมาจากไหน ซึ่งเห็นว่าความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเช่นกัน เป็นที่พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เมื่อคนแปลกหน้าจับมือกันต่อสู้เพื่อคนอื่นที่พวกเขาไม่เคยพบมาเลย และไม่ว่าจะมาจากมุมไหนของโลก การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้”

 

 “ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องการบุคคลที่ร่วมมือกันและต่อต้านการกดขี่ มากยิ่งกว่ายุคใด ผมขอเชิญชวนทุกคนที่มองไปยังปัจจุบันและอนาคต บุคคลซึ่งเห็นความสำคัญกับลูกหลานของเรา ใครที่นับถือคนกล้าหาญที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมที่คนอื่นต้องเผชิญ ขอให้มาร่วมกับเรา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องการความเห็นของท่าน ต้องการการมีส่วนร่วมจากคุณ และต้องการให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้สิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้จริง”

 

ในการขอบคุณอดีตผู้นำของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คูมีกล่าวว่า “ผมขอขอบคุณซาลิล เชตติสำหรับสิ่งที่เขาทำให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในช่วงแปดปีที่ผ่านมา และการช่วยหนุนเสริมเครือข่ายที่เข้มแข็งของเราทั่วโลก ผมหวังว่าจะสามารถสร้างสรรค์และขยายมรดกที่เขาทำไว้ เพื่อช่วยให้เราเคลื่อนไหวระดับโลกอย่างเป็นเอกภาพ”

 

 253740.jpg

 

นักแหกคอก ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

 

คูมี นายดู เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวของชุมชนท้องถิ่น และได้เป็นแกนนำจัดตั้งมวลชนต่อต้านรัฐบาลเหยียดผิวในปี 2529 เมื่ออายุได้ 21 ปี คูมีถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเหตุให้เขาต้องทำงานใต้ดิน ก่อนจะตัดสินใจลี้ภัยไปสหราชอาณาจักร และพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเนลสัน แมนเดลาได้รับการปล่อยตัว และมีการยกเลิกกฎหมายห้ามการเคลื่อนไหวของขบวนการปลดแอก

 

ในช่วงที่รัฐบาลเหยียดผิวพังทลายลง คูมีเดินทางกลับแอฟริกาใต้เมื่อปี 2533 เพื่อทำงานกับพรรคสภาแอฟริกันแห่งชาติ (African National Congress) และได้เลือกทำงานด้านการศึกษาที่ตนรัก โดยเฉพาะการรณรงค์ด้านการรู้หนังสือสำหรับผู้ใหญ่ และการให้ความรู้กับผู้มีสิทธิออกเสียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่ถูกทำให้ไร้อำนาจ ในช่วงที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ และอย่างเป็นระบบ

 

คูมีทำหน้าที่เป็นผู้นำหลายองค์กรในเวลาเดียวกัน ในฐานะผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ อินเตอร์เนชันแนล เขาได้สร้างชื่อเสียงในฐานะนักเคลื่อนไหวผู้กล้าหาญที่แสดงออกด้วยการดื้อแพ่งมวลชน โดยเฉพาะช่วงที่เขาถูกจับกุมจากการปีนแท่นขุดเจาะน้ำมันกรีนแลนดิค เพื่อเอาหนังสือประท้วงไปยื่นให้กับมือ ต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรอาร์คติกเมื่อปี 2554 อีกหนึ่งปีต่อมาเขาได้บุกเข้าไปยึดแท่นขุดเจาะน้ำมันของรัสเซียที่ทะเลบาเรนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอาร์คติกของรัสเซีย

 

บทบาทล่าสุดของคูมีคือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นประธานชั่วคราวเครือข่ายองค์กรระดับทวีปแอฟริกาที่ชื่อ แอฟริกันก้าวหน้าเพื่อความยุติธรรม สันติภาพ และศักดิ์ศรี (Africans Rising for justice, peace and dignity) ทางกลุ่มได้เข้าเป็นพันธมิตรกับสหภาพแรงงาน กลุ่มศาสนา และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหา เนื่องจากแม้ทวีปแอฟริกาจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตด้านเศรษฐกิจ แต่ชาวแอฟริกันเองกลับไม่ได้ร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น

 

จากการได้เห็นจดหมายซึ่งแนลสัน แมนเดลาเขียนถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อปี 2504 ขอบคุณองค์กรที่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของเขา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คูมีสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งผู้นำแอมเนสตี้ระดับโลก

 

ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คูมีได้เดินทางกลับไปยังสถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของเขา คือการกลับไปเยือนโรงเรียนมัธยมชาตส์เวิร์ธที่กรุงเดอร์บันเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ถูกไล่ออกเมื่อปี 2523

 

จากการพูดคุยกับเด็ก ๆ ในระหว่างเคารพธงชาติตอนเช้า คูมีกล่าวว่า “อย่าไปคิดว่าเสียงของพวกเธอไม่สำคัญ อย่าไปรอจนถึงวันพรุ่งนี้จึงแสดงความเป็นผู้นำออกมา เพราะถ้ารอ พรุ่งนี้อาจมาไม่ถึงก็ได้ และระลึกไว้ว่าการทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทำให้เกิดความสุขมากสุดกับเรา”

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและการนัดสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ +44 20 7413 5566 หรือ press@amnesty.org 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

เลขาธิการทำหน้าที่เป็นผู้นำและโฆษกหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเป็นผู้บริหารสูงสุดของสำนักเลขาธิการสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่สุดในระดับโลก โดยมีสำนักงานในกว่า 70 ประเทศ พนักงานเจ้าหน้าที่ 2,600 คน และมีสมาชิก อาสาสมัคร และผู้สนับสนุนเจ็ดล้านคนทั่วโลก

 

เลขาธิการได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารสากลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยสามารถดำรงตำแหน่งวาระละสี่ปี โดยมาจากการสรรหาผู้สมัครอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก

 

คูมี นายดูเคยดำรงตำแหน่งผู้นำหลายองค์กรพร้อม ๆ กัน รวมทั้งการเป็นประธาน โครงการรณรงค์ระดับโลกเพื่อปฏิบัติการด้านสภาวะภูมิอากาศ (Global Call for Climate Action) ประธานและผู้ก่อตั้งโครงการรณรงค์ระดับโลกเพื่อต่อต้านความยากจน (Global Call to Action against Poverty)  และเลขาธิการและซีอีโอของพันธมิตรโลกเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง (CIVICUS, the World Alliance for Citizen Participation)

 

คูมี นายดู เข้าดำรงตำแหน่งต่อจากชาลิล เชตติ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมาสองวาระ ตั้งแต่ปี 2553

 

Kharunya Paramaguru

Communications manager

T: +44 (0) 20 3036 5235

M: +44 (0) 7508 394415

@Kharunya