สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 11 กุมภาพันธ์ - 17 กุมภาพันธ์ 2566

20 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International

 
กัมพูชา: การสั่งปิดสื่อ ‘Voice of Democracy’ เป็นความพยายามที่จะปิดสื่ออิสระทั้งหมด
13 กุมภาพันธ์ 2566
 
สืบเนื่องจากรายงานที่สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งปิดองค์กรสื่ออย่าง ‘Voice of Democracy’ หรือ VOD ลงหลังจากการรายงานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า พลโทฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของฮุน เซน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกคนปัจจุบัน ได้ถูกกล่าวหาว่าได้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือไปยังตุรกี
ฮาน่า ยัง รองผู้อำนวยการภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“นี่ถือเป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้งที่จะปิดประตูใส่องค์กรสื่ออิสระที่เหลืออยู่ในประเทศ และเป็นคำเตือนที่ชัดเจนถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆ หลายเดือนก่อนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีควรที่จะถอนคำสั่งที่รุนแรงและไม่สมส่วนนี้ในทันที”
“การสั่งปิดองค์กรสื่อที่กล้าออกมาเปิดเผยความจริงโดยพลการ จะส่งผลกระทบในทันทีต่อกลุ่มคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลกัมพูชา นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับฉากหลังของการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีและครอบครัวของเขา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3XCPvn2
 
----
 
 
ซาอุดีอาระเบีย: การตัดสินใจของฟีฟ่าให้ซาอุดีอาระเบียจัดการแข่งขันระดับโลกถือเป็นการใช้กีฬามากลบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างโจ่งแจ้ง
14 กุมภาพันธ์ 2566
 
สืบเนื่องจากการตัดสินใจของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในการเลือกให้สหพันธ์ฟุตบอลซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลสโมสรโลกในเดือนธันวาคม 2566
สตีฟ คอคเบิร์น หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“ทางฟีฟ่าได้มีการเพิกเฉยอีกครั้งต่อรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของซาอุดีอาระเบีย ทันทีหลังจากที่ได้มีการเลือกการท่องเที่ยว Visit Saudi เป็นผู้สนับสนุนของฟุตบอลโลกหญิง ก็ได้มีการประกาศว่าทางซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฟุตบอลสโมสรโลกโดยไม่คำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกปฏิบัติ หรือสิทธิของแรงงานแต่อย่างใด และก็เป็นอีกครั้งที่ฟีฟ่าได้เพิกเฉยต่อนโยบายสิทธิมนุษยชนของตนเอง และมีส่วนพัวพันในการใช้กีฬามากลบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอย่างโจ่งแจ้ง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZfyGjx
 
-----
 
 
อิตาลี: มาตรการในการปรับและยึดเรือกู้ภัยองค์กรการกุศลอาจทำให้มีคนเสียชีวิตในทะเลเพิ่มขึ้น
15 กุมภาพันธ์ 2566
 
สืบเนื่องจากการลงคะแนนเสียงในรัฐสภาของอิตาลีที่อนุมัติมาตรการชุดใหม่ที่เข้มงวดมากกว่าเดิมสำหรับองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้อพยพในทะเลที่มาพร้อมกับโอกาสในการถูกปรับและการถูกยึดเรือ
มัตเตโอ เด เบลลิส นักวิจัยด้านการย้ายถิ่นฐาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“มาตรการเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาอย่างชัดเจนเพื่อขัดขวางองค์กรพัฒนาเอกชนในการปฏิบัติภารกิจค้นหาช่วยชีวิตและภารกิจกู้ภัยในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตอนกลาง นับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะรับประกันว่ามีคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ถูกสกัดกั้นโดยหน่วยยามชายฝั่งลิเบียและต้องกลับไปยังลิเบีย สถานที่ที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับการกักขังโดยพลการและการทรมาน”
“กฎหมายฉบับใหม่นี้ – ร่วมกับแนวทางการจัดการสำหรับ ‘ท่าเรือทางไกล’ มีการกำหนดให้องค์กรพัฒนาเอกชนนำคนที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งในท่าเรือที่ห่างไกลจากที่ที่ได้รับการกู้ภัย โดยเสี่ยงที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตในทะเลมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ทรมานที่เพิ่มขึ้นของผู้รอดชีวิตจากเหตุเรืออับปางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังทำให้การทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นอาชญากรรม”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3E9SXPh
 
-----
 
จีน: ประเทศต่างๆ ในยุโรปจะต้องตรวจสอบการมีส่วนร่วมที่อาจเกิดขึ้นในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติระหว่างการเข้าพบของผู้ว่าการซินเจียง
11 กุมภาพันธ์ 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ เออร์กิน ตูนิเยซ ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน (ซินเจียง) มีกำหนดการเข้าพบเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป (EU) และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ระหว่างเยือนยุโรปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
อัลคัน อาการ์ด นักวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“ในฐานะผู้ว่าการของซินเจียง เออร์กิน ตูนิเยซ จะมีบทบาทนำ และตระหนักดีถึงการละเมิดอย่างกว้างขวางและเป็นระบบโดยพุ่งเป้าไปที่ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัคสถาน และชุมชนมุสลิมอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาค สิ่งนี้รวมถึงการทรมาน การประหัตประหาร และการจำคุกคนจำนวนมาก ซึ่งองค์กรสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรอื่นๆ พบว่าอาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
“ในการเยือนยุโรปครั้งนี้ ซึ่งมีการรายงานว่าจะมีการเข้าพบเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัย โดยทางการในปักกิ่งผู้ซึ่งพยายามที่จะซ่อนเร้นหรือฟอกขาวอาชญากรรมร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในซินเจียง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3IxqpSu
 
-----
 
รัสเซีย: นักข่าวสาว มาเรีย โปโนมาเรนโก ถูกตัดสินจำคุก 6 ปีในเรือนจำโทษฐานลงโพสต์เกี่ยวกับการโจมตียูเครน
15 กุมภาพันธ์ 2566
 
สืบเนื่องจากการจำคุก มาเรีย โปโนมาเรนโก นักข่าวสาวจากบาร์นาอุลในไซบีเรียตะวันตก ถึง 6 ปีในทัณฑนิคม (สถานที่ควบคุมและฝึกอบรมนักโทษเด็ดขาดในขั้นต่อจากเรือนจํา ใช้สำหรับเนรเทศนักโทษและแยกพวกเขาจากประชากรส่วนใหญ่ โดยการส่งตัวไปยังสถานที่ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเกาะหรือดินแดนอาณานิคมที่อยู่ไกลออกไป ตัวอย่างในไทย เช่น เกาะตะรุเตาหรือเกาะเต่า -ผู้แปล) โทษฐานการลงโพสต์บนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการโจมตีโดยกองกำลังรัสเซียต่อโรงละครในมาริอูโปล ซึ่งเป็นเหตุให้มีพลเรือนถูกสังหาร
มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง กล่าวว่า
“คำพิพากษาของมาเรีย โปโนมาเรนโก แสดงให้เห็นว่าในรัสเซีย การพูดความจริง การประณามอาชญากรรมสงคราม และการเรียกร้องความยุติธรรมในการสังหารพลเรือน นับเป็นความผิดร้ายแรงที่ส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกหลายปี คำพิพากษาของเธอก็ยังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความอยุติธรรมและการดูถูกของทางการในรัสเซีย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ทางการพยายามที่จะกักขังทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาและข่มขู่ผู้อื่นให้อยู่อย่างเงียบๆ และหันหน้าไปทางอื่นแทนที่จะเสี่ยงชีวิตหลายปีอยู่หลังลูกกรง”
ในถ้อยแถลงต่อศาล มาเรีย โปโนมาเรนโก วัย 44 ปี ซึ่งสวมใส่ลายพิมพ์ดาวดาวิด ที่มีข้อความว่า 'นักกิจกรรมฝ่ายค้าน รักชาติ รักสันติ' อยู่บนรอบคอของเธอ ซึ่งเธอกล่าวว่าเธอไม่ได้นับว่าตนเองเป็นอาชญากรแต่อย่างใด
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3IvQiBZ