แอมเนสตี้ย้ำถึงสามข้อกังวลสำคัญในร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย

 

24 สิงหาคม 2565

Amnesty International

สืบเนื่องจากที่ประชุมของวุฒิสภามีมติในวาระสองและสามให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....  (ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย) ในบางมาตรา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา และต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขของส.ว. หาก ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภาเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายร่วมกันต่อไป

โดยในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ได้มีวาระเร่งด่วนในการพิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ... ซึ่งอยู่ในลำดับ 9 ของการพิจารณา 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า หลังจากกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายยังคงมีข้อกังวลสำคัญในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ประเด็น อันได้แก่ การที่ศาลรับฟังพยานหลักฐานจากการทรมานได้ การนิรโทษกรรมหรือยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิดได้ และองค์ประกอบของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ที่ยังไม่เหมาะสมและอาจขาดความอิสระในการทำงาน

“แอมเนสตี้ยังคงยังเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย เนื่องด้วยกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำมาใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“เราขอย้ำว่าร่างกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วย”

 

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อกังวลใน 3 ประเด็นที่อยากส่งถึงทางการไทย ดังนี้

1.กรณีศาลรับฟังพยานหลักฐานจากการทรมานได้

ทางวุฒิสภาได้ตัดมาตราซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานอันได้มาจากการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งหลักการในมาตรานี้ถือว่าเป็นหัวใจของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน โดยมาตรา 15 ของอนุสัญญา CAT ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการรับฟังพยานหลักฐานในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ การตัดมาตรานี้ออกไปอาจนำไปสู่ปัญหาการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวเพื่อรวบรวมหลักฐานหรือข่าวกรอง ดังที่เคยปรากฎในข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาก่อน

2. การนิรโทษกรรมหรือยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิดได้

ทางวุฒิสภาได้ตัดวรรคหนึ่งของกฎหมาย ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้ใช้กฎหมายนิรโทษกรรมหรือข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐกับความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ หากกฎหมายขาดมาตรานี้ไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถได้รับการคุ้มกันทางกฎหมายและลอยนวลพ้นผิด โดยไม่จำเป็นต้องรับโทษแม้ว่าจะกระทำการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย  

3.คณะกรรมการขาดความอิสระ

องค์ประกอบของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ที่ยังไม่เหมาะสมในการทำงานตามมาตรา 17 ของอนุสัญญา CAT และมาตรา 26 ของอนุสัญญา ICPPED ซึ่งระบุว่ากรรมการควรเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลางได้ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจำนวนมาก รวมถึงปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยกรรมการมีอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงอาจทำให้การทำงานของคณะกรรมการไม่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งขาดความอิสระและความเป็นกลางเท่าที่ควรจะเป็นตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ท้ายที่สุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนความพยายามของทางการไทยในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายที่ได้มาตรฐานและมีการคุ้มครองอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อปกป้องชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติในวาระสองและสามให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ...  ในบางมาตรา โดยที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 121 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง 

หลังจากนั้นจึงต้องส่งร่างกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ ส.ส. ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขของ ส.ว. หากเห็นด้วยก็จะไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หาก ส.ส. ไม่เห็นด้วย ก็จะต้องมีการตั้ง กรรมาธิการร่วมกันทั้งสองสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นก็จะต้องเสนอให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พิจารณา ถ้าทั้งสองสภาเห็นชอบ ก็นำสู่ขั้นตอนที่นายกฯ นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป